FTA Watch เตือน สนช. ระวังถูกแหกตา ปมเพิกถอนสิทธิบัตรกัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เตือน สนช. ระวังถูกแหกตา ระบุคำชี้แจงของกรมทรัพย์สินดังกล่าว คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอำนาจตามกฎหมายไทยอย่างสมบูรณ์

21 พ.ย.2561 จากกรณีที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เชิญกรมทรัพย์สินทางปัญญาเข้าพบ 20 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ให้ข้อมูลว่า ไม่สามารถล้างไพ่ใหม่เพื่อยกคำขอทั้งหมดได้เพราะติดปัญหา TRIPs Agreement และมาตรา 17 วรรคท้ายของพ.ร.บ.สิทธิบัตร ที่เขียนว่า "ในกรณีที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคแห่งความตกลง หรือความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิบัตร หากคำขอรับสิทธิบัตรเป็นไปตามกำหนดในความตกลงหรือความร่วมมือระหว่างประเทศดังกล่าว ให้ถือว่าคำขอดังกล่าวเป็นคำขอรับสิทธิบัตรตามพระราชบัญญัตินี้" นั้น

ล่าสุดวันนี้ (21 พ.ย.61) กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ระบุว่า คำชี้แจงของกรมทรัพย์สินดังกล่าว คลาดเคลื่อนไม่ตรงกับข้อเท็จจริง เนื่องจากการยกเลิกสิทธิบัตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นอำนาจตามกฎหมายไทยอย่างสมบูรณ์ ดังนี้

หนึ่ง สนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตรระหว่างประเทศ (PCT) ​เป็นระบบอำนวยความสะดวกในการยื่นขอรับสิทธิบัตรจำนวนมากในหลายๆประเทศ​ การพิจารณารับจดทะเบียนหรือไม่ของแต่ละประเทศ
สมาชิกเป็นอิสระจากกันและกัน โดยไม่ขึ้นกับกฏระเบียบของ​ PCT​ ดังจะเห็นได้จากเว็บไซด์กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ระบุชัดเจนว่า ระบบนี้ไม่ใช่ระบบการจดทะเบียน​ ดังนั้นการที่คำขอระหว่างประเทศใดได้รับอนุมัติในประเทศหนึ่งแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้รับจดทะเบียนในประเทศอื่นด้วย​ ดังนั้น​ PCT​ จึงไม่ได้กำหนดกฏเกณฑ์การรับจดและการยกคำขอไว้แต่อย่างใด นัยยะของ ม.17 วรรคท้ายจึงมีไว้เพื่อรองรับคำขอที่ยื่นผ่านระบบ​ PCT​ ให้เข้าในไทยได้เท่านั้น​ การรับจด, ยกคำขอเป็นไปตามกฎหมายหลักภายในประเทศนั้นๆ

สอง ความตกลง TRIPS​ (ความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า) เป็นบทกำหนดขั้นต่ำสำหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่แต่ละประเทศสมาชิกต้องดำเนินการให้มีขึ้นในประเทศของตน​ โดย
แบ่งเป็นส่วนต่างๆ​ เช่น​ เครื่องหมายการค้า​ สิทธิบัตร​โดยในหมวดสิทธิบัตรก็ได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐานขั้นต่ำเช่นกัน​ ดังนั้น​ ความเป็นอิสระในการพิจารณารับจดหรือยกคำขอยังคงเป็นสิทธิเหนือดินแดนของแต่ละประเทศอยู่นั่นเอง​ ดังจะเห็นได้ว่าในมาตรา 27(1) ของ TRIPs กล่าวไว้เช่นเดียวกับมาตรา 5 ของกฎหมายไทยว่า สิทธิบัตรที่ได้รับความคุ้มครองต้องมีความใหม่, มีขั้นการประดิษฐ์สูงขึ้นและประยุกต์ใช้ในทางอุตสาหกรรมได้​ นอกจากนี้ยังกำหนดว่า สมาชิกจะ ไม่ให้ความคุ้มครองได้เพื่อปกป้องสาธารณะ​ ใน (2) ของมาตรา 27 นี้ด้วย​ รวมทั้งได้กำหนดการประดิษฐ์ที่สมาชิกจะกำหนดไม่ให้ความคุ้มครองไว้ใน​ (3) ของมาตรา 27 นี้ได้ด้วยเช่นกัน เช่น สมาชิกจะไม่รับจดวิธีการรักษาก็ได้ ดังนั้นสมาชิกจึงมีสิทธิรับจดหรือยกคำขอได้โดยอิสระขึ้นกับนโยบายของแต่ละประเทศสมาชิก 

พ.ร.บ.สิทธิบัตรของไทย ในมาตรา 5 ได้กำหนดว่ากำหนดว่า การประดิษฐ์ที่จะรับจดสิทธิบัตรได้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนด และในมาตรา 9 ได้กำหนดข้อห้ามเกี่ยวกับสารสกัดจากพืช การบำบัดรักษาโรค และที่เกี่ยวข้องกับศีลธรรม และสวัสดิภาพ เป็นต้นนั้น หมายความว่า หากคำขอสิทธิบัตรแม้มีคุณสมบัติตามมาตรา 5 แต่หาก​ขัดกับมาตรา 9 กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะไม่รับจดสิทธิบัตรก็ได้

"สนช. มีเจตนาดีที่ประสงค์จะรับฟังความคิดเห็นจากกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่ในสถานการณ์ที่เป็นอยู่ สมาชิก สนช. จำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูล มิฉะนั้นอาจได้รับข้อมูลคลาดเคลื่อนหรือไม่ครบถ้วน ซึ่งจะเกิดปัญหากับความตั้งใจดีของ สนช. ที่มีความประสงค์จะเพิกถอนสิทธิบัตร และผลักดันร่างกฎหมายเพื่อเปิดให้มีการวิจัย พัฒนา และใช้ประโยชน์กัญชาเพื่อการแพทย์ได้" FTA Watch โพสต์ทิ้งท้าย 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท