Skip to main content
sharethis

The MATTER, Minimore และ Boonmee Lab จับมือสร้างเว็บไซต์ ELECT.in.th หวังเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หลังพบคนรุ่นใหม่จำนวนมากยังไม่เข้าใจระบบการเลือกตั้ง ประจักษ์ ก้องกีรติ ชี้การเลือกตั้งครั้งนี้คือ The First Social Media Election ของไทย ย้ำอย่า รอ กกต. มาให้ความรู้ เชื่อสื่อออนไลน์สร้างความเปลี่ยนแปลงได้

19 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(18 พ.ย.) The MATTER, Minimore และ Boonmee Lab ได้ร่วมกันเปิดตัวเว็บไซต์สื่อข้อมูลการเมืองและการเลือกตั้ง ELECT.in.th โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลสำหรับประชาชน เพื่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562

ทีปกร วุฒิพิทยามงคล บรรณาธิการบริหาร The MATTER กล่าวว่าเว็บไซต์ ELECT.in.th จะเป็นพื้นที่เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้กับประชาชน พร้อมเชื่อว่าการเลือกตั้งในครั้งนี้ สื่อโซเชียลมีเดียจะมีบทบาทมากขึ้นกว่าเดิม และจะเป็นช่องทางหลักที่ประชาชนจะได้เข้าถึงข้อมูลของพรรคการเมืองต่างๆ

พงษ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการข่าว The MATTER เสริมว่า ที่ผ่านมาได้ลองสอบถามคนรุ่นใหม่หลายคน สิ่งที่พบคือส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องระบบเลือกตั้งมากนัก ไม่ว่าจะเป็นจำนวนบัตรเลือกตั้ง ระบบการคิดคะแนน รวมถึงกระบวนการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งเว็บไซต์ ELECT.in.th มีเป้าหมายที่จะให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งเหล่านี้มากยิ่งขึ้น

บรรณาธิการข่าว The MATTER ระบุว่า เด็กวัยรุ่นจำนวนไม่น้อย พวกเขาอยากเลือกตั้ง แต่หลายคนก็ไม่รู้ข้อมูลมากนัก บางคนมองว่าเลือกตั้งไปก็เท่านั้น เพราะยังไม่มั่นใจว่าเสียงของพวกเขาจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ ดังนั้น โปรเจ็กต์นี้ย่อยข้อมูลที่ยากๆ และซับซ้อนให้ง่ายและน่าสนใจขึ้น เช่น เรื่องระบบเลือกตั้ง นโยบายของพรรค ประวัติผู้สมัครต่างๆ เพื่อให้ประชาชนรู้ว่า ถ้าเลือกพรรคการเมืองที่เขาสนใจไปแล้ว เขาจะได้อะไรบ้าง

ฐิติพงษ์ เหลืองอรุณเลิศ ผู้บริหาร Boonmee Lab อธิบายเสริมว่า เว็บไซต์ ELECT.in.th จะสามารถสร้างแรงกดดันให้กับรัฐได้ เพราะเมื่อเอกชนได้ลุกขึ้นมารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการเลือกตั้งแล้ว คำถามจะเกิดขึ้นว่าในตอนนี้ภาครัฐได้เปิดเผยข้อมูลกับสังคมเพียงพอแล้วหรือยัง เพื่อที่จะให้ประชาชนผู้มีสิทธิได้เข้าใจการเลือกตั้งได้ และสร้างบทสนทนาใหม่ๆ ในสังคมได้มากขึ้น

นอกจากนี้ในช่วงหนึ่งของงานเปิดตัวเว็บไซต์ ELECT.in.th  ได้มีวงเสวนา ”เปลี่ยนผลการเลือกตั้งด้วยพลังของข้อมูล” โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทลัยธรรมศาสตร์ เป็นในหนึ่งวิทยากร โดยประจักษ์ ระบุว่า ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้ สิ่งที่จะเห็นคือการใช้สื่อรูปแบบใหม่ ทั้งจากฝั่งนักการเมืองที่ต้องการหาเสียง และฝั่งของประชาชน ส่วนฝั่งที่จะติดตามสถานการณ์ในโลกออนไลน์ได้ล่าช้าที่สุดคือ ฝั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และการเลือกตั้งครั้งนี้เรียกได้ว่าเป็น The First Social Media Election ของไทย

ประจักษ์ กล่าวว่า ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในประเทศโลกตะวันตกหลายประเทศ รวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทย Social Media เข้ามามีบทบาทในการเลือกตั้งทั้งในแง่ของการรณรงค์ การกระจายข้อมูลข่าวสาร กำหนดวาระ และประเด็นสำคัญ ทั้งยังเป็นช่องทางใหม่ในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน ในมาเลเชียปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2556 พรรคฝ่ายค้านในเวลานั้นได้คะแนนเสียงใกล้เคียงกับพรรครัฐบาล หลังจากการเลือกตั้งเสร็จสิ้นไปแล้ว นาจิบ ราซัค ออกมาพูดว่าสิ่งที่ตัวเองกับเผชิญหน้าอยู่คือ สึนามิอินเตอร์เน็ต ซึ่งเขารับมือไม่ทัน หลังจากนั้นเขาได้ปรับตัวโดยการเล่นทวิตเตอร์ และเฟซบุ๊กเพื่อสื่อสารกับประชาชนทางตรง สำหรับเมืองไทยในช่วงการเลือกตั้งปี 2554 แม้จะมีการมีให้ Social Media จำนวนมากในประเทศแต่ก็ยังไม่ได้มีการใช้อย่างจริงจังในการหาเสียงเลือกตั้ง แต่ในการเลือกตั้งที่จะเกิดนี้ คาดเดาได้ว่าจะมีการใช้ช่องทาง Social Media ในการรณรงค์ทางการเมืองอย่างเต็มที่

ประจักษ์ กล่าวต่อว่า การเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นการเลือกตั้งที่จะเห็นสมรภูมิสื่อใหม่เป็นครั้งแรก ฝั่งนักการเมืองและพรรคการเมืองจะได้ประโยชน์คือ มีทางเลือกในการใช้สื่อมากขึ้น ในหลายประเทศสื่อกระแสหลักส่วนใหญ่มักมีอคติ และเป็นพื้นที่ซึ่งถูกครอบครองโดยรัฐเป็นหลัก และถูกเซ็นเซอร์ได้ง่าย อย่างสื่อโทรทัศน์ หรือหนังสือพิมพ์กระแสหลัก แต่สื่อ Social Media ไม่มีใครเป็นเจ้าของ ซึ่งในทางหนึ่งทำให้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะทุกคนมีสื่อของตนเอง นักการเมืองและประชาชนสามารถสื่อสารกันได้โดยไม่ต้องผ่านตัวกลาง และเราจะเห็นรูปแบบการหาเสียงแบบใหม่

อย่างไรก็ตาม ประจักษ์ ย้ำว่า สิ่งที่เป็นประโยชน์สำคัญจะเกิดขึ้นในฝั่งของประชาชนเอง เพราะสามารถทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Voter Education By The People ก่อนหน้านี้การให้ความรู้ทางการเมืองกับผู้เลือกตั้งถูกมองว่าเป็นหน้าที่ของ กกต. แต่ในปัจจุบันเราไม่จำเป็นต้องรอ กกต. มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง สื่อ Social Media สามารถที่จะสื่อสารกับประชาชนได้ทันที เกี่ยวกับออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การตรวจสอบหน่วยเลือกตั้ง ไปจนถึงเรื่องของระบบการเลือกตั้ง  นอกจากนี้ในหลายประเทศได้ใช้สื่อ Social Media ในการเสนอข้อมูลว่า ในเขตเลือกตั้งหนึ่งๆ มีใครเป็นผู้สมัครบ้าง และเมื่อคลิกเข้าไปที่รายชื่อก็จะพบว่าแต่ละคนมีประวัติความเป็นอย่างไร หากเป็นอดีต ส.ส. ก็จะมีข้อมูลให้เห็นว่า เคยสนับสนุนกฎหมายอะไร ค้านคัดกฎหมายอะไร และเคยอภิปรายในสภาไว้ว่าอย่างไร

“เราสามารถที่จะทำหอจดหมายเหตุออนไลน์ได้เลย โดยการรวบรวมข้อมูลว่าผู้สมัครแต่ละคนเคยพูดอะไรไว้บ้าง เคยให้สัมภาษณ์ หรือมีจุดยืนในเรื่องต่างๆ อย่างไรบ้าง ประชาชนก็จะสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และตรวจสอบได้ว่าผู้สมัครแต่ละคนมีความคิดอย่างไร เพื่อประกอบการตัดสินในในการไปออกเสียงเลือกตั้ง… เรามาถึงจุดที่ต้องมองข้ามพ้น กกต. ไปแล้ว ก่อนที่จะมานี่ผมเข้าไปดูในเว็บ กกต. ข้อมูลเดียวที่มีการเปิดเผยต่อสาธารณะคือ ข้อมูลเกี่ยวกับผลการเลือกตั้งครั้งก่อน และก็มีข้อมูลเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้สมัครเป็น ส.ส.” ประจักษ์ กล่าว

เรียบเรียงบางส่วนจาก: elect.in.th

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net