Skip to main content
sharethis

หลังจากที่มีกรณีอื้อฉาวเกี่ยวกับการทารุณกรรมและการสังหารนักข่าวสัญชาติซาอุฯ จามาล คาชอกกี ก็เริ่มมีรายงานในเรื่องอื้อฉาวอื่นๆ ที่คล้ายกันผุดออกมาหลายชุด รวมถึงเรื่องที่รัฐบาลซาอุฯ ทารุณกรรมและล่วงละเมิดทางเพศต่อนักกิจกรรมด้านสิทธิสตรีด้วย

ภาพกรุงริยาห์ด เมืองหลวงซาอุดิอารเบีย (ที่มา:วิกิพีเดีย)

องค์กรสิทธิมนุษยชนอย่างแอมเนสตี้อินเตอร์เนชันแนลและฮิวแมนไรท์วอทช์ได้รับคำให้การในเรื่องเกี่ยวกับการทารุณกรรมนักสิทธิสตรีมา 3 กรณี โดยที่นักสตรีนิยมอย่างน้อย 8 รายกล่าวว่าพวกเธอถูกทารุณกรรมจากเจ้าหน้าที่ทางการซาอุฯ ในเรือนจำดาห์บัน จากวิธีการใช้ไฟฟ้าช็อต ถูกเฆี่ยนตี ถูกทำให้อดนอน รวมถึงวิธีการในเชิงล่วงละเมิดทางเพศเช่นการบังคับจูบหรือการจับเนื้อต้องตัว

นักกิจกรรมเหล่านี้ยังเปิดเผยให้เห็นหลักฐานทางกายภาพจากการถูกทารุณกรรมและการล่วงละเมิดเช่นรอยสีแดงบนตัว มีคนที่มือสั่นอย่างควบคุมไม่ได้และบางคนถึงขั้นไม่สามารถยืนหรือเดินได้ มีผู้ให้การรายหนึ่งบอกว่าเธอถูกแขวนจากเพดานเป็นเวลานาน นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมรายหนึ่งที่เคยพยายามฆ่าตัวตายหลายครั้งในขณะที่ถูกคุมขัง มีนักกิจกรรมหลายคนรายงานว่าพวกเธอถูกคุมขังเดี่ยวเป็นเวลาอย่างน้อยหลายเดือน

ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุว่าพวกเขาไม่ทราบแน่ชัดว่าเจ้าหน้าที่ทางการซาอุฯ เหล่านี้พยายามบีบให้นักกิจกรรมเซ็นชื่อรับสารภาพหรือเพียงแค่พยายามลงโทษพวกเธอที่เรียกร้องในเรื่องต่างๆ อย่างสันติกันแน่

รายงานในเรื่องนี้มีขึ้นหลายสัปดาห์หลังจากเกิดกรณีที่ จามาล คาชอกกี นักข่าววอชิงตันโพสต์สัญชาติซาอุฯ ถูกทารุณกรรมและถูกสังหารที่สถานกงสุลซาอุฯ ในตุรกี โดยเขาหายตัวไปเมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา และจากข้อมูลล่าสุดพบว่าคาชอกกีถูกทารุณกรรม หั่นศพ และถูกตัดคอภายในสถานทูตซาอุฯ

ลินน์ มาลูฟ ผู้อำนวยการฝ่ายการวิจัยตะวันออกกลางของแอมเนสตีอินเตอร์เนชันแนลกล่าวว่าหลังจากเกิดกรณีคาชอกกีแล้วก็มีรายงานที่น่าสะเทือนขวัญดังกล่าวปรากฏออกมาเพิ่ม มาลูฟกล่าวว่ารัฐบาลซาอุฯ มีความรับผิดชอบโดยตรงต่อสภาพความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ต้องขังไม่ว่าจะเพศชายหรือหญิง แต่นักโทษเหล่านี้ไม่เพียงแค่ถูกลิดรอนเสรีภาพไปเป็นเวลาหลายเดือนเพียงเพราะแสดงความคิดเห็นของตัวเอง แต่พวกเขายังถูกกระทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางร่างกายอย่างน่าสยดสยองด้วย

ไมเคิล เพจ รองผู้อำนวยการตะวันออกกลางของฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวถึงกรณีนี้ว่า "รัฐบาลใดก็ตามที่ทารุณกรรมผู้หญิงผู้เรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานควรต้องเผชิญกับการวิพากษ์วิจารณ์จากนานาชาติจนอับเฉาไป ไม่ใช่ได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ หรือสหราชอาณาจักรอย่างต่อเนื่อง"

ก่อนหน้านี้ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ เคยถูกวิจารณ์เรื่องที่ตอบโต้กรณีการฆาตกรรมคาชอกกีน้อยเกินไป ถึงแม้ว่าหน่วยงานข่าวกรองกลางสหรัฐฯ หรือซีไอเอ (CIA) จะมีข้อสรุปว่าเจ้าฟ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน เป็นผู้สั่งให้สังหารคาชอกกี แต่ทรัมป์กลับพูดเน้นย้ำถึงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับซาอุฯ รวมถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการที่ซาอุฯ เป็นผู้ซื้ออาวุธจากพวกเขา เรื่องนี้ทำให้แม้แต่ผู้สนับสนุนทรัมป์อย่างแข็งขันมาโดยตลอดอย่าง ส.ว. ลินเซย์ เกรแฮม กล่าวว่าการทำเป็นมองไม่เห็นกรณีสังหารคาชอกกี "ไม่ถือว่าเป็นผลประโยชน์อะไรต่อประเทศของพวกเรา"

ขณะที่ บ็อบ คอร์กเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของวุฒิสภาระบุทางทวิตเตอร์ว่าเขาไม่คิดมาก่อนเลยว่าจะได้เห็นวันที่ทำเนียบขาวทำงานพิเศษเป็นบริษัทประชาสัมพันธ์ให้กับเจ้าฟ้าชาย โมฮัมหมัด บิน ซัลมาน

ถึงแม้ว่าบิน ซัลมานจะแสดงออกในเชิงพยายามทำให้ประเทศดูเป็นสมัยใหม่และเปิดกว้างด้านความเท่าเทียมกันทางเพศมากขึ้น เช่น การยกเลิกการสั่งห้ามไม่ให้ผู้หญิงขับรถ แต่ซัลมานก็ยังคงปราบปรามนักกิจกรรมสตรีนิยมและผู้ประท้วงอย่างสงบรายอื่นๆ ซึ่งนักวิจารณ์มองว่าเป็นการทำให้สิ่งที่ดูเหมือนจะก้าวหน้าทั้งหลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาจากรัฐบาลเท่านั้น แต่รัฐบาลซาอุฯ ก็ยังคงมีโทษประหารชีวิตนักกิจกรรมที่ชุมนุมอย่างสงบโดยกล่าวหาว่าพวกเขาทำการยุยงปลุกปั่น

เรียบเรียงจาก

Saudi Arabia Allegedly Tortured Women’s Rights Activists Before Khashoggi Murder, Huffington Post, Nov. 21, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net