Skip to main content
sharethis

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ รับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อกกัญชา กระท่อมทางการแพทย์ แต่ห้ามไม่ให้ใช้เพื่อนันทนาการ สนช. อภิปรายชี้กฎหมายฉบับนี้ต้องไม่เปิดช่องให้กลุ่มทุนเข้ามาผูดขาด ขณะเดียวกัน สนช. มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการยุติธรรม เพิ่มเบี้ยประชุมศาล ไร้เสียงค้าน

แฟ้มภาพ: เว็บข่าวรัฐสภา

23 พ.ย. 2561 เว็บข่าวรัฐสภา รายงานว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มี พรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)ยาเสพติดให้โทษ ที่สมชาย แสวงการ สมาชิก สนช. และคณะสมาชิก สนช. ร่วมกันเข้าชื่อเสนอ ซึ่ง สนช.มีมติส่งหลักการและเหตุผลประกอบร่างกฎหมายไปยัง ครม. และได้รับความเห็นชอบในหลักการจาก ครม. แล้ว โดยสมชาย ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช.ว่าร่างกฎหมายยาเสพติดให้โทษที่เสนอนี้ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มีสาระสำคัญในการให้นำกัญชา ใบกระท่อม ซึ่งอยู่ในหมวดยาเสพติดให้โทษประเภท 5 มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ มีจำนวน 17 มาตรา 12 หลักการ อาทิ การเพิ่มบทบัญญัติ ห้ามมิให้ผลิต นำเข้า หรือส่งออกยาเสพติดประเภท 5 เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากผู้อนุญาตเฉพาะกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ การห้ามจำหน่าย หรือมียาเสพติดให้โทษประเภท 5  ไว้ในครอบครอง เว้นแต่ได้รับใบอนุญาต กำหนดห้ามมิให้ผู้รับอนุญาตจำหน่ายยาเสพติดให้โทษประเภท 5 นอกสถานที่ที่ระบุไว้ในใบอนุญาต การเพิ่มเติมหน้าที่ของผู้รับอนุญาต ในการจัดเก็บรักษายาเสพติด และหน้าที่ที่ต้องกระทำเมื่อ ยาเสพติดถูกโจรกรรม สูญหาย หรือถูกทำลาย การให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) มีอำนาจกำหนดเขตพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชที่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ผลิตและทดสอบ หรือกำหนดเขตพื้นที่ให้เสพหรือครอบครอง ในปริมาณที่กำหนดได้ โดยให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกาและต้องมีมาตรการควบคุมตรวจสอบ

จากนั้น สมาชิก สนช. ต่างอภิปรายและแสดงความเห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว อาทิ เจตน์ ศิรธรานนท์ สนช. ซึ่งเป็นผู้ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายดังกล่าว อภิปรายถึงประโยชน์และยืนยันว่ากัญชายังถือเป็นสารเสพติดให้โทษที่มีผลต่อสุขภาพ และสังคม จึงต้องมีการควบคุมเฉพาะ พร้อมยกตัวอย่าง กรณีประเทศแคนาดา ที่ให้มีการเสพเพื่อสันทนาการได้ แต่กฎหมายระบุชัดว่า กัญชาเป็นสารเสพติดให้โทษ และห้ามการเสพสำหรับผู้อายุต่ำกว่า 18 ปี เพราะมีผลต่อพัฒนาการทางสมอง และผลต่อการขับขี่ยวดยาน เ

ช่นเดียวกับวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สนช. อภิปรายยืนยันว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว เน้นย้ำในการใช้กัญชาเพื่อการรักษา ไม่ใช่เพื่อการนันทนาการ รวมทั้งมณเฑียร บุญตัน  สนช. ที่ร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมายกล่าวสนับสนุนถึงเนื้อหาและเจตนารมณ์ของร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พร้อมเห็นควรให้มีการพัฒนา ค้นคว้า วิจัย และเผยแพร่องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ออกไปอย่างกว้างขวาง เพื่อให้เกิดการรู้เท่าทัน และมีการใช้ประโยชน์อย่างเหมาะสมต่อไป ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประชาชนจำนวนมากที่รอการรักษาจากองค์ความรู้ดังกล่าว  

ขณะที่กิตติ วสีนนท์ หวังให้ร่างกฎหมายดังกล่าวสำเร็จใน สนช. ชุดปัจจุบัน พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า ร่างกฎหมายดังกล่าว ต้องไม่เปิดช่องให้บริษัทใหญ่เข้ามาผูกขาดการใช้ประโยชน์ หรือได้รับการจดสิทธิบัตร  และต้องไม่เป็นการเปิดช่องให้เพิ่มอำนาจกับหน่วยราชการ

ทั้งนี้ หลังการอภิปราย สมชาย ตัวแทนผู้เสนอกฎหมาย กล่าวรับข้อสังเกตจาก สนช.ไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการ ก่อนที่ประชุมจะทำการลงมติ และปรากฏผลรับหลักการด้วยเสียง 145 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง โดยไม่มีผู้ไม่เห็นด้วย พร้อมกำหนดตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาทำหน้าที่พิจารณาจำนวน 29 คน กรอบเวลาทำงาน 60 วัน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน

สนช. เห็นชอบให้เบี้ยประชุมศาล หวังพิจารณาคดีอย่างอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม

ขณะที่ วานนี้(22 พ.ย. 2561) iLaw รายงานว่า ในการประชุม สนช. โดยมี สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้มีมติในวาระสาม ผ่านร่าง พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ระเบียบบริหารราชการยุติธรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ด้วยคะแนน 145 ไม่เห็นด้วย ไม่มี งดออกเสียง 6 โดยที่ คณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ไม่มีการสงวนความเห็น ส่วน สมาชิก สนช. ไม่มีการเสนอคำแปรญัตติ หรือ แก้ไข และไม่มีสมาชิก สนช. คนใด ลุกขึ้นอภิปราย

ทั้งนี้ ร่างที่ได้รับการเห็นชอบ ยังคงสาระสำคัญ ที่เพิ่มอำนาจให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมของข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ พร้อมกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรับรอง ระเบียบคณะบริหารราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ และการประชุมแผนกคดีอาญาในศาลฎีกาและศาลชั้นอุทธรณ์ พ.ศ. 2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ออกครั้งแรกในเดือนตุลาคม 2560 และแก้ไขเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ให้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะออกระเบียบตามร่างกฎหมายฉบับนี้ด้วย

คาดว่างบประมาณที่จะใช้สำหรับเป็นค่าเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธณ์จะใช้งบประมาณเดือนละ 17,280,000 บาท และปีละ 207,360,000 บาท หน่วยงานที่ใช้ค่าเบี้ยประชุมมากที่สุดคือศาลอุทธรณ์ คือ 4,652,000 บาท ต่อเดือน และ 55,824,000 ต่อปี สำหรับประธานในที่ประชุมใหญ่ของทุกศาลจะได้เบี้ยประชุมครั้งละ 10,000 บาท ถ้าประชุมทั้งปีจะได้ประมาณ 240,000 บาท

โดยคาดว่า 5 ปีแรกต้องใช้งบประมาณถึง 1,100 ล้านบาท ด้วยเหตุผลที่ว่า เพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น จึงเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจะมีการพิพากษาเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แกประชาชนอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม

สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้อธิบายในบันทึกวิเคราะห์สรุปสำคัญของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ โดยกล่าวว่าการแก้ไขให้ ก.บ.ศ. มีอำนาจกำหนดเบี้ยประชุมให้แก่ข้าราชการตุลาการซึ่งเข้าร่วมประชุมใหญ่ในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา จะเป็นหลักประกันให้กับประชาชนว่าผู้พิพากษาจะพิจารณาคดีอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม เพื่ออำนวยความยุติธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net