Skip to main content
sharethis

บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ฟ้องหมิ่นประมาทอาญา นาน วิน อดีตลูกจ้างในสังกัดและสุธารี วรรณศิริ อดีตนักสิทธิมนุษยชนของฟอร์ติฟาย ไรท์ จากการให้ข้อมูลเรื่อง14 ลูกจ้างถูกบริษัทฟ้องหมิ่นประมาทและกรณีสถานการณ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และการโพสท์วิดีโอลงโซเชียล ไต่สวนมูลฟ้องวันจันทร์นี้ ด้านสุธารีถูกฟ้องแพ่งแยกอีกหนึ่งคดี องค์กรนานาชาติแถลงขอให้ยุติดำเนินคดี ทนายผู้ฟ้องปัดเปิดเผยรายละเอียด

ซ้ายไปขวา: สุธารี วรรณศิริ นาน วิน (ที่มา: canadainternational.gc.cafortifyrights.org)

1 ธ.ค. 2561 FIDH (International Federation for Human Rights) องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนรายงานไว้เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2561 ว่า บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ผู้ประกอบการฟาร์มไก่ที่ จ.ลพบุรีได้ฟ้องร้องดำเนินคดีต่อสุธารี วรรณศิริ อดีตที่ปรึกษาด้านสิทธิมนุษยชนขององค์กรสิทธิมนุษยชน ฟอร์ติฟาย ไรท์ และนาน วิน อดีตลูกจ้างธรรมเกษตรจากพม่าในข้อหาหมิ่นประมาท โดยมีกำหนดนัดไต่สวนมูลฟ้องที่ศาลอาญารัชดา กทม. วันที่ 3 ธ.ค. ที่จะถึงนี้

ทั้งสองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 กรณีของนาน วิน นั้น ถูกฟ้องจากการที่เขาไปให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวของฟอร์ติฟาย ไรท์เมื่อ 6 ต.ค. 2560 ในประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกกรณีหนึ่งที่เขาปรากฏตัวและให้ข้อมูลในวิดีโอความยาว 107 วินาทีของฟอร์ติฟาย ไรท์ประเด็นที่มีคนงานข้ามชาติในบริษัทธรรมเกษตร 14 คนที่ถูกบริษัทฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท หลังพวกเขาออกมาพูดเรื่องเงื่อนไขการทำงานและรายได้ที่ละเมิดกฎหมายแรงงาน หากศาลตัดสินว่าผิด ทั้งสองจะได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี และค่าปรับจำนวน 200,000 บาท

ในส่วนของสุธารีนั้นถูกฟ้องร้องจากการโพสท์วิดีโอดังกล่าวลงในโซเชียลมีเดีย และถูกฟ้องหมิ่นประมาทแพ่งแยกด้วย โดยเรียกร้องให้สุธารีจ่ายค่าชดเชย 5,000,000 บาท จากการโพสท์วิดีโอจนทำให้ชื่อเสียงบริษัทเสียหาย โดยศาลแพ่ง กทม. ได้นัดให้มีการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 ธ.ค. 2561

สุธารีกล่าวกับประชาไทว่าการฟ้องร้องลักษณะนี้ทำให้บุคคลที่ออกมาแสดงความเห็นรู้สึกไม่ปลอดภัย และมีแนวโน้มให้เห็นชัดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นลักษณะการฟ้องที่ไม่ใช่เพื่อเอาผลแพ้-ชนะ แต่เพื่อทำให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งเรื่องเวลา ค่าใช้จ่าย ความไม่สบายใจจากการถูกดำเนินคดี

“เห็นว่ามันเป็นแนวโน้มที่เราเห็นได้ชัดขึ้นเรื่อยๆ จากการที่ฝ่ายธุรกิจ บริษัท หรือหน่วยงานรัฐในบางกรณี นำกฎหมายหมิ่นประมาทไม่ว่าจะทางแพ่งหรืออาญา มาใช้เพื่อที่จะทำให้บุคคลออกมานำเสนอข้อเท็จจริง หรือเรื่องราวการร้องเรียนรู้สึกไม่สบายใจ ถูกข่มขู่ คุกคามจากการใช้เสรีภาพในการแสดงออกของตัวเอง”

“มันเป็นคดีที่เราเห็นได้ชัดว่าเกิดขึ้นเป็นแนวโน้มที่ชัดเจน มีทั้งแรงงานที่ถูกฟ้องจากการให้สัมภาษณ์ ก่อนหน้านี้ก็มีนักกิจกรรมเรื่องสิทธิแรงงานที่เขาพยายามให้การช่วยเหลือแรงงานเวลาไปฟ้องเจ้าหน้าที่ ก็ถูกฟ้องเป็นคดี” สุธารีกล่าว

ผู้สื่อข่าวสอบถามไปยังฐาปนิก ประเสริฐพัฒนกุล ทนายความในคดีนี้ของบริษัทธรรมเกษตร ได้รับคำตอบเพียงว่าเปิดเผยข้อมูลไม่ได้

ด้านฟอร์ติฟาย ไรท์ อดีตต้นสังกัดของสุธารีได้ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ทางการไทยและธรรมเกษตรยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญาต่อทั้งสอง ซึ่งในแถลงการณ์ระบุว่าเป็น “นักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

“การฟ้องร้องเหล่านี้ถือเป็นการคุกคามทางกฎหมายแบบหนึ่ง และควรมีการถอนฟ้องทันที” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการฟอร์ติฟาย ไรท์ กล่าว “แทนที่จะปล่อยให้บริษัทเล็งเป้าและโจมตีนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ทางการไทยควรปกป้องและสนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษชน”

การฟ้องร้องดำเนินคดีโดยธรรมเกษตรครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ที่ผ่านมา ธรรมเกษตรเคยเป็นโจทก์ฟ้องแรงงานข้ามชาติจำนวน 14 คนเป็นจำเลย ฐานหมิ่นประมาท แจ้งข้อความอันเท็จต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ จากกรณีที่ 14 แรงงานยื่นจดหมายร้องเรียนต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวหาว่า ธรรมเกษตรละเมิด พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน จ่ายค่าแรงให้คนงานต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด  ไม่มีการจ่ายค่าล่วงเวลาและยังมีการยึดเอกสารประจําตัวของพวกเขารวมทั้งหนังสือเดินทาง ในวันที่ 6 ต.ค. 2559 บริษัทธรรมเกษตร จํากัด แจ้งข้อหาหมิ่นประมาททางอาญาตามมาตรา 137 และ 326 ของประมวลกฎหมายอาญาต่อคนงาน 14 คน กล่าวหาว่าการร้องเรียนของพวกเขากับ กสม.ทำลายชื่อเสียงของ บริษัท โดยศาลแขวงดอนเมืองได้ยกฟ้องคดีนี้ไปเมื่อ 11 ก.ค. 2561

ศาลยกฟ้อง 14 คนงานเมียนมา ข้อหาหมิ่นฯ บ.ธรรมเกษตร ชี้ใช้สิทธิโดยสุจริตร้อง กสม.

เมื่อ 4 พ.ย. 2559 ธรรมเกษตรยังเคยฟ้องอานดี้ ฮอลล์ นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานในคดีหมิ่นประมาท และ พ.ร.บ. การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ จากการใช้โซเชียลมีเดียเรียกร้องให้เกิดความเป็นธรรมและให้มีการชดเชยอย่างเพียงพอต่อคนงานข้ามชาติ 14 คน

สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีอยู่ว่า ผู้ใดใส่ความผู้อื่นต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้ผู้อื่นนั้นเสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น หรือถูกเกลียดชัง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาท ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 328 มีใจความว่า ถ้าความผิดฐานหมิ่นประมาทได้กระทำโดยการโฆษณาด้วยเอกสาร ภาพวาด ภาพระบายสี ภาพยนตร์ ภาพหรือตัวอักษรที่ทำให้ปรากฏไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ แผ่นเสียง หรือสิ่งบันทึกเสียง บันทึกภาพ หรือบันทึกอักษร กระทำโดยการกระจายเสียง หรือการกระจายภาพ หรือโดยกระทำการป่าวประกาศด้วยวิธีอื่น ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสองปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net