ภาคปชช. ฟ้องศาลปกครอง พับโครงการทางเลียบเจ้าพระยา

ภาคประชาชนและชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยาฟ้องศาลปกครอง เรียกร้อง ครม. มหาดไทย กก.โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา และ กทม. ยกเลิกโครงการทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา เหตุกระบวนการไม่ครอบคลุมทั้งเนื้อหาและการมีส่วนร่วม หวั่นรัฐเสียหาย ด้านผู้ว่าฯ กทม. ยัน โปร่งใส ตรวจสอบได้ จ่อเดินหน้าต่อหลังปรับปรุงแบบแปลน ขณะที่วงเสวนาตั้งคำถามกระบวนการทำงาน หวั่นขัด รธน. เหตุไม่ประเมินผลกระทบ

ภาพเครือข่ายภาคประชาชนที่ไปฟ้องศาล (ที่มา: Facebook/Friends of the River)

21 พ.ย. 2561 มติชนรายงานว่า เครือข่ายสมัชชาแม่น้ำ มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมเพื่อประชาชน เครือข่ายวางแผนและผังเมืองเพื่อสังคม และเครือข่ายชุมชนริมน้ำเดินทางไปที่ศาลปกครอง ถ.แจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เพื่อเข้ายื่นเอกสารยื่นฟ้องภาครัฐสี่หน่วยงาน ได้แก่ คณะรัฐมนตรี คณะกรรมการอำนวยการโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา กระทรวงมหาดไทย และกรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา

ภารนี สวัสดิรักษ์ นักวิชาการด้านผังเมืองกล่าวว่า โครงการดังกล่าวมีกระบวนการที่ยังไม่ครอบคลุม ไม่ครบถ้วนทั้งในทางเนื้อหาและกระบวนการมีส่วนร่วม ในขณะที่ ส.รัตนมณี พลกล้า จากทีมกฎมายของมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนกล่าวว่า นึกว่าโครงการดังกล่าวที่เริ่มต้นเมื่อปี 2558 นั้นจะยุติไปแล้ว แต่ก็มีประกาศว่ามีการเสนอให้พิจารณาจัดจ้าง ทาง กทม. เสนอต่อกระทรวงมหาดไทย จึงเป็นจังหวะที่ต้องยื่นฟ้อง เพราะหากผ่านขั้นตอนการจัดจ้าง ประกาศให้ประกวดราคา ไปจนถึงขั้นตอนการประมูลว่าจ้างเอกชน ก็จะเกิดปัญหาทั้งภาครัฐและเอกชนที่มาทำโครงการ

ผู้ฟ้องนำเอกสารจำนวนกว่า 3,000 หน้า ประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับโครงการจากส่วนราชการและที่ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติม งานวิจัยการศึกษาผลกระทบ ข่าวในสื่อต่างๆ กิจกรรมที่เครือข่ายผังเมืองฯ ติดตามคัดค้าน และหนังสือที่เคยยื่นต่อหน่วยงานต่างๆ  โดยสำนักงานศาลปกครองกลางได้รับเอกสารไว้ห้าชุด เป็นคดีดำหมายเลขที่ ส.88/2561 และทางผู้ฟ้องยังได้ยื่นคำร้องให้ศาลพิจารณาออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวเพื่อชะลอโครงการไว้ก่อนด้วย เพราะกว่าศาลพิพากษานั้นไม่รู้ว่าจะนานแค่ไหน

ในวันเดียวกันมติชนรายงานว่า พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวที่สะพานพระรามแปด เขตบางพลัด ยืนยันว่าทุกขั้นตอนมีความโปร่งใสและเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วม ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณราว 10,000 ล้านบาทแล้ว

อัศวินยังระบุว่า ขณะนี้โครงการอยู่ระหว่างปรับปรุงแบบการก่อสร้างทางเดิน ทางจักรยานริมแม่น้ำเจ้าพระยาความกว้างประมาณ 10 ม. ซึ่งได้ให้สภาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังดำเนินการออกแบบโดยให้คำนึงถึงผลกระทบทุกด้าน และจะมีการปรับปรุงภูมิทัศน์เขื่อน ท่าเรือ ศาลาท่าน้ำ พื้นที่บริการสาธารณะและเส้นทางการเข้าถึงไฟฟ้า ระบบระบายน้ำ เบื้องต้นจะดำเนินการในสองช่วงได้แก่ฝั่งพระนคร จากสะพานพระรามเจ็ดถึงกรมชลประทานสามเสน พื้นที่เขตบางซื่อและเขตดุสิตเป็นระยะทาง 3 กม. เมื่อออกแบบเรียบร้อย ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นกลางเดือน พ.ค.-มิ.ย. 2562 จากนั้นจะเป็นการร่างประกาศข้อกำหนดของผู้ว่าจ้างตามระบบจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (อี-บิดดิ้ง)

โครงการปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยากลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังวันที่ 2 พ.ย. 2561 การประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ครั้งที่ 9/2561 ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธาน ได้มีการรับทราบรายงานความคืบหน้าการขับเคลื่อนโครงการปรับภูมิทัศน์ริมแม่น้ำเจ้าพระยา (ที่มา: ข่าวทำเนียบรัฐบาล)

ข้อมูลจากเดลินิวส์เมื่อเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ระบุวา การก่อสร้างเส้นทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จะแบ่งการก่อสร้างเป็นสี่สัญญา มีระยะทางทั้งหมด 14 กม. งบประมาณรวมทั้งสิ้น 8,363 ล้านบาท ดังนี้

  • จากสะพานพระรามเจ็ด - คลองสามเสน งบประมาณ 1,770 ล้านบาท
  • จากคลองสามเสน - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า งบประมาณ 2,470 ล้านบาท
  • จากสะพานพระรามเจ็ด - คลองบางพลัด งบประมาณ 2,061.5 ล้านบาท
  • จากคลองบางพลัด - สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า งบประมาณ 2061.5 ล้านบาท

วงเสวนาแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งคำถามกระบวนการมีส่วนร่วม หวั่นขัด รธน. เหตุไม่ทำประเมินผลกระทบ

ซ้ายไปขวา: กนกวรรณ กนกวนาวงศ์ ภราเดช พยัฆวิเชียร สุลักษณ์ ศิวรักษ์ ปริญญา เทวานฤมิตรกุล บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์

เมื่อ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา มูลนิธิศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน สมาคมอนุรักษ์ศิลปกรรมสิ่งแวดล้อม สมัชชาแม่น้ำ และ Friends of the River จัดงานเสวนาเรื่อง “แม่น้ำเจ้าพระยาที่รัก มารักก่อนที่จะสายไป My Chaophraya” ที่หอศิลปวัฒนธรรม กทม. โดยเชิญสุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการและนักเขียน ภราเดช พยัฆวิเชียร กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ การอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์และเมืองเก่า ผศ.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต และบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นวิทยากร

ภราเดชกล่าวว่า โครงการแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นดำริปัจจุบันของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ใช้คำว่าน่าจะมีทางริมแม่น้ำเหมือนต่างประเทศ แต่กระบวนการทำงานของโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยานั้นทำเหมือนมีคำตอบก่อนที่จะมีการศึกษา ทั้งที่หน่วยงานที่ตรงสุดของ กทม. ที่จะทำเรื่องนี้คือสำนักผังเมืองที่จะต้องมีการศึกษา แต่โครงการนี้ไปตกที่สำนักโยธา เป็นหน้าที่ที่มีการสร้างอย่างเดียว เหมือนมีคำตอบก่อนที่จะมีการศึกษาซึ่งถือว่าแปลกมาก

ภราเดชกล่าวว่า เหตุผลที่แบ่งโครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นสี่ตอนนั้นไม่ได้เพื่อให้ง่ายต่อการทำงาน แต่เพราะว่าถ้าทำทั้งหมดทีเดียวก็จะมีส่วนหนึ่งที่ไปอยู่ในเขตเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งมติของคณะกรรมการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ (คณะกรรมการกรุงฯ) ไม่เห็นชอบต่อการศึกษาและการทำงานในแบบนั้น เมื่อตัดตอนทำทางเลียบในส่วนที่ไม่ใช่เขตกรุงฯ ก่อน คณะกรรมการกรุงฯ ก็ไม่สามารถไปยับยั้งได้

“ที่น่าสนใจคือ พอเมื่อเขาถอน (การก่อสร้างในส่วนเกาะรัตนโกสินทร์) แล้วเราเห็นเจตนา เพราะเจ้าหน้าที่ กทม. พูดคำหนึ่งว่า เมื่อถอนแล้วก็ไม่ต้องสนใจความเห็นของคณะกรรมการกรุงฯ ผมเลยตอบว่า ถ้าพูดอย่างนี้ แปลว่าส่วนราชการไม่ได้สนใจความเห็นของนักวิชาการด้วยกันว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงไหนก็แล้วแต่ แต่การทำเรื่องแม่น้ำต้องคำนึงถึงเรื่องนั้นเรื่องนี้ ก็ไม่ถูกในฐานะหน่วยราชการที่ต้องใส่ใจในการบำรุงสิ่งแวดล้อมต่างๆ เพียงแต่ต้องการหลบให้มีการก่อสร้างได้ เห็นเจตนารมณ์ที่ผมเห็นชัดว่าเวลาพูดอย่างหนึ่งแล้วออกมาอีกอย่างหนึ่ง แล้ว TOR (ข้อกำหนดของผู้ว่าจ้าง) ที่ออกมาเรื่องแผนแม่บทนั้นไม่มีเรื่องการสร้างทางเดินริมน้ำเลย เลยบ่งบอกว่ามีคำตอบก่อนจะมีการศึกษา” ภราเดชกล่าว

กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการกรุงฯ ยังกล่าวว่า การแยกส่วนระหว่างชุมชนกับทางเดินนั้นทำให้ทางเลียบแม่น้ำไม่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่มีอยู่แต่เดิม เมื่อไม่ได้อยู่ด้วยกันจะขาดความรู้สึกเป็นเจ้าของ เมื่อไม่รู้สึกเป็นเจ้าของก็จะไม่มีการดูแล นึกภาพออกสั้นๆ สมัยที่มีการทำทางจักรยานรอบกรุงรัตนโกสินทร์ที่วิ่งได้ทางเดียว ย้อนไม่ได้ ก็ถูกร้านแถวนั้นรื้อหมด เพราะเขาไม่เคยรู้สึกว่าได้ประโยชน์ มีแต่ผลกระทบ ไม่ได้อะไรจากมัน ไม่เกิดประโยชน์ร่วมกัน

ภราเดชยังกล่าวว่า เคยเสนอในฐานะองค์กรวิชาชีพ เรื่องหนึ่งคือ เป็นไปได้ไหมว่าลองศึกษา แล้วดูว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะสมก็ให้ทำทางเลียบ พื้นที่ไหนที่ไม่ได้ทำก็แก้ปัญหาไปก่อน การทำริมน้ำไม่ได้หมายถึงเป็นเส้นยาว แต่ให้ทำเป็นจุดที่เข้าถึงได้ เช่น เชื่อมต่อกับการพัฒนาภาคเอกชน หรือทางเดินของชุมชนที่มีอยู่แล้ว เพื่อให้พวกเขาใช้ประโยชน์ร่วมกันไป ส่วนไหนที่ควรเข้าไปในพื้นที่น้ำก็ทำ

บัณฑูรนำเสนอข้อมูลจากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา เอกสารที่หน่วยงานที่รับผิดชอบพยายามตอบคำถามจากหลายหน่วยงาน ซึ่งพบว่าโครงการมีนั้นตั้งวิสัยทัศน์ไว้ค่อนข้างดี มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำ พูดถึงการอนุรักษ์แม่น้ำและวิถีชุมชน มีการวางแผนไว้ค่อนข้างดี แต่กระบวนการมีส่วนร่วมที่เขียนไว้ว่าทุกฝ่ายได้รับความเป็นธรรม ยอมรับการตัดสินใจ มีส่วนในการตัดสินใจต่อประชาชนและผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนั้นกระทำเพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งบัณฑูรก็ตอบว่าความพยายามสร้างการมีส่วนร่วมนั้นมีในวงริมแม่น้ำหรือคนที่ได้รับผลกระทบ แต่ในส่วนที่กว้างออกไปอย่างผู้ที่แสดงความกังวล หรือคนกรุงเทพฯ อื่นๆ ไปจนถึงคนทั้งประเทศนั้นยังไม่มี และเวทีการมีส่วนร่วมนั้นทำไปในลักษณะการให้ข้อมูล แสดงความเห็น แต่ไม่ใช่การปรึกษาหารือ ร่วมวางแผน ร่วมตัดสินใจ

บัณฑูรกล่าวต่อไปว่า ในทางหลักการ กระบวนการมีส่วนร่วมนั้นที่จริงสามารถทำได้หลายระดับ แต่ปัญหาอยู่ที่หน่วยงานภาครัฐติดข้อจำกัดระเบียบสำนักนายกฯ ปี 2548 ว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ไปจำกัดระดับการมีส่วนร่วมอยู่ที่การรับฟังความคิดเห็น ไม่ถึงระดับการร่วมตัดสินใจ ดังนั้น รัฐควรรอ  พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะผ่านก่อน ขณะนี้ร่างฯ ถูกยื่นรอที่ สนช. แล้วหลังรวบรวมรายชื่อประชาชน 1 หมื่นรายชื่อเข้าเสนอ ส่วนร่างระดับราขการนั้นยังรอ ครม. อนุมัติอยู่

กรรมการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับ 2560 ภายใต้กติกามาตรา 58 อยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐกำหนดให้รัฐ หรือผู้ที่รัฐอนุญาตให้ทำการดำเนินการที่กระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย สําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้อง โครงการทางเลียบริมแม่น้ำเจ้าพระยา อยู่ในข่ายของรัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 58 นี่คือประเด็นที่ตั้งคำถามว่าเจ้าของโครงการได้ตระหนักหรือไม่ว่ากำลังจะดำเนินการที่ละเมิดและขัดกับรัฐธรรมนูญ

มาตรา 58 การดําเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดําเนินการ ถ้าการนั้นอาจมี ผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสีย สําคัญอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง รัฐต้องดําเนินการให้มีการศึกษา และประเมินผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือชุมชน และจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนและชุมชนที่เกี่ยวข้องก่อน เพื่อนํามาประกอบการพิจารณา ดําเนินการหรืออนุญาตตามที่กฎหมายบัญญัติ

บุคคลและชุมชนย่อมมีสิทธิได้รับข้อมูล คําชี้แจง และเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐก่อนการดําเนินการ หรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง

ในการดําเนินการหรืออนุญาตตามวรรคหนึ่ง รัฐต้องระมัดระวังให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน ชุมชน สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพน้อยที่สุด และต้องดําเนินการให้มีการเยียวยา ความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมและโดยไม่ชักช้า

ในส่วนคำถามและข้อคิดเห็นจากสมาคมวิชาชีพเกี่ยวกับโครงการ มีคำถามของสมาคมสถาปนิกสยามว่า ในทางวิศวกรรมชลศาสตร์นั้น การมีทางเลียบจะเป็นการลดศักยภาพอัตราการไหลของน้ำ (flow rate) หรือไม่ แต่ข้อชี้แจงที่ได้คือ เมื่อวิเคราะห์แล้วพบว่า เมื่อปักตอม่อลงน้ำ จะทำให้ระดับน้ำสูงขึ้น 3 ซม. ไม่ได้ตอบเรื่องอัตราการไหลของกระแสน้ำเลย และจากที่อ่านก็มีหลายจุดที่ไม่ได้ตอบตรงคำถาม

บัณฑูรตั้งคำถามถึงความเร่งรัดในการตัดสินใจทำทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา เพราะตามที่ปรากฎในเอกสารนั้นพบว่ามีทางเลือกสามรูปแบบ สองทางแรกคือการแก้ปัญหาด้านหลังเขื่อน ให้ใช้พื้นที่ชุมชนหรือศาสนสถานในการเข้าถึงพื้นที่ริมน้ำ ทางเลือกที่สองก็คือใช้พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่รุกล้ำในการเข้าถึงริมน้ำ ทางที่สามคือการแก้ปัญหาแบบยื่นออกไปนอกเขื่อน รุกเข้าไปในตัวแม่น้ำ คำถามก็คือ การศึกษาของสองรูปแบบแรกมีพอหรือไม่ มีการให้ความสำคัญกับทางเลือกเหล่านั้นจริงหรือไม่ คำตอบจากในรายงานที่มีคือไม่ใช่ นอกจากนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาก็มีปัญหาอื่นอย่างเรื่องขยะ การรุกล้ำพื้นที่ คุณภาพน้ำ ความเสื่อมโทรม ทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว สิ่งที่ทำได้คือการทำให้เกิดการเชื่อมโยงระยะทาง 7 กม. แต่จะมีคนใช้ประโยชน์จริงหรือไม่ หากลองอ่านในเอกสารโครงการฯ จะเขียนเพียงว่า อาจมีผู้ใช้ทางจักรยานเพิ่มขึ้น ไม่ได้มีการยืนยัน

บัณฑูรกล่าวอีกว่า ถ้าทางจักรยาน 7 กม. จะทำให้ขี่เลียบแม่น้ำเจ้าพระยาได้ แต่ทำให้ชุมชนอพยพ มีผลกระทบกับแม่น้ำมากมาย จะกล้าใช้กันหรือไม่ ส่วนตัวก็ไม่กล้าขี่ถ้าต้องเสียเงินไปมากมายกับ 7 กม. ที่ได้มา เมื่อแลกกับผลกระทบที่ได้มาขนาดนั้น เมื่อพิจารณาเรื่องต้นทุนการก่อสร้าง 14,000 ล้าน กับผลกระทบและคำถามมากมาย รวมทั้งทางเลือกอื่นที่ไม่ได้ถูกศึกษานั้น ควรรอให้ ร่าง พ.ร.บ.การมีส่วนร่วมของประชาชนในนโยบายสาธารณะผ่านแล้วค่อยไปต่อดีหรือไม่

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท