Skip to main content
sharethis

พรรคเพื่อไทยร้อง กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ระบุเอื้อประโยชน์บางพรรค ไม่ยึด ม.27 กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. แนะเปิดข้อมูลผู้ร้อง เหตุการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเขตเลือกตั้ง ยืนยันไม่ร่วมประชุมกับ คสช. 7 ธ.ค.นี้ 'อนุทิน' ซัดพรรคเล็กไม่พร้อมเลือกตั้ง 24 ก.พ. ให้รอเที่ยวหน้า อย่าทำคนอื่นเสียเวลา 

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมาผู้แทนพรรคการเมืองนำโดยนายสามารถ แก้วมีชัย อดีต ส.ส. เชียงราย นายวิชาญ มีนชัยนันท์ อดีต ส.ส. กทม นายประเสริฐ ทรัพย์รวงทอง อดีต ส.ส.นครราชสีมา ยื่นหนังสือขอให้กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คัดค้านการแบ่งเขตเลือกตั้งในหลายจังหวัด อาทิ จังหวัดสมุทรปราการ นครราชสีมา กรุงเทพฯ โดยขอให้คำนึงถึงกฎหมายการแบ่งเขตเลือกตั้งหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 16/2561 เปิดทางให้กกต.แบ่งเขตเลือกตั้ง โดยไม่ต้องคำนึงถึงกฎหมายและให้ถือเป็นที่สิ้นสุด   

นายสามารถกล่าวว่าอยากให้ กกต.เปิดเผยข้อมูลรูปแบบการเลือกตั้งการแบ่งเขต ที่มีการร้องเรียนและเปลี่ยนแปลงว่าใครเป็นผู้ร้อง และแบบเดิมมีความไม่เหมาะสมอย่างไร เพราะถือเป็นการร้องเรียนนอกกรอบเวลาที่ กกต.เคยกำหนดไว้ เท่ากับว่าไม่เคารพกติกา เป็นการตามใจคนที่ไม่เคารพกติกาด้วยการออกคำสั่งพิเศษให้ กกต. รับฟังความเห็นใหม่จนอาจจะออกแบบพิสดาร ซึ่งมีตัวอย่างจากกรณี จ.นครราชสีมา และกรุงเทพมหานคร 

“ขอเรียกร้องให้กกต.ปฏิบัติหน้าที่โดยอิสระ ปลอดการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจเพราะ กกต.ต้องดูแลการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ถ้าการแบ่งเขตเลือกตั้งไม่เป็นธรรม เท่ากับต้นทางของการเลือกตั้งมีปัญหา แม้ว่าจะเอาผิด กกต.ตามกฎหมายไม่ได้เนื่องจากมีคำสั่งหัวหน้า คสช.คุ้มครองอยู่ แต่จะมีผลต่อความสับสนและความไม่เชื่อมั่นของประชาชน ทำให้การเลือกตั้งอาจไม่เป็นที่ยอมรับ ส่วนจะนำไปสู่ความวุ่นวายหรือไม่ยังบอกไม่ได้ในตอนนี้” นายสามารถ กล่าว

ด้านนายประเสริฐ กล่าวว่าในพื้นที่ภาคอีสานมีปัญหาหลายจังหวัดโดย จ.นครราชสีมา มีการแบ่งเขตแบบไม่ชอบมาพากล นอกเหนือจาก 3 รูปแบบที่ กกต.เคยกำหนด จากเดิมนครราชสีมามี 15 เขต ลดไปหนึ่งเขตเหลือ 14 เขต ซึ่งสืบค้นมาพบว่าจะมีแบบพิสดาร ซึ่งไม่ตรงกับ 3 รูปแบบที่ กกต.เคยแบ่งไว้ เช่นในเขต อ.พิมาย มีประชากร 1 แสนสามหมื่นคน เดิมเอา อ.พิมายไปรวมกับ อ.ชุมพวงบางตำบล แต่แบบพิสดารแบ่ง อ.พิมายออกเป็น 3 ส่วน ๆ ละ 4 ตำบลไปรวมกับ อ.โนนสูง อ.จักราช ซึ่งไม่เป็นไปตามมาตรา 27 พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และที่ อ.สีคิ้ว เดิมเอาบางตำบลไปรวมกับ อ.ด่านขุนทด แต่ตอนนี้จะนำ อ.เมือง มารวมกับ อ.สีคิ้ว ซึ่งเท่ากับว่าไม่คำนึงถึงการเคยอยู่เขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อนเพราะ อ.สีคิ้ว ไม่เคยอยู่เขตเลือกตั้งเดียวกับ อ.เมือง มาก่อน ถือได้ว่าแบ่งเขตเลือกตั้งขัดมาตรา 27 ชัดเจน นอกจากนี้ลักษณะชุมชนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง

นายวิชาญ กล่าวว่า กทม.เดิมมีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 33 เขต แต่ขณะนี้เหลือ 30 เขต โดยแบ่งเขตเลือกตั้งใหม่ โดยเฉพาะพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งกระทบฐานเสียงของพรรคเพื่อไทย 7 เขต สอดรับกับมีบางพรรคการเมืองระบุว่าจะปักธงในพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ จึงขอตั้งข้อสังเกตว่าการแบ่งเขตเลือกตั้งเอื้อให้พรรคการเมืองนั้นหรือไม่ โดยตัวอย่างความผิดปกติในการแบ่งเขตเลือกตั้ง คือเขตคลองสามวามีประชากรเกือบ 2 แสนคน ซึ่งเต็มเขตแล้ว แต่กลับแบ่งคลองสามวาโดยนำแขวงบางชันไปรวมกับสายไหม แล้วแบ่งสายไหมบางส่วนคือแขวงคลองถนนไปรวมกับบางเขน ทำให้เขตบางเขนมีราษฎรเกิน จึงแบ่งบางเขนไปในพื้นที่จตุจักร 

“แสดงให้เห็นว่ามีความผิดปกติในการแบ่งพื้นที่ เช่นเดียวกับที่เขตมีนบุรีที่มี 2 แขวงก็นำแขวงคลองแสนแสบไปรวมกับคลองสามวา แล้วนำแขวงมีนบุรีไปรวมกับคันนายาว ซึ่งพื้นที่ที่แบ่งเขตใหม่เป็นพื้นที่เดิมของพรรคเพื่อไทยทั้งสิ้น 7-8 เขต จึงสงสัยว่าเจาะจงที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ส.ส.หรือไม่ ขณะนี้แค่บัตรใบเดียวประชาชนสับสนอยู่แล้ว ยังแบ่งเขตแบบตัดแขวงออก แล้วข้ามไปข้ามมา ทำให้ประชาชนไม่สามารถลงในเขตเดิมได้ก็ยิ่งจะมีความสับสน เพราะจะกลายเป็นผู้สมัครอีกคนและคนละเบอร์ด้วย” นายวิชาญ กล่าว

ยืนยันไม่ร่วมประชุมกับ คสช. 7 ธ.ค.นี้

นอกจากนี้นายสามารถยังระบุว่าพรรคเพื่อไทยจะไม่เข้าร่วมประชุมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และแม่น้ำ 5 สายในวันที่ 7 ธ.ค. 2561 นี้ 

“คสช.ไม่ได้มีอำนาจเรื่องจัดการเลือกตั้ง เพราะอำนาจดังกล่าวเป็นของ  กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ถ้าเป็นกกต.เชิญมา พรรคพร้อมให้ความร่วมมือ แต่คสช.เชิญไม่รู้ว่าจะไปทำไม” นายสามารถ ระบุ

คสช.-กกต.นัดหารือพรรคการเมือง 7 ธ.ค.

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันที่ 7 ธันวาคมนี้ คสช. และ กกต. จะนัดหารือกับพรรคการเมือง ที่สโมสรทหารบก เพื่อพูดคุยปัญหา อุปสรรค และเตรียมปลดล็อกทางการเมือง ยืนยันกรอบการเลือกตั้งยังอยู่ในเดือน ก.พ. 2562 ยังไม่มีการเลื่อนใดๆ

ส่วนข้อเรียกร้องของพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่เรียกร้องให้เลื่อนการเลือกตั้ง ด้วยเหตุผลที่ยังไม่พร้อม ถือเป็นเรื่องของ กกต. ที่จะตัดสินใจกันเอง ตนไม่มีส่วนตัดสินใจ ส่วนอนาคตทางการเมืองของตัวเอง พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่ตัดสินใจใดๆ ทั้งสิ้น รวมถึงไม่ขอตอบว่าจะสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดหรือไม่ แต่ขอให้ไปดูข้อกฎหมายว่านายกรัฐมนตรีสามารถเข้ามาอยู่ในส่วนของภาคการเมืองได้มากน้อยเพียงใด ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎหมาย พร้อมระบุว่า 4 รัฐมนตรีที่ไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ จะตัดสินใจลาออกในเร็วๆ นี้ และหากลาออกก็จะยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี เพราะรัฐมนตรีที่เหลืออยู่สามารถทำงานแทนได้

'อนุทิน' ซัดพรรคเล็กไม่พร้อมเลือกตั้ง 24 ก.พ. ให้รอเที่ยวหน้า

นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีพรรคการเมืองในนามกลุ่มสหพรรคการเมือง จำนวน 13 พรรค ยื่นหนังสือถึงประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ขอเลื่อนวันเลือกตั้งไปเป็นวันที่ 5 พฤษภาคม 2562 ว่า การเลือกตั้งมีกำหนดชัดเจนแล้วและทุกคนทราบดี ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ. 2562 หรือต่อให้เลื่อนออกไปก็ไม่เกินเดือนพฤษภาคม สมาชิกพรรคภูมิใจไทยอย่างนายภราดร ปริศนานันทกุล ก็พูดชัดแล้วว่า ถ้าไม่พร้อมก็ขึ้นรถบัสคันใหม่ คนอื่นเขาพร้อมกันหมด 

“ไม่พร้อมก็รอเที่ยวหน้า อย่ามาหยุดยั้ง อ้างนู่นอ้างนี่ ทุกพรรคมีเวลาเท่ากัน ไม่มีพรรคใหม่พรรคเก่า คนที่อยู่ในการเมืองต้องมีสัญชาตญาณ มีไหวพริบเพียงพอจะรู้ว่าการเลือกตั้งควรเกิดขึ้นช่วงไหน เลื่อนไปอีก 1-2 เดือนไม่มีความหมายอะไรที่จะทำให้ตัวเองแข็งแกร่งหรืออ่อนแรงลง พรรคภูมิใจไทยพูดเสมอว่าพร้อมเลือกตั้งตลอดเวลา ถ้าใครบอกว่าไม่พร้อมแล้วให้รอ  ไปขึ้นรถไฟเที่ยวหน้าดีกว่า อย่าทำให้คนอื่นเสียเวลาด้วย”นายอนุทิน กล่าว

เมื่อถามถึงกรณีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 16/2561 ซึ่งให้อำนาจ กกต. ขยายเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้ง หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย  กล่าวว่า มีสมาชิกหลายคนแสดงความกังวล แต่คำตอบเดียวของตนคือ ถ้าจะไปเป็นผู้แทนของประชาชน อยู่ที่ไหนก็เหมือนกันหมด คือมีหน้าที่ทำความนิยม ถ้าดูแล้วบางเขตไม่เหมาะสมกับตัวเองก็ไม่ต้องลงเลือกตั้ง พรรคภูมิใจไทยคงไม่ไปขอให้กำหนดเขตเลือกตั้งตามใจพรรค เพราะเรื่องนี้เป็นหน้าที่ของกกต.ว่าจะกำหนดอย่างไร ซึ่งพรรคก็พร้อมส่งผู้ที่เหมาะสมที่สุดลงต่อสู้ ไม่มีปัญหา

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายวิจารณ์การทุ่มงบประมาณของรัฐบาลเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ผู้สูงอายุ และข้าราชการเกษียณจำนวน 5.87 หมื่นล้านบาท ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา เป็นการหาเสียงล่วงหน้า นายอนุทินกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นการตัดสินใจของผู้บริหารบ้านเมือง คนที่ได้อานิสงส์คือประชาชน อะไรก็ตามที่ทำให้ความทุกข์ของประชาชนคลี่คลายและประชาชนมีรอยยิ้ม ไม่ว่าจะยั่งยืนหรือชั่วคราว พรรคก็ยินดีด้วย

ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าจะมีผลต่อคะแนนเสียงนั้นหัวหน้าพรรคภูมิใจไทยกล่าวว่าพรรคยืนยันว่าไม่มีปัญหาเราอย่าไปดูถูกประชาชนขนาดนั้น รัฐบาลมีหน้าที่ดูแลสารทุกข์สุกดิบของประชาชน เมื่อถึงเวลาเลือกตั้ง ประชาชนก็ต้องดูว่าใครที่ได้รับการเลือกตั้งไปแล้ว เข้าไปบริหารประเทศ ทำหน้าที่แทนเขาในสภา คนไหนจะมีความสำนึกต่อบ้านเกิดและนำประโยชน์มาให้เขาได้มากที่สุด คนนั้นก็จะได้รับการคัดเลือก ตนมองว่ายิ่งดีที่รัฐบาลแจกใกล้ปีใหม่ ต้องขอบคุณที่ได้กรุณาบรรเทาทุกข์ให้พี่น้องประชาชน

เมื่อถามถึงกรณีนายณัฐวุฒิ ประเสริฐสุวรรณ อดีต ส.ส.สุพรรณบุรี พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ซึ่งมีข่าวก่อนหน้านี้ว่าจะสมัครสมาชิกพรรคภูมิใจไทย แต่ปรากฏว่าในวันเดียวกันนี้กลับไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาตามเดิม นายอนุทินกล่าวว่า ตนมาจากภาคธุรกิจ จะรับเช็กก็ต้องผ่านบัญชี ไม่เช่นนั้นก็เป็นเพียงกระดาษใบเดียว เพราะฉะนั้น อย่าไปตื่นเต้น ใครจะมาหรือไปถือเป็นสิทธิ อย่าไปลิดรอนสิทธิของเขา เราบริหารตัวเองให้ดีที่สุด ซึ่งก่อนหน้านี้ตนไม่ได้พูดคุยกับนายณัฐวุฒิและนายชาญชัย ทุกวันนี้ก็รอโทรศัพท์อยู่ ยังไม่มีใครโทรมาสักคน ส่วนหากทั้ง 2 คนไปร่วมงานกับพรรคชาติไทยพัฒนา ตนก็ยินดีด้วย เป็นสิ่งที่ดีแล้ว ทุกคนเป็นพี่น้องกันทั้งนั้น

ที่มาเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2] [3] [4]


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net