Skip to main content
sharethis

ภาคประชาชนจี้ยุติแก้ กม.สุขภาพ กังขาผุดซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ คุม-รวบอำนาจซุกไว้ใต้ระบบราชการ ทำลายหลักการปฎิรูประบบสุขภาพประเทศ ทำระบบหลักประกันสุขภาพถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่ เปิดทางผลประโยชน์เอื้อนายทุน เสี่ยงกม.ถูกแทรกแซงริดรอนสิทธิ์ จี้พรรคการเมือง กางนโยบายหาเสียงสวัสดิการหลักประกันสุขภาพ ด้าน เลขาฯ ขสช. ประกาศบุกทำเนียบ จี้ประยุทธ์ยุติการแก้ พ.ร.บ.

19 พ.ย.2561 วานนี้ (18 พ.ย.61) เวลา 09.00 น. ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ขบวนการสร้างเสริมสุขภาพประชาชน (ขสช.) จัดเวทีเสวนา “3 กฎหมายสุขภาพ ก้าวหน้าหรือล้าหลัง?” (พ.ร.บ.คณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือ พ.ร.บ.ซุปเปอร์บอร์ด, พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. และพ.ร.บ.กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ พ.ร.บ.สสส.)โดยมีกลุ่มภาคประชาชน ที่ทำงานด้านสุขภาพ เข้าร่วมระดมความเห็นและข้อเสนอต่อนโยบายสาธารณสุขในอนาคต  

วิฑูรย์  เลี่ยนจำรูญ  ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี กล่าวว่า มีข้อกังวลถึงการออกพระราชบัญญัติคณะกรรมการนโยบายสุขภาพแห่งชาติ หรือซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพแห่งชาติ ที่จะเข้ามาดำเนินการระบบสุขภาพ ผิดทาง โดยเฉพาะการพยามเข้ามารวบอำนาจ เอาไปไว้ใต้ระบบราชการถือเป็นการถอยหลังเข้าคลองครั้งสำคัญของระบบประกันสุขภาพของประเทศ

วิฑูรย์  ตั้งข้อสังเกตุว่า มีการแฝงอิง ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท แทนภาคประชาสังคมซึ่งเป็นการทำลายหลักการปฎิรูปสุขภาพ เพราะที่ผ่านมา ทั้งสปสช. สสส. หรือ สช.สร้างอำนาจประชาชน ภาคประชาสังคมสามารถต่อรองได้อย่างเข้มแข็งกับกลุ่มธุรกิจใหญ่ที่ส่งผลต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือเครื่องดื่ม ซึ่งนี้คือวัตถุประสงค์แอบแฝงไม่แตกต่างจาก พ.ร.บ.สสส.ที่ส่อเจตนาเดียวกัน และเรื่องนี้เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน บริการหลักประกันสุขภาพเป็นนโยบายที่สร้างหลักประกันดูแลสุขภาพประชาชนไม่ว่าจะเป็นคนยากจนหรือคนชั้นกลางทั่วไปให้มั่นคงในชีวิต การแปรเจตนาออกไปจะส่งผลกระทบต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ  เช่นเดียวกับความพยายามแก้ไข พรบ.สสส. ที่มุ่งจำกัดวงเงิน การนำมติ ระเบียบหลักเกณฑ์ต่างที่บอร์ด สสส. อนุมัติ ต้องไปผ่านความเห็นขอบจากกระทรวงการคลังอีกชั้นหนึ่ง  เป็นความพยายามที่สอดไส้มุ่งหมายนำ สสส. ให้อยู่ภายใต้ระบบราชการซึ่งทำลายเจตนารมณ์การก่อเกิด สสส. อย่างรุนแรง

“ประชาชนต้องลุกขึ้นมาปกป้องซึ่งไม่ได้หมายถึงการปกป้ององค์กร หรือบุคคล แต่เป็นการปกป้องระบบปฎิรูปสุขภาพของประเทศ ที่จะถูกทำลาย เปลี่ยนแปลง ถอยหลังครั้งใหญ่ของประเทศนี้ ทั้งที่ผ่านมาก้าวมาถูกทางสร้างหลักประกันที่สำคัญ และเป็นพัฒนาการทางสังคม” วิฑูรย์ กล่าว 

นิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า วัตถุประสงค์ซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ มีแค่การเจาะจงกำกับดูแล เลือกปฎิบัติองค์กรด้านสุขภาพแค่ สปสช.กับ สสส.หรือไม่ เพราะไม่ค่อยตรงไปตรงมา ในตัวโครงสร้าง เรียกว่า ภาคประชาสังคมบวกเอกชน มีนายทุนตัวแทนอุตสาหกรรม หอการค้าถูกตั้งเข้ามาถือเป็นสัดส่วน2ใน5 ซึ่งบุคคลเหล่านี้ไม่เคยเข้ามามีบทบาทอยู่ในระบบหลักประกันสุขภาพมาก่อน มันจึงน่ากังขาว่าซุปบอร์ดสร้างประโยชน์ประชาชนโดยรวม หรือ ต้องการเข้ามาจำกัดบทบาท ขอบเขตอำนาจ ประชาชนในระบบหลักประกันสุขภาพ 

ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ ระบุด้วยว่า รวมทั้งเบื้องหลังของกลุ่มที่ผลักดันซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพฟากผู้บริหารสธ. ที่มองเรื่องประกันสุขภาพเป็นภาระประเทศ รพ.ขาดทุน  ซึ่งหากซุปเปอร์บอร์ดสุขภาพ ออกนโยบายรอนสิทธิ์เข้าถึงการบริการสุขภาพ ก็จะกระทบบอร์ด สปสช. เพราะซุปเปอร์บอร์ดเป็นกฎหมายที่ใหญ่กว่ากฎหมายของสปสช. มีสิทธิ์ออกนโยบายกติกา ซึ่งมันจะง่ายต่อการเข้าไปแทรกแซง โดยเฉพาะวิธีคิดที่น่าห่วงในการรอนสิทธิ์ ประกันสุขภาพ จะกลายเป็นระบบสงเคราะห์ ประชาชนต้องร่วมจ่ายเมื่อไปใช้บริการ ซึ่งเราต้องตั้งคำถามว่า มีความจำเป็นหรือไม่ในการมีซุปเปอร์บอร์ด ขณะเดียวกันประชาชนก็ต้องตั้งคำถามกับพรรคการเมืองในแต่ละพรรคทิศทางนโยบายยุทธศาสตร์ประเทศแบบไหน ในเรื่องสวัสดิการผ่านระบบประกันสุขภาพด้วยเช่นกัน

นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า ร่างกฎหมายสุขภาพทั้ง 3 ฉบับ ประชาชนทุกคนต้องมีส่วนร่วม และต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดการลักไก่ ยิ่งช่วงใกล้เลือกตั้งยิ่งต้องระวัง คือต้องต่อสู้โครงสร้างหลัก ปกป้องให้กลไกด้านสุขภาพเกิดความก้าวหน้า ไม่ใช่มาทำลายกระบวนการสุขภาพ ทำให้ถอยหลังเข้าคลอง  และต้องหยุดใช้วิธีกล่าวหา ทำให้สิ่งที่ถูกกลายเป็นไม่ถูก 

“ตอนออกแบบมีเจตนาให้ชาวบ้านมีส่วนร่วม โปร่งใส ตรงจสอบได้ ไม่เป็นการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการที่อยู่ดีๆ แล้วใครจะมาเปลี่ยนซ้าย ขวา โดยนักการเมือง อย่าง กองทุน สสส.เป็นเงินพิเศษที่ไม่ผ่านรัฐสภา เงินประเภทนี้ในต่างประเทศอยากเข้ามาดูแล และเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นแทบทุกประเทศ ใน กองทุนสสส. สปสช. เป็นกองทุนที่ หากประชาชนไม่เข้มแข็งอาจจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางลบได้” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

ขณะที่ ชูวิทย์ จันทรส เลขานุการเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพประชาชน(ขสช.) กล่าวว่า วัน 19พ.ย.นี้ เวลา 13.00 น. เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านสุขภาพ คนพิการ เด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ จากทั่วทุกภาคของประเทศ กว่า150คน จะเดินทางไปที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อแสดงจุดยืนและยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรียกร้องให้ยุติการแก้ไขพ.ร.บ.สสส.ไม่ให้กลับไปอยู่ภายใต้ระบบราชการ ให้กระทรวงการคลังมีอำนาจเหนือกว่าบอร์ดกองทุน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net