ส.เกษตรกรใต้ แถลง 44 ปี สหพันธ์ชาวนาฯ ประกาศสืบทอดเจตนารมณ์สู้เพื่อสิทธิในที่ดิน-ทรัพยากรฯ

'จากชาวนาชาวไร่สู่เกษตรกรรายย่อย และแรงงานไร้ที่ดินยุคใหม่' สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ออกแถลงการณ์ในโอกาสครบรอบ 44 ปี ประกาศจัดตั้ง "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย" ประกาศสืบทอดเจตนารมณ์สู้เพื่อสิทธิในที่ดินและทรัพยากรฯ สิทธิชุมชนและกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน หนุนสิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่สมบูรณ์

20 พ.ย.2561 ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่า เมื่อวันที่ 19 พ.ย.ที่ผ่านมาเนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี ประกาศจัดตั้ง สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.) ซึ่งเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชาวนาชาวไร่ ประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ขูดรีด กรณี ปัญหาค่าเช่านา เป็นต้น นั้น 

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) ออกแถลงการณ์เนื่องในโอกาสครบรอบ 44 ปี พร้อมสืบทอดเจตนารมณ์ของ สชท. ยืนหยัดต่อสู้ในประเด็น 1. สิทธิในที่ดินและทรัพยากรฯ คือสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดิน ที่รัฐต้องจัดสรรที่ดินแปลงใหญ่ให้ดำเนินการอย่างเพียงพอในนามของสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรฯ เพื่อรากฐานที่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ  เพื่อความมั่นคงยั่งยืนของครอบครัว ชุมชน และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต 2. การบริหารจัดการที่ดินและฐานทรัพยากรร่วมกัน บนพื้นฐานสิทธิชุมชนและกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน

3. มุ่งมั่นสร้างสรรค์ระบบเกษตรนิเวศ และอธิปไตยด้านอาหารของประชาชน 4. การสร้างชุมชนใหม่ และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมใหม่ ของแรงงานไร้ที่ดิน บนพื้นฐานความเท่าเทียม-เป็นธรรม ความสมานฉันท์ และ ภราดรภาพ และ 5. สิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่สมบูรณ์

โดยมีรายละเอียดดังนี้ : 

แถลงการณ์ เนื่องในโอกาส ครบรอบ 44 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย (สชท.)

หลังเหตุการณ์เดินขบวนขับไล่รัฐบาลทรราชเมื่อ วันที่ 14 ตุลาคม 2516 ผ่านไป เพียงหนึ่งปีเศษ ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 ได้มีการประกาศจัดตั้ง "สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย"(สชท.) โดยมี นายใช่ วังตะกู ชาวนาจากจังหวัดพิษณุโลก เป็นประธานคนแรก และได้มีการเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาของชาวนาชาวไร่ ประเด็นเรื่องความไม่เป็นธรรมและการกดขี่ขูดรีด กรณี ปัญหาค่าเช่านา เป็นต้น โดยร่วมมือกับนิสิตนักศึกษา ปัญญาชน และกรรมกร  ซึ่งรู้จักกันในนาม "ขบวนการสามประสาน" โดยมีคำขวัญอันโดดเด่น ที่ใช้ในการต่อสู้ว่า “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” การต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ในสมัยนั้นได้ประสบความสำเร็จในการผลักดันเรียกร้องให้รัฐสภาตราพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 และพระราชบัญญัติควบคุมค่าเช่านา พ.ศ.2517 แม้ว่ากฎหมายทั้ง 2 ฉบับ จะมีปัญหาอุปสรรคหลายประการในการนำไปบังคับใช้ให้สำเร็จผลในทางปฏิบัติ โดยเฉพาะการต่อต้านคุกคามจากเจ้าที่ดิน ที่สำคัญ ในกระบวนการต่อสู้ทั้งหมดของ สชท. ผู้นำและสมาชิกต้องเผชิญกับการข่มขู่คุกคาม  อย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงการลอบสังหารผู้นำชาวนา โดยขบวนการล่าสังหาร ที่จัดตั้งขึ้น ด้วยกลไกรัฐพันลึก( Deep State) ที่เรียกขานกันว่า ขบวนการ “ขวาพิฆาตซ้าย” ทำให้ผู้นำชาวนาในสมัยนั้นถูกสังหาร จำนวน 33 คน มีผู้สูญหาย 15 คน และบาดเจ็บอีกหลายคน เช่น พ่อหลวงศรีธน ยอดกันทา, พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง สถานการณ์การต่อสู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพของนักศึกษา ประชาชน กรรมกร ชาวนา ตามแนวทางรัฐสภาและสันติวิธี ได้ดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดเมื่อ ทหารได้ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 พร้อมๆ กับการปราบปรามเข่นฆ่า นักศึกษา ประชาชนนักต่อสู้ทำให้สมาชิก สชท.โดยส่วนใหญ่ต้องหลบหนีเข้าป่าจับอาวุธร่วมต่อสู้ภายใต่ร่มธงแดงแห่งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) ในขณะเดียวกัน สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย(สชท.) ก็ต้องลดบทบาทลงมาตามลำดับหลังจากถูกปราบปรามอย่างหนักโดยอำนาจรัฐ (ทั้งอำนาจที่เป็นทางการ ไม่เป็นทางการ) และต้องยุติบทบาทลงโดยสิ้นเชิง นับแต่การลอบสังหาร นายจำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย(สชท.) คนสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2522

จากชาวนาชาวไร่สู่เกษตรกรรายย่อย และแรงงานไร้ที่ดินยุคใหม่

ความคับแค้นใจที่เกิดจากความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติ ระหว่างรัฐกับประชาชนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บนพื้นฐานความสัมพันธ์ทางอำนาจที่ไม่เท่าเทียมกัน ได้ก่อให้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรกลุ่มต่าง ๆ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเรื่อง ที่ดินที่ทำกินและการแย่งชิงทรัพยากรฯ จากรุ่นเก่าสู่รุ่นใหม่ เพราะปัญหาของเกษตรกร มิใช่ปัญหาของ "ปัจเจก" แต่เป็นปัญหาใหญ่ในระดับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและการเมือง ที่ทำให้เกษตรกรฯ และแรงงานไร้ที่ดิน ไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียม หลังจาก สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ ยุติบทบาทลง ก็เกิดขบวนการเคลื่อนไหวของเกษตรกรฯ และคนจนกลุ่มต่างๆ สืบทอดต่อมา เช่น สมัชชาเกษตรกรรายย่อยภาคอีสาน (สกย.อ) เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (คกน.) สมัชชาคนจน (สคจ.) สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) เครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เป็นต้น  เป็นการรวมกลุ่มของประชาชนชั้นล่างของสังคม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลแสดงความรับผิดชอบแก้ไขปัญหา  ที่เกิดจากผลกระทบจากนโยบายและกฏหมายของรัฐ และจากการขยายตัวของระบบเศรษฐกิจทุนนิยม ดังนั้น ปัญหาร่วมของกลุ่มต่าง ๆ คือ ปัญหาที่เกษตรกรรายย่อยถูกชนชั้นนำภาครัฐและนายทุนแย่งชิงทรัพยากรฯ หรือปัจจัยการผลิต เช่น ที่ดิน แหล่งน้ำ ป่าไม้ แร่  ที่ยังดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปัญหาเรื้อรังไม่ได้รับการแก้ไขเยียวยา มาทุกรัฐบาล ตราบจนบัดนี้ ในขณะเดียวกัน "แรงงานไร้ที่ดิน" ก็ได้ทวีจำนวนเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นับล้านคน

ในโอกาสอันสำคัญนี้ และเพื่อเป็นการสืบทอดเจตนารมณ์ของ สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย(สชท.) สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.) จึงขอประกาศความมุ่งมั่นและ ยืนหยัดต่อสู้ในประเด็นดังต่อไปนี้

1. สิทธิในที่ดินและทรัพยากรฯ คือสิทธิขั้นพื้นฐานของเกษตรกรรายย่อยและแรงงานไร้ที่ดิน ที่รัฐต้องจัดสรรที่ดินแปลงใหญ่ให้ดำเนินการอย่างเพียงพอในนามของสถาบันเกษตรกร หรือสหกรณ์การเกษตรฯ เพื่อรากฐานที่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ  เพื่อความมั่นคงยั่งยืนของครอบครัว ชุมชน และโอกาสในการพัฒนาคุณภาพชีวิต

2.  การบริหารจัดการที่ดินและฐานทรัพยากรร่วมกัน บนพื้นฐานสิทธิชุมชนและกรรมสิทธิ์ร่วมของชุมชน

3. มุ่งมั่นสร้างสรรค์ระบบเกษตรนิเวศ และอธิปไตยด้านอาหารของประชาชน

4. การสร้างชุมชนใหม่ และวัฒนธรรมการอยู่ร่วมใหม่ ของแรงงานไร้ที่ดิน บนพื้นฐานความเท่าเทียม-เป็นธรรม ความสมานฉันท์ และ ภราดรภาพ

5. สิทธิเสรีภาพ ความเป็นธรรม และระบอบประชาธิปไตยของประชาชนที่สมบูรณ์

ด้วยความคาราวะต่อจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละอันยิ่งใหญ่ของผู้นำชาวนาชาวไร่นับจากอดีตจวบจนปัจจุบันสมัย

สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ (สกต.)   

19 พฤศจิกายน 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท