Skip to main content
sharethis

เลื่อนไต่สวนมูลฟ้องกรณีบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ฟ้องหมิ่นประมาทอาญา นาน วิน อดีตลูกจ้างพม่าในสังกัด สุธารี วรรณศิริ อดีตนักสิทธิมนุษยชนของฟอร์ติฟาย ไรท์ กรณีชี้ปมการละเมิดแรงงานและเผยแพร่วิดีโอในโซเชียลมีเดีย เหตุมีรายละเอียดที่ทนายจำเลยต้องศึกษามาก องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน 16 องค์กร ออกแถลงการณ์ร่วมขอให้ยุติดำเนินคดี ให้ทางการไทยป้องกันการฟ้องปิดปาก

ซ้ายไปขวา: สุธารี วรรณศิริ นาน วิน (ที่มา: canadainternational.gc.cafortifyrights.org)

3 ธ.ค. 2561 ในเพจเฟซบุ๊ก NSP Legal Office รายงานว่า ศาลอาญา (รัชดา) นัดไต่สวนมูลฟ้องคดีระหว่างบริษัทธรรมเกษตร จำกัด โดยชาญชัย เพิ่มพล ผู้รับมอบอำนาจโจทก์ กับสุธารี วรรณศิริ คดีหมายเลขดำที่ 3054/2561 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีที่เธอรีทวีตลิงค์วิดิโอบทสัมภาษณ์ของแรงงานข้ามชาติผ่านแอปพลิเคชั่นทวิตเตอร์ และนาน วิน (แรงงานข้ามชาติ) หมายเลขคดีดำที่ 3011/2561 ฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา จากกรณีให้สัมภาษณ์เรื่องสภาพการทำงานที่ถูกเผยแพร่ผ่านยูทูป

บ.ธรรมเกษตร ฟ้องหมิ่นประมาทอดีตลูกจ้าง-นักสิทธิฯ เหตุชี้ปมละเมิด-โพสท์วิดีโอ

เนื่องจากทนายความจำเลยทั้งสองเพิ่งได้รับแต่งตั้งเป็นทนายความในวันนี้ และคดีมีรายละเอียดที่จะต้องศึกษาจำนวนมาก ทนายจำเลยถึงขอเลื่อนคดีไป 1 นัด ซึ่งคู่ความไม่ค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 11 มี.ค. 2562 เวลา 9.00 น.

ทั้งสองถูกฟ้องร้องดำเนินคดีเมื่อเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา ด้วยความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 และมาตรา 328 กรณีของนาน วิน นั้น ถูกฟ้องจากการที่เขาไปให้ข้อมูลในงานแถลงข่าวของฟอร์ติฟาย ไรท์เมื่อ 6 ต.ค. 2560 ในประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกกรณีหนึ่งที่เขาปรากฏตัวและให้ข้อมูลในวิดีโอความยาว 107 วินาทีของฟอร์ติฟาย ไรท์ประเด็นที่มีคนงานข้ามชาติในบริษัทธรรมเกษตร 14 คนที่ถูกบริษัทฟ้องในข้อหาหมิ่นประมาท หลังพวกเขาออกมาพูดเรื่องเงื่อนไขการทำงานและรายได้ที่ละเมิดกฎหมายแรงงาน หากศาลตัดสินว่าผิด ทั้งสองจะได้รับโทษจำคุกไม่เกินสองปี และค่าปรับจำนวน 200,000 บาท

ในส่วนของสุธารีนั้นถูกฟ้องร้องจากการโพสท์วิดีโอดังกล่าวลงในโซเชียลมีเดีย และถูกฟ้องหมิ่นประมาทแพ่งแยกด้วย โดยเรียกร้องให้สุธารีจ่ายค่าชดเชย 5,000,000 บาท จากการโพสท์วิดีโอจนทำให้ชื่อเสียงบริษัทเสียหาย โดยศาลแพ่ง กทม. ได้นัดให้มีการไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 24 ธ.ค. 2561

ในวันเดียวกัน เว็บไซต์ฟอร์ติฟาย ไรท์ องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน อดีตต้นสังกัดของสุธารี และต้นทางของวิดีโอบทสัมภาษณ์ เผยแพร่ข่าวแถลงการณ์ร่วมจาก 16 องค์กร เพื่อขอให้ทางการไทยและธรรมเกษตรยุติการดำเนินคดีหมิ่นประมาททั้งทางแพ่งและอาญาต่อจำเลยทั้งสอง และเรียกร้องให้ประเทศไทยทำให้การหมิ่นประมาทเป็นความผิดทางแพ่ง มิใช่ความผิดทางอาญา และให้มีการบัญญัติกฎหมายป้องกันการฟ้องคดีปิดปากหรือที่เรียกกันว่า SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation – SLAPP) (อ่านแถลงการณ์ฉบับเต็ม)

“งานด้านสิทธิมนุษยชนไม่ใช่อาญากรรม” เอมี สมิธ ผู้อำนวยการฟอร์ติฟาย ไรท์ กล่าว “สุธารี วรรณศิริ และนาน วิน เป็นผู้เสียหายรายล่าสุดจากการคุกคามด้วยกระบวนการยุติธรรมซึ่งแพร่ระบาดในประเทศไทย และพวกเขาจะไม่ใช่รายสุดท้ายหากทางการไทยไม่กระทำการใด ๆ อย่างเด็ดขาด”

“เรากังวลอย่างยิ่งกับความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ในการใช้ประโยชน์จาก กฎหมายไทยอย่างมิชอบ เพื่อขัดขวางนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในการดำ เนินกิจกรรมอย่างสันติ ซึ่งได้ รับการคุ้มครองตามกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและกฎหมายไทย อันเป็นการปิดกั้นการใช้ เสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย” แถลงการณ์ระบุ

“ก่อนจะมีการฟ้องคดีครั้งล่าสุด บริษัทธรรมเกษตร จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทฟาร์มเลี้ยงไก่ของไทยในจังหวัด ลพบุรีได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับคนงานข้ามชาติ 14 คนที่เคยเป็นลูกจ้างของตนเอง เมื่อเดือนตุลาคม 2559 ทั้งยังได้ฟ้องคดีหมิ่นประมาททางอาญากับอานดี้ ฮอลล์ นักรณรงค์ด้านสิทธิ แรงงานเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 ต่อมายังได้ฟ้องคดีต่อคนงานข้ามชาติสองคนเมื่อเดือนสิงหาคม 2560 ในข้อหาลักทรัพย์ จากการนำบัตรบันทึกเวลางานออกจากพื้นที่บริษัท ทั้งยังได้ฟ้องข้อหาลักทรัพย์กับสุธาสินี แก้วเหล็กไหล ผู้ประสานงานเครือข่ายแรงงานข้ามชาติ (MWRN) และนักปกป้อง สิทธิมนุษยชนหญิง”

“ประเทศไทยควรดำเนินการเพื่อประกันว่าทุกคน อันรวมถึงแรงงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสามารถใช้สิทธิของตนอย่างเสรีโดยไม่ต้องกลัวการแก้เผ็ด รวมทั้งการคุกคามด้วยการฟ้องคดีปิดปากในลักษณะที่ขัดขวางการมีส่วนร่วมของประชาชนหรือ SLAPP (Strategic Litigation Against Public Participation) การฟ้องคดีของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด ดูเหมือนมีเจตนาเพียงเพื่อข่มขู่และคุกคามนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และถือเป็นการแทรกแซงที่ไม่จำเป็นและไม่เหมาะสมต่อสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการเข้าถึงข้อมูล ทางการไทยควรดำเนินการเชิงรุกในการแทรกแซงฝ่ายบริหารของบริษัทธรรมเกษตร จำกัด และอภิปรายถึงแนวทางต่างๆ ที่รัฐบาลไทยสามารถนำมาใช้ตอบโต้บริษัทที่มุ่งฟ้องคดีที่ไม่ชอบธรรม โดยมีเป้าหมายเพื่อโจมตีคนงานและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในศาล”

“ในการเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการครั้งแรก คณะทำงานสหประชาชาติซึ่งประกอบ

ด้วยผู้ชำนาญการอิสระที่มีอำนาจ หน้าที่ส่งเสริมการปฏิบัติตามหลักการชี้นำแห่งสหประชาชาติ

เรียกร้องให้รัฐบาลไทย “ประกันว่าภาคธุรกิจจะไม่นำการฟ้องคดีหมิ่นประมาท มาใช้เป็นเครื่องมือเพื่อ

ขัดขวางการใช้สิทธิและเสรีภาพอย่างชอบธรรมของผู้ทรงสิทธิที่ได้รับผลกระทบ องค์กรภาคประชาสังคม

และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน”

“คำฟ้องคดีต่อนาน วิน สุธารี วรรณศิริ และบุคคลอื่นซึ่งถูกคุกคามด้วยกฎหมายต้องยุติลงโดยทันที

ความไม่ยุติธรรมต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนอื่นใดต้องสิ้นสุดลง” แถลงการณ์กล่าวสรุป

ลงชื่อ:

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (Amnesty International)

อาร์ติเคิล 19 (Article 19)

กลุ่มสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (ASEAN Parliamentarians for Human Rights)

สมาคมผู้หญิง กฎหมาย และการพัฒนาแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asia Pacific Forum on Women, Law

and Development)

มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน (Community Resource Centre Foundation)

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม (Cross Cultural Foundation)

Environmental Justice Foundation

โครงการความร่วมมือระหว่างสมาพันธ์สิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human

Rights – FIDH), ภายใต้กรอบกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อพิทักษ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (Observatory for

the Protection of Human Rights Defenders – OPHRD)

Fortify Rights

Forum Asia

ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch)

Liberty Shared

คณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (International Commission of Jurists)

สมาพันธ์ผู้สื่อข่าวนานาชาติ (International Federation of Journalists)

เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network)

องค์กรต่อต้านการทรมานโลก (World Organisation Against Torture – OMCT)

ภายใต้กรอบกลุ่มสังเกตการณ์เพื่อพิทักษ์นักปกป้องสิทธิมนุษยชน (OPHRD)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net