สนช. แก้ ป.วิ.อาญา ตัดสิทธิคนหนีคดีฟ้องศาล-แก้ฟ้องซ้ำ-กันฟ้องปิดปาก

มติ สนช. เห็นชอบ พ.ร.บ. แก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้ศาลยกฟ้องการฟ้องคดีโดยไม่สุจริตโดยราษฎร และผู้ฝ่าฝืนคำสั่ง คำพิพากษาศาลในคดีอื่นที่ถึงที่สุดได้ สมาชิก สนช. ผู้ยื่นแก้ไขระบุ คนที่หนีคดี ไม่เคารพกระบวนการยุติธรรมย่อมไม่ได้รับการคุ้มครอง ไม่เพียงทักษิณ-ยิ่งลักษณ์ แต่หมายถึงทุกคน ที่ปรึกษา กก.นักนิติศาสตร์สากล มองเป็นกฎหมายต้านฟ้องปิดปาก

แฟ้มภาพ: เว็บข่าวรัฐสภา

4 ธ.ค. 2561 มติชนรายงานว่า การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธานการประชุม ได้มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จำนวนห้ามาตรา ตามที่คณะกรรมาธฺการวิสามัญฯ ที่มีมหรรณพ เดชวิทักษ์เป็นประธาน โดยที่ประชุมลงมติเห็นชอบร่างฯ ในวาระสองและสามด้วยคะแนน 149 ต่อ 0 งดออกเสียง 3 เสียง เตรียมประกาศใช้ พ.ร.บ. ต่อไป

เนื้อหาสำคัญที่อยู่ใน พ.ร.บ. ก็คือมาตรา 5 ที่ให้เพิ่มข้อความต่อไปนี้เข้าไปต่อจากมาตรา 161 แห่ง ป.วิ.อาญา

“มาตรา 161/1 ในคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ หากความปรากฎต่อศาลเองหรือมีพยานหลักฐานที่ศาลเรียกมาว่าโจทก์ฟ้องคดีโดยไม่สุจริตหรือโดยบิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อกลั่นแกล้งหรือเอาเปรียบจำเลยหรือโดยมุ่งหวังผลอย่างอื่นยิ่งกว่าประโยชน์ที่พึงได้โดยชอบ ให้ศาลยกฟ้อง และห้ามมิให้โจทก์ยื่นฟ้องในเรื่องเดียวกันนั้นอีก”

“การฟ้องคดีโดยไม่สุจริตตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงกรที่โจทก์จงใจฝ่าฝืนคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาอื่นซึ่งถึงที่สุดแล้วโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรด้วย”

ทั้งนี้ ป.วิ.อาญา มาตรา 161 ที่มีบัญญัติไว้อยู่แล้ว มีใจความว่า ถ้าฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ให้ศาลสั่งโจทก์แก้ฟ้องให้ถูกต้องหรือยกฟ้องหรือไม่ประทับฟ้อง และโจทก์มีอำนาจอุทธรณ์คำสั่งเช่นนั้นของศาล

ด้านคิงส์ลีย์ แอบบอต ที่ปรึกษาคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากลทวีตต่อกรณีนี้โดยมองว่าการเพิ่มเติมเนื้อหาใน ป.วิ.อาญา นี้คือการผ่านกฎหมายต่อต้านการฟ้องปิดปาก (so-called Anti SLAPP law)

 

 

มติชนสุดสัปดาห์รายงานความเห็นของมหรรณพ เดชวิทักษ์ สมาชิก สนช. ผู้เสนอร่างฯ มาตรา 5 ของ พ.ร.บ. นี้ว่า กรณีที่โจทก์หลบหนีคดีไปต่างประเทศ จะไม่มีสิทธิยื่นฟ้องในคดีอาญาใดๆ ได้อีก แม้ยื่นมา ศาลก็ไม่รับฟ้อง เพราะบุคคลใดที่หลบหนีคดี ไม่เคารพกระบวนการยุติธรม ย่อมไม่ได้รับความคุ้มครองจากกระบวนการยุติธรรมเช่นกัน

ใน พ.ร.บ. ยังมีประเด็นอื่นที่น่าสนใจได้แก่มาตรา 3 ที่ให้ยกเลิกความในวรรคหนึ่งของมาตรา 110 แห่ง ป.วิ.อาญา ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มติม ป.วิ.อาญา (ฉบับที่ 22) พ.ศ. 2547 และให้ใช้ข้อความต่อไปนี้

“มาตรา 110 ในคดีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินสิบปีขึ้นไป ผู้ที่ถูกปล่อยตัวชั่วคราวต้องมีประกัน และจะมีหลักประกันด้วยหรือไม่ก็ได้” เพิ่มจากเดิมที่กำหนดอัตราโทษอย่างสูงอยู่ที่ห้าปีขึ้นไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท