Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อสองสามเดือนที่ผ่านมา ข้าพเจ้าได้เข้าชมนิทรรศการพลังสังคมหยุดการคุกคามทางเพศ Don’t tell me how to dress (ไม่ต้องบอกผู้หญิงให้แต่งตัวยังไง) ในกรุงเทพมหานคร ซึ่งเนื้อหาของนิทรรศการโต้ตอบไปยังทัศนคติของผู้ชายที่มักหยิบยกเรื่องพฤติกรรมของผู้หญิงมาเป็นข้ออ้างในการล่วงละเมิดทางเพศ โดยเฉพาะประเด็นการแต่งกาย

งานดังกล่าวจัดโดยคุณซินดี้ สิรินยา บิชอปและสถานทูตแคนาดา มีการจัดแสดงเสื้อผ้าที่สวมใส่โดยผู้เสียหาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงแต่ก็มีผู้ชายด้วยเช่นกัน เสื้อผ้าที่นำมาจัดแสดงเป็นเสื้อผ้าที่แสนจะธรรมดา อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผู้เสียหายจะแต่งกายอย่างไร นั่นไม่ควรถูกใช้เป็นข้ออ้างเพื่อจะทำการล่วงละเมิดทางผู้อื่นได้ 

เรื่องราวของผู้เสียหายที่ได้รับการยินยอมให้นำเสนอผ่านนิทรรศการล้วนแล้วแต่ฟังแล้วใจสลาย ผู้กระทำความผิดอาจจะเป็นเพื่อนหรือแม้แต่สมาชิกในครอบครัว อย่างที่ทราบว่า ผู้ชายบางคนได้รับความไว้วางใจแต่ก็ไม่สมควรที่จะได้รับความไว้วางใจนั้น

เป็นที่ทราบกันดีว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงไม่ได้เกิดขึ้นแต่เฉพาะในประเทศใดประเทศหนึ่ง หากแต่เป็นปัญหาระดับสากล กล่าวคือ 1ใน3 ของผู้หญิงทั่วโลกเคยผ่านประสบการณ์ความรุนแรงทางเพศ จะเห็นได้ว่าการคุกคามทางเพศนั้นได้ขยายตัวไปอย่างน่าตระหนก รวมถึงในประเทศสวีเดนด้วย

ไม่นานมานี้ กระแสสังคมได้พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น การรณรงค์ทางสื่อสังคมออนไลน์ #Donttellmehowtodress และการรณรงค์ต่อต้านปัญหาการคุกคามและล่วงละเมิดทางเพศ #metoo ได้จุดกระแสให้สังคมหันมาสนใจประเด็นเหล่านี้  รวมถึงในประเทศของข้าพเจ้าด้วย นับเป็นสัญญาณเริ่มต้นที่ทำลายวัฒนธรรมเก็บงำความเงียบเมื่อเกิดความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้น  นอกจากนี้ยังมีการรณรงค์ในระดับทั่วโลก ประจำปี 2561 โดยองค์การสหประชาชาติ ภายใต้โครงการ UNiTE ในหัวข้อ Orange the World: #HearMeToo ที่เน้นสร้างความตระหนักรู้ของสังคมในการรับฟังเรื่องราวความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงและเด็ก

ทว่า ยังมีอีกหลายสิ่งที่จำเป็นต้องลงมือทำ ไม่ใช่เพียงแค่ทำโดยผู้หญิงเป็นหลัก หากแต่ผู้ชายต้องปฎิบัติด้วยเช่นกัน 

วันที่ 25 พฤศจิกายน เป็นวันสากลเพื่อขจัดความรุนแรงต่อผู้หญิง (International Day for the Elimination of Violence against Women) และเป็นวันแรกของกิจกรรม 16 วันต่อต้านความรุนแรงทางเพศ โดยจะสิ้นสุดลงในวันที่ 10 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันสากลเพื่อสิทธิมนุษยชน 

ตัวอย่างของกิจกรรมที่เกี่ยวข้อง คือ การเดินรณรงค์ในหัวข้อ ‘เราไม่ทำร้ายผู้หญิง (Men for Change)’  ซึ่งจัดโดยองค์การภาคประชาสังคมที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพยุโรป  เมื่อวันเสาร์ที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ณ สวนลุมพินี ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ยอดเยี่ยม ทั้งนี้ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมงาน เพื่อสนับสนุนกิจกรรมดังกล่าวทั้งในนามส่วนตัวและสนับสนุนนโยบายการต่างประเทศของรัฐบาลสวีเดนเรื่องการรับรองสิทธิสตรี รวมถึงสนับสนุนการรณรงค์ในหัวข้อ HeForShe (ผู้ชายเพื่อผู้หญิง) ซึ่งเป็นการผสานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลสวีเดนและองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ข้าพเจ้าหวังว่าหากมีกิจกรรมแบบนี้ในครั้งต่อไป เราจะได้เห็นผู้ชายเข้าร่วมงานมากกว่าผู้หญิงสิบเท่าเป็นอย่างน้อย 

ด้วยเหตุนี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ชายจะต้องลุกขึ้นเพื่อต่อต้านความรุนแรงและส่งเสริมเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ ผู้ชายควรแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนว่าเรื่องเหล่านี้ควรหยุดได้แล้ว อีกทั้งควรตั้งคำถามต่อตัวเองว่า จะรู้สึกอย่างไร หากตนถูกล่วงละเมิดทางเพศ หากจะต้องอยู่อย่างหวาดผวาในบ้านของตัวเอง หรือจะเป็นอย่างไร หากไม่มีการดำเนินการใด ๆ เกิดขึ้นหลังจากถูกคุกคามหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ จะทำเช่นไรหากว่าผู้กระทำความผิดที่มีอำนาจมากกว่ากำลังจะลอยนวล  รวมทั้งตระหนักว่าจะทำเช่นไรหากไม่มีคนฟังหรือเชื่อเหตุการณ์ที่ตนถูกละเมิดทางเพศ 

ความเท่าเทียมทางเพศนำมาสู่ประโยชน์ต่าง ๆ ที่ผู้ชายควรตระหนักรู้ เช่น ความเท่าเทียมกันของชายหญิงในกระบวนการตัดสินใจ การจ่ายค่าแรงที่เท่าเทียมโดยไม่เลือกปฏิบัติเรื่องเพศสภาพ โอกาสทางเศรษฐกิจที่เท่ากันของชายหญิง และความรับผิดชอบร่วมกันของบิดามารดาในการเลี้ยงดูบุตร สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสิทธิประโยชน์มหาศาลที่ผู้ชายจะได้รับ ไม่ใช่ได้เป็นเพียงพ่อที่ผูกพันทางสายเลือดกับลูก
 
ข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านแบบสำรวจเมี่อ พ.ศ. 2560 (โดยมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล) ที่ระบุว่า ร้อยละ 40 ของสามีของผู้หญิงในแบบสำรวจมองว่าภรรยาเป็นเพียงทรัพย์สิน ข้าพเจ้าหวังว่าทัศนคติดังกล่าวกำลังจะเปลี่ยนไป และสมควรได้รับการแก้ไขอย่างยิ่ง ทัศนคติดังกล่าวสอดรับกับเหตุผลที่ว่า ความรุนแรงทางเพศไม่ได้เริ่มกำเนิดมาจากอากาศธาตุ หากแต่ว่าเป็นผลลัพธ์ของทัศนคติที่เชื่อเรื่องความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ ซึ่งโดยสภาพเป็นเรื่องที่ไม่เป็นธรรมและไม่เท่าเทียมอยู่แล้ว

ข้าพเจ้าเองมีลูกสาวสองคน และมีประสบการณ์ตรงจากประโยชน์วันลาหยุดของบิดาเพื่อดูแลบุตร ส่งผลให้เข้าใจลูกสาวได้ดี แต่หากไม่ได้วันลาหยุดเช่นนั้น ก็ยังมีปัจจัยมากมายที่จะช่วยให้คุณพ่ออย่างข้าพเจ้าเข้าใจลูกสาวได้ เช่น ข้อเท็จจริง ความรู้สึก และประสบการณ์
 
ความเท่าเทียมกันทางเพศจะทำให้เราบริบูรณ์ในทุกมิติเท่าที่จะเป็นไปได้  ดังนั้น ข้อ 5 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal) จึงได้ชูประเด็นดังกล่าวขึ้น และเหนือสิ่งอื่นใด เราทุกคนควรช่วยกันทำให้เกิดความเท่าเทียมกันทางเพศขึ้นจริงเพราะเป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะต้องไม่มีความรุนแรงและความไม่เท่าเทียมอีกต่อไป อย่างน้อยที่สุด ผู้ชายต้องมีส่วนร่วมและต่อสู้เพื่อลูกสาว เพื่อนสตรีที่ทำงานและเพื่อน ๆ ของเรา 

 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net