Skip to main content
sharethis

UNHCR ถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์เป็นครั้งแรกในโลก แด่ ว.วชิรเมธี และเจ้าหญิงซาร่า ซิด จากจอร์แดน เหตุอุทิศตนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ลี้ภัยและส่งเสริมการทำงานของ UNHCR รวมทั้งเผยแพร่ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยต่อสังคม

 

21 พ.ย.2561 สํานักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) แจ้งว่า UNHCRได้จัดพิธีถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ UNHCR (UNHCR Patron) แด่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) พระนักคิด นักเขียน และนักพัฒนาสังคมที่ได้รับความนับถือจากประชาชนเป็นอย่างสูงจากประเทศไทย และ แก่ เจ้าหญิงซาร่า ซิด จากประเทศจอร์แดน โดยนับเป็นครั้งแรกของโลกที่ UNHCR แต่งตั้งตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ และเชิดชูความทุ่มเทในการสร้างการรับรู้ และความเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตของผู้ลี้ภัยทั่วโลก

สำหรับตำแหน่ง “ผู้อุปถัมภ์” UNHCR ระบุว่าเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติยศในระดับโลก โดยมอบให้แก่ผู้อุทิศตนในการสร้างความเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้ลี้ภัยและส่งเสริมการทำงานของ UNHCR รวมทั้งเผยแพร่ ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับปัญหาผู้ลี้ภัยต่อสังคม ส่งผลให้บุคคลทั่วไปเข้าใจถึงสถานการณ์นี้อย่างถูกต้อง และนำไปสู่การสนับสนุนจากทุกภาคส่วน

เคลลี่ เคลเม้นตส์ รองข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ ได้มอบประกาศนียบัตรแด่ผู้อุปถัมภ์ทั้งสองในพิธีอย่างเป็นทางการ ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561

ด้วยความเมตตาจากท่าน ว.วชิรเมธี ที่มีให้ UNHCR ผ่านการสนับสนุนแคมเปญ “เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างนอก” (Nobody Left Outside) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ และระดมทุน แก่ผู้ลี้ภัยที่ขาดแคลนที่พักอาศัยจำนวน 2 ล้านคนทั่วโลก อาทิ จอร์แดน เลบานอน รวันดา และชาด ท่าน ว.วชิรเมธี ในฐานะผู้อุปถัมภ์ UNHCR ด้านสันติภาพ และเมตตาธรรม ส่งเสริมการอยู่ร่วมกันโดยสันติระหว่างผู้ลี้ภัย และชุมชนนานาชาติ

“ไม่ว่าเราจะนับถือศาสนาอะไร แต่เนื้อในเราต่างก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน ความสุข ความทุกข์ ของเราล้วนขึ้นต่อกันและกัน เชื่อมโยงถึงกันและกันอย่างแยกไม่ออก เราทุกคนในฐานะที่เป็นสมาชิกของครอบครัวโลกใบนี้ต่างก็มีหน้าที่ที่จะทำให้โลกของเราเป็นโลกที่น่าอยู่ ร่มเย็น เป็นสุข และมีสันติภาพที่ยั่งยืน ความรัก ความเมตตาการุณย์ หรือความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน คือจุดเริ่มต้นของสันติภาพโลก” ว.วชิรเมธี กล่าว

ว.วชิรเมธี เป็นผู้ก่อตั้งมูลนิธิวิมุตตยาลัยเพื่อสร้างสรรค์สันติภาพโลกผ่านการทำงานด้านการศึกษา และมนุษยธรรม บนพื้นฐานของวิธีคิดที่ว่า “โลกทั้งผองล้วนเป็นพี่น้องกัน” โดยเฉพาะการสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหลักคำสอนของทุกศาสนาต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัย

ว.วชิรเมธี เป็นพระภิกษุในพระบวรพุทธศาสนาที่ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างสูงในประเทศไทย และ ทั่วภูมิภาคเอเชีย นอกจากการสนับสนุนงานเพื่อมนุษยธรรมของ UNHCR แล้วท่านยังอุทิศตนทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาผ่านการเทศน์ การสอน การจัดหลักสูตรสมาธิภาวนาทั้งแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติทั่วโลก ท่านมีผลงานธรรมนิพนธ์ในภาษาไทยและแปลสู่ภาษาอื่นๆ ไม่น้อยกว่า 10 ภาษา

เจ้าหญิง ซาร่า ซิด ได้รับการถวายตำแหน่งผู้อุปถัมภ์ ด้านการส่งเสริมสุขภาพของแม่และทารกแรกเกิด ด้วยความทุ่มเทในการทำงานเพื่ออุทิศตนในการให้ความช่วยเหลือแม่และเด็กที่อาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เปราะบาง และมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคและเสียชีวิต ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือการสร้างความร่วมมือในการให้ความช่วยเหลือผู้ลี้ภัยระหว่าง UNHCR และ มุลนิธิ บิลล์ และเมลินดา เกตส์ (Bill and Melinda Gates Foundation)

ท่านยังให้เกียรติในการดำรงตำแหน่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการให้คำปรึกษาต่อข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติคนปัจจุบันนั่นคือ คุณกรันดี และยังดำรงหน้าที่เป็นผู้สนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพของแม่และทารกแรกเกิด ตั้งแต่ปีพ.ศ.2559 เจ้าหญิง ซาร่า ได้เสด็จไปเยือนค่ายผู้ลี้ภัยในซูดานใต้ รวันดา จอร์แดน และค่ายผู้ลี้ภัยในถิ่นทุรกันดารอีกหลายแห่งเพื่อทำการตรวจสอบดูแลสุขภาพ ความเป็นอยู่ของแม่และเด็กแรกเกิดในค่ายผู้ลี้ภัย และร่วมยับยั้งปัญหาความรุนแรงทางเพศ ข้าพเจ้ารู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้ร่วมทำงานกับ UNHCR โดยมีจุดประสงค์หลักในการให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก ผู้หญิงที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ และ กลุ่มคนเปราะบาง เช่น เด็กเล็ก แม่เลี้ยงเดี่ยว โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัย เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตและเจ็บป่วยที่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นได้

เคลลี่ เคลเม้นตส์ รองข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ กล่าวขอบคุณผู้อุปถัมภ์ทั้งสองสำหรับการอุทิศตนในการช่วยเหลือผู้ลี้ภัยให้มีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี ว่า “ความทุ่มเทจากบุคคลที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก ช่วยสร้างความเมตตา และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย” เธอกล่าว “ผู้อุปถัมภ์ทั้งสองท่านได้อุทิศตนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้ลี้ภัยทั่วโลก และเรารู้สึกเป็นเกียรติและซาบซึ้งเป็นอย่างสูงที่ท่านได้สร้างการเปลี่ยนแปลงต่อผู้ลี้ภัย”

ในปัจจุบัน จำนวนผู้พลัดถิ่นทั่วโลกมีจำนวนสูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ ทั้งเด็ก ผู้ชาย และผู้หญิงที่ถูกบังคับให้พลัดถิ่นเนื่องจากสงคราม ความรุนแรง และการประหัตประหาร หากไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณ หรือส่งเสริมการรับรู้ที่ถูกต้อง ผู้คนหลายล้านคนจะมีชีวิตที่ตกอยู่ในความยากลำบาก โดยไม่ได้รับการคุ้มครอง และที่พักพิงที่ปลอดภัยอย่างเพียงพอ

ความร่วมมือจากภาคเอกชนเป็นภาคส่วนที่มีความสำคัญมากขึ้นต่อ UNHCR ในปี พ.ศ.2560 UNHCR ได้รับงบประมาณจากภาคเอกชนกว่าร้อยละ 10 ไม่ว่าจะเป็นบุคคลทั่วไป หรือบริษัทได้เพื่อการสนับสนุนทางด้านเงินทุน ความรู้ความสามารถ ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ที่เข้ามามีบทบาทในการผลักดันนโยบาย และสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อความคิดเห็นของสาธารณชน 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net