Skip to main content
sharethis

เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) เข้ายื่นจดหมายเปิดผนึกให้ กกต. หวังทำงานตามครรลองขององค์กรอิสระ เสนอ กกต. ผลักดันปลดล็อกทางการเมือง พิจารณาความสัมพันธ์ของรัฐบาล กับพรรคพลังประชารัฐ จี้รัฐบาล คสช. กลายสภาพเป็นรัฐบาลรักษาการณ์ หยุดใช้ ม.44 แทรกแซงการทำงาน กกต. และขอให้เชิญองค์กรระหว่างประเทศเข้าสังเกตุการณ์การเลือกตั้ง พร้อมมอบของขวัญสุดพิเศษในโอกาสใกล้ปีใหม่

ภาพจากเฟซบุ๊ก Manus Klaeovigkit 

30 พ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ เครือข่ายเครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) ประมาณ 20 คน นำโดยรองศาสตร์จารย์อนุสรณ์ อุณโณ คณบดีคณะสังวิทยาและมานุษยวิยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เข้ายื่นจดหมายผนึกจากเครือข่าย FFFE ถึง กกต.

โดยอนุสรณ์ ได้กล่าวกับตัวแทน กกต. ที่มารับยื่นจดหมายว่า วันนี้มาในนามของ เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ทำกิจกรรมมาโดยตลอดเช่นการจัดเสวนาทางวิชาการ ให้ความรู้กับสังคมเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้น และแนวทางในการทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นเป็นไปอย่างเสรี และเป็นธรรม

“แต่ที่ผ่านมาสิ่งหนึ่งที่เรารู้สึกเป็นห่วงและกังวลคือ สภาวะการณ์ของประเทศในตอนนี้ไม่เอื้ออำนวยให้เกิดการเลือกตั้งที่สรี และเป็นธรรมเท่าที่ควร และเราคิดว่ากลไกที่สำคัญที่จะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างเสรี และเป็นธรรมได้ คือ กกต. แต่ที่ผ่านมา กกต. เองก็เกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขซึ่งไม่เอื้ออำนวยให้มีการเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรม” อนุสรณ์ กล่าว

อนุสรณ์ กล่าวด้วยว่า การแสดงท่าทีของผู้มีอำนาจ ทั้งรัฐบาล และ คสช. ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวัล และกติกาบางเรื่องถูกบังคับใช้กับบางพรรคการเมือง ขณะที่อีกพรรคการเมืองกลับไม่ถูกบังคับใข้ จึงทำให้การเลือกตั้งที่เสรี และเป็นธรรมเป็นหมั่นมาตั้งแต่ต้น อย่างก็ตามที่มาวันนี้ไม่ได้ต้องการมากดดัน หรือคาดโทษ กกต. เพียงแต่ต้องการมาให้กำลังใจ เพราะการทำงานภายใต้ภาวะที่เป็นอยู่ของ กกต. ก็อยู่ภายใต้แรงกดดันอยู่แล้ว การจะทำให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นอย่างเสรี และเป็นธรรม ก็จำเป็นต้องได้รับแรงสนับสนุนจากภาคประชาชน

ทั้งนี้อนุสรณ์ และเครือข่าย FFFE ได้มอบของขวัญปีใหม่ให้กับ กกต. ประกอบด้วย 1.ร่ม โดยระบุหมายความว่า ต้องการให้ กกต. เป็นเหมือนร่ม ที่ประชาชนใช้กันฝน กันแดด ใช้พักพิงได้ เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาประชาชนต้องตากฝนตากแดด เพราะความไม่เป็นธรรม และหวังว่า กกต. จะทำงานโดยอิสระไม่ขึ้นอยู่กับใคร เป็นตัวของตัวเอง เป็นหลักให้ประชาชน 2.นาฬิกาแบบแขวน ซึ่งหยุดเวลาไว้ที่เที่ยงตรง เป็นสัญลักษณ์ที่คาดหวังถึงการทำงานอย่างตรงไปตรงมา 3.ผักบุ้งสด ซึ่งมีสรรพคุณบำรุงสายตา 4.หนังสือคู่มือหน้าที่ของมนุษย์ 5.ไฟฉาย เป็นสัญลักษณ์ถึงการทำงานอย่างโปร่งใส และ 6 แคลเชียม โดยหวังว่าจะเป็นธาตุที่ช่วยบำรุงกระดูกสันหลัง ซึ่งจะช่วยให้ กกต. มีความหนักแน่นกับการทำงานและดำรงตนได้สมฐานะองค์กรอิสระต่อไป

สำหรับเนื้อหาในจดหมายเปิดผนึกถึง กกต. มีรายละเอียดดังนี้

​นับตั้งแต่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ชุดปัจจุบัน เครือข่ายประชาชนที่ต้องการการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และมีผลในทางปฏิบัติ (FFFE) ได้เฝ้าติดตามการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ด้วยความห่วงใย เพราะเป็นการทำงานในบริบทที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งท้าทายการดำรงตนและปฏิบัติหน้าที่ตามครรลองขององค์กรอิสระเช่น กกต. โดยตรง

ความห่วงใยนั้นเกิดจากการแสดงท่าทีและทัศนคติบางประการทั้งจาก คสช. และ กกต. ที่ไม่เอื้อให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ได้แก่ การเลือกปฏิบัติในการห้ามปรามและตักเตือนพรรคการเมืองที่ทำกิจกรรมอันพึงกระทำได้ในสถานการณ์ก่อนการเลือกตั้งตามปกติ การติดตามและข่มขู่เจ้าของสถานที่จัดงานในการเยี่ยมเยียนประชาชนของพรรคการเมืองบางพรรคโดยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานความมั่นคง อีกทั้งมีการข่มขู่ว่าอาจมีการยุบพรรคทั้งที่ไม่มีหลักฐานการกระทำความผิด ในขณะที่พรรคการเมืองบางพรรคและบุคคลในรัฐบาลที่เป็นสมาชิกพรรคสามารถดำเนินการทุกอย่างที่เป็นไปในเชิงหาเสียงโดยปราศจากการท้วงติง และล่าสุดคือการแบ่งเขตการเลือกตั้งที่ถูกยับยั้งโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ซึ่งถือเป็นการแทรกแซงอำนาจ กกต. และนำมาซึ่งความไม่ไว้วางใจในสังคมว่าการแบ่งเขตอย่างผิดปกติดังกล่าวจะเป็นการเอื้อประโยชน์พรรคการเมืองใดหรือไม่ อีกทั้งยังเกิดคำถามว่าจะมีการแทรกแซงอื่นใดอีกที่จะสร้างความไม่เป็นธรรมในอนาคต เป็นต้น

การเลือกตั้งที่มีความหมายคือการเลือกตั้งที่ประชาชนมีเสรีภาพในการแสดงออกและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และเป็นการเลือกตั้งที่พรรคการเมืองสามารถแข่งขันอย่างเท่าเทียมภายใต้กติกาเดียวกัน ไม่มีการเอารัดเอาเปรียบโดยผู้ถืออำนาจที่อาจมีส่วนได้เสียกับการแข่งขันนั้น เราจึงขอเรียกร้องให้ กกต.

1. ผลักดันให้มีการปลดล็อคการเมืองและยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่เป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมืองและสื่อมวลชนโดยทันที เพื่อให้เกิดสภาพแวดล้อมในการเลือกตั้งที่มีการสื่อสารและรณรงค์ได้อย่างเสรี อันจะนำมาสู่การตัดสินใจเลือกอย่างมีคุณภาพ

2. พิจารณาตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างพรรคการเมืองกับรัฐบาล คสช. ที่ก่อให้เกิดความได้เปรียบและไม่เป็นธรรม เช่น การตั้งชื่อพรรคพ้องกับโครงการของรัฐบาล ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเกิดความสับสนได้

 3. เสนอให้รัฐบาล คสช. เปลี่ยนสถานะเป็นรัฐบาลรักษาการ และให้ คสช. ยุติการปฏิบัติหน้าที่และหยุดใช้เจ้าหน้าที่แทรกแซงกิจกรรมของพรรคการเมือง เพื่อให้การเลือกตั้งมีความเป็นธรรมและเป็นไปตามมารยาททางการเมือง

 4. เสนอให้หยุดการออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ด้วยอำนาจตามมาตรา 44 ในการแทรกแซงการดำเนินงานของ กกต.

 5. เชิญองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ สหประชาชาติ และสหภาพยุโรป มาร่วมสังเกตการณ์การเลือกตั้งอย่างเป็นทางการโดยทันที เพื่อให้องค์กรเหล่านี้สามารถเตรียมการการจัดการสังเกตการณ์เลือกตั้งได้ทันเวลา

 สุดท้ายเราขอส่งกำลังใจมายัง กกต. และเจ้าหน้าที่ทุกท่านให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระได้อย่างสมศักดิ์ศรี ปราศจากการแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ เพื่อให้การเลือกตั้งครั้งนี้มีความหมาย เป็นการเลือกตั้งที่เสรี เป็นธรรม และส่งผลดีต่อประเทศชาติต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net