ภิกษุณี 'เถรวาท' ไทยกับการเสริมพลังผู้หญิง

ในงาน "สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เสวนาครั้งที่ 5" การนำเสนอของคัคณางค์ ยาวะประภาษชี้ ให้เห็นว่าการเกิดขึ้นของภิกษุณีสาย“เถรวาท”ในสังคมไทยได้เสริมสร้างพลังให้ฆราวาสหญิงช่วยเปลี่ยนแปลงแบบแผนแนวคิดเรื่องเพศภาวะในสังคมไทยให้เป็นบวกกับผู้หญิงมากขึ้น  และมุมมองที่ก้าวข้ามเรื่องเพศของคณะภิกษุณีนี้เองทำให้ได้รับการสนับสนุนจากสังคมส่วนหนึ่งและช่วยเสริมพลังให้กับผู้หญิง

ที่มาของภาพ: Irasec

การเสวนาทางวิชาการ "สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เสวนาครั้งที่ 5" ที่คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ท่าพระจันทร์) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. ที่ผ่านมา หนึ่งในหัวข้อที่น่าสนใจ คือการนำเสนอของ ดร.คัคณางค์ ยาวะประภาษ อาจารย์คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เธอยกประเด็นการเกิดขึ้นของภิกษุณีในสังคมไทยด้วยหัวข้อ "Redefining Thai Tradition: Thai Bhikkhuni (female Buddhist monks) and Women Empowerment"

ภายหลังการนำเสนอ คัคณางค์ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับประเด็นที่นำเสนอเรื่องภิกษุณีสาย “เถรวาท” กับสังคมไทยว่า “เน้นศึกษาผลทางสังคมของภิกษุณี (social impacts of bhikkhuni) โดยไม่ได้เป็นการประเมินเรื่องความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมในการบวชภิกษุณี ข้อมูลที่ใช้ในการนำเสนอมาจากการเก็บข้อมูลภาคสนามที่วัตรทรงธรรมกัลยาณี ภิกษุณีอาราม และนิโรธาราม เมื่อครั้งเก็บข้อมูลเพื่อทำวิจัยในการเรียนปริญญาเอกเป็นหลัก

การเกิดขึ้นของภิกษุณีสาย “เถรวาท” ในสังคมไทย ซึ่งยังเป็นที่ถกเถียงกันถึงความชอบธรรมหรือไม่ชอบธรรมในการบวชอยู่นั้น ได้เสริมสร้างพลัง (empower) ให้กับฆราวาสหญิงและหญิงที่มาบวชเป็นสามเณรีในโครงการที่ทางสำนักภิกษุณีจัดให้ รวมทั้งช่วยเปลี่ยนแปลงแบบแผนแนวคิดเรื่องเพศภาวะ (gender ideologies) ในสังคมไทยให้เป็นบวกกับผู้หญิงมากขึ้น”

ทั้งนี้ คัคณางค์ ระบุอีกว่า “มิได้หมายความว่าทางภิกษุณีเองมีแรงขับหรือเป้าหมายทางสตรีนิยม เช่น ความเท่าเทียมกันทางเพศ ภิกษุณีต่างย้ำว่า เพศไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญและเป็นสิ่งที่ต้องก้าวข้ามและอาจกล่าวได้ว่ามุมมองแบบนี้เองเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ภิกษุณีได้รับเสียงสนับสนุนจากสังคมส่วนหนึ่งในฐานะภิกษุณี จนสามารถดำรงตนและสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางบวกต่อแบบแผนแนวคิดเรื่องเพศภาวะ ตลอดจนเสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิงได้”

สำหรับการเสวนา "สังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เสวนาครั้งที่ 5" ครั้งนี้ เป็นความร่วมมือกันระหว่าง คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ Institut de recherche sur l'asie du sud-est contemporaine (Irasec) โดยประเด็นที่เสวนานั้นเน้นไปที่ประเด็นสตรีศึกษา (รายละเอียดเพิ่มเติมที่ socant.tu.ac.th)

 

หมายเหตุ: ประชาไทปรับปรุงพาดหัวและเนื้อหาการนำเสนอเมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท