อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์: “ประเทศกูมี” กับ “เมืองไทยนี้ดี” 

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ทำไม เพลง "ประเทศกูมี ” จึงได้รับการฟังและพูดถึงอย่างกว้างขวางและเข้มข้น แม้ว่าวันนี้การพูดถึงจะลดลง แต่การเปิด “ประเด็น” ในคราวนี้ไม่ใช่เพียงอารมณ์สนุกหรือสะใจของผู้คนที่จะลบเลือนหายไปเท่านั้น หากแต่ได้สะท้อนความเปลี่ยนแปลงในระบบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของสังคมไทยเลยทีเดียว

หากเราคิดถึงการครอบงำทางอุดมการณ์หรืออำนาจของวาทกรรม (Gramsci ,Foucault) ก็อาจจะมองว่าการครอบงำหรือการควบคุมทางจิตวิญญานนั้นดำเนินไปได้อย่างหนักแน่นและทุกมิติ ซึ่งจะทำให้เรามองไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงภายในกรอบความคิดที่ครอบงำหรือวาทกรรมที่ทำให้เราเป็นผู้อยู่ข้างล่าง (Subjugated) และจะนำเราไปสู่การคิดที่อยู่ในระดับว่าส่วนที่ครอบงำเราและกลืนกินเอาเราเข้าไปอยู่ด้วยนั้นมีความเข้มแข็งเหลือเกินจนทำอะไรไม่ค่อยได้

 หากคิดในระนาบดังกล่าว เราก็ไม่ต้องทำอะไร เพราะทำอะไรไปก็ไม่มีผลต่อความเปลี่ยนแปลงเลย 

เรย์มอนด์ วิลเลี่ยม(Raymond Henry William) ได้ช่วยให้มองเห็นความเปลี่ยนแปลงภายในสิ่งที่ได้ครอบงำเรา ด้วยความคิดประเด็นโครงสร้างความรู้สึก (Structure of Felling) จากการศึกษาความเปลี่ยนแปลงอารมณ์ความรู้สึกในละครบันเทิงกับวรรณกรรมและพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงอยู่ภายในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่กดทับและครอบงำอยู่

หากพิจารณาการนำเสนออารมณ์ความรู้สึกในเพลง "ประเทศกูมี” ก็จะพบว่าการนำเสนอเน้นอยู่ในประเด็นที่ว่าอะไรที่เลวร้ายนั้น ประเทศไทยของกูมีหมดเลย หรือกล่าวง่ายๆ ก็คือ ประเทศไทยของเรานี้มีสิ่งที่ไม่ดีมากมาย ประเด็นนี้เป็นการนำเสนอความคิดที่ได้กระแทกเข้ากับแกนกลางของความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่รัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันได้แก่ ความคิดที่ว่า “เมืองไทยนี้ดี” 

กรอบโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกที่ว่า “เมืองไทยนี้ดี” เป็นเพดานความรู้สึกนึกคิดหลักในการสร้างความเฉพาะให้แก่สังคมไทยและสามารถผูกพันพลังทางสังคมทั้งหมดให้สยบยอมกับสิ่งที่กำหนดทำให้ “เมืองไทยนี้ดี”  เราจึงต้องชื่นชมสังคมไทย เพราะไม่ว่าอย่างไร “สังคมไทยนี้ดี้ดี "จึงทำให้เรายังคงอยู่ในสังคมนี้ได้อย่างมี “ความสุข” ตลอดมา

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม ได้ทำให้เกิดการเคลื่อนย้าย (mobilities) ทางสังคมการเมืองในหลายมิติ ประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้คนที่กำลังเคลื่อนไหว (on the move) ได้ทำให้เกิดคำถามและคำถามนั้นมีมากมายขึ้นจนล้นออกนอกกรอบเพดานความคิด "เมิองไทยนี้ดี”  แน่นอนว่าหากมีเพียงหนึ่งหรือสองคำถาม/ประสพการณ์ก็คงไม่ตกผลีกได้ชัดเจน หากแต่เมื่อมีเหตุการณ์มากจนเกินพลังของ "เมืองไทยนี้ดี” จะอธิบายหรือบอกว่าเป็นข้อยกเว้นของสังคมได้  "ประเทศกูมี” จึงเกิดขึ้น

"ประเทศกูมี” จึงเป็นความเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกของคนในสังคมไทยจำนวนมากที่เริ่มหลุดออกจากการครอบงำหรือการตกเป็นผู้อยู่ภายใต้ความคิด และ "ท้าทาย” กรอบความคิดหลักอย่างสำคัญ คู่ความขัดแย้งในโครงสร้างอารมณ์ความรู้นี้นี้ก็คือ "ประเทศกูมี” กับ "เมืองไทยนี้ดี” 
หากอ่านการเขียนกระทู้ที่วิจารณ์/ด่าทอเพลง "ประเทศกูมี” ก็จะพบว่าแกนกลางของคำผรุสวาททั้งหมด (เท่าที่ผู้เขียนอ่าน) อยู่ในการถกเถียงและเสนอว่า "เมืองไทยนี้ดี "เช่น ทำไมไม่พูดแต่สิ่งดีงามที่มีอยู่มากมาย เป็นต้น เพลงที่แต่งออกมาแก้ก็เป็นไปเพื่อจรรโลง "เมืองไทยนี้ดี” อย่างชัดเจน น่าสงสารที่ทำได้ไม่เลวแต่ไม่ประสบผลสำเร็จใดๆ เพราะ "เชย”

โครงสร้างอารมณ์ความรู้สึกของสังคมไทยอยู่ในจังหวะของความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง เพราะ "ประเทศกูมี” เป็นความรู้สึกนึกคิดทีเปลี่ยนแปลงภายในกรอบความคิด "เมืองไทยนี้ดี” ซึ่งเป็นแกนกลาง/เพดานความคิด/วาทกรรม สำคัญที่ช่วยจรรโลงและถักทอความสัมพันธ์ทางอำนาจมายาวนาน ความเปลี่ยนแปลงนี้อยู่ในมิติของการอธิบายตัวตนคนไทยเชื่อมต่อกับสังคมการเมืองที่แวดล้อมอยู่ แต่ยังคงอยู่ในกรอบของการให้คุณค่าดีเลวของสังคมในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งอาจจะก้าวไปสู่การเสนอการเปลี่ยนอะไรที่มากกว่าการตัดสินให้คุณค่าความดี/ความเลว

หากยืนอยู่ในกรอบของ "ประเทศกูมี” ก็ต้องเป็นการสร้างการยอมรับว่า "เมืองไทยนี้ก็มีทั้งดีและเลว” ไม่มีสังคมใดเลิศเลอไร้ที่ติ แต่เราคนไทยต่างหากที่จะต้องช่วยกันผลักดันให้ดีขึ้นโดยทิ้ง/ขจัดสิ่งเลวๆออกไป แม้ว่าการสร้างการยอมรับในระดับนี้อาจจะไม่พึงพอใจมากนักสำหรับผู้ที่ปรารถนาให้สังคมไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว แต่ก็ถือได้ว่าเป็นก้าวที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย

สังคมไทยเดินไปข้างหน้าไม่ได้หากมองไม่เห็นว่าอะไรบ้างที่เป็นส่วนเลวของเรา และเรียนรู้ว่าจะก้าวข้ามไปได้อย่างไร “ประเทศกูมี” จึงเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ของสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท