สิทธิบัตรกัญชา สั่งยกเลิกแล้ว 1 คำขอ 'ไบโอไทย' โต้ 8 คำขอที่เหลืออาจขัด ม.5 เรื่องความใหม่

กรมทรัพย์สินฯ เผยจาก 11 คำขอ สั่งยกเลิกแล้ว 1 เพราะจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา นอกนี้ละทิ้งไป 2 เหลือ 8 คำขอไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา แต่เป็นคำขอที่มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ ด้านไบโอไทยโต้ 8 คำขอที่เหลืออาจขัด ม.5 เรื่องความใหม่ ชี้ต้องเปิดเผยคำขอให้ประชาชนตรวจสอบได้ ระบุพบกรมทรัพย์สินเตรียมรับจด 2 สิทธิบัตร อาจขัดม.9(4)เรื่องบำบัดรักษา

ภาพจากเพจ BIOTHAI

กรมทรัพย์สินเผยมีแค่ 1 คำขอ ที่จดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาจาก 11 คำขอ และสั่งยกเลิกแล้ว

20 พ.ย.2561 วานนี้ (19 พ.ย.) ไทยรัฐออนไลน์ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาบริษัทต่างชาติยื่นคำขอจดสิทธิบัตร สารสกัดจากกัญชา ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้พิจารณาเรื่องนี้ต่อเนื่องมาตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพื่อหาช่องทางในการดำเนินการให้ถูกต้องตามที่ พ.ร.บ.สิทธิบัตรกำหนด เพราะกฎหมายฉบับนี้มีความซับซ้อน และมีกระบวนการดำเนินการพอสมควร แต่ในที่สุดได้พิจารณาแล้วเห็นว่า สารสกัดจากกัญชาเป็นสารสกัดจากพืช และมาตรา 9 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร กำหนดว่า จุลชีพ หรือส่วนหนึ่งส่วนใดของพืชและสัตว์ ไม่สามารถจดสิทธิบัตรได้ จึงได้ขอให้ดำเนินการตามกฎหมาย โดยใช้มาตรา 30 ที่กำหนดให้อธิบดีมีอำนาจยกเลิกคำขอดังกล่าวได้

“มีคำขอที่ยื่นจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาเพียงคำขอเดียวจากทั้งหมด 11 คำขอ ซึ่งได้ขอให้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญาไปดำเนินการต่ออย่างรอบคอบ ตามขั้นตอนของกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องของรายละเอียดที่จะดำเนินการต่อไป แต่ตอนนี้พูดได้ว่าคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชาที่เป็นที่สนใจของสังคมมีข้อยุติแล้ว โดยใช้มาตรา 30 ดำเนินการ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสัปดาห์นี้” สนธิรัตน์ กล่าว

สำหรับคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดจากกัญชา ที่ได้ใช้อำนาจของอธิบดีกรมฯ ยกเลิกคำขอนั้น เป็นคำขอเลขที่ 1101003758 ยื่นคำขอเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 53 และกรมฯได้ตรวจสอบเบื้องต้น และประกาศโฆษณา เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.59 ลักษณะการขอถือสิทธิในสิทธิบัตรคือ แคนนาบิไดออล (CBD หรือสารสกัดกัญชา) ประมาณกว่า 400 มิลลิกรัม ใช้ในการป้องกันการชัก

ส่วนมาตรา 30 ของ พ.ร.บ.สิทธิบัตร กำหนดไว้ว่า เมื่อได้ประกาศโฆษณาตามมาตรา 28 แล้ว ถ้าปรากฏว่าคำขอรับสิทธิบัตรไม่ชอบด้วยมาตรา 5 มาตรา 9 มาตรา 10 มาตรา 11 (ซึ่งเกี่ยวกับคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่ยื่นคำขอ) หรือมาตรา 14 (คุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอ) ให้อธิบดีสั่งยกคำขอรับสิทธิบัตร และให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งคำสั่งไปยังผู้ขอรับสิทธิบัตร รวมทั้งผู้คัดค้าน ในกรณีที่มีการคัดค้านตามมาตรา 31 และให้ประกาศโฆษณาคำสั่งนั้นตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง

สนธิรัตน์กล่าวว่า ในจำนวนคำขอจดสิทธิบัตรทั้ง 11 คำขอ ยังได้มีการละทิ้งคำขอไปแล้ว 2 คำขอ เพราะภายหลังการประกาศโฆษณาแล้ว ผู้ยื่นคำขอไม่มายื่นให้ตรวจสอบความใหม่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ส่งผลให้คำขอจะไม่อยู่ในระบบอีกต่อไป ส่วนคำขอที่เหลืออีก 8 คำขอ ไม่ใช่สารสกัดจากกัญชา แต่เป็นคำขอที่มีการใช้สารสกัดจากกัญชาเป็นองค์ประกอบ ก็ดำเนินการได้ต่อตามกฎหมาย ซึ่งสถานะล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบการประดิษฐ์ 5 คำขอ และประกาศโฆษณารอให้ผู้ยื่นขอตรวจสอบอีก 3 คำขอ

ส่วนกรณีที่คนยังมีความกังวลว่า พ.ร.บ.สิทธิบัตร จะกระทบต่อการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดที่ปรับให้กัญชาเป็นยาเสพติดที่นำไปศึกษาวิจัยเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ได้ และกฎหมายอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นั้น กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่า กฎหมายสิทธิบัตรเป็นเรื่องของการให้ความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อส่งเสริมให้มีการค้นคว้าวิจัย และประดิษฐ์สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ จึงไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อนักวิจัยไทย โดยยังสามารถนำสารสกัดจากกัญชามาพัฒนาต่อยอดได้ ทั้งการทำเป็นตำรับยา หรือองค์ประกอบของยาที่มีสารสกัดจากกัญชาเป็นส่วนประกอบ หรือทำเป็นสารสังเคราะห์ใหม่ขึ้นมา ซึ่งสามารถขอยื่นจดสิทธิบัตรได้

ไบโอไทยโต้ 8 คำขอฯที่เหลืออาจขัด ม.5 เรื่องความใหม่ ชี้ต้องเปิดเผยให้ ปชช.ตรวจสอบได้

ในวันเดียวกัน มูลนิธิชีววิถีหรือไบโอไทย ได้ออกมาชี้แจงต่อคำอธิบายดังกล่าวผ่านทางเฟซบุ๊ค BIOTHAI ว่า

1. การยกเลิกคำขอที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์แถลง เป็นการยกเลิกเพียง 1 คำขอจาก 8 คำขอเท่านั้น โดยคำขอที่เพิกถอนเป็นคำขอเลขที่ 1101003758 ซึ่งถือสิทธิสารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) ซึ่งเป็นสารสกัดจากกัญชาเพื่อใช้ในการรักษาโรคชัก ซึ่งผิดกฎหมายอย่างชัดเจนตามที่ไบโอไทยและนักวิชาการได้เปิดเผยก่อนหน้านี้

2. ปัญหาข้อเรียกร้องของภาคประชาสังคมและนักวิชาการคือ นอกเหนือจากการยกเลิกคำขอเรื่องสารสกัดจากพืชในมาตรา 9(1) แล้ว ยังเรียกร้องให้มีการยกเลิกสิทธิบัตรในมาตรา 9(4) วิธีการวินิจฉัย บำบัด หรือรักษาโรคมนุษย์ หรือสัตว์ และมาตรา 9(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีอนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน อีกทั้งที่คำขอบางคำขอที่เหลืออยู่ 8 คำขอซึ่งอาจขัดมาตรา 5 เกี่ยวกับเรื่องความใหม่ เนื่องจากมีข้อถือสิทธิที่เป็นภูมิปัญญาการรักษาโรคจากกัญชาในตำรับยาของไทย ซึ่งนายสนธิรัตน์ยังไม่ได้แถลงในประเด็นดังกล่าวแต่ประการใด

ประชาไทได้สอบถามไปที่วิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ มูลนิธิชีววิถี ในเรื่องมาตรา 5 ของ พ.ร.บ. สิทธิบัตร ซึ่งเป็นเรื่องความใหม่ โดย วิฑูรย์ ได้อธิบายเพิ่มว่า

“กรณีอ้างกัญชาในการรักษาโรคนั้นหากเป็นกรณีที่เรามีตำรับยาแผนไทยอยู่แล้ว ซึ่งระบุการรักษาโรคที่สิทธิบัตรอ้าง เช่น การรักษาลมชัก การบรรเทาอาการเจ็บปวด ซึ่งเป็นความรู้พื้นบ้านที่มีอยู่แล้ว เราต้องตรวจสอบคำขอว่าอ้างในเรื่องนี้หรือไม่ ถ้ามีก็แสดงว่าไม่ความใหม่ ไม่เป็นข้อถือสิทธิ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่เขาจะยังสามารถจดสิทธิบัตรได้ในข้อถือสิทธิอื่นๆ ที่ไม่ผิดมาตรา 5 และมาตรา 9”

มาตรา 5 ภายใต้บังคับมาตรา 9 การประดิษฐ์ที่ขอรับสิทธิบัตรได้ต้องประกอบด้วย ลักษณะดังต่อไปนี้

(1) เป็นการประดิษฐ์ขึ้นใหม่

(2) เป็นการประดิษฐ์ที่มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้น และ

(3) เป็นการประดิษฐ์ที่สามารถประยุกต์ในทางอุตสาหกรรม

มาตรา 9 การประดิษฐ์ดังต่อไปนี้ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ

(1) จุลชีพและส่วนประกอบส่วนใดส่วนหนึ่งของจุลชีพที่มีอยู่ตามธรรมชาติสัตว์พืชหรือสารสกัดจากสัตว์หรือพืช

(2) กฎเกณฑ์และทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์

(3) ระบบข้อมูลสําหรับการทํางานของเครื่องคอมพิวเตอร์

(4) วิธีการวินิจฉัย บําบัด หรือรักษาโรคมนุษย์หรือสัตว์

(5) การประดิษฐ์ที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีอนามัยหรือสวัสดิภาพของประชาชน

3. ปัญหาสำคัญของกระทรวงพาณิชย์และกรมทรัพย์สินทางปัญญา คือการแสดงความโปร่งใส ซึ่งที่จริงแล้วต้องเปิดเผยคำขอสิทธิบัตรที่ผ่านขั้นตอนการประกาศโฆษณา โดยเปิดให้ประชาชนได้เข้าถึงผ่านทางเว็บไซต์ของกรม เพื่อเปิดโอกาสให้นักวิชาการและประชาชนได้ตรวจสอบตั้งแต่ต้น มิเช่นนั้นแล้วจะมีปัญหาการปล่อยให้มีการยื่นคำขอ และประกาศโฆษณาโดยขัดกับกฎหมายดังที่เป็นอยู่ แม้จะมีเสียงเรียกร้องแต่จนบัดนี้ประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงคำขอสิทธิบัตรทั้งหมดที่มีข้อสงสัยแต่ประการใด

ภาพจากเพจ BIOTHAI

ไบโอไทยเผยกรมทรัพย์สินเตรียมรับจด 2 สิทธิบัตร อาจขัดม.9(4)เรื่องบำบัดรักษา

ต่อมาวันนี้ ไบโอไทยได้เปิดเผยในเฟซบุ๊คอีกครั้งว่า จากการตรวจสอบล่าสุดไบโอไทยพบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาเตรียมรับจดทะเบียนสิทธิบัตรจำนวน 2 สิทธิบัตร โดยเมื่อวานนี้ (19 พ.ย. 2561)ในเว็บไซต์ของกรมฯ ได้อัพเดทข้อมูลคำขอสิทธิบัตรกัญชาของบริษัท ยูโร-เซลตีเกอ เอส.เอ. คำขอที่ 0601002456 (ชื่อผลิตภัณฑ์/สิ่งประดิษฐ์ : ส่วนผสมเชิงเภสัชกรรมที่ออกฤทธิ์ของแคนนาบินอยด์สำหรับรูปแบบขนาดยาที่ถูกปรับปรุง) และคำขอที่ 0501005232 (ชื่อผลิตภัณฑ์/สิ่งประดิษฐ์ : วิธีการสำหรับการทำให้ทรานส์-(-)- เดลตา9 -เตตราไฮโดรแคนนาบินอล และทรานส์-(+)- เดลตา9 -เตตราไฮโดรแคนนาบินอล บริสุทธิ์)

คำขอทั้งสองคำขอได้อัพเดทสถานะเป็น "พนักงานเจ้าหน้าที่สั่งชี้แจงก่อนรับจดทะเบียน" ซึ่งหมายความว่าคำขอดังกล่าวจะได้รับจดทะเบียนและออกเป็นสิทธิบัตรในเร็วๆนี้

จากการตรวจสอบ สิทธิบัตรทั้งสองเกี่ยวข้องกับกระบวนการผลิตสาร THC ส่วนผสม และการนำไปใช้ในการป้องกันรักษาอาการปวด สิทธิบัตรทั้งสองนี้อาจไม่ขัดต่อมาตรา 9(1) เรื่องข้อห้ามสารสกัดจากพืช แต่นักวิชาการและภาคประชาสังคมยังกังขาว่าอาจจะขัดต่อมาตรา 9(4)เพราะเกี่ยวข้องกับการบำบัดรักษาโรค หรือขัดกับมาตรา 9(5) เพราะกัญชาและสารสกัดยังคงเป็นสารเสพติดตามกฎหมายไทย และมีความเป็นได้สูงที่อาจขัดต่อมาตรา 5 ในเรื่องความใหม่ เนื่องจากยังมิได้มีการตรวจสอบเกี่ยวกับการใช้ยาจากกัญชาในการรักษาอาการระงับปวดในตำรับยาแพทย์แผนไทย

หรือการประกาศเตรียมการยกเลิกสิทธิบัตร 1 คำขอ โดยบอกว่าเพื่อ "ยุติปัญหาข้อสงสัยของสังคมเกี่ยวกับการจดสิทธิบัตรสารสกัดจากพืช" อาจเป็นความพยายามในการกลบ/ลดกระแสของประชาชน โดยเดินหน้าออกทะเบียนสิทธิบัตรที่เหลือทั้งหมดอีก 10 คำขอให้บริษัทต่างชาติ ?

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท