Skip to main content
sharethis

สื่อ 'เบนาร์นิวส์' รายงาน ศอ.บต. ได้ทดลองพัฒนาโรงเรียนปอเนาะ 10 แห่ง ให้เป็นสถานที่ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป แต่นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ชี้มีผู้สูงอายุส่วนน้อยที่ต้องการอยู่ตามปอเนาะ


ที่มาภาพประกอบ: pondak-adilan.blogspot.com

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมา เบนาร์นิวส์ รายงานว่าเมื่อเร็วๆ นี้ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ทดลองพัฒนาโรงเรียนปอเนาะ 10 แห่ง ให้เป็นสถานที่ดูแลคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่มีอยู่ในพื้นที่กว่าสองแสนสองหมื่นราย แต่นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า มีผู้สูงอายุส่วนน้อยที่ต้องการอยู่ตามปอเนาะ

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา พลเรือตรีสมเกียรติ ผลประยูร รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดประชุมหารือแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โดยอาศัยสถาบันศึกษาปอเนาะ เพื่อส่งเสริมการศึกษา และอาชีพแก่ผู้สูงอายุ ให้สอดรับนโยบายสังคมสูงวัยของรัฐบาลและผู้แทนพิเศษของรัฐบาล ซึ่งได้นำร่องยกระดับสถาบันปอเนาะผู้สูงอายุไปแล้ว 10 แห่ง ในพื้นที่ อ.เมือง อ.รามัน ของจังหวัดยะลา ในปี 2516 ภายใต้โครงการจัดตั้งศูนย์ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุแบบองค์รวม ตามวิถีอิสลามจังหวัดชายแดนภาคใต้

ในการประชุมครั้งนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมหน่วยงานรัฐและปอเนาะส่วนใหญ่ มีการเสนอและให้ข้อคิดเห็นว่า ผู้สูงอายุที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่ในพื้นที่มักเลือกเข้าเรียนศาสนาในสถาบันปอเนาะ เพื่อมุ่งศึกษาทางธรรมให้คลายกังวลเรื่องการใช้ชีวิตในโลกหน้า การที่ ศอ.บต.ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและสุขภาพของผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แต่ไม่ควรเน้นการสร้างอาชีพเพื่อให้มีรายได้เงินเก็บออม เพราะไม่ได้เป็นเรื่องหลักที่ผู้สูงอายุนึกถึง แต่ควรเปิดโอกาสให้ผู้สูงวัยทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพื่อสร้างความภูมิใจ

ตามข้อมูลของ ศอ.บต. มีผู้สูงอายุในพื้นที่ ซึ่งมีอายุ 60 ปีขึ้นไป 227,110 คน และในจำนวนนี้ มีผู้สูงอายุที่ต้องการความช่วยเหลือกว่า 122,654 คน มีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดกว่าสองหมื่นคน ซึ่งที่ผ่านมา ศอ.บต. ได้สนับสนุนให้นักเรียนผู้สูงวัย ปลูกผักสวนครัวระยะสั้น เลี้ยงปลาดุก ไก่พื้นเมือง ไก่ไข่ และขยายพันธ์ุมะนาว เพื่อสร้างอาชีพและรายได้แก่นักเรียนอีกด้วย

พลเรือตรีสมเกียรติ กล่าวถึงการประชุมหารือว่า เป็นการพัฒนาแบบไร้รอยต่อ ในการช่วยเหลือและสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ซึ่งเป็นข้อสั่งการของพลเอกประวิตร วงศ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องการให้ดูแลประชาชนทุกภาคส่วน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังแม้แต่คนเดียว

ซึ่งภายหลังลงพื้นที่ พบผู้สูงอายุรายได้ต่ำ ที่ต้องการความช่วยเหลือเรื่องสุขภาพอนามัย อาชีพ และความเป็นอยู่ กว่า 20,000 คน จึงเป็นที่มาของการร่วมหารือในครั้งนี้ เพื่อให้สถาบันปอเนาะในพื้นที่กว่า 400 สถาบัน เป็นสถาบันหลักในการดูแล เนื่องจากผู้สูงวัยที่นับถือศาสนาอิสลามส่วนใหญ่เลือกอาศัยอยู่เพื่อเรียนศาสนา

พลเรือตรีสมเกียรติ รักษาราชการแทนเลขาธิการ ศอ.บต.ได้มอบหมายให้สถาบันปอเนาะ 10 แห่ง ทำโครงการนำร่อง แล้วขยายผลการส่งเสริมอาชีพและดูแลผู้สูงอายุสู่ปอเนาะตำบลละ 1 แห่ง ในจังหวัดยะลา ส่วนในจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส ได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ ศอ.บต. เร่งสรรหาและคัดเลือกสถาบันปอเนาะ เพื่อร่วมดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

“เนื่องจากบางโรงเรียนยังขาดแคลนและมีความไม่พร้อมในการดูแลอำนวยความสะดวกผู้สูงอายุ จึงเป็นการดีที่ ศอ.บต.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาเติมเต็ม เพื่อให้การเรียนรู้ศาสนาในบั้นปลายชีวิตเป็นไปอย่างดียิ่งขึ้น” นายอับดุลเราะห์มาน มะเกะ ผู้บริหารปอเนาะดารูลอูลูมวิทยา หนึ่งในสถาบันปอเนาะนำร่องที่ดูแลผู้สูงอายุและส่งเสริมด้านอาชีพ ต.ยะต๊ะ จ.ยะลา กล่าว

นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะเห็นต่าง

อย่างไรก็ตาม นายอับดุลอาซิส ยานยา นายกสมาคมสถาบันการศึกษาปอเนาะ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ปัจจุบัน คนชราที่จะเข้ามาอยู่ปอเนาะมีน้อยลง เพราะโลกมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่ทำให้ทั้งเด็กเยาวชนและคนชรา ไม่ต้องการเข้ามาอยู่สถาบันปอเนาะ เมื่อเทียบกับในอดีต

"ในพื้นที่มีสถาบันปอเนาะ รวมถึงปอเนาะและโรงเรียนปอเนาะ รวม 487 แห่ง แต่ที่มีการรับคนชราหรือผู้สูงอายุ มีบางโรงเท่านั้น ไม่น่าเกิน 50 โรง และแต่ละโรง มีผู้สูงอายุหรือคนชราอยู่ไม่น่าจะเกินสิบคน เพราะคนที่อยู่ปอเนาะ เป็นคนที่ต้องการเรียนรู้หลักศาสนา เพื่อเตรียมตัวที่จะตาย ไม่สนใจเรื่องบนโลก” นายอับดุลอาซิสกล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ส่วนคนที่อยู่บ้านอยู่ในชุมชน ก็เป็นคนที่มีความต้องการอยู่กับลูกหลาน มีความต้องการที่จะอยู่ในสังคมในยุคปัจจุบัน มีเทคโนโลยีต่างๆ ใช้ ในขณะที่คนที่อยู่ในปอเนาะไม่มีอะไรเลย นอกจากความรู้ และวิธีการที่จะเตรียมตัวก่อนที่จะตาย" นายอับดุลอาซิสกล่าว

“จากประสบการณ์เข้าไปเรียนรู้สถาบันปอเนาะในพื้นที่ จึงพบว่า ผู้สูงอายุที่อยู่ในระบบสถาบันปอเนาะ เขามีชีวิตที่มีคุณภาพดีอยู่แล้ว โดยไม่จำเป็นจะต้องให้รัฐเข้าไปพัฒนาคุณภาพชีวิต แต่ถ้าภาครัฐต้องการพัฒนาชีวิตคุณภาพของผู้สูงอายุจริงๆ ก็ควรไปดูผู้สูงอายุที่อยู่ในชุมชน คนเหล่านี้ยังมีความต้องการ ยังสามารถร่วมกิจกรรมสามารถไปไหนมาไหนได้ตามที่รัฐกำหนดหรือ นำโครงการลงไปในพื้นที่ ถ้ารัฐเอาโครงการเข้าไปก็จะทำให้ผู้สูงอายุเอง รวมถึงโต๊ะครูเอง ซึ่งเป็นเจ้าของสถาบันปอเนาะ ต้องเสียระบบเสียระเบียบจากเดิม” นายอับดุลอาซิสกล่าวแสดงทัศนะ

ด้านนางเมาะแมะ มอซอ อายุ 62 ปี ผู้สูงอายุที่อยู่ในโรงเรียนปอเนาะแห่งหนึ่ง ในพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้สูงอายุนิยมมาอยู่ปอเนาะน้อยลงมาก

"เดี๋ยวนี้คนแก่ๆ ไม่อยู่ อยู่ก็น้อยลง ไม่เหมือนกับเมื่อก่อน อยู่เยอะสนุกมาก แต่ตอนนี้มีน้อยมาก ก็เบื่อเหมือนกันก็ดีถ้าหากรัฐจะเข้ามาช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่เราขาด เช่น หาอาชีพเสริม ปลูกผัก หรือทำอะไรก็ได้ ให้มีรายได้มากขึ้นจากตอนนี้ ที่เราไม่ได้มีรายได้ ในขณะที่อยู่ปอเนาะ ก็ยังมีเวลาว่างอยู่ในช่วงเย็นๆ" นางเมาะแมะกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net