Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ทำไมเห็นผู้หญิงออกมาพูดอะไรไม่ถูกใจ ถึงต้องขู่จะไป “ข่มขืน” เขา??

 

ทำไมใครพูดอะไรไม่เข้าหู ถึงต้องอยากจะฆ่าจะทุบตีเสียให้ตาย??

วันที่ 29 พฤษจิกายนของทุกปีได้รับการยกให้เป็นวันปกป้องนักสิทธิมนุษยชนหญิง ถามว่าทำไมต้องหญิง เพราะจากที่มีรายงานจากทั่วโลกมา นักปกป้องสิทธิที่เป็นเพศหญิง หรืออันที่จริงก็เพศใดๆ ก็ตามที่ไม่ใช่ชายแท้ มักมีอัตราการโดนกลั่นแกล้งทำร้ายหรือถูกฆ่าตายสูงกว่าผู้ชายมาก ซึ่งหากเราดูแค่ในไทย เอาแค่ตามคอมเมนต์ข่าวดังๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนก็ได้ ในคอมเมนต์ก็จะลากนักปกป้องสิทธิ์ลงมาต้มยำกันอย่างสนุกสนาน แต่ก็แปลกดีที่คนชอบใช้คำว่า “เอามันไปฆ่าซะให้หมด” หรือ“น่าข่มขืนซะให้เข็ด” กันรัวๆ ถ้าเป้าหมายที่กำลังด่ากันเป็นผู้หญิง แต่พอเขาเป็นผู้ชายกลับเงียบงิบกันเสียนั่น ด่าหยาบคายเสียๆ หายๆ น่ะใช่ แต่ไม่มีใครจะจับเขามาข่มขืนหรือตามไปฆ่าที่บ้านกันซักเท่าไหร่

หรือชาวโซเชียลจะเก่งแค่กับผู้หญิง ???

 

ในขณะเดียวกัน ประเทศไทยของเราก็ติดโผหนึ่งใน 38 ประเทศที่มีพฤติกรรมอันน่าละอายต่อผู้ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งรายงานดังกล่าวโดยปกติแล้วไม่ได้ดูเฉพาะการกระทำของรัฐต่อประชาชนเท่านั้น แต่รวมถึงการกระทำโดยประชาชนต่อประชาชนด้วย ซึ่งหนึ่งในสิ่งที่ทำให้ไทยเป็นประเทศกลุ่มดังกล่าวก็เพราะพฤติกรรมออนไลน์ของคนไทยที่ชอบเขียนด่ากราดตามใจเวลามีผู้แสดงจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนนี่ล่ะ ทั้งตัดต่อภาพ ใส่ชื่อใส่หน้าในเรื่องที่ไม่จริงหรือไม่เกี่ยวข้องเพื่อให้คนมาด่ากันให้มันยิ่งขึ้นไปอีก บางคนด่าในคอมเมนต์ยังไม่หนำใจ ตามไปด่าทอเกรี้ยวกราดในอินบ็อกซ์ของเขา ไปข่มขู่เขา หรือกระทั่งแกะรอยหาเบอร์โทรศัพท์แล้วโทรไปด่าไปป่วนให้ไม่ได้หลับไม่ได้นอนก็ยังมี


หากคิดว่าผู้เขียนเพ้อเจ้อแล้วล่ะก็ ไปลองฟังจากพวกเขาดู

คุณอังคณา นีละไพจิตร คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้นั่งคุยกับผู้เขียนในประเด็นดังกล่าว โดยเธอได้เล่าถึงการตกเป็นเป้าของวาทะความเกลียดชัง (Hate Speech) อย่างแพร่หลายทั้งการตัดต่อภาพ แสดงความอยากจะฆ่าหรือใช้ความรุนแรงอย่างบ่อยครั้งในโพสสาธารณะบนแอพโซเชียล รวมถึงการเขียนบทความเท็จเพื่อกระตุ้นให้ผู้อ่านยิ่งเกลียดเธอมากขึ้นอีก โดยเธอได้รวบรวมหลักฐานแจ้งความหลายต่อหลายครั้ง กระทั่งร้องเรียนไปยังกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) สองครั้งแล้ว แต่ก็ยังไม่ได้รับความคืบหน้า

นอกจากโพสสาธารณะแล้ว กล่องอินบ็อกซ์ของบัญชีเฟสบุ๊คของคุณอังคณาก็ท่วมท้นไปด้วยคำด่าและขู่เข็ญจากคนแปลกหน้ามากมาย แต่ยังมีความโชคดีที่คุณอังคณาไม่ได้ใช้เฟสบุ็คเป็นการส่วนตัว แต่เป็นบัญชีที่สร้างมาเพื่อเป็นตัวตนบนโลกออนไลน์ที่ยังคงมีหน้าที่และความรับผิดชอบเฉกเช่นในชีวิตจริง นั่นคือเพื่อให้ความรู้และแสดงจุดยืนต่อสาธารณะชน โพสต่างๆ บนเฟสบุ๊คของเธอจึงเป็นเรื่องงานโดยเฉพาะ ไม่ว่าจะเป็นการให้ความเห็น หรือนำเคสที่ควรเป็นที่สนใจของสังคมมาส่งต่อ ชีวิตออนไลน์และออฟไลน์ของคุณอังคณาจึงพอที่จะตัดขาดจากกันได้ในระดับหนึ่ง

แต่การโทรศัพท์มาติดๆ กันยี่สิบสามสิบสายที่พอรับก็ไม่พูดอะไรนี่ถือว่ารุกล้ำความเป็นส่วนตัวอย่างที่ไม่รู้จะแก้ไขได้อย่างไร โทรมาเวลาดึกๆ ตีหนึ่งตีสองจนกระทั่งครอบครัวของเธอกังวลใจ แม้คุณอังคณาจะนำเบอร์โทรศัพท์ดังกล่าวไปแจ้งความจนตามต้นสายไปได้ถึงอินเตอร์เน็ตคาเฟ่แห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถเข้าไปตรวจได้เพราะคุกคามสิทธิฝ่ายตรงข้าม (แต่สิทธิของคุณอังคณากลับไม่นับ...)

คุณพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ อีกหนึ่งนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เคยตกเป็นเป้าของสังคมหลังเป็นหนึ่งในสามนักวิจัยที่เปิดโปงการทรมานผู้ต้องสงสัยในภาคใต้ ก็ได้พูดกับคนเขียนถึงความน่ากลัวของคนแปลกหน้าจำนวนมากที่อินบ็อกซ์เข้ามาด่าทอและข่มขู่ในเรื่องทางเพศ หลายๆ เว็บไซด์ที่ระบุตัวเป็นข่าวก็ใช้รูปและชื่อของเธอไปตัดต่อโจมตีเธออย่างเสียๆ หายๆ โดยการโจมตีเธอมักจะรุนแรงขึ้นทุกๆ ครั้งที่มีข่าวความไม่สงบจากจังหวัดชายแดน

นอกจากนี้ยังมีโทรศัพท์แปลกหน้าที่โทรเข้ามาด่าทอดึกๆ ดื่นๆ หรือเงียบใส่หลังรับสาย แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์จะดีขึ้นเพราะเปลี่ยนเบอร์ใหม่ที่มีคนรู้จักน้อยลง ปัจจุบันเธอยังไม่เคยเอาผิดใคร แค่เพียงแจ้งต่อกรมคุ้มครองสิทธิหรือที่ทำงานให้ช่วยกันดูแลสอดส่องเท่านั้น แต่หากต้องเอาเรื่องเอาความกันขึ้นจริง คุณพรเพ็ญก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่นักว่าจะประสบความสำเร็จ


ถามกันแต่ผู้หญิงแล้ว ก็ควรถามผู้ชายกันบ้าง

อีกหนึ่งแหล่งข้อมูลสำคัญที่ผู้เขียนอยากให้ทุกท่านทราบ มาจากบทสนทนากับคุณสมชาย หอมลออ ทนายความนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและหนึ่งในผู้ร่วมเปิดโปงการทรมานผู้ต้องสงสัยในภาคใต้ ตัวคุณสมชายเองก็ได้รับการด่าทอสาปแช่งจากประชาชนที่ไม่เห็นด้วยกับจุดยืนของเขาบ่อยครั้ง แต่ในขณะที่ถ้อยคำส่วนใหญ่จะเป็นไปในทางดูหมิ่นเหยียดหยามหรือลดค่าความเป็นคน การถูกข่มขู่ถึงขั้นเอาชีวิตหรือเรื่องทางเพศนั้นไม่มี ซึ่งผิดกับอีกสองนักปกป้องสิทธิอย่างมากที่มีข้อความที่คุกคามอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ไม่มีผลกระทบใดๆ ต่อชีวิตประจำวันของคุณสมชายเลย

คุณสมชายให้ความเห็นว่า เท่าที่ทราบมาแม้จะมีผู้ต้องสงสัยทั้งชายและหญิงจำนวนมากที่ถูกคุกคามออนไลน์ แต่ผู้ที่ขู่ที่จะใช้ความรุนแรงมักแสดงตนเป็นเพศชาย และการที่นักปกป้องสิทธิเพศหญิงมักถูกส่งข้อความที่มีเนื้อหาคุกคามทางเพศนั้น เพราะแม้โดยทางกฏหมายจะมีความเหลื่อมล้ำทางเพศน้อยลงมากแล้ว แต่ในสังคม ผู้ชายยังคงเหยียดหยามและกดค่าผู้หญิงอยู่ เมื่อมีผู้หญิงตกเป็นเป้าการวิจารณ์ การวิจารณ์ต่างๆ ก็มักจะหลุดไปจากความเป็นเหตุและผลแต่โจมตีทางเพศร่วมด้วย ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สะท้อนถึงความเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิงในสังคม ที่ยังคงเป็นปัญหาที่ต้องปรับปรุงต่อไป

 

ถามว่า แล้วนักปกป้องสิทธิ์เหล่านี้จะทำอย่างไรได้บ้าง

หากเป็นการเอาผิดทางกฎหมาย ทางกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ได้โพสไว้บนเฟสบุ๊คถึงวิธีแจ้งความคดีออนไลน์ดังนี้

สำหรับข้อหาที่สามารถใช้ได้นั้น โดยทั่วไปแล้วก็คือการหมิ่นประมาท ทว่าการบังคับใช้พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯฉบับใหม่นั้น ทำให้มีผู้เข้าใจว่าใช้พ.ร.บ.ดังกล่าวแทนเพิ่มมากขึ้น ทว่า ศูนย์ข้อมูลกฎหมายและคดีเสรีภาพ iLaw มีคำอธิบายที่ต่างออกไป

โดยทาง iLaw ได้ให้คำอธิบายไว้ว่า มาตรา 14(1) มักถูกใช้กับคดีสามประเภท ได้แก่

1.ความผิดต่อระบบ เช่น การเขียนไวรัสหรือโปรแกรมเจาะข้อมูลต่างๆ
2.การหลอกลวง เช่น หน้าเว็บที่หลอกเป็นธนาคาร, การ Phishing
3.การหมิ่นประมาท

แต่ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่า การหมิ่นประมาทเป็นความผิดอาญาอยู่แล้วในมาตรา 326 และ 328 ซึ่งครอบคลุมถึงโพสออนไลน์เช่นกันโดยเป็นการหมิ่นประมาทโดยโฆษณา ซึ่งเพราะคดีดังกล่าวนั้นยอมความได้ แถมยอมความและยกฟ้องกันเสียบ่อยอีกด้วย ทำให้การใช้มาตรา 14(1) ที่ลงโทษแรงกว่าถึงขั้นจำคุกและยอมความไม่ได้ เป็นการใช้กฎหมายที่เกินเหตุและรกศาล
 

ส่วนการโทรศัพท์ก่อกวนนั้น ในทางกฎหมายมีมาตรา 420 เกี่ยวกับการละเมิดความเป็นส่วนตัวดังนี้

“มาตรา 420 ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดีทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่า ผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น”

หรือหากไม่ต้องการขึ้นโรงขึ้นศาล อีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมก็คือการบล็อคเบอร์นั้นเสีย โดยสมาร์ทโฟนจะสามารถทำได้ง่ายมาในทุกระบบปฏิบัติการ เพราะมีทั้งบริการมาพร้อมกับเครื่องหรือแอพลิเคชั่นเสริม แต่สำหรับโทรศัพท์บ้านอาจจะยุ่งยากขึ้น เพราะต้องเปิดบริการโชว์เบอร์จากผู้ให้บริการ และเปลี่ยนเครื่องโทรศัพท์บ้านเป็นแบบที่แสดงเบอร์โทรเข้าได้ เพราะเครื่องลักษณะดังกล่าวจะมีระบบบล็อคเบอร์โทรเข้าได้ในตัว

 

ส่วนบนโลกโซเชียลนั้น หลายๆ แอพลิเคชั่นมีระบบแบนคนแปลกหน้าหรือผู้ใช้อื่นๆ จากหน้าใช้งานอยู่แล้ว แต่สำหรับนักปกป้องสิทธิที่ต้องใช้แอพเหล่านี้เพื่อสื่อสารกับประชาชนนั้น พวกเขาก็ทำได้เพียงแยกบัญชีเรื่องงานและบัญชีส่วนตัวออกจากกัน แล้วก็เมินเฉยต่อการด่าทอที่เพิ่มพูนทุกๆ วันไปเสีย หากหลายๆ คนที่ไม่ได้ต้องเกี่ยวข้องกับงานนี้แต่ต้องเผชิญกับความเกลียดชังที่ดาหน้าเข้ามาทุกวี่วัน หลายๆ คนคงจะถอดใจไปนานแล้ว แต่ก็อย่างที่คุณอังคณาได้บอกกับผู้เขียนว่า หน้าที่ของตนในฐานะกรรมการสิทธิก็คือการแสดงความเห็นและให้ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนอย่างโปร่งใสและบริสุทธิ์ใจ ซึ่งทำให้มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเผชิญกับผู้ไม่เห็นด้วย แต่ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ควรออกมาแสดงความเห็นอย่างซึ่งหน้าไม่ปิดบังเช่นกัน ไม่ใช่การข่มขู่ลับหลังแบบนี้

สุดท้ายนี้ผู้เขียนคงทำได้เพียงทิ้งไว้ให้ทุกคนคิดตาม ถึงการที่นักปกป้องสิทธิหญิงที่ต้องท้าทายกับการคุกคามและเสี่ยงที่จะพบความรุนแรงมากกว่าผู้ชาย อะไรที่ทำให้หลายๆ คนในสังคมคิดว่าการข่มขู่จะทำร้ายหรือข่มขืนผู้หญิงถึงทำได้ ทำไมการแจ้งความและไม่แจ้งความจึงไม่แตกต่างกัน หากลองคิดดูและเทียบกับข้อมูลที่ผู้เขียนได้ยกมาแล้ว ท่านอาจจะพอมองเห็นได้ว่าเหตุใดการปฏิบัติต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของประเทศไทย ไม่ใช่แค่โดยรัฐบาลไทย แต่โดยประชาชนคนไทยนี่เอง ที่ทั่วโลกเขามองว่ามันช่าง “น่าละอาย”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net