Skip to main content
sharethis


ที่มาภาพประกอบ: Better Work Vietnam

แม้จะเคยมีบาดแผลทางประวัติศาสตร์จากสงคราม แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่า 'เวียดนาม' ได้กลายเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลก ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย และประมาณครึ่งหนึ่งของประชากร 92 ล้านคน อยู่ในวัยทำงาน การขยายตัวของประเทศนี้ดูเหมือนจะไร้ขีดจำกัด

การเปลี่ยนแปลงทางสังคมก็เริ่มตามมา ห้องสนทนาทางอินเทอร์เน็ต, เว็บไซต์ และบลอก (blog) กลายเป็นช่องทางสำหรับคนรุ่นใหม่ในการแลกเปลี่ยนและแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคม, เรื่องเพศ และอีกหนึ่งในความท้าทายนั่นก็คือประเด็น 'การล่วงละเมิดทางเพศ'

สังคมเวียดนามก็มีลักษณะ 'ชายเป็นใหญ่' เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ผู้หญิงมักตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทางเพศ แม้ตัวเลขการคุกคามทางเพศในที่ทำงานจะไม่สามารถหาสถิติได้ง่าย แต่จากการประเมินขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ในปี 2558 ที่ได้สัมภาษณ์คนทำงานระดับกลาง 150 คนในเวียดนาม พบว่าร้อยละ 17 ยอมรับว่าในสถานที่ทำงานของพวกเขามีการใช้เรื่องเพศ 'ตอบแทน' และ 'บังคับ' เพื่อผลประโยชน์ในการทำงาน

CARE ซึ่งเป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ดำเนินการเพื่อยุติความรุนแรงทางเพศ มีสำนักงานตั้งอยู่ในกรุงฮานอย ระบุว่าร้อยละ 78 ของเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานคือผู้หญิง โดยพวกเธอมักจะถูกกระทำเช่น ได้รับโทรศัพท์และข้อความลามกอนาจารจากผู้ชาย, ความคิดเห็นทางเพศที่ไม่พึงประสงค์, การจ้องมอง, การยื่นข้อเสนอในการมีเพศสัมพันธ์ และการสะกดรอยตาม เป็นต้น

ความพยายามยุติการคุกคามทางเพศในอุตสาหกรรมสิ่งทอ
 


ร้อยละ 80 ของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมสิ่งทอในเวียดนามเป็นผู้หญิง ที่มาภาพ: Better Work

ผู้ผลิตทั้งจากต่างประเทศและในประเทศกำลังลงทุนอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมสิ่งทอของเวียดนาม ซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่อันดับ 2 ที่ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา (อันดับ 1 คือจีน) โรงงานกว่า 6,000 แห่ง ในเวียดนามมีระบบการผลิตที่มีชื่อเสียงและมีพนักงานที่มีประสิทธิภาพดีเยี่ยม

แม้จะมีผู้หญิงทำงานในภาคอุตสาหกรรมนี้ประมาณ 3.5 ล้านคน แต่กลับมีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่อยู่ในตำแหน่งฝ่ายบริหาร จึงทำให้การร้องเรียนเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับพวกเธอ การศึกษาเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศในสถานที่ทำงานโดยกระทรวงแรงงานแรงงานและสังคมของเวียดนามและ ILO พบว่า 'ความกลัวต่อการตอบโต้' ได้ทำให้ผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อไม่กล้าร้องเรียนและ 'เลือกที่จะเงียบ' เมื่อถูกล่วงละเมิด

นอกจากนี้โครงการ 'Better Work เวียดนาม' ระบุว่าคนทำงานหญิงขาดความรู้เกี่ยวกับสิทธิและขั้นตอนที่พวกเธอต้องดำเนินการในระดับโรงงานเพื่อร้องเรียนเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ

นับตั้งแต่เริ่มโครงการ Better Work ในเวียดนามมาตั้งแต่ปี 2552 โครงการนี้ได้ครอบคลุมโรงงานมากกว่า 557 แห่ง (ที่ผลิตให้กว่า 61 แบรนด์) มีพนักงานรวม 777,000 คน ซึ่งมากกว่า 1 ใน 4 ของอุตสาหกรรมทั้งหมด (ร้อยละ 80 ของคนทำงานในภาคอุตสาหกรรมนี้เป็นผู้หญิง) แม้ว่าโรงงานส่วนใหญ่ที่ร่วมโครงการกับ Better Work จะมีขั้นตอนและนโยบายที่เกี่ยวกับการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศ แต่พบว่ามันมักอยู่ในกระดาษมากกว่า ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงมักไม่ทราบถึงการถูกคุกคามของพนักงานหญิง

คำจำกัดความทางกฎหมายที่คลุมเครือของการล่วงละเมิดทางเพศยิ่งทำให้เรื่องนี้ยุ่งยากขึ้น เพื่อให้นายจ้างมีโอกาสเข้าใจปัญหาได้ดีขึ้นและนำนโยบายด้านการปฏิบัติมาใช้ได้จริง ILO และหน่วยงานระหว่างประเทศอื่น ๆ กำลังผลักดันให้มีการนิยามที่ชัดเจนขึ้นภายในประมวลกฎหมายแรงงานของเวียดนาม

หลักเกณฑ์ในสถานที่ทำงาน
 

โปสเตอร์วิธีปฏิบัติเมื่อถูกคุกคามทางเพศสำหรับติดผนังในโรงงานของโครงการ Better Work

"Better Work เวียดนาม ร่วมกับ ILO และบริษัทคู่ค้า ได้จัดทำแนวทางในการป้องกันหารล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงานสำหรับนายจ้าง" Nguyen Hong Ha ผู้จัดการโครงการ Better Work เวียดนามกล่าว "สิ่งที่เราต้องการคือการทำงานร่วมกับโรงงานเพื่อทำให้นโยบายเหล่านี้เป็นจริง มีการดำเนินการจริง รวมทั้งช่วยให้พนักงานหญิงสามารถรับรู้ถึงสิทธิของตนและยกระดับเสียงของพวกเธอขึ้นมาได้ หากพวกเธอประสบกับการล่วงละเมิดทางเพศ"

เมื่อเร็วๆ นี้ Better Work พบว่ามีคดีเกี่ยวกับการล่วงละเมิดจำนวนหนึ่งที่เป็นการกระทำของบรรดาเพื่อนร่วมงานที่มีระดับสูงขึ้นไป - ปรากฏการณ์นี้พบได้ทั่วทั้งภาคอุตสาหกรรม

พนักงานหญิงหนึ่งคนงานกล่าวหาว่าหัวหน้าไลน์ผลิตของเธอได้สัมผัสตัวเธอและใช้คำพูดที่ไม่เหมาะสม เธอตัดสินใจที่จะร้องเรียนต่อแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) และสหภาพแรงงาน แต่เธอกลับถูกย้ายไปทำงานยังส่วนอื่นในขณะที่ผู้กระทำผิดยังคงอยู่ในตำแหน่งของเขาต่อไปและไม่มีการโทษ จากนั้นไม่นานนักก็มีพนักงานหญิงอีกคนตกเป็นเหยื่ออีก ด้วยความกลัวที่หัวหน้างานคนนี้จะปฏิเสธคำขอลาประจำปีและอาจจะรายงานกลั่นแกล้งว่าเธอทำงานได้ไม่ดีพอ เธอจึงไม่ได้ร้องเรียนต่อที่ทำงาน

ในอีกกรณีหนึ่งหัวหน้างานได้ใช้ประโยชน์จากการทำงานกะกลางคืนเพื่อสัมผัสตัวเพื่อนร่วมงานหญิงของเขา หลังจากการร้องเรียนของพนักงานหลายคนฝ่ายบริหารโรงงานจึงไล่หัวหน้างานคนนี้ออก

คลิปวีดีโอวิธีปฏิบัติเมื่อถูกคุกคามทางเพศสำหรับติดผนังในโรงงานของโครงการ Better Work

จากหลักฐานบางประการทำให้ Better Work ได้พัฒนาคลิปวีดีโอสั้น 3 นาที ที่ให้ข้อมูลที่เข้าใจได้ง่ายรวมทั้งโปสเตอร์สำหรับติดผนังในโรงงานและหลักสูตรการป้องกันการล่วงละเมิดทางเพศให้กับโรงงานที่เข้าร่วมโครงการ

หนึ่งในผู้เข้าร่วมหลักสูตรซึ่งเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของโรงงานแห่งหนึ่งในโฮจิมินห์กล่าวว่าหลักสูตรนี้สอนให้เขาปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมกับผู้คนรอบตัวเขา และเขาได้นำบทเรียนที่ได้ไปแบ่งปันกับเพื่อนร่วมงานคนอื่นๆ  พนักงานชายอีกคนในโรงงานของบริษัทเดียวกันนี้ที่มีพนักงานกว่า 1,028 คน ระบุว่าการฝึกอบรมช่วยให้เขาเข้าใจถึงขนาดของปัญหาได้ดียิ่งขึ้น

"ตอนนี้ผมรู้สึกดีขึ้นที่สามารถจัดการกับกรณีเหล่านี้ได้หากเกิดขึ้นในโรงงานของผม" เขากล่าว "ผมตระหนักว่าบางครั้งเรื่องตลกที่ไม่ได้ตั้งใจของเราอาจถือได้ว่าเป็นการล่วงละเมิดทางเพศ ตอนนี้ผมรู้มากขึ้นว่าพฤติกรรมที่เหมาะสมคืออะไร"

แต่ทั้งนี้ Better Work ระบุว่าโดยปกติแล้วผู้เข้าร่วมหลักสูตรมักจะเป็นผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ด้านทรัพยากรบุคคล โรงงานต่างๆ มักจะไม่ได้ส่งพนักงานส่วนใหญ่หรือผู้จัดการอาวุโสมาเข้าอบรม จึงยังมีช่องว่างในการที่จะเปลี่ยนทัศนคติเรื่องนี้ของทั้งโรงงานอยู่

Better Work ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และ International Finance Corporation ซึ่งเป็นสมาชิกของธนาคารโลก (World Bank) ได้เปิดตัวยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ผู้หญิง, ลดปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศ และลดช่องว่างรายได้ระหว่างเพศในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่มโลก ตั้งแต่เมื่อเดือน ม.ค. 2561 ที่ผ่านมา

ยุทธศาสตร์ใหม่นี้มีจุดมุ่งหมายที่ส่งเสริมการเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจของผู้หญิง ผ่านการริเริ่มในโรงงานอุตสาหกรรมสิ่งทอ เสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่ม โดยการเสริมสร้างนโยบายและการปฏิบัติจริงในระดับประเทศ ภูมิภาค จนถึงระดับนานาชาติ

 

ที่มาข้อมูล
Better Work Viet Nam challenges sexual harassment across the factory floor (14/11/2018)
Better Work Vietnam (เข้าถึงข้อมูลเมื่อ 30/11/2018)

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net