Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

“ชั่วชีวิตผมที่เหลืออยู่ จะไม่มีโอกาสเห็นปชป.กลับมาเป็นรัฐบาลอีกแล้ว ผมยืนยัน”

พิเชษฐ พันธุ์วิชาติกุล สส.กระบี่ พรรคประชาธิปัตย์และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ไปทั่วโลกแล้ว

คำถามคือ ทำไมนายพิเชษฐ จึงมีความเชื่อเช่นนี้ และทำไมต้องประชาธิปัตย์ในเมื่อพรรคการเมืองนี้ อวดอ้างตนเองเสมอมาว่าพวกเขาเป็นพรรคที่มีอุดมการณ์เสรีนิยมประชาธิปไตย และโลกปัจจุบัน รวมถึงเทรนด์ของโลกปัจจุบันเป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย มันใช่ล่ะหรือ?

ก็คงจะเป็นคำถามไปยังนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) อีกด้วย เพราะกว่าที่คำพูดของนายพิเชษฐ จะหลุดออกมาเขาคงผ่านการกลั่นกรองมาก่อนแล้ว ซึ่งก็หมายความว่า นายพิเชษฐ ตกผลึกทางความคิดโดยตัวของเขาเองจากประสบการณ์การเป็นผู้บริหารพรรคปชป.มายาวนานหลายปี

คำถามต่อมาก็คือ ทำไมนายพิเชษฐจึงเชื่อว่า ปชป. จะไม่มีโอกาสกลับมาเป็นรัฐบาล ทั้งที่ปชป.เป็นพรรคการเมืองที่เก่าแก่และใหญ่อันดับต้นๆ ของไทย เคยเป็นรัฐบาลมาก็หลายยุคหลายสมัย หรือว่าปชป.หมดน้ำยาแบบไม่สามารถฟื้นคืนประสิทธิภาพได้อีกต่อไปแล้ว มันน่าฉงนสนเท่ห์นักแล

แล้วก็เกิดขึ้นในช่วงการนำของนายอภิสิทธิ์ ที่ถือว่าเป็นคนรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ซะด้วย นายอภิสิทธิ์เองน่าจะเข้าใจอะไรดีๆ เช่น สภาพสังคมไทยในด้านต่างๆ ได้ดีพอสมควร

สรุปแล้วจากคำพูดของนายพิเชษฐ ปชป.น่าจะมีปัญหากับสังคมไทยในระดับหนึ่งและมากด้วย เพราะเขาเชื่อถึงขนาดว่า ปชป.จะไม่ได้กลับมาเป็นรัฐบาลอีกต่อไปนับจากนี้อีกหลายปี

ปัญหาส่วนบุคคล หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค นำไปสู่ปัญหาด้านนโยบายหรือแม้แต่ปัญหาบุคลิกภาพส่วนตัวของนายอภิสิทธิ์ ทั้งๆ ที่แท้จริงแล้วหัวหน้าพรรคปชป.เองมีจุดเด่นอยู่ที่การใช้วาทกรรม เขาใช้วาทกรรมได้เก่งกาจไม่แพ้นักการเมืองหรือนักพูดใดๆ ในประเทศไทยเลยทีเดียว แต่เหตุใดเล่า จุดเด่นแบบนี้ของหัวหน้าพรรคฯจึงไม่สามารถเรียกคะแนนจากผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเลือกตั้ง จนสามารถกลับมาเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้ (ตามการตั้งข้อสังเกตของนายพิเชษฐ และ ปชป. ก็แพ้พรรคการเมืองฝ่ายตรงข้ามนับตั้งแต่ไทยรักไทยจนถึงเพื่อไทยมาราบคาบหลายปี จนเกิดมีคนปชป.อย่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เล่นนอกเกมพาคนไปเดินบนถนน จนประเทศไทยอยู่ในอาการวิบัติรัฐประหารมาถึงทุกวันนี้

อะไร เป็นปัญหาที่แท้จริงของ ปชป.?

ผมเชื่อว่าสมาชิก กรรมการบริหารปชป.ทุกคน กำลังพยายามอย่างยิ่งที่จะกอบกู้ภาพลักษณ์ของพรรคในแง่เสรีนิยมประชาธิปไตยให้กลับคืนมาเพื่อให้พรรคได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในสมัยการเลือกตั้งที่จะถึงหลัง คสช.ปลดล็อค เพียงแต่ในความเห็นของนายพิเชษฐที่อยู่ปชป.มานาน เขากลับไม่เชื่อว่าปชป.จะทำได้ในระยะ 10 ปีหลังจากนี้

ทำไมนายพิเชษฐถึงเชื่อเช่นนั้น มันต้อง something wrong เกิดขึ้นกัปปชป.เป็นแน่แท้

จากประวัติศาสตร์การเลือกตั้งที่ผ่านมาหลายครั้ง ในยุคการเมืองสมัยใหม่ของไทยปรากฏว่า ปชป. ต้องพ่ายแพ้ให้กับกลุ่มการเมืองสังกัด “กลุ่มทักกี้” มาตลอด เรียกได้ว่าไม่เคยมีครั้งใดที่ปชป.ได้ชัยชนะเลย ทำไมหรือ? ที่ของคนของปชป.เองไม่ตั้งข้อสังเกตแบบนายพิเชษฐบ้าง พรรคเราแพ้หลายครั้งหลายคราเพราะเหตุใด ทำอย่างไรพรรคเราจึงจะชนะใจประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ

ประมวลจากผลการเลือกตั้งหลายๆ ครั้งที่ ปชป.แพ้ฝ่ายทักกี้อย่างราบคาบก็แสดงให้เห็นแล้วว่า วาทกรรมกรรมของนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรค ปชป.ออกไปในแนวดื้อด้านสวนกระแสคนส่วนใหญ่ของประเทศมากเพียงใด ยิ่งพูดคนยิ่งไม่เชื่อ นักการเมืองต้องตามโลก มิใช่โลกต้องตามนักการเมือง นักการเมืองคือประชาชนแยกกันไม่ออก ภาพที่เห็นจนเจนตาของหัวหน้าพรรค ปชป. ก็คือภาพของความเหนือกว่าชาวรากหญ้าที่แสดงให้เห็นถึงความไม่สามารถแทงทะลุใจพวกเขาของนายอภิสิทธิ์

แต่ก็ไม่ใช่ความผิดของนายอภิสิทธิ์ที่เขาเกิดมาในครอบครัวชนชั้นกลางในกรุงเทพ และมิใช่ความถูกต้องของนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามกับปชป.ที่เขามาจากจากชาวบ้านธรรมดาหรือทุนท้องถิ่นแล้วแทงทะลุใจ เอาชนะใจชาวบ้านไปได้มากกว่าปชป.

หากที่จริงวัฒนธรรมในชุมชนไทยเข้าสู่ยุค 4.0 หรือยุคดิจิทัลมานานพอสมควรทีเดียว ปชป.ตะหากที่มิได้แปรผันตามวัฒนธรรมสมัยใหม่ 4.0 หากยังรักษาวัฒนธรรมเชิงการใช้วาทกรรมแบบเดิมๆ ไว้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งนายอภิสิทธิ์เองก็น่าจะรับช่วงสืบต่อมาจาก นายชวน หลีกภัย อดีตหัวหน้าพรรค

ต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมการจีบปากจีบคำพูด ใช้เหตุผลแบบ “นิติตรรกะ”นั้นใช้ไม่ได้เสียแล้วในยุคปัจจุบัน การพูดแล้วไม่ต้องแปลหรือไม่ต้องตีความตะหากที่ควรนำหาใช้ พูดตรงๆ ได้หรือไม่ได้ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เอาหรือไม่เอา รับหรือไม่รับ

คำถามง่ายๆ ที่ ปชป.ต้องตอบให้ได้ คือ พรรคหรือตัวเองคือใคร? ขณะที่ตอนนี้แนวอุดมการณ์หรือรูปแบบนโยบายของการเมืองไทย พัฒนามาถึงขั้นของการงวดเหลือแค่ 2 แนว เท่านั้น คือ เสรีนิยมประชาธิปไตยกับอนุรักษ์นิยมแบบไทยๆ (เผด็จการหรือรัฐทหารก็รวมอยู่ในส่วนหลังนี้ด้วย) นายอภิสิทธิ์ต้องยอมรับว่าตนเองไม่สามารถขึ้นขี่ม้าสองตัวในคราวเดียวกัน เพราะม้าสองตัวมันจะวิ่งไปคนละทิศละทาง ขืนขึ้นคร่อมทั้งสองตัวมีหวังได้ขาฉีก

แต่นายอภิสิทธิ์ก็ยังพยายามจะทำอยู่ หากดูจากวาทกรรมที่เขาพูด คือ “แทงกั๊ก” ไม่เห็นความชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรระหว่างเผด็จการกับเสรีประชาธิปไตย อีกประการหนึ่งที่หัวหน้าปชป.นิยมปฏิบัติก็คือ ทุ่มเถียงชาวบ้านแบบคำไม่ตกฟากจากเหตุการณ์ฆ่ากลางเมือง 99 ศพ ในปี 2553 แม้จะเป็นแม้แต่ “ชั่งไข่ขายเป็นกิโล” ก็ตาม จะเป็นข้อเท็จหรือข้อจริง คนเป็นนักการเมืองและผู้นำต้องมีบุคลิกนิ่งกว่านี้ ไม่ใช่เถียงชาวบ้านคำไม่ตกฟาก เหมือนกุมาร กุมารีเถียงกันทั่วไป มันเสียบุคลิกผู้นำอ่ะ

ความงวดของอุดมการณ์ทางการเมืองของไทยที่เหลืออยู่แค่ 2 สายหรือ 2 แนวทาง เหมือนพัฒนาการทางการเมืองของประเทศตะวันตกโดยทั่วไป ปชป.ควรมีเร่งพิสูจน์อัตลักษณ์ของตัวเองให้ได้โดยเร็วที่สุด ไม่ใช่การขึ้นขี่ม้าคราวเดียวกันพร้อมกันสองตัว นี่คือสิ่งที่ผิดวิสัยปกติแล้ว

การอุบัติขึ้นของ เจ.เค.โรว์ลิ่ง นักเขียนชื่อก้องโลกและเศรษฐีนี เป็นเครื่องบ่งว่า ใช่ว่านวนิยายประโลมโลกย์แนวจารีตจะขายไม่ได้ ขึ้นกับแก๊กของเรื่องต่างหาก

และโพสต์โมเดิร์นก็บอกเราว่า การอยู่ในโลกสมัยใหม่ มันสมควรเรียบง่าย ตรง ไม่อ้อมค้อมอย่างไรบ้าง ไม่ควรทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากอย่างไร

นิยายของนักเขียนอเมริกันอย่าง The old man and the sea ของ Hemingway ซึ่งถือว่าเป็นช่วงต้นๆของการกำเนิดโพสต์โมเดิร์น ได้รับรางวัลโนเบล และเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของนักเรียนทั่วโลกก็เพราะมันอ่านง่าย ใช้ภาษาชาวบ้านธรรมดาๆ ที่เข้าใจง่าย ไม่ใช้ศัพท์สูง ที่ถ้าเป็นสำนวนนักการเมืองก็คือการไม่เล่นลิ้น ปลิ้นปล้อน เล่นคำพูด (political flip flop)  ปั้นคำพูดให้ดูดี สวยงาม ซึ่งงานของ Hemingway ไม่ทำ

การเขียน การพูด โดยใช้ภาษาง่ายๆ ใช้ภาษาชาวบ้านต่างหาก ที่แสดงถึงอัจฉริยภาพของคนเขียนและคนพูด ไม่ใช่ทำง่ายให้เป็นยากเหมือนที่ท่านหัวหน้าปชป.กำลั่งทำอยู่ในเวลานี้...

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net