Skip to main content
sharethis

เสวนา ‘สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน ดนตรีพั้งค์ ขบถและการรื้อสร้างความหมายของสังคม’ คุยเรื่องความเป็นมาของพังก์ ในฐานะที่เป็นทั้งดนตรีและวัฒนธรรมแห่งการต่อต้าน ขณะที่ในไทยไม่มีโอกาสได้เติบโตเหตุบริบททางสังคมไม่เอื้อ  แม้ทุกวันนี้รูปลักษณ์ของพังก์จะหายไป วัยรุ่นไม่สนใจ แต่อุดมการณ์การต่อต้านจะยังอยู่เสมอ


จากซ้ายไปขวา ประกิต กอบกิจวัฒนา, อธิป จิตตฤกษ์, ยุทธจักร ดำสุวรรณ (ผู้ดำเนินรายการ)

 

27 พ.ย. 2561 งานแสดงคอนเสิร์ตเพลงพังก์ ‘BNK 44 สี่ปีกินแต่คุกกี้เสี่ยงทาย’ ณ สวนครูองุ่น มาลิก ทองหล่อซอย 3  เมื่อวันที่ 25 พ.ย. ที่ผ่านมา มีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ ‘สุนทรียศาสตร์แห่งการต่อต้าน ดนตรีพั้งค์ ขบถและการรื้อสร้างความหมายของสังคม’ ด้วย โดยมี ประกิต กอบกิจวัฒนา จากเพจ อยู่เมืองดัดจริต ชีวิตต้องป๊อบ และ อธิป จิตตฤกษ์ นักวิชาการสายสังคมศาสตร์ด้านดนตรี ร่วมเสวนา

 

พังก์ไม่ใช่แค่รูปลักษณ์ แต่คือเครื่องมือ-วัฒนธรรมของชนชั้นล่างใช้ต่อต้านระบบ

 

ประกิต กล่าวว่า ดนตรีพังก์เป็นเครื่องมือสื่อสารประเภทหนึ่งที่ถือกำเนิดมาจากสภาพสังคม เมื่อกล่าวถึงงานศิลปะ เราต้องดูบริบทเศรษฐกิจ สังคม การเมืองที่อยู่รอบๆ นั้นด้วย และพังก์เป็นเครื่องมือสื่อสารของชนชั้นล่าง

ประกิต ยกตัวอย่างในประเทศอังกฤษซึ่งเขามีโอกาสได้ไปอยู่มาหลายปี ว่า ขณะนั้นเป็นยุคปลายมาร์กาเรต แทตเชอร์ ซึ่งพรรคที่บริหารประเทศมายาวนานคือพรรคอนุรักษ์นิยม ส่วนพรรคกรรมกรเป็นฝ่ายค้านตลอดกาล ยุคนั้นไปเศรษฐกิจเพิ่งฟื้นตัว ช่วง 9 ปีที่มาร์กาเรตอยู่ เธอบริหารประเทศอย่างก้าวร้าว แปรรูปธุรกิจรัฐ เช่น การไฟฟ้า การประปา ทำให้เกิดการบูมในตลาดหลักทรัพย์ เศรษฐกิจเติบโตมาก แต่มุมนึงก็ทำให้คนตกงานจำนวนมาก สหภาพแรงงานที่เคยเข้มแข็งก็ถูกมาร์กาเรตจัดการ จึงเกิดชนชั้นล่างมหาศาล มาร์กาเรตทำให้ครอบครัวของอังกฤษล่มสลายจำนวนมาก คนระดับล่างตกงาน ไม่ได้รับการศึกษา ทั้งที่คนชนชั้นล่างเป็นคนขับเคลื่อนสังคม พังก์จึงเกิดในสภาพสังคมแบบนี้

ประกิต ชี้ว่า พังก์เป็นเครื่องมือของคนที่ต้องการต่อต้านระบบ ต่อต้านขนบดั้งเดิม วัฒนธรรมของทุนขนาดใหญ่นั้นกดขี่อย่างมาก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เกิดความแตกแยก สิ่งเหล่านี้ในฐานะประชาชนที่เป็นคนชั้นล่าง ไม่มีเครื่องมือสื่อสาร พังก์เป็นเครื่องมือสื่อสารอันนึงที่ต้องการสื่อสารไปถึงผู้ปกครอง

“พังก์ไม่ใช่แค่สไตล์ ยกตัวอย่าง  เลียวนาร์ด โคเฮน ไม่เคยแต่งตัวเป็นพังก์ เขาบอกเลยว่า กูไม่ชอบใส่ยีนส์ ไม่ชอบใส่เสื้อหนัง พ่อเป็นนายแบงค์สอนกูใส่แต่สูท แต่ใครไปฟังเพลงเขาก็จะรู้ว่าโคตรพังก์ และเป็นคนมีอิทธิพลต่อพังก์มากๆ เรื่องการเขียนเพลง พังก์เลยหาบริบทมาจับได้ยาก แต่ส่วนใหญ่คนจะจับรูปลักษณ์ ต้องมีหนาม ต้องเสื้อขาด อันนี้เป็นเสี้ยวเดียว” ประกิต กล่าว

อธิป กล่าวว่า พังก์ เป็นคำที่มีในภาษาอังกฤษมานาน ปรากฏอยู่ในวรรณกรรมนักสืบในศตวรรษที่ 20 แปลไทยง่ายๆ ว่า ‘เด็กเวร’ แต่พังก์ถูกโยงมาเป็นดนตรีคือ พังก์ร็อก ซึ่งเกิดครั้งแรกประมาณทศวรรษ 1970 ซึ่งในนิวยอร์กแววดวงศิลปะมีนิตยสาารพังก์ มีวงราโมนส์ (The Ramones) แต่นั้นก็ยังไม่ใช่พังก์ที่เรารู้จัก พังก์ที่โด่งดังมากคือพังก์จากฝั่งอังกฤษ เช่น วงเซ็กส์พิสทอลส์ (Sex Pistols)

อธิป กล่าวว่า ความโดดเด่นของพังก์ที่สำคัญคือทุกคนสามารถเล่นดนตรีได้ รู้สามคอร์ดก็เป็นนักดนตรีได้ มีความเป็นมือสมัครเล่น ไม่ต้องเป๊ะ ไม่ต้องเข้าห้องอัดในสตูดิโอใหญ่ๆ ดีๆ ความต่างของพังก์กับดนตรีทดลอง คือ พังก์ตั้งใจจะเล่นให้ดีแต่ออกมาไม่ดี แต่ดนตรีทดลองตั้งใจให้มั่วแต่มันดี หรือบางครั้งลงไปถึงเรื่องการมิกซ์เสียง การมิกซ์เสียงของพังก์จะมิกซ์ให้ทุกอย่างเท่ากัน กีตาร์โซโล่ก็จะไม่ได้เด่นออก หรือพูดได้ว่าเป็นการพยายามทำดนตรีก้าวหน้าในแบบที่คนไม่มีการศึกษาทางดนตรี

“ความเป็นพังก์ที่พิเศษกว่าดนตรีอื่น คือมีสปิริตในการปฏิเสธทุกอย่าง อยากเปรียบเทียบ เช่น เพลง Imagine ของ จอห์น เลนนอน ยังมีจินตนาการถึงโลกที่ดีกว่า แต่เมื่อเทียบกับเพลง God Save the Queen ของเซ็กส์พิสทอลส์ จะเห็นว่าพังก์คือโลกมันจะฉิบหายแล้ว หากฟังในทุกวันนี้อาจจะปกติมาก แต่ในตอนนั้นไม่ใครพูดแบบนี้ ดนตรีพังก์ยืนยันว่าโลกไม่มีอนาคตและจะบอกแบบนั้นในเพลง ดังนั้นคนเข้ามาทำอะไรก็ได้ ยุคแรกของดนตรีพังก์คือใครอยากมาทำอะไรบ้าๆ บอๆ ก็ได้หมด” อธิป กล่าว

 

พังก์และการต่อต้านที่ไม่มีวันจบ

 

ประกิต กล่าวว่า ถ้าเรามองว่าองค์ประกอบทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ศาสนา วัฒนธรรม ทุกอย่างล้วนแต่เป็นธุรกิจ ถูกดำเนินการโดยบรรษัทขนาดใหญ่ หรือพูดง่ายๆ คือทุนนิยม การต่อต้านก็ไม่มีวันจบ มันจะเกิดขึ้นแบบนี้ต่อเนื่อง

“ยกตัวอย่างเพลงประเทศกูมี ผลสุดท้ายจะเรียกว่าแร็ปหรืออะไรก็ดีในแง่รูปแบบเพลง แต่คุณจะเห็นเนื้อหาที่ต่อต้านสิ่งที่สังคมไทยเผชิญอยู่ จะเรียกว่าพังก์ก็ได้ แร็พเป็นแค่รูปลักษณ์ทางดนตรี แต่เนื้อหาเป็นเรื่องการต่อต้าน” ประกิต กล่าว

ประกิต ชี้ว่า ไม่ใช่แค่เพลง แต่ความเป็นพังก์อยู่ในทุกแขนงของศิลปะได้ อย่างงานศิลปะยุคดาด้า ก็เกิดมาเพราะต้องการต่อต้านลัทธิทางศิลปะที่ให้คุณค่าแก่ความงามอย่างภาพโมนาลิซ่า ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นการวาดผู้หญิงที่มีฝีมือมากที่สุดในโลก แต่ในอีกหลายร้อยปีต่อมาคุณค่าแบบนี้ก็มีคนรุ่นใหม่ที่เห็นว่า มันเป็นคุณค่าแบบฉาบฉวย ต้องการทำลายคุณค่าแบบนี้ อย่าง มาร์แซล ดูชองป์ (Marcel Duchamp) เขียนภาพโมนาลิซ่าแล้วเติมหนวด เป็นการต่อต้าน ดังนั้นพังก์คือการทำลายขนบดั้งเดิมตั้งแต่วิธีคิด

“การต่อต้านเกิดขึ้นได้ลอยๆ มันเกิดโดยธรรมชาติ เราต่อต้านพ่อแม่ ครู แต่ถ้ามองถึงการต่อต้านที่ใหญ่กว่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเพลง หรือศิลปะก็มีหน้าที่ขับเคลื่อนต่อต้านระบบโครงสร้างของสังคมนี้ แม้แต่วินเซนต์ แวนโก๊ะ ก็จัดว่าเป็นคนต่อต้านศิลปะในยุคนั้น ในยุคที่คนเขียนรูปพระเยซูกันมา 2,000-3,000 ปี แวนโก๊ะบอกว่าไม่เขียน จะเขียนอีกแนว นี่ก็เป็นการต่อต้านเหมือนกัน ดังนั้นเราไม่รู้จะเกิดอะไรในอนาคต และเราจะได้ต่อต้านอะไรกันอีก” ประกิต กล่าว

 

พังก์คือการต่อต้านเฉยๆ หรือการต่อต้านทางการเมือง

 

อธิป อธิบายว่า ตอนแรกฝ่ายซ้ายก็นึกว่าพังก์คือพวก แต่พังก์ก็บอกว่ากูไม่ใช่พวกมึง ทุกวันนี้ก็มีทั้งพังก์ซ้าย พังก์ขวา เควียร์พังก์ก็มี หรือไม่เอาอะไรเลย ฝ่ายการเมืองจึงเริ่มเข้าใจว่าพวกนี้ไม่ได้มีอุดมการณ์อะไรมาก เป็นแค่พวกต่อต้านเฉยๆ และพังก์ไม่ได้ต่อสู้เพื่อสังคมที่ดีกว่า แต่เราก็จะเห็นอยู่บ้างว่าทุกฝ่ายที่อยากสร้างเพลงการเมืองก็เอาจะพังก์ไปใส่

ประกิต กลับเห็นต่างออกไปว่า พังก์นั้นเป็นการเมืองโดยตัวเองอยู่แล้ว เพลงหนีโครงสร้างของสังคมไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเพลงหรือศิลปะนั้นต่างยืนอยู่บนฐานการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ในฐานะที่เป็นเครื่องมือของชนชั้นล่างที่ต้องการส่งเสียง  จึงทำให้มันเป็นการเมืองด้วยตัวมันเอง ที่ต้องการทำลายขนบ โครงสร้างใหญ่ เพราะตัวคนเล่นก็เป็นผลผลิตจากสภาพสังคมที่แร้นแค้น

ประกิต กล่าวต่อว่า ในอเมริกาหลายคนยังเป็นคาทอลิกที่เคร่งมาก การเกิดของพังก์ทำลายคุณค่าอเมริกันแบบดั้งเดิม ยิ่งในอังกฤษ โดยตัวมันเองก็ต้องการต่อต้านโครงสร้างที่ทำลายชีวิตผู้คนในสังคม แต่ด้วยหน้าที่ของเพลงก็ไม่ได้เขียนเรื่องการเมืองทุกวัน ก็คละกันไป

“ถ้าให้ใกล้ตัวหน่อย คนในสลัมคลองเตยเล่นเพลงอะไร มันน่าสนใจว่าเขาจะฟังเพลงเหมือนที่เราฟังไหม เขามีวัฒนธรรมการฟังเพลงแบบไหน ผมเคยเจอน้องแร็ปเปอร์คนหนึ่งที่มาจากคลองเตย คือน้องแม่งโคตรเจ๋งเลย” ประกิต กล่าว

 

พังก์ในอาเซียน ไทยไม่มีบริบทให้พังก์ได้เติบโต

 

อธิป กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเดียวในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เป็นประชาธิปไตยก่อนที่อื่น แต่พังก์ก็ไม่โต คิดว่าเพราะมันคือบริบทปี 1976 วงเซ็กส์พิสทอลส์ดัง ขณะที่ไทยเกิด 6 ตุลา ฝ่ายขวายิ่งใหญ่มาก กว่าทุกอย่างจะเป็นปกติ กระแสพังก์ก็หายไปแล้ว คนที่ออกจากป่าเขาก็พยายามเอาเพลงแนวเพื่อชีวิตมาเล่นต่อ หรือในช่วงต่อมา ประเทศที่พลาดคลื่นลูกแรกของพังก์ตอนยุค 70 จะมีช่วงอัลเทอร์เนทีฟต้นยุค 90 ในไทยตอนนั้นก็มีความพยายามรับพังก์มาจากวงที่หนักๆ ของอเมริกา เช่น กรีนเดย์ (Green Day) แต่เพลงกรันจ์ของเมืองไทยก็สดใสกว่าอเมริกามาก

ประกิต กล่าวว่า ไทยรับอิทธิพลมาจากอเมริกามากกว่า ขณะที่กระแสพังก์ดังจากอังกฤษ ย้อนไปยุค 6 ตุลา เพลงในยุคนั้นของไทยส่วนใหญ่เป็นเพลงจากอเมริกา เช่น เพลงร็อกแอนด์โรล หรือเพลงโฟล์ค ซึ่งกลายเป็นแนวเพลงเพื่อชีวิต ที่มีอิทธพลมาจากบ็อบ ดีแลน พีท ซีเกอร์ แม้ฝั่งอเมริกาจะมีวงราโมนส์ แต่ก็เป็นพังก์ที่ไม่ได้เข้มข้นมาก หรือ เดอะเวลเวตอันเดอร์กราวด์ (velvet underground) ก็ไม่ใช่เมนสตรีมที่ไปจุดกระแส แล้วหลัง 6 ตุลา คนออกจากป่า ก็เป็นช่วงบรรยากาศของการ “มาปรองดองคืนดีกันเถอะ” จึงไม่เกิดบริบทให้เกิดพังก์ ดังนั้นพังก์ไม่ได้มีอะไรเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องมากับบริบทสังคมไทยมากเท่าที่ควร แต่การเกิดพังก์ในอินโดนิเซียหรือพม่า ยอมรับว่าไม่มีความรู้มากพอ แต่ถ้ามันจะเกิดมันต้องมีกระแสทางวัฒนธรรมบางอย่างจุดประกาย

 

สื่อที่จุดให้พังก์เป็นที่รู้จัก และสร้างความขบถเกินจริงเพื่อควบคุมพังก์

 

อธิป กล่าวว่า ในอังกฤษจุดที่ทำให้คนรู้จักในวงกว้างคือไปออกรายการแล้วไปพูดคำว่า fuck หรือ cunt ซึ่งวัฒนธรรมอังกฤษนั้นจะสุภาพมาก ไม่มีการพูดคำหยาบ วันรุ่งขึ้นหนังสือพิมพ์ก็ลง แล้วทุกคนก็สนใจ นักข่าวก็แต่งข่าวว่าเด็กพวกนี้ไปทำนู่นนี่ซึ่งหลายเรื่องไม่จริง สร้างความขบถเกินจริง ซึ่งส่งผลไม่ดีเท่าไหร่ต่อพังก์

ประกิตกล่าวว่า มีคำพูดหนึ่งที่ชอบมากคือ “พอคุณแก่ตัวไปแล้วคุณจะเป็นฝ่ายขวา” อาจจะเพราะคนแก่เริ่มไม่อยากปรับตัวกับอะไรใหม่ๆ แล้ว เขาอยากอยู่ในสังคมที่เขาคอนโทรลทุกอย่างได้ สังเกตได้ว่าในเมืองไทย ในสื่อต่างๆ ถ้ามีประเด็นอะไรแหลมขึ้นมา หรือใช้คำหยาบคาย ก็โดนควบคุม สื่อที่อยู่บนโครงสร้างนี้ถูกควบคุมด้วยค่านิยมแบบอนุรักษ์นิยม ต้องควบคุมจัดการสิ่งที่ตัวเองไม่รู้จักดี กดทับมันเอาไว้ เขียนให้พวกนี้ถ่อย เถื่อน เกินจริง

ประกิต ยกตัวอย่าง ในขณะเดียวกัน วิเวียน เวสต์วูด เป็นตัวอย่างที่ดีของคนที่แก่แล้วก็ไม่จำเป็นต้องขวา วิเวียนเป็นเส้นที่คู่ขนานกับดนตรีหรือวัฒนธรรมพังก์ เธอทำให้วัฒนธรรมการแต่งกายของพังก์ดังระเบิดไปทั้งโลก ส่วนสามีคนที่สองของเธอ มัลคอม แมคลาเลน ผู้จัดการวง เซ็กส์พิสทอลส์ ก็เป็นคนผลักดันให้อุตสาหกรรมดนตรีพังก์เติบโต ปัจจุบันวิเวียนอายุเกือบ 80 ปี แต่ยังคงเป็นพังก์และเป็นนักเคลื่อนไหว ถ้าย้อนไปดูชีวิตของวิเวียนก็จะพบว่าเธอมาจากชนชั้นล่างที่ไม่สามารถไปเรียนแฟชั่นดีไซน์ได้เพราะไม่มีเงิน ครอบครัวยากจน ชีวิตแบบนี้สามารถสร้างคนให้เป็นพังก์ ให้คนต่อต้าน และผลิตคนแบบนี้ออกมาสู่สังคมได้ตลอดเวลา

 

พังก์ในสังคมไทย แม้รูปลักษณ์พังก์อาจหายไป แต่การต่อต้านจะคงอยู่เสมอ

 

อธิป กล่าวว่า ดนตรีแบบนี้ไปได้กับทุกสังคม อย่างในสวีเดนซึ่งเป็นสังคมรัฐสวัสดิการ คุณภาพชีวิตคนดีมาก ก็ยังมีพังก์ ทุกวันนี้บริบทโลก พังก์ตกกระแสไปแล้ว ในดนตรีประท้วง มันก็ต้องเป็นฮิปฮอปแทน เด็กสมัยนี้ก็โตมากับวัฒนธรรมฮิปฮอปมากกว่า เพลงที่ประท้วงต่อต้านก็ต้องเป็นเพลงที่วัยรุนฟังได้ เขาไม่ได้ฟังเพลงร็อกแล้ว

ขณะที่ ประกิต กล่าวว่า ต้องแบ่งก่อนว่า คำว่าพังก์ ในความหมายของวัฒนธรรมการต่อต้านนั้นไม่มีวันตาย ตราบใดที่สังคมยังกดขี่และอยุติธรรม พังก์เกิดได้เสมอ ในศิลปะแขนงใดก็ตาม แต่ถ้าจับแค่รูปลักษณ์ พังก์ก็อาจจะตายได้ ที่พังก์หรือร็อกตกต่ำไปก็ด้วยตัวของมันเอง ผลสุดท้ายมันไม่มีอะไรไปเชื่อมโยงกับยุคสมัย แต่ถ้าเราดูที่แก่นของการต่อต้าน รูปลักษณ์มันก็เปลี่ยนรูปแบบไปตลอดเวลา ไม่แน่อีกร้อยปีข้างหน้าคนอาจหยิบพังก์กลับมาทำใหม่ สิ่งพวกนี้อยู่ในกระแสการเปลี่ยนแปลงเสมอ  วันนี้เด็กรุ่นใหม่เขาเติบโตมากับอีกวัฒนธรรม แต่ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่ต่อต้าน แต่เราอาจไปเจอพังก์ในรูปแบบใหม่ๆ ก็ได้ ไม่มีใครรู้

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net