Skip to main content
sharethis

องค์กรภาคีที่สังเกตการณ์การปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ทางการไทยยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อ 'ทนายอานนท์' กรณีศาลทหารเรียกไต่สวนและห้ามเผยแพร่คำเบิกความพยาน คดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา

อานนท์ นำภา แฟ้มภาพ

19 พ.ย.2561 จากกรณีที่ศาลทหารกรุงเทพนัดไต่สวนทนายความอานนท์ นำภา เมื่อวันที่ 3 ต.ค.ที่ผ่านมา กรณีเผยแพร่เนื้อหาการสืบพยานโจทก์ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง ในคดีฐนกร (สงวนนามสกุล) แชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมาและสั่งให้ อานนท์ แจ้งศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนลบข้อความที่ปรากฏในข่าว “ทหารผู้กล่าวหาคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ใช้เฟสบุ๊กไม่เป็น แต่เห็นว่าแค่กดไลค์เพจหมิ่นฯ ก็ผิด 112” (http://www.tlhr2014.com/th/?p=8950) บนเว็บไซต์ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนออกนั้น

ล่าสุด ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานว่า เมื่อวันที่ 16 พ.ย.ที่ผ่านมา องค์กรภาคีที่สังเกตการณ์การปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders หรือองค์กรภาคีฯ) ออกใบแจ้งข่าว เรื่อง การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อทนายอานนท์ กรณีศาลทหารเรียกไต่สวนและห้ามเผยแพร่คำเบิกความพยาน คดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์-กดไลค์-หมิ่นหมา ดังกล่าว โดยมีมีรายละเอียดดังนี้

รัฐไทยต้องยุติการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อทนายอานนท์

องค์กรภาคีฯ ขอประณามการคุกคามทนายอานนท์ ต่อกรณีศาลทหารเรียกไต่สวนทนายอานนท์ เกี่ยวกับการเผยแพร่คำเบิกความพยานของอัยการศาลทหาร ในคดีที่อานนท์ปฏิบัติหน้าที่เป็นทนายความจำเลย  การกระทำดังกล่าวของศาลทหารเป็นสิ่งบ่งชี้ถึงการละเมิดสิทธิในการได้รับการพิจารณาคดีด้วยความเป็นธรรมของผู้ถูกกล่าวหาและแสดงให้เห็นว่าสถานการณ์การคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมต่อนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยยังคงมีอยู่

องค์กรภาคีฯ จึงขอเรียกร้องให้ทางการไทยหยุดการกระทำที่เป็นการคุกคามทนายอานนท์ทั้งหมด ทั้งในและนอกกระบวนการยุติธรรม เพราะการกระทำนี้ดูเหมือนมีวัตถุประสงค์เพื่อทำลายความชอบธรรมของเขาในฐานะนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชน

ทั้งนี้ องค์กรภาคีฯ ขอเรียกร้องอย่างเร่งด่วนให้นานาชาติดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งถึงทางการไทย เพื่อให้ทางการไทยดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ประกันให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตใจของทนายอานนท์ นำภา และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ทั้งนี้ ควรดำเนินการในทุกบริบท

2. หยุดการกระทำอันเป็นการคุกคามในทุกรูปแบบต่อทนายอานนท์และนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศ รวมถึงการคุกคามในระดับกระบวนการยุติธรรม และรับรองในทุกบริบทให้พวกเขาสามารถทำกิจกรรมด้วยความชอบธรรม โดยปราศจากอุปสรรคหรือความกลัวจากการตอบโต้กลับของรัฐ

3. ประกันในทุกบริบทให้บุคคลที่ถูกกล่าวหามีสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างเป็นธรรม

4. ปฏิบัติตามเงื่อนไขในพันธกรณีที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2541 โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อ 1, ข้อ 5 (ก) และข้อ 12.2

5. รับรองถึงการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นรัฐภาคี 

สำหรับ รายละเอียดเกี่ยวกับพันธกรณีที่ระบุไว้ในปฏิญญาสากลว่าด้วยนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติได้ให้การรับรองเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2541 นั้น ศูนย์ทนายความฯ อธิบายเพิ่มเติมว่า  ข้อ 1 ระบุว่า "บุคคลทุกคนมีสิทธิ โดยลำพังหรือร่วมกับผู้อื่นที่จะส่งเสริมและต่อสู้เพื่อให้เกิดการคุ้มครอง และตระหนักถึงสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ในระดับประเทศและระหว่างประเทศ"  ข้อ 5 (ก) ระบุว่า "ด้วยจุดประสงค์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน บุคคลทุกคนมีสิทธิโดยลำพังหรือโดยร่วมกับผู้อื่น ในระดับประเทศและระหว่างประเทศในการพบหรือชุมนุมกันอย่างสันติ" และข้อ 12.2 ระบุว่า "รัฐต้องดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อประกันให้มีการคุ้มครองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก่บุคคลทุกคน โดยลำพังหรือโดยร่วมกับผู้อื่น จากความรุนแรง การข่มขู่ การตอบโต้ การเลือกปฏิบัติที่เป็นการปฏิบัติโดยพฤตินัยหรือนิตินัย การกดดัน หรือการปฏิบัติโดยพลการอื่นใด ที่เป็นผลจากการที่บุคคลนั้นได้ใช้สิทธิอย่างชอบธรรมตามที่อ้างถึงในปฏิญญานี้"

ความคืบหน้าคดีแชร์ผังทุจริตราชภักดิ์–กดไลค์–หมิ่นหมา 

ในส่วนความคืบหน้าการพิจารณาคดีของฐนกร (สงวนนามสกุล) ในการกระทำอันเป็นการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นั้น ศูนย์ทนายความฯ รายงานว่า วันที่ 8 พ.ย. 61 อัยการศาลทหารนำสืบพยานปาก พล.ต.ต. สุรศักดิ์ ขุนณรงค์ ผู้ซักถามจำเลยระหว่างถูกควบคุมตัวที่มณฑลทหารบกที่ 11 ร่วมกับ พล.ต.วิจารณ์ จดแตง เสร็จสิ้น และมีการนัดสืบพยานปากต่อไปในวันที่ 20 ธ.ค. 61 โดยในวันดังกล่าวมีผู้สังเกตการณ์จากสหประชาชาติ (OHCHR) คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) และสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนเข้าร่วมฟังการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ศาลยังขอความร่วมมือผู้มาฟังการพิจารณาไม่ให้จดบันทึกการสืบพยานอยู่

ทั้งนี้ องค์กรภาคีที่สังเกตการณ์การปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (The Observatory for the Protection of Human Rights Defenders) ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1997 (พ.ศ.2540) โดยความร่วมมือของสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (the International Federation for Human Rigts – FIDH) และ the World Organization Against Torture (OMCT) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันหรือเยียวยาสถานการณ์การปราบปรามต่อนักปกป้องสิทธิมุนษยชน ทั้งนี้ องค์กร FIDH และ OMCT เป็นสมาชิกของกลไกการปกป้องนักสิทธิมนุษยชนของสหภาพยุโรปซึ่งดำเนินการโดยภาคสังคมนานาชาติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net