ทำความเข้าใจกับการออกแบบเขตเลือกตั้งแบบ Gerrymandering

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ในขณะที่เรากำลังไปสนใจกับข่าวบันเทิง เรื่อง Madam Secretary กัน......

ดิฉันไปเห็นการโพสต์กันตอนเช้า เกี่ยวกับเรื่อง การใช้อำนาจด้วย ม.44 เพื่อให้ทาง กกต ออกแบบเขตเลือกตั้งใหม่ได้โดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชนแต่อย่างใด ภาพประกอบมาจากเพจของ “เรื่องเล่าเช้านี้”

อ้างอิง: https://morning-news.bectero.com/politic…/17-Nov-2018/133439

พออ่านเสร็จ ทำให้นึกถึงเรื่องของ Gerrymandering ขึ้นมาทันที (อ่านว่า เจอร์รี่ แมนเดอร์ริ่ง) ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยว่า “การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบอยุติธรรม” หรือ “การแบ่งเขตเลือกตั้ง เพื่อที่จะให้พรรคของตนเองเชียร์อยู่ ได้เปรียบหรือเป็นฝ่ายชนะขึ้นมา"

ต้นตอของเรื่องนี้ มาจากผู้ว่าการรัฐชื่อนาย Elbridge Gerry ของรัฐ Massachusetts ทำการผ่านกฎหมาย เพื่อเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งขึ้นมาใหม่ เพื่อให้พรรคชื่อว่า Democratic-Republican เป็นพรรคชนะการเลือกตั้งวุฒิสภาในรัฐของตนเมื่อปี ค.ศ. 1812

วิธีการของ Governor Gerry ในเวลานั้น เป็นเรื่องที่แหวกแนวมากๆ จนมีการนำเอาชื่อของเขา มาสนธิกับ สัตว์ในนิยายชื่อ Salamander ซึ่งมีความผูกพันเกี่ยวกับแม่มดหมอผีและเวทมนต์ต่างๆ รวมท้้งรูปร่างของเขตการเลือกตั้ง กลายเป็นรูปคล้ายๆ สัตว์ประหลาดในตำนานอีกด้วย ก็เลยกลายเป็นการใช้คำว่า Gerry + mander เข้าไป ด้วยการตัดคำว่า Sala ออก ก็เลยกลายเป็นเรื่องของ Gerrymander ไปโดยปริยาย

----------------------------------------------------
การออกแบบเขตเลือกตั้งตามรูปประกอบ ได้ถูกนำมาใช้กันอย่างแพร่หลายในแทบทุกรัฐของสหรัฐอเมริกา ซึ่งกลายเป็น “ความได้เปรียบ” ของผู้ครองตำแหน่ง หรือ incumbent เพราะประชาชนในเขตเลือกตั้งต่างๆ มีโอกาสอยู่แล้วที่จะเลือกผู้ครองตำแหน่งอยู่ต่อไปอีกสมัยหนึ่ง และก็ทราบกันดีกว่า ความได้เปรียบเหล่านี้ สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์กับฝ่ายตนเอง

โอกาสที่ผู้ท้าชิงตำแหน่งจะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง สส (House of Representatives) ของ US ในแต่ละเขต มีน้อยกว่า 50% จากการเลือกตั้งทุกครั้ง เพราะผู้ครองตำแหน่ง จะได้รับคะแนนจากประชาชนที่ชื่นชอบตนเองอยู่เป็นทุนอยู่แล้ว (ถ้าไม่มีเรื่องฉาวโฉ่ หรือ ห่วยแตกจริงๆ ผู้คนเขาก็ "กา" ให้ เพราะทำหน้าที่ผู้แทนได้ดี มีผลงานให้ประจักษ์ อย่างนี้เป็นต้น)

การแบ่งเขตการเลือกตั้งใน US ไม่เหมือนกับของไทย เพราะทางไทย อาจจะกลายเป็น ตำบล อำเภอ กันได้ไม่ยากนัก แต่การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งของ US เป็นเรื่องที่ทำกันอย่าง “แย่มากๆ” แบบ “หน้าด้านๆ” กันในหลายรัฐ

----------------------------------------------------

อย่าลืมว่า เขตเลือกตั้งในแต่ละรัฐ อาจจะมีเป็นของ สส ของ US Congress และของ State Congress ด้วย การแบ่งเขตก็คล้ายๆ กัน อาจจะทับกันอยู่เสียด้วยซ้ำไป รัฐแต่ละรัฐจัดการแบ่งเขตเลือกตั้งกันเอง

ถ้ายังไม่เข้าใจ ก็ขอสมมติง่ายๆ ว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งรัฐ และมีเขตเลือกตั้งอยู่ 5 ภาค (ภาคเหนือ, ภาคอิสาน, ภาคกลาง, ภาคตะวันออก และภาคใต้) แต่ละภาคมีตัวแทนหนึ่งคน เป็น สส

ประชาชนส่วนใหญ่ไปลงคะแนนภาคเหนือกัน จนท่วมท้นให้กับ สส พรรค A แต่ภาคอิสานเอง พรรค A ไปแพ้ พรรค B อยู่ไม่กี่ร้อยค่ะแนน และภาคกลางนั้น พรรค B ชนะขาดลอย

----------------------------------------------------

การใช้ Gerrymandering คือ การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่ในเขตภาคอิสาน เพื่อช่วยเหลือให้พรรค A สามารถชนะการเลือกตั้งได้ในอนาคต เราจะเห็นว่า พรรค A ได้ สส หนึ่งคน แต่พรรค B ได้ สส 2 คน จากการเลือกตั้งครั้งล่าสุด

การเปลี่ยนเขตเลือกตั้งเพื่อช่วยพรรค A คือ การขยายพื้นที่ของภาคอิสาน มาคลุมอยู่ในภาคกลาง ด้วยการนำเอาข้อมูลที่เห็นว่า ฝ่ายที่เลือกพรรค A จับกันเป็นกลุ่มก้อนอยู่แถบไหนบ้าง จากนั้น ก็ทำการออกแบบ สร้างเล้นเขตเลือกตั้งใหม่ ให้พื้นที่ กินเข้ามาในเขตที่คนเลือกพรรค A กัน (ในภาคกลาง)

แต่มันก็จะมี Give and Take อยู่ คือ พรรค A จะได้คะแนนเพิ่ม และทางการจะเห็นว่า ต้องโยนคะแนนไปให้ พรรค B สำหรับภาคกลางที่ชนะขาดลอยเช่นกัน คือ วาดเส้นไปยังพื้นที่ ที่มีคะแนนเสียงของพรรค B คลุ่มอยู่แล้ว ก็ให้ชนะขาดกันไปเลย

Bottom line คือ ผลการเลือกตั้งในอนาคตนั้น แทนที่พรรค A จะได้ สส คนเดียว ะมีโอกาสได้ สส สองคน (จากคะแนนเพิ่มมาจากการแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่)

ส่วน พรรค B ก็ได้ สส เก่า เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพียงแต่คะแนนมากขึ้นในเขตเก่าหรือภาคเก่าเท่านั้นเอง (คะแนนพื้นที่เดิม + คะแนนที่ได้จากพื้นที่ที่เปลี่ยนเขตเลือกตั้งใหม่)

----------------------------------------------------

ท่านลองสังเกตรูปที่นำมาลง ก็คงจะเข้าใจแล้วว่า ทำไม พื้นที่ที่มีประชากรเป็น น้ำเงิน ถึงสามารถแพ้การเลือกตั้งได้ ที่เป็นเช่นนี้ เพราะมีการนำเอาการปฏิบัติแบบ Gerrymandering เข้ามาบังคับใช้นั่นเอง ด้วยการเปลี่ยนแปลง แบ่งเขตเลือกตั้งใหม่เสียเลย

----------------------------------------------------

อย่าลืมว่า สัดส่วนของ ประชาชนในพื้นที่รวม (ของเขตเลือกตั้ง) มีอิทธิพลในการ แบ่งเขตเลือกตั้งด้วย

สมมติตามตัวอย่างที่กล่าวไว้ คือ เขตการเลือกตั้งของภาคอิสาน ทำให้พรรค A แพ้คะแนนไปประมาณ 500 เสียง องค์กรที่มีอำนาจแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่ สามารถย้ายเขตหรือตำบล หมู่บ้านอื่นๆ เข้ามาผนวก จากภาคกลาง (ที่ทราบว่า ลงคะแนนให้พรรค A) จนกระทั่งมั่นใจว่า มีคะแนนเสียงอย่างน้อยเพิ่มขึ้นอีกเกือบเท่าตัว (อันนี้ถือว่าเป็น การ Take)

เมื่อมีการ Take เกิดขึ้น ก็ต้องมีการ Give เพื่อให้สมดุลกับที่ Take มา ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้งในภาคอิสาน ซึ่งเลือกพรรค B อยู่แล้ว ให้แทน

เพราะฉะนั้น ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป โอกาสที่พรรค A จะชนะในภาคอิสาน จะมีมากขึ้น เพราะคะแนนจะเทมาอยู่ที่พรรค A แทน เนื่องจากไปอยู่เขตการเลือกตั้งใหม่ ส่วนภาคกลางนั้น พรรค B ก็จะชนะแบบขาดลอย เพราะได้คะแนนเพิ่มจากการเปลี่ยนแปลงเขตการเลือกตั้ง

นี่เป็นยุทธวิธีของเรื่อง การ Lose the battles, but win the war คือ ยอมแพ้ สงครามย่อย แต่ชนะสงครามใหญ่แทน

----------------------------------------------------

ถ้าถามดิฉันว่า การใช้ Gerrymandering ในการเลือกตั้งของไทย จะมีผลประโยชน์อะไรบ้าง?

อย่างแรกที่ควรจะทราบคือ ต้องไปหาข้อมูลเก่า โดยเฉพาะในเขตตำบลหรืออำเภอในพื้นที่ ที่มีผลคะแนนการเลือกตั้งที่สูสีกัน คือ ฝ่ายที่ชนะ ไม่ได้ชนะด้วยคะแนนมากเท่าไรนัก

การวิจัยเรื่องนี้ เกิดขึ้นได้ ถ้าดูว่า ในแต่ละเขตแต่ละตำบล ของ แต่ละอำเภอว่า มีคะแนนออกมาแบบไหนบ้าง สมมติว่า มีคะแนนชนะกันแบบขาดลอย ประเภท “ยกตำบลหรือยกอำเภอ” แล้ว ดิฉันคิดว่า คงจะไม่มีการนำเอาเรื่องของ Gerrymandering มาใช้ เพราะมันไม่ช่วยอะไรได้เท่าไรนัก

การปฎิบัติแบบ Gerrymandering จะใช้ได้ดี ก็เมื่อมีคะแนนสูสีกันเกิดขึ้นในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด การออกแบบเขตเลือกตั้งใหม่ จะช่วยเหลือผู้สมัครที่เคยแพ้มาก่อน ให้กลายเป็นผู้สมัครที่มี "สิทธิ์ลุ้น" ว่ามีโอกาสที่จะชนะการเลือกตัังได้

ยกตัวอย่างที่กล่าวไว้เบื้องต้น คือ เขตที่ชนะอยู่แล้ว จะได้คะแนนเพิ่มมากขึ้น แต่เขตที่สูสี อาจจะกลับมาแพ้ได้

----------------------------------------------------

ก่ารออกแบบเขตเลือกตั้งใหม่ เป็น 4 แบบ และผู้ที่มีอำนาจออกแบบเหล่านี้ สามารถที่จะทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดชนะการเลือกตั้งได้ จากการวางเขต และรูปแบบ 

เรื่องนี้ สามารถเช็คได้จากประวัติและคะแนนการเลือกตั้งในอดีตว่า ประชาชนลงคะแนนให้กับพรรคใดๆ กันบ้าง

อ้างอิง: https://www.facebook.com/804632636246419/photos/pcb.2036746833034987/2036745749701762/?type=1&theater 

คือ การออกแบบการแบ่งเขตการเลือกตั้งว่า จะทำอย่างไร และพรรคไหนจะชนะ ทั้งๆ ที่ประชากรผู้มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งนั้น ส่วนใหญ่เป็นสีน้ำเงิน และการออกแบบ ก็สามารถทำให้ พรรคสีแดง ซึ่งเสียเปรียบจากจำนวนคน มีโอกาสที่จะ "ตีเสมอ" และสามารถทำให้เขตที่จะแพ้ กลายเป็น "การลุ้น" (Swing) ได้เช่นกัน

เรื่องนี้ ไม่จำเป็นว่า ประชากรในเขตมีเท่าไร ถ้าออกแบบเขตเลือกตั้งได้ดี ผลจะเป็นอย่างที่ตนเองต้องการ ถึงแม้ว่า ฝ่ายตรงข้าม จะมีประชากรมากกว่าก็ตาม

----------------------------------------------------

อ้างอิง: flickr.com/photos/prachatai

ตามภาพ ในการเลือกตั้งของ กทม มีบางเขต อย่างเขต 10 มีนบุรี กับ เขต 11 ลาดกระบัง

สมมติว่า มีการใช้ Gerrymandering เกิดขึ้น เพื่อให้ พรรคสีแดงชนะ เพราะแพ้กันอยู่แค่ 1,500 คะแนน ก็จะมีการ “เปลี่ยนเขตเลือกตั้ง” ให้รวมพื้นที่บางส่วนของเขต11 (ลาดกระบัง) เข้ามาด้วย ซึ่งพรรคสีแดงชนะมากกว่า 13,000 คะแนนในการเลือกตั้ง ครั้งล่าสุด

เมื่อใช้วิธีนี้แล้ว โอกาสที่พรรคสีแดงจะได้คะแนนเพิ่มในการเลือกตั้งต่อไปในเขต 10 ก็จะมีมากขึ้น จนอาจจะชนะคู่แข่งเก่าได้

----------------------------------------------------

สถิติการเลือกตั้งครั้งล่าสุด เป็นเรื่องสำคัญมากๆ ว่า พรรคใดได้คะแนนเสียงเท่าไร และในแต่ละหน่วยเลือกตั้ง มีคะแนนแพ้ชนะกันเท่าไร นี่คือ ตัวจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้ง เพื่อให้ความได้เปรียบของพรรคหนึ่ง เข้ามาแทนพื้นที่ของอีกพรรคหนึ่ง

เรื่องที่เขียนนี้ ก็เพื่อให้เป็นความรู้กันนิดหน่อยว่า Gerrymandering เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือ ผู้ที่ครองตำแหน่งอยู่ก่อนหน้า การที่ผู้ท้าชิงจะชนะการเลือกตั้งครั้งต่อไปได้ ก็จะต้องใช้ยุทธวิธีและกลยุทธอย่างสุดฤทธิ์ เพื่อให้ประชาชน การบัตรเลือกตั้งให้ เนื่องจากการที่จะ “พลิกชนะ” นั้น เป็นเรื่องที่ยากมากๆ

ส่วนการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาหรือของผู้ว่าการรัฐ เราใช้ popular votes อยู่แล้ว ซึ่งเขตแดนของรัฐต่างๆ ก็เป็นเรื่องที่ “ตายตัว” ไม่ต้องมีเรื่องแบบ Gerrymandering แต่อย่างใด

----------------------------------------------------

เพราะฉะนั้น เพื่อนๆ ผู้รักประชาธิปไตย ควรจะเน้นความสนใจในเรื่องนี้กันหน่อยว่า การออกแบบเขตเลือกตั้งใหม่นี้ จะเปลี่ยนแปลงไปจากของเก่ามากน้อยสักแค่ไหนในแต่ละพื้นที่เดิม

และโดยเฉพาะ เรื่องที่ไม่ต้องไป “แคร์” กับเสียงของประชาชนเท่าไรนัก....

ก็ขอเสนอข้อคิด ในเช้าวันอาทิตย์อันสดใส ดิฉันขอตัวไปพักต่อนะคะ เพราะใช้เวลาหน้าคอมพ์เกินกว่าที่แพทย์สั่งไว้แล้ว....

Have a great weekend ค่ะ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: เฟสบุ๊ค Doungchampa Spencer-Isenberg

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท