สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 26 พ.ย.-2 ธ.ค. 2561

‘นิด้าโพล’ เผยประชาชน 61.92% มองภาพรวม ศก.ไทยแย่ลง

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “ประชาชนคิดอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย ในปี 2561” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 26 – 27 พฤศจิกายน 2561 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมาและนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย การสำรวจอาศัยการสุ่มตัวอย่าง ด้วยความน่าจะเป็นจากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาคสุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ ร้อยละ 95.0

จากการสำรวจเมื่อถามถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 61.92 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจแย่ลง รองลงมา ร้อยละ 27.12 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจเท่าเดิม และร้อยละ 10.96 ระบุว่า ภาพรวมเศรษฐกิจดีขึ้น

ด้านนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ประชาชนอยากเห็นจากพรรคการเมืองในการเลือกตั้งที่จะถึงนี้พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 57.60 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับรับซื้ออุดหนุนพืชผลทางเกษตร และพัฒนาสินค้าทางการเกษตร รองลงมา ร้อยละ 23.12 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ร้อยละ 22.00 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการจ้างงาน เพิ่มอาชีพ ลดปัญหาการว่างงาน และแรงงานนอกระบบ ร้อยละ 21.44 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการควบคุมราคาสินค้า การผูกขาดทางการค้า การค้าขายอย่างเสรี ร้อยละ 14.00 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับลดอัตราภาษี ร้อยละ 10.96 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการท่องเที่ยว และนโยบายเกี่ยวกับการมอบเงินช่วยเหลือให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพิ่มขึ้น ในสัดส่วนที่เท่ากัน ร้อยละ 6.80 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการสนับสนุนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) และธุรกิจ Startup ร้อยละ 5.76 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการส่งเสริมประสิทธิภาพในการเพิ่มการส่งออกของประเทศ ร้อยละ 4.24 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการกระจายอำนาจความเจริญไปตามหัวเมืองใหญ่ในแต่ละภาค ร้อยละ 3.28 ระบุว่า นโยบายเกี่ยวกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศ เช่น การคมนาคม ถนน รถไฟ และร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ นโยบายเกี่ยวกับการลดค่าครองชีพ (เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พัก ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง) และนโยบายเกี่ยวกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนว่าหลังจากมีการเลือกตั้ง ในปี 2562 เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้นหรือไม่ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 60.16 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น เพราะ มีความมั่นใจต่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง รัฐบาลชุดใหม่น่าจะมีแนวทางในการบริหารและพัฒนาประเทศได้ดีกว่า และต่างชาติจะเข้ามาลงทุนมากขึ้น รองลงมา ร้อยละ 31.60 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะเหมือนเดิม เพราะ ปัญหาเศรษฐกิจเป็นปัญหาที่แก้ยาก ต้องใช้เวลาในการแก้ไขปัญหา ต้องอาศัยปัจจัยหลาย ๆ อย่างร่วมด้วย และไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลชุดไหนก็เหมือนเดิม ร้อยละ 4.56 ระบุว่า เศรษฐกิจไทยจะแย่ลง เพราะ เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก และไม่มีความต่อเนื่องในการดำเนินการแก้ไขปัญหา ส่วนร้อยละ 3.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.72 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.36 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑลและภาคกลาง ร้อยละ 18.48 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 33.20 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 14.24 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่างร้อยละ 53.20 เป็นเพศชาย และร้อยละ 46.80 เป็นเพศหญิง ตัวอย่างร้อยละ 5.36 มีอายุ 18 – 25 ปี ร้อยละ 13.60 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 24.64 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 33.92 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 22.16 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 0.32 ไม่ระบุอายุ ตัวอย่างร้อยละ 95.20 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 2.80 นับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 0.88 นับถือศาสนาคริสต์ /ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.12 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่างร้อยละ 18.24 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 76.64 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.08 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 1.04 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 32.16 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 28.16 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 8.40 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 23.60 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.92 จบการศึกษาสูงกว่า ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 1.76 ไม่ระบุการศึกษา

ตัวอย่างร้อยละ 10.88 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 13.84 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 20.32 ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 17.44 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 15.76 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.68 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.32 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.08 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวงหากำไร และร้อยละ 1.68 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 14.40 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 28.32 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 24.48 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 11.28 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 7.04 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 7.52 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 6.96

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/12/2561

ก.แรงงาน เร่ง Up-Skill/ Re-skill ป.ตรี เพิ่มโอกาสมีงานทำ

“พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า นโยบายขับเคลื่อนเร่งด่วน ในการแก้ไขปัญหาให้กับผู้จบปริญญาตรีที่ตกงาน ได้มีการจัดตั้งศูนย์บริการด้านแรงงานแบบเบ็ดเสร็จ จำนวน 11 แห่ง และเปิดให้บริการพร้อมกันทั่วประเทศไปแล้ว ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

โดยจะเป็นการบูรณาการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานภายนอก ตามแนวทาง “ประชารัฐ ร่วมใจ เพื่อคนไทยมีงานทำ” การให้บริการของศูนย์ฯ ประกอบด้วย 5 ภารกิจในแนวทางบูรณาการของกรมในสังกัดกระทรวงแรงงาน โดยมุ่งช่วยเหลือผู้จบปริญญาตรีให้มีงานทำตามความสามารถ ให้คำปรึกษา พัฒนาทักษะฝีมือ แนะแนวอาชีพ จับคู่ตำแหน่งงาน เพิ่มและปรับเปลี่ยนทักษะเปลี่ยนสายอาชีพ (Up-Skill/Re-skill) แก่บัณฑิตที่แจ้งความประสงค์ฝึกอาชีพ เพื่อให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ สามารถหางานทำได้ตามความต้องการของตลาดแรงงาน

ทั้งนี้กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีหลักสูตรอบรมระยะสั้น 18-60 ชั่วโมง และระยะยาว 60 วันขึ้นไป กว่า 20 หลักสูตร ซึ่งผลการดำเนินงานของศูนย์ฯ ทำให้มีผู้ได้งานทำแล้วกว่า 2.4 หมื่นคน มีการแนะนำพัฒนาทักษะฝีมือกว่า 2 พันคน

นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กล่าวเสริมว่า การดำเนินงานของ กพร.ได้ฝึกทักษะให้กับผู้จบปริญญาตรีไปแล้วกว่า 2,100 คน โดยมีหลักสูตรที่ได้รับความสนใจ อาทิ การฝึกด้านภาษาต่างประเทศ การขายสินค้าออนไลน์ การเป็นหัวหน้างาน การบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้านจัดสรร และธุรกิจขนส่งและการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งบูรณาการร่วมกับสมาคมผู้รับจัดการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ (TIFFA) ฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบขนส่งโลจิสติกส์ ป้อนสถานประกอบกิจการที่เป็นสมาชิกของสมาคม และสถานประกอบกิจการที่อยู่ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก ( EEC ) จากความร่วมมือส่งผลให้ผู้ที่ผ่านการฝึกมีงานทำทุกคน

นอกจากนี้ยังฝึกอบรมสาขาการท่องเที่ยว และบริการ ซึ่งมีความต้องการแรงงานสูง เป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ เช่น ผู้ประกอบอาหารไทย ตามนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก สาขาการบริการอาหารว่างและเครื่องดื่ม และภาษาต่างประเทศ หลักสูตรด้านช่าง การประยุกต์ใช้งาน PLC ในงานอุตสาหกรรม ช่างควบคุมหุ่นยนต์ การเขียนแบบเครื่องกลด้วยคอมพิวเตอร์ 2 มิติ เทคนิคการติดตั้งและบำรุงรักษาระบบเซลล์แสงอาทิตย์ เมื่อ กพร.ดำเนินการฝึกอาชีพและพัฒนาทักษะให้แล้ว จะส่งรายชื่อผู้ผ่านการอบรมให้กับกรมการจัดหางาน เพื่อจับคู่งานให้กับผู้แจ้งความประสงค์ให้จัดหางานให้ทำด้วย

สำหรับในปี 2562 กพร.มีแผนดำเนินการอย่างต่อเนื่อง คาดว่าผู้ที่จบปริญญาตรีจะให้ความสนใจมากขึ้นโดยเฉพาะการขายสินค้าออนไลน์ เนื่องจากผู้จบการศึกษาใหม่ในปัจจุบันเป็นกลุ่ม Gen Z มีความสนใจประกอบอาชีพอิสระมากขึ้น ตลอดจนผู้บริโภคเองมีความต้องการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์สูงขึ้นส่วนสาขาที่ตลาดมีความต้องการรับคนเข้าทำงาน เช่น สาขาการบริหารจัดการอาคารและหมู่บ้านจัดสรร ได้วางแผนดำเนินการอีก 400 คน สาขาด้านโลจิสติกส์ มีแผนดำเนินการอีก 300 คน โดยบูรณาการร่วมกับ รวมถึงสาขาที่เป็นกลุ่มทักษะด้านช่าง จะยังคงดำเนินการตามความต้องการของตลาดแรงงานต่อไป และยังมีอีกหลายสาขาที่ดำเนินการฝึก

“ผู้ที่จบปริญญาตรี สามารถเข้าฝึกได้ทุกสาขา ที่ กพร. เปิดการฝึกอบรม และสมัครฝึกอบรมได้ทั่วประเทศ และยังมีแผนบูรณาการความร่วมมือกับสมาคมไทยโลจิสติกส์และการผลิต กลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏอีสานเหนือรวม 12 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมกันพัฒนาทักษะให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรี ให้มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์และการผลิตด้วย การเพิ่มเติมทักษะและองค์ความรู้ จะทำให้มีโอกาสมีงานทำมากขึ้น นายจ้างจะพอใจที่ได้คนเก่ง นักศึกษาก็จะแฮปปี้ ที่มีงานทำ”

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 1/12/2561

สปส. แจงประกาศเรื่องหลักเกณฑ์จ่ายเพิ่มให้ รพ. อิงค่า HA เพื่อผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาที่มีมาตรฐานคุณภาพการให้บริการ

นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีนายชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.) ยื่นหนังสือขอให้สำนักงานประกันสังคมปรับปรุงแก้ไข ทบทวน ประกาศหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ถือได้ว่าขาดการมีส่วนร่วมของผู้ประกันตนในฐานะผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย อีกทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์และการตรวจสอบการใช้เงินดังกล่าว ขณะเดียวกันยังเป็นการนำเงินของผู้ประกันตนไปจ่ายให้กับโรงพยาบาลโดยที่มิใช่เพื่อการรักษาพยาบาลว่าสำนักงานประกันสังคมได้มีการประชุมรับฟังความคิดเห็นผู้เข้าร่วมประชุม โดยมีตัวแทนผู้ประกันตน นายจ้างและสถานพยาบาลเห็นด้วย และค่าบริการทางการแพทย์เดิมจะจ่ายในรูปแบบเหมาจ่าย ซึ่งไม่สะท้อนคุณภาพการให้บริการแก่ผู้ประกันตน 

ดังนั้นการจ่ายค่าบริการเพิ่มเป็นการพัฒนาคุณภาพการให้บริการของสถานพยาบาลและเป็นในลักษณะเดียวกับเงินเหมาจ่ายจะเป็นประโยชน์โดยตรงกับผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการเพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ดีขึ้น และยังเป็นการป้องกันการเกิดข้อร้องเรียนในกรณีที่ผู้ประกันตนได้รับการรักษาไม่เหมาะสม ตามมาตรฐานทางด้านการแพทย์ อีกทั้งเป็นการจ่ายเพื่อยกระดับความพึงพอใจของผู้ประกันตนในการเข้ารับบริการ ทางการแพทย์ ซึ่งมีตัวชี้วัดความพึงพอใจของผู้ประกันตนในการใช้บริการ โดยสะท้อนผลลัพธ์การให้บริการ ของสถานพยาบาลที่อยู่ในระบบประกันสังคม ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของผู้ประกันตนเป็นหลัก อย่างไรก็ตามการจ่ายเงินทุกประเภทของสำนักงานประกันสังคมมีระเบียบคณะกรรมการประกันสังคมว่าด้วยการรับเงิน  การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน พ.ศ.2555  ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยระเบียบคณะกรรมการประกันสังคม การจ่ายเงิน และการเก็บรักษาเงินกองทุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558 (โดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง) ข้อ 12 (1) จ่ายเป็นค่าบริการ ทางการแพทย์ หรือค่ายาตามหลักเกณฑ์และอัตราที่คณะกรรมการการแพทย์กำหนด โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคม

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กล่าวในตอนท้ายว่าสำนักงานประกันสังคมยังคงมุ่งมั่นพัฒนาปรับปรุงสิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของวิทยาการทางการแพทย์ รวมถึงต้องปฏิรูประบบให้บริการทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกันตนเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่เท่าเทียมมีคุณภาพ อันจะนำไปสู่การยกระดับพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยรวมของประเทศอย่างยั่งยืน

ที่มา: บ้านเมือง, 30/11/2561

ศูนย์ทดสอบภาษาทำงานที่เกาหลีใต้ วันแรกหนุ่มสาวอีสาน แห่สมัครเพียบ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงแรงงาน และกรมการจัดหางาน ลงพื้นที่เยี่ยมศูนย์รับสมัครทดสอบภาษาเกาหลีและทักษะการทำงาน (Point System) เพื่อไปทำงานเกาหลีใต้ในประเภทกิจการงานอุตสาหกรรมการผลิต ครั้งที่ 6 ที่ศูนย์การค้าตึกคอมแลนด์มาร์ค จ.อุดรธานี  เพื่อให้กำลังใจ พบปะพูดคุยกับแรงงานหนุ่มสาวในภาคอีสาน ที่สนใจเข้าสมัครสอบเพื่อไปทำงานในเกาหลีใต้ โดยได้เน้นย้ำว่า การสมัครไปทำงานเกาหลีถูกกฎหมายกับกรมการจัดหางาน นอกจากจะการันตรีเรื่องของรายได้ที่มั่นคงแล้ว แรงงานยังจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมายทั้งค่ารักษาพยาบาลและเงินชดเชยต่างๆ ซึ่งหากแรงงานทุกคนได้ไปทำงานที่นั่นแล้วให้ตั้งใจทำงาน ลดละเลิกสุราและการพนัน เพื่อสร้างชีวิตที่ดีในอนาคต

อย่างไรก็ตาม วันนี้เป็นวันแรกที่กรมการจัดหางานได้เปิดรับสมัคร ทำให้ที่ศูนย์การรับสมัคร ที่อุดรธานี ช่วงเช้าที่ผ่านมา มีแรงงานให้ความสนใจมารอสมัครสอบเป็นจำนวนมาก โดยมีเจ้าหน้าที่จากสำนักงานจัดหางานจังหวัดอุดรธานี คอยดูแลความเรียบร้อย มีการเข้าแถวรับบัตรคิว รับใบสมัคร และรอเข้าไปสมัครอย่างเป็นระเบียบ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ให้คำแนะนำทุกขั้นตอน ตั้งแต่ประชาสัมพันธ์ ตรวจเอกสาร อบรมขั้นตอนการกรอกเอกสาร และจ่ายค่าธรรมเนียม โดยก่อนหน้านี้ได้เปิดให้แรงงานลงทะเบียนรับบัตรคิวสมัครสอบทางออนไลน์ มีแรงงานแสดงความจำนงเข้ารับคิวแล้วเป็นจำนวนมากราว 1 หมื่นคน คาดว่าทั้งประเทศจะมีแรงงานไทย มาสมัครไม่ต่ำกว่า 15,000 คน

โดยตึกคอมแลนด์มาร์ค จังหวัดอุดรธานี เป็น 1 ใน 4 พื้นที่ที่กรมการจัดหางานจัดให้เป็นศูนย์รับสมัคร  โดยพื้นที่กรุงเทพฯ ศูนย์รับสมัครจะอยู่ที่ศูนย์การค้าเซียร์รังสิต ภาคเหนือ อยู่ที่ศาลากลางจังหวัดลำปาง อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง และอีสาน อยู่ที่ โคราชฮอลล์ ชั้น 4 ห้างเซ็นทรัลโคราช จังหวัดนครราชสีมา เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 30 พ.ย.-2 ธ.ค.นี้ โดยผู้ที่สนใจสมัครทดสอบภาษาจะต้องมีอายุ 18-39 ปี ไม่จำกัดวุฒิการศึกษา ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีประวัติกระทำผิดทางอาญา ไม่ใช่บุคคลที่ห้ามออกนอกประเทศ หรือติดแบล็คลิสต์ของเกาหลี  หลักฐานที่ใช้ในการสมัคร ได้แก่ สำเนาหนังสือเดินทาง (ถ้ามี) ต้องระบุวันเดือน ปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ใบ สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ต้องชัดเจนและระบุวันเดือนปีเกิดให้ครบถ้วน จำนวน 2 ใบ รูปถ่ายสีขนาด 1.5 นิ้ว ฉากด้านหลังสีขาว

ทั้งนี้ไทยจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่เกาหลีใต้แล้ว 72,435 คน โดยในปี 2561 จัดส่งไป 5,520 คน มากที่สุดในกิจการ อุตสาหกรรม รองลงมาคือ เกษตร ปศุสัตว์ และก่อสร้าง

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/11/2018

สนช.เห็นชอบอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉ.188 การทำงานในภาคประมง

รมว.แรงงาน แถลงหลักการสำคัญของอนุสัญญา 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง ยืนยันเป็นประโยชน์กับแรงงาน ส่งผลดีต่อภาคประมงในระยะยาว ส่งผลให้ไทยส่งออกสินค้าได้มากขึ้น

พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้ลงมติเห็นชอบให้กระทรวงแรงงานดำเนินการให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคการประมง พ.ศ. 2550 (ค.ศ. 2007) โดยไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียน และในภูมิภาคเอเชีย ที่ให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฉบับดังกล่าว เพื่อเป็นการส่งสัญญาณที่ชัดเจนไปทั่วโลกได้ว่า ณ วันนี้ ไทยมีความมุ่งมั่นที่จะยกระดับมาตรฐานการคุ้มครองดูแลแรงงาน ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ในภาคประมงของไทย ให้ดียิ่งขึ้นเทียบเท่า มาตรฐานสากล ซึ่งจะทำให้ภาคประมงของไทยได้รับการยอมรับ มีภาพลักษณ์ที่ดี และจะเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการสำคัญในการช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานประมงไทยในขณะนี้ รวมถึงจะส่งผลต่อภาพรวมด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศในสินค้าอาหารทะเลของไทยที่ปัจจุบันมีมูลค่าส่งออกเฉลี่ยปีละสองแสนล้านบาทด้วย เพราะจะช่วยเพิ่มความม่นใจให้กับผู้บริโภคสินค้าประมงไทยได้ว่าสินค้าของเราจะเป็นสินค้าที่ผลิตอย่างมีจริยธรรมและมีธรรมาภิบาล

พล.ต.อ.อดุลย์กล่าวต่อว่า ก่อนที่จะมาถึงวันนี้กระทรวงแรงงานได้รับฟังความเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายทั้งนายจ้าง ลูกจ้าง ภาคประชาสังคม และภาควิชาการ รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้วมาหลายรอบ และได้ยกร่าง พ.ร.บ.แรงงานประมงขึ้นมาโดยมีเนื้อหาที่สะท้อนข้อเสนอของทุกภาคส่วน และกระทรวงแรงงานได้มีการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแล้วจำนวน 6 ครั้ง ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วยว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ทั้งกับแรงงาน นายจ้าง และภาพลักษณ์ของภาคประมงไทย และสินค้าประมงไทยโดยรวม

สำหรับการบังคับใช้กฎหมายในเรื่องนี้ซึ่งคาดว่าจะเริ่มได้ประมาณกลางปีหน้านั้น ขอย้ำว่าจะไม่กระทบต่อกลุ่มชาวประมงพื้นบ้านแต่อย่างใด และจะใช้บังคับเฉพาะกับกลุ่มเรือประมงพาณิชย์ของไทยที่มีขนาด 30ตันกรอสส์ขึ้นไปที่มีประมาณ 5,000 กว่าลำ สำหรับเรื่องโครงสร้างเรือจะใช้บังคับเฉพาะกับเรือประมงพาณิชย์ที่เป็นเรือต่อใหม่ที่มีขนาด 300 ตันกรอสส์ขึ้นไป และขนาดความยาวตลอดลำเรือ 26.5 เมตรขึ้นไปเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มเรือที่ทำประมงนอกน่านน้ำไทย และหลายเรื่องไม่ได้เร่งให้เจ้าของเรือต้องดำเนินการในทันทีทันใด แต่จะค่อยเป็นค่อยไปในทางปฏิบัติ โดยเนื้อหาส่วนใหญ่ที่เพิ่มขึ้นจะเกี่ยวข้องกับการดูแลลูกจ้าง สภาพการจ้าง รวมทั้งคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของลูกจ้างทั้งหมดเป็นสำคัญ ซึ่งขอเน้นย้ำว่าเราจะดูแลทั้งคนงานไทยและคนงานต่างด้าวในภาคประมงไทย

โดยรวมแล้ว กล่าวได้ว่า การให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับที่ 188 ไม่ได้สร้างภาระเพิ่มเติมต่อชาวประมงอย่างที่ในอดีตเคยมีบางท่านได้เคยแสดงความห่วงกังวลแต่อย่างใด เนื่องด้วยปัจจุบันประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายสอดคล้องกับข้อกำหนดของอนุสัญญาเป็นส่วนใหญ่อยู่แล้ว (คิดเป็นร้อยละ 80) ได้แก่ กฎหมายที่มีอยู่ของกระทรวงแรงงาน กรมประมง กรมเจ้าท่า กรมการแพทย์ อาทิ เช่น อายุขั้นต่ำ การตรวจสุขภาพ อัตรากำลัง ชั่วโมงพัก รายชื่อลูกเรือ สัญญาจ้างงาน การส่งแรงานกลับจากท่าเรือในต่างประเทศ ไม่เก็บค่าบริการจัดหางานจากแรงงาน การจ่ายเงิน ที่พักอาศัยเหมาะสม อาหาร น้ำดื่่ม การดูแลรักษาการเจ็บป่วย

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 29/11/2561

เครื่องจักรผสมเครื่องสำอางโรงงานผลิตครีมระเบิด

เมื่อเวลา 13.45 น. วันที่ 29 พ.ย. 2561 ร.ต.ท.ภูวเดช สภ.ปากเกร็ดสภ.ปากเกร็กรับแจ้งมีเหตุเครื่องผสมเครื่องสำอาง โรงงานผลิตเครื่องสำอาง มินเทค บ้านเลขที่ 15/45 ซอยพระแม่การุณย์ 25 ถนนติวานนท์ ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ตรวจสอบที่เกิดเหตุพร้อมพนักงานสอบสวน มูลนิธิปอเต็กตึ้งและ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ร่วมทำการ ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ จำนวน 4 รายเป็นชายทั้งหมด นำส่งโรงพยาบาลกรุงสยามเซนต์คาร์ลอสผู้บาดเจ็บ Rice ทราบชื่อภายหลัง นายพงษ์พัฒน์ เชิดชูพันธ์ อายุ 26 ปี อีก 2 รายส่งโรงพยาบาลกรมชลประทาน และโรงพยาบาลกรุงสยาม 1 ราย

สาเหตุเบื้องต้นน่าจะเกิดจาก ไฟฟ้าลัดวงจร แล้วเกิดระเบิด ที่ห้องผลิต เครื่องสำอาง ซึ่งในนั่นมีสารเคมี ที่ก่อให้เกิดไฟลุกง่าย ในนั้น มีคนทำงานอยู่ 31 คน ส่วนผู้บาดเจ็บทำอยู่แผนกผลิต เครื่องสำอาง จึงทำให้ออกมาหนีไม่ทันได้รับบาดเจ็บดังกล่าว

ที่มา: สยามรัฐ, 29/11/2561

สศช.ชี้จ้างงานไตรมาส 3/2561 เพิ่มสูงสุด 22 ไตรมาส

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ขอรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสสามปี 2561ซึ่งมีความเคลื่อนไหวทางสังคมที่สำคัญ ได้แก่ การจ้างงาน รายได้และผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น ค่าใช้จ่ายในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และบุหรี่ลดลง แต่มีประเด็นที่ต้องติดตามได้แก่ หนี้สินครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่ยังไม่มีสัญญาณปัญหาการชำระหนี้ การเจ็บป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจและโรคหัดที่เพิ่มขึ้น ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินลดลงจากคดีอาญาและอุบัติเหตุที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการนำเสนอสถานการณ์ทางสังคมที่น่าสนใจ ได้แก่ การฆ่าตัวตายและการจัดลำดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไทยในมิติแรงงาน รวมทั้งการเสนอบทความเรื่อง “คนรุ่นใหม่กับการสร้างประชากรที่มีคุณภาพ” โดยมีสรุปสาระดังนี้

ไตรมาสสามปี 2561 การจ้างงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งภาคเกษตรและนอกภาคเกษตรเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ไตรมาส ซึ่งการจ้างงานภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.9 และการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 เร่งตัวขึ้นจากไตรมาสก่อน และขยายตัวสูงสุดในรอบ 3 ปี โดยได้รับผลดีจากเศรษฐกิจที่ขยายตัว โดยเฉพาะ (1) สาขาการขนส่งและเก็บสินค้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.7 สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2557เป็นต้นมา (2) สาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.0 (3) สาขาการผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 ต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม (4) สาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 ขยายตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี และ(5) สาขาการขายส่ง การขายปลีก เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ส่วนอัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.0 ลดลงเทียบกับร้อยละ 1.2 ในช่วงเดียวกันของปี2560 โดยเป็นการลดลงของทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานและที่ไม่เคยทำงานร้อยละ 11.5 และ 22.2 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาการว่างงานตามระดับการศึกษา พบว่า อัตราการว่างงานลดลงทุกระดับการศึกษา แต่ผู้จบการศึกษาระดับอุดมศึกษามีอัตราการว่างงานสูงกว่าระดับการศึกษาอื่น ขณะที่อัตราการว่างงานในระดับ ปวส. ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนเทียบกับในช่วงปี 2560 และครึ่งแรกของปี 2561 กลุ่มผู้ทำที่ทำงานมากกว่า 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ กลับปรับตัวลดลงร้อยละ 1.1 ขณะที่กลุ่มผู้มีงานทำต่ำระดับ หรือทำงานต่ำกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และต้องการทำงานเพิ่ม ขยายตัวสูงถึงร้อยละ 17.5 สะท้อนสภาวะการทำงานที่ยังไม่เต็มศักยภาพของแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานภาคเกษตร ซึ่งมีผู้ทำงานต่ำระดับสูงประมาณ 236,065 คน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.0สอดคล้องกับชั่วโมงการทำงานในภาพรวมที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.5 เช่นเดียวกับชั่วโมงการทำงานของแรงงานภาคเอกชนที่ลดลงร้อยละ 0.6

ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 สอดคล้องกับค่าจ้างแรงงานที่ขยายตัวขึ้น โดยค่าจ้างแรงงานภาพรวมทั้งระบบและภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 และ 3.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ดี เมื่อหักเงินเฟ้อร้อยละ 1.5พบว่า ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 โดยค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 ขณะที่ค่าจ้างแรงงานที่แท้จริงเอกชนในภาคเกษตรปรับตัวลดลงร้อยละ 0.5 แสดงให้เห็นการปรับตัวของค่าจ้างแรงงานภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นช้ากว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น

แนวโน้มการจ้างงานในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2561 สถานการณ์การจ้างงานและตลาดแรงงานมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี ตามแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากความผ่อนคลายของแรงกดดันต่อการส่งออกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าต่างๆ รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคมที่ยังคงอยู่ในเกณฑ์สูง อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามและเฝ้าระวังความเสี่ยงจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความไม่แน่นอนและผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน รวมทั้งความล่าช้าในการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 29/11/2561

ญาติคนไข้ เข้าขอขมาพยาบาลสาวที่โดนข่มขู่ทำร้ายร่างกาย อ้างเมา รู้เท่าไม่ถึงการณ์

จากกรณีพยาบาลสาว โพสต์ตัดพ้อ หลังถูกญาติคนไข้ที่มีอาการมึนเมาชี้หน้า ด่าหยาบคาย ดักรอทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ เมื่อแจ้งกับผู้บริหารแต่ผู้บริหารกลับบอกว่า ให้แจ้งความเองโดยบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัวแค่เรื่องทะเลาะวิวาทส่วนตัว ไม่มีใครปกป้องดูแล จนกลายเป็นเรื่องที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างมาก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 27 พ.ย. มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก "Chokarmol Pichaikarl" ซึ่งเป็นพยาบาลเจ้าของโพสต์ ได้ออกมาโพสต์ชี้แจงโดยระบุข้อความว่า "ทางคณะฝ่ายบริหาร โรงพยาบาล และท่านกำนัน ได้เข้ามาดูแลและไกล่เกลี่ย กรณีพยาบาลถูกขู่ทำร้ายร่างกายในขณะที่ปฏิบัติหน้าที่ และเรียกผู้ก่อเหตุมาขอขมาและปรับความเข้าใจ

โดยได้แจ้งว่าเหตุผลที่ ขาดสติเนื่องจากมีอาการเมาสุรา และภาวะเครียด เป็นห่วงภรรยาและลูก จึงไม่สามารถควบคุมตนเองได้ และตอนนี้ก็ได้รู้สติ และสำนึกผิดแล้ว ว่าการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ก็เหนื่อย และจำนวนผู้ป่วยฉุกเฉินจำนวนมาก โดยตนเองจะยอมรับข้อผิดพลาดนี้แล้วจะจำไว้เป็นบทเรียน ว่าจะไม่ประพฤติ พฤติกรรมเช่นนี้อีก พร้อมทั้งกล่าวขอโทษ พยาบาลที่ได้ทำผิดไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์

ส่วนฝ่ายบริหารโรงพยาบาลได้เข้าร่วมและจัดการเรื่องขอขมาในครั้งนี้ และปรับปรุงระบบการรักษาความปลอดภัยแก่ เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลให้มากขึ้น 26/11/61 ขอขอบคุณทุกท่าน ทุกฝ่าย ที่ช่วยเหลือ ให้กำลังใจและติดตามความคืบหน้า ดิฉันรู้สึกยินดีและ ปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ที่มีคนเห็นใจพวกเรามามาย ขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ค่ะ"

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 28/11/2561

ก.แรงงาน เร่งช่วยลูกจ้างโรงงานจิวเวลรี่ จ.จันทบุรี ถูกเลิกจ้าง

กระทรวงแรงงาน เร่งช่วยเหลือลูกจ้างโรงงานจิวเวลรี่ จังหวัดจันทบุรี ที่ถูกเลิกจ้างส่งเจ้าหน้าที่เข้าชี้แจงสิทธิประโยชน์และรับคำร้องลูกจ้างแล้วกว่า 600 คน เตรียมออกคำสั่งให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยถึงการให้ความช่วยเหลือลูกจ้างของบริษัท บริษัท พี ดับบลิว เค จิวเวลรี่ จำกัด ประกอบกิจการผลิตและส่งออกเครื่องประดับอัญมณี จังหวัดจันทบุรี ที่ถูกเลิกจ้างว่า พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีความห่วงใยในเรื่องดังกล่าว ได้สั่งการให้ กสร.ดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายโดยเร็ว ทั้งนี้พนักงานตรวจแรงงานสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องชี้แจงข้อกฎหมาย แนวทางการดำเนินการให้ความช่วยเหลือ รวมทั้งสิทธิประโยชน์ตามกฎหมาย เช่น เงินทดแทนกรณีถูกเลิกจ้าง สิทธิขอรับเงินช่วยเหลือจากกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง ตำแหน่งงานว่าง ซึ่งจะเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้นให้กับลูกจ้าง

นายทศพล กล่าวต่อว่าพนักงานตรวจแรงงานได้ดำเนินการรับคำร้องกรณีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับค่าจ้าง ค่าจ้างแทนการบอกล่าวล่วงหน้า ค่าชดเชย และสิทธิประโยชน์อื่น ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งขณะนี้ได้รับคำร้องจากลูกจ้างแล้วจำนวน 610 คน และจะเร่งดำเนินการตามกฎหมายเพื่อให้ลูกจ้างได้รับสิทธิประโยชน์โดยเร็ว

ที่มา: กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, 28/11/2561

สั่งไม่ฟ้องคดีหมอจับหน้าอกพนักงานหญิงขณะตรวจสุขภาพ

จากกรณีกลุ่มพนักงานสาวโรงงานแห่งหนึ่ง ในเขตอุตสาหกรรมนวนคร อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา จำนวน 11 คนที่มีรูปร่างหน้าตาดี แจ้งความกับตำรวจให้ดำเนินคดีกับนายแพทย์ ซึ่งเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาลเอกชนชื่อดังในจังหวัดนครราชสีมา ในข้อหากระทำอนาจาร โดยระบุว่าถูกนายแพทย์คนนี้ ล่วงเกิน ทั้งจับและลูบคลำหน้าอก ระหว่างตรวจสุขภาพร่างกายประจำปี ในห้องมิดชิดแบบ 2 ต่อ 2  ภายในโรงงาน เหตุเกิดเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2560 โดยคดีนี้ยืดเยื้อยาวนานครบ 1 ปีเต็ม

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งจากนายแพทย์อนันต์ โลหะพัฒนบำรุง อายุ 55 ปี ผู้ถูกกล่าวหาว่า คดีนี้ได้สิ้นสุดลงแล้ว หลังอัยการจังหวัดสีคิ้ว มีหนังสือคำสั่งเลขที่อส 0042 (สีคิ้ว)/5033 ลงวันที่ 25 ตุลาคม 2561 ให้ยุติการดำเนินคดี ที่พนักงานสาวโรงงาน 11 คน ฟ้องตามข้อกล่าวหากระทำอนาจารแก่บุคคลอายุกว่า 15 ปี โดยใช้กำลังประทุษร้าย

โดยนายแพทย์อนันต์ กล่าวว่า คดีนี้ได้พิสูจน์ชัดแล้วว่า ตนเองบริสุทธิ์ และพ้นมลทินแล้ว หลังถูกกล่าวหาในทางเสื่อมเสียต่อวิชาชีพแพทย์ ก่อนหน้านี้ทางผู้เสียหายเรียกร้องเงินค่าทำขวัญ 550,000 บาท แต่ตนขอต่อสู้คดี และไม่มีการเจรจาใดๆ เพราะมั่นใจในความบริสุทธิ์ ยืนยันเป็นการตรวจสุขภาพตามหลักมาตรฐานทั่วไป ไม่มีการล่วงละเมิดหรืออนาจารแต่อย่างใด จนกระทั่งอัยการสั่งไม่ฟ้องในที่สุด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 28/11/2561

พยาบาลช้ำ! ญาติคนไข้คุกคาม-ด่ารุนแรง แจ้งผู้บริหาร กลับบอกว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ผู้ใช้เฟซบุ๊ก Chokarmol Pichaikarl พยาบาล ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เล่าว่า ตนทำงานมา 6 ปี รับราชการมา 3 ปี ไม่เคยเจอเหตุการณ์ไหนทำให้ถอดใจได้เท่าวันนี้ เนื่องจากขณะที่ตนปฏิบัติหน้าที่ในเวรบ่าย วันที่ 25 พ.ย.ที่ผ่านมา เจอญาติคนไข้พูดจาด่าทอ และตามจะเอาเรื่อง จนต้องหนีไปในห้องพักพยาบาล เมื่อแจ้งกับผู้บริหาร ผู้บริหารก็บอกให้แจ้งความเองโดยบอกว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว

ผู้ใช้เฟซบุ๊กเล่าว่า เรื่องเริ่มจากที่มีผู้หญิงรายหนึ่งประสบอุบัติเหตุ มีแผลที่ขา ถูกเข็นเข้ามาในห้องฉุกเฉิน ตนรีบไปตรวจร่างกายและประเมินเบื้องต้น เพื่อมั่นใจว่าคนไข้ปลอดภัย ใช้คำพูดกับคนไข้อย่างนุ่มนวล และเป็นมิตร ก่อนจะตรวจแผลบริเวณขาขวา ซึ่งญาติคนไข้ที่เป็นสามีในลักษณะเมาสุราเดินเข้ามายืนข้างๆ เตียง และบอกว่าขาคนไข้หักต้องรีบ X-ray ตนเข้าใจว่าเขาเป็นห่วงภรรยา จึงอธิบายว่าต้องให้แพทย์มาประเมินผู้ป่วยและความรุนแรงของบาดแผลก่อนจึงจะขึ้น X-ray ได้

พอจบประโยค สามีคนไข้ก็ตะคอกใส่ตนว่าแล้วหมออยู่ไหน ตนตอบกลับว่าหมอกำลังดูคนไข้ฉุกเฉินอยู่เดี๋ยวจะมาดูภรรยาคุณ ซึ่งก็ถูกคนไข้มองหน้าแล้วถามว่า “แล้วมึงมองหน้าทำไม ไม่พอใจเหรอ มึงจะเอาเหรอ ถ้าเป็นญาติมึงมึงจะว่ายังไง อีพยาบาลเลว บริการแย่ มึงชื่ออะไร เอาชื่อมึงมา กูจะเอาเรื่องมึงให้ถึงที่สุด”

ตนเห็นท่าไม่ดีจึงรีบหลบออกมา แต่ก็ถูกตามประชิดตัวในท่าทีเอามือล้วงกระเป๋าสะพาย ตนกลัวมีอาวุธ จึงหลบไปนั่งร้องไห้ในห้องพักพยาบาล ประมาณ 20 นาทีให้หลัง พี่พยาบาลเดินเข้ามาบอกว่าอย่าเพิ่งออกไปด้านนอก ตนรออีกประมาณ 1 ชั่วโมงญาติคนไข้ก็ยังไม่กลับ จึงแจ้งผู้บริหาร แต่ถูกบอกว่าให้แจ้งความเองเพราะมันเป็นเรื่องส่วนตัว

ตนสงสัยว่า ทำไมการถูกคุกคามถูกทำร้ายขณะปฏิบัติหน้าที่ ถึงกลายเป็นเรื่องวิวาทส่วนตัวไปได้ แต่ตนก็เรียกตำรวจให้มาเจรจา ก่อนที่ญาติคนไข้จะยอมกลับ แต่ตนก็ไปลงบันทึกประจำวันไว้ ที่ สภ. แล้วกลับมาทำงานต่อ ซึ่งก่อนกลับประมาณ 4 ทุ่มกว่า ญาติคนไข้ยังเดินเข้ามาอีกรอบ ทำให้ตนกลัวโดนดักทำร้ายจึงต้องให้พ่อแม่มารับกลางดึก

“นี่เหรอสิ่งที่หน่วยงานราชการดูแลเรา สิ่งตอบแทนกรรมกรชุดขาว แบบพวกเรา ที่ต้องดูแลตัวเอง หมดกันศักดิ์ศรีพยาบาลวิชาชีพที่จำต้องยอมให้เค้าใช้เท้าเหยียบหัวใจเรา กี่ครั้งที่สองเราเงียบ กี่คนที่ตาย ที่เจ็บตัว สุขภาพจิตเสีย หวาดกลัว เนี่ยเหรอ สิ่งตอบแทนที่เราได้รับ พยาบาลวิชาชีพของพระราชา เจ็บปวด”

ที่มา: ข่าวสด, 26/11/2561

ครม. เห็นชอบปรับปรุง MOU ไทยกับเวียดนาม ให้แรงงานเวียดนามสามารถทำงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรในทุกประเภทกิจการได้

เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2561 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการให้ปรับปรุงบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ด้านการจ้างงานระหว่างรัฐบาลไทยกับเวียดนาม เพื่อให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติเวียดนาม ที่นำเข้าตามเอ็มโอยูดังกล่าว สามารถทำงานรับใช้ในบ้าน และงานกรรมกรในทุกประเภทกิจการได้ จากเดิมที่กำหนดให้ทำได้เพียงกรรมกรในกิจการก่อสร้าง และประมงเท่านั้น รวมถึงให้กระทรวงแรงงานเจรจากับเวียดนามเกี่ยวกับประเภทกิจการที่จะให้แรงงานต่างด้าวเวียดนามเข้ามาทำงานเพิ่มเติม โดยคำนึงถึงความสอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผลประโยชน์และความมั่นคงของชาติ โอกาสในการประกอบอาชีพและวิชาชีพของคนไทย และความต้องการแรงงานต่างด้าวที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ แล้วนำเสนอให้ ครม.พิจารณาก่อนดำเนินการต่อไป

สำหรับเอ็มโอยูด้านแรงงานของ 2 รัฐบาล กำหนดให้แรงงานเวียดนามทำงานใน 2 กิจการคือ ก่อสร้างและประมงทะเล แต่ส่วนใหญ่ลักลอบทำงานประเภทอื่น ดังนั้น การประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ครั้งที่ 1/61จึงมีมติให้เพิ่มประเภทแรงงาน โดยให้สามารถทำงานรับใช้ในบ้านและงานกรรมกรทุกประเภทกิจการ ครอบคลุม 25 กิจการ เช่น เกษตรและปศุสัตว์ เป็นต้น

ที่มา: ไทยรัฐ, 27/11/2561

สั่งช่วยแรงงานไทยในอิสราเอล หลังบีบีซีไทยระบุ แรงงานถูกเอาเปรียบ

พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักข่าวบีบีซีไทยระบุถึงแรงงานไทยในอิสราเอล ถูกเอารรัดเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิ์ และได้รับค่าตอบแทนต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด สภาพการทำงานไม่ตรงตามสัญญา และมีสภาพที่อยู่อาศัยไม่ถูกสุขลักษณะ นอกจากนี้ในรายงานยังระบุอีกว่า รอบ 6 ปีที่ผ่านมามีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตกว่า 170 คน โดยกล่าวว่า รัฐบาลไทยโดยกระทรวงแรงงานได้ลงนามในข้อตกลงด้านแรงงานกับรัฐบาลอิสราเอล เรื่องการจ้างแรงงานไทยทำงานชั่วคราวในภาคเกษตรในรัฐอิสราเอลเมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีแรงงานไทยไปทำงานในประเทศอิสราเอล จำนวน 24,746 คน ระยะเวลาการจ้างครั้งละ 2 ปี และสามารถต่อสัญญาจ้างงานได้อีก 3 ปี 10 เดือน รวมแล้วไม่เกิน 5 ปี 10 เดือน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตร อัตราค่าจ้างขั้นต่ำในอิสราเอล เดือนละ 5,300 เชคเกลอิสราเอล หรือประมาณ 47,000 บาท

รมว.แรงงาน ยังได้สั่งการให้ฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าไปดูแลแรงงานไทยในพื้นที่อย่างใกล้ชิด ซึ่งในปี 2562 ฝ่ายแรงงานฯ ได้จัดให้มีคณะแพทย์และพยาบาลจากกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข มาดำเนินการตรวจสุขภาพแรงงาน จำนวน 3 ครั้ง เพื่อดำเนินการตรวจสุขภาพแรงงานทั่วไป และเน้นหนักไปที่การศึกษาและประเมินสภาพการทำงาน สภาพความเป็นอยู่

นอกจากนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ฯ ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีกำหนดจะเดินทางไปตรวจเยี่ยมแรงงานไทยที่อิสราเอลในเร็วๆ นี้อีกด้วย

ที่มา: Spring News, 27/11/2561

เปิดทาง 'Startup ฟรีแลนซ์' เข้าถึงเงินกู้

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ในส่วนของกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะหน่วยงานกำหนดนโยบาย ส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เตรียมมอบของขวัญปีใหม่ 2562 ให้กับ SMEs โดยยังคงนำเรื่องของมาตรการช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนามาเป็นตัวช่วยหลัก ซึ่งจะเป็นมาตรการส่งเสริมด้านบุคลากรหรือมีเงื่อนไขที่ให้เข้าถึงกองทุนต่างๆ ง่ายขึ้น จึงใช้กองทุนที่มีอยู่ คือ กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวประชารัฐ กองทุนพลิกฟื้น กองทุนฟื้นฟู มาเป็นเครื่องมือเพิ่มเติมที่จะนำมามอบให้ แต่จะไม่ใช่การใช้จำนวนเงินเข้ามาช่วยเหลือโดยตรง

ซึ่งภายในสัปดาห์หน้าได้สั่งการให้ทุกกรม ในกระทรวงฯ รวบรวมและเสนอให้นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมรับทราบ จากนั้นจะประกาศมาตรการเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้ เช่น การร่วมมือกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ยกระดับพัฒนา SMEs ที่จะใช้ประโยชน์จากศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านการทำงานของอุตสาหกรรมจังหวัด ช่วยระดับชุมชนให้มากขึ้น

แหล่งข่าวยังเปิดเผยเพิ่มเติมอีกว่า ของขวัญปีใหม่ทุกกรมฯ ได้เตรียมไว้รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 5-6 เรื่อง อาทิ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เตรียมงบประมาณไว้ที่ 100 ล้านบาท เพื่อทำแพ็กเกจช่วย SMEs และ Startup ที่จะมีการผ่อนเกณฑ์และเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการที่เป็น “ฟรีแลนซ์” ไม่ใช่นิติบุคคล สามารถยื่นขอเงินกองทุนฯ ที่กระทรวงอุตฯ มีอยู่ได้ โดยคิดอัตราดอกเบี้ยที่ 4% วงเงินตั้งแต่ 50,000-1,000,000 ล้านบาท อนุมัติภายใน 6 วัน

กลุ่มฟรีแลนซ์ เช่น ดีไซเนอร์ เพื่อที่กลุ่ม Startup เหล่านี้จะได้ทั้งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนพัฒนาตนเอง แต่ยังสามารถนำกลุ่มคนเหล่านี้มาช่วยพัฒนาออกแบบผลิตภัณฑ์ให้กับ SMEs และ Startup รายอื่นๆ ได้ด้วย รวมถึงกระจายงบลงไปให้กับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคทั้ง 13 แห่ง เพื่อลงไปช่วย SMEs Startup และ OTOP ในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถสร้างมาตรฐานผลิตภัณฑ์เอส (มอก. S) ได้เป็นมาตรการเสริมเข้าไปนอกเหนือจากมาตรการทางการเงิน

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจ, 26/11/2561

อดีตนักวิจัยยูเอ็นหนุน ‘ลดดอกเบี้ย กยศ.’ ยัน ‘ทุนมนุษย์’ เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุด

สืบเนื่องจากปัญหาการเบี้ยวหนี้ ในลักษณะ "ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย" ที่แพร่ระบาดในกลุ่มลูกหนี้ กยศ. โดยส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการขาดวินัยทางการเงิน และขาดจิตสำนึกในการชำระหนี้ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อ "กองทุนกู้ยืม" อันเป็นทุนหมุนเวียนของรัฐที่มาจากภาษีของประชาชน จากข้อมูลล่าสุดเผยว่าขณะนี้มีเงินค้างชำระรวมทั้งสิ้นกว่า 70,000 ล้านบาท

แต่แล้วรัฐบาลได้ออกมาตรการเพื่อ "ลงดาบ" ด้วยวิธีการบังคับใช้ พ.ร.บ. กยศ. ปี 2560 ซึ่งเป็นฉบับใหม่ มีสาระสำคัญที่ผู้กู้ยืมมีหน้าที่ให้ความยินยอมในขณะทำสัญญากู้ เพื่อให้หักเงินเดือนได้ และต้องเเจ้งสถานะลูกหนี้ให้นายจ้างทราบว่ามีหนี้ ล่าสุดทาง กยศ. ได้ทำการประสานไปยังหน่วยงานข้าราชการ เเละได้เริ่มนำร่องหักเงินเดือนผู้กู้กยศ.ที่ทำงานในกรมบัญชีกลางเป็นหน่วยงานเเรกไปเป็นที่เรียบร้อยเเล้ว

โดยจะเริ่มหักเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในทุกหน่วยราชการที่ผ่านระบบจ่ายตรงของกรมบัญชีกลาง และในช่วงต้นปี 2562 จะเริ่มทำการหักจากเงินเดือนของผู้กู้ที่อยู่ในหน่วยงานเอกชนกว่า 8-9 เเสนคน โดยจะเริ่มจากบริษัทที่มีจำนวนพนักงานมากที่สุดไล่ลงมาตามลำดับ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.มีชัย ออสุวรรณ นักปฏิรูปการศึกษารุ่นใหม่ อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยในประเทศสหรัฐอเมริกาและสิงคโปร์ อดีตนักวิจัยองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) แสดงออกถึงการ เห็นด้วยกับแนวทางที่ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ เสนอในเรื่องการแก้ไขปัญหาดอกเบี้ยและเบี้ยปรับ กยศ. ที่ก่อนหน้านี้กล่าวว่า

"ที่ผ่านมาประชาชนได้รับความเดือดร้อน กรณีหนี้กยศ.เป็นจำนวนมาก บางคนกู้เงินไปเรียน 2 แสน แต่มีหนี้รวม 6 แสนเพราะเจอทั้งค่าปรับและดอกเบี้ย พรรคประชาชาติจึงมีแนวคิดเข้ามาแก้ปัญหาดังกล่าว ใครมีหนี้ก็ต้องใช้ แต่ค่าปรับและดอกเบี้ยต้องยกเลิก พร้อมกันนี้ทางพรรคยังให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพประชาชน ระบบประกันสุขภาพของคนไทยต้องเท่าเทียมกัน เราต้องการคืนหมอคืนโรงพยาบาลให้กับประชาชน ให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิอย่างเท่าเทียมกัน"

โดยทาง ดร.มีชัย เสนอความเห็นเพิ่มเติมว่า เศรษฐกิจการศึกษา (Economics of Education) กล่าวไว้ว่าทุนมนุษย์ หรือตัวตน เป็นทรัพยากรที่ล้ำค่าที่สุดในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจของชาติ ทุนมนุษย์มีความหัศจรรย์เหนือกว่าทุนประเภทอื่นๆ มากกว่า ตึก เครื่องจักร รถ ต้นไม้และแร่ธาตุ เพราะทุนมนุษย์ไม่มีวันใช้หมด ไม่มีค่าเสื่อม ยิ่งใช้งานยิ่งมีประสิทธิภาพ ยิ่งมีคุณค่า

การที่รัฐลงทุนในการศึกษา การจัดตั้งกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) จึงเป็นการลงทุนที่คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม งานวิจัยขององค์การ UNESCO ระบุว่าประเทศที่มีประชากรที่มีการศึกษาอยู่เป็นจำนวนมาก จะเป็นประเทศที่มีลักษณะดังนี้ 1. มีระบบเศรษฐกิจที่มั่นคง 2. มีคดีอาชญากรรมต่ำ ไม่ต้องสูญเสียงบประมาณไปกับค่าใช้จ่ายในการจับโจรผู้ร้าย หรือ ดูแลผู้ต้องขังในเรือนจำ 3. มีประชาชนที่มีระเบียบวินัย มีความรู้ มีความภาคภูมิใจ เข้าใจพหุวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันได้บนความต่างของวัฒนธรรม 4. มีประชาชนที่มีคุณภาพและสุขภาพที่ดี ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในด้านสวัสดิการประกันและค่ารักษาพยาบาลจากรัฐ 5. ประชาชนมีความเท่าเทียมกันด้านรายได้ คนมีงานทำ 6. มีผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ สามารถประกอบอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเองได้ในวันเกษียณ ประหยัดงบอุ้มสังคมสูงวัย และ 7. ที่สำคัญที่สุดคือ มีความเป็นประชาธิปไตยแข็งแกร่ง

ดังนั้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์จากหนี้ กยศ. จึงไม่ใช่แค่ผู้เรียนเท่านั้น แต่รวมถึงรัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน แต่สถานการณ์ของประเทศไทยในปัจจุบัน ภาครัฐกลับมีมาตรการในการผลักภาระทางการเงินจากภาครัฐไปสู่ผู้เรียน ผู้ปกครอง และผู้ค้ำประกัน ทั้งๆ ที่ภาครัฐเองก็เป็นผู้รับประโยชน์จากหนี้สิน กยศ. ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งที่เป็นตัวเงินและที่ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเงินได้

ที่มา: Tnews, 26/11/2561

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท