Skip to main content
sharethis

สำรวจเขตเลือกตั้ง ส.ส. ที่สุโขทัย พบใช้จุดเชื่อมระหว่างอำเภอในเขตป่าเขามาตั้งแต่เลือกตั้ง 2554 พร้อมพิจารณาฐานเสียงหลังแบ่งเขตเลือกตั้ง 2562 ส.ส.เขตลดเหลือ 3 ที่นั่ง โดยเขต 1 ประชาธิปัตย์ได้เปรียบ เขต 2 อดีต ส.ส.ภูมิใจไทยย้ายเข้า พลังประชารัฐ ซัด ประชาธิปัตย์ และเขต 3 ภูมิใจไทยยังเหนียวแน่น

ตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งประกาศเมื่อวันที่ 18 ก.ย. 2561 ได้กำหนดกรอบการแบ่งเขต ให้อำนาจ กกต. แบ่งเขตเลือกตั้งโดยรวมอำเภอๆ เป็นเขตเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงพื้นที่ที่ติดต่อใกล้ชิดกัน ความสะดวกในการคมนาคมระหว่างกัน และการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน แต่ถ้าการรวมอำเภอในลักษณะนี้ จะทำให้มีจำนวนราษฎรมากหรือน้อยเกินไป ให้แยกตำบลของอำเภอออกเพื่อให้ได้จำนวนราษฎรพอเพียง สำหรับการเป็นเขตเลือกตั้ง และหากการแบ่งเขตตามกรอบนี้ ทำให้จำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้ง มีจำนวนไม่ใกล้เคียงกันหรือไม่มีสภาพเป็นชุมชนเดียวกัน ให้ดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งตามสภาพของชุมชนที่ราษฎรมีการติดต่อกันเป็นประจำในลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกันและสามารถเดินทางติดต่อกันได้โดยสะดวก

แต่ปรากฎว่าหลังจากที่ กกต. ได้ประกาศเขตเลือกตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 กลับกลายเป็นว่า มีเรื่องที่ต้องถกเถียงกันหนาหูภายในข้ามคืนหลังอดีตกรรมการการเลือกตั้ง สมชัย ศรีสุทธิยากร ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เปิดประเด็นเรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้งในจังหวัดสุโขทัย ว่า มีรูปร่างแปลกตาไปจากรูปแบบที่ กกต. เคยนำมารับฟังความคิดเห็นของประชาชน

เพื่อให้เห็นภาพง่ายที่สุด อาจกล่าวได้ว่าในเขตเลือกตั้งที่ 2 จังหวัดสุโขทัย มีจุดหนึ่งที่เป็นเขตติดต่อกันระหว่างอำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอบ้านด่านลานหอย แต่จุดที่เชื่อมต่อติดกันระหว่างอำเภอเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ในป่าเขามีความกว้างของเขตพื้นที่เพียง 200-300 เมตรเท่านั้น และไม่มีเส้นทางคมนาคมสัญจรไปมาหากันระหว่างสองพื้นที่ โดยการแบ่งเขตเลือกตั้งในลักษณะนี้ ถูกรับรองไว้โดยคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 16/2561 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง(เพิ่มเติม) ซึ่งมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาในการแบ่งเขตของ กกต. ออกไปอีก และหากมีกรณีจำเป็นเร่งด่วนที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศหรือมติใดๆ ของกกต.ที่ออกไว้ ให้ดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายโดยให้เป็นไปตามมติ กกต.

เดิมในการเลือกตั้งปี 2554 จังหวัดสุโขทัยมีเขตเลือกตั้งทั้งหมด 4 เขต แต่เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับ 2560 กำหนดจำนวน ส.ส.จากเดิมที่แบ่งเป็น ส.ส. ในระบบแบ่งเขต 375 คน และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 125 คนเป็น ส.ส.ในระบบแบ่งเขต 350 คน และ ส.ส.ในระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน จึงมีการคำนวณความเป็นตัวแทนของ ส.ส. หนึ่งคนต่อสัดส่วนประชากรใหม่ โดยตามประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง  เรื่อง จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่แต่ละจังหวัดจะพึงมี และจำนวนเขตเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด ได้กำหนดให้จังหวัดสุโขทัยมีเขตเลือกตั้งเหลือ 3 เขต และมี ส.ส. 3 คน

ผลการเลือกตั้งปี 2554 จังหวัดสุโขทัยมี ส.ส. จากพรรคการเมือง 2 พรรคคือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย

เขตเลือกตั้งที่ 1 คือ อําเภอศรีสําโรง และอําเภอเมืองสุโขทัย (เฉพาะตำบลธานี ตำบลเมืองเก่า ตำบลบ้านกล้วย ตำบลปากแคว ตำบลยางซ้าย ตำบลวังทองแดง) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือ วิรัตน์ วิริยะพงษ์ พรรคประชาธิปปัตย์ ชนะด้วยคะแนนเสียง 34,230 ทิ้งห่างจากผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย คือ ประศาสตร์ ทองปากน้ำ 4,998 เสียง

เขตเลือกตั้งที่ 2 คือ อําเภอกงไกรลาศ อําเภอคีรีมาศ อําเภอเมืองสุโขทัย (เฉพาะตําบลตาลเตี้ย ตําบลบ้านสวน ตําบลบ้านหลุม และตําบลปากพระ) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือ สัมพันธ์ ตั้งเบญจผล พรรคประชาธิปัตย์ ชนะด้วยคะแนนเสียง 33,263 เสียง ทิ้งห่างจากผู้สมัครพรรคภูมิใจไทย คือ เกียรติศักดิ์ ตันประสงค์ 10,075 เสียง

เขตเลือกตั้งที่ 3 คือ อําเภอทุ่งเสลี่ยม  อําเภอบ้านด่านลานหอย และอําเภอสวรรคโลก (เฉพาะตำบลเมืองสวรรคโลก ตำบลคลองกระจง ตำบลวังพิณพาทย์ ตำบลไม้ขอน ตำบลย่านยาว ตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลเมืองขลัง และตำบลหนองกลับ) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือ จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล พรรคภูมิใจไทย ปัจจุบันย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ เวลานั้น จักรวาล ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียง 27,671 เสียง ทิ้งหากจากผู้สมัครพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินเพียง คือ สมเจตน์ ลิมปะพันธ์ 70 เสียง ต่อมามีการเลือกตั้งซ่อม

เขตเลือกตั้งที่ 4 คือ อําเภอศรีสัชนาลัย อําเภอศรีนคร และอําเภอสวรรคโลก (เฉพาะตําบล ป่ากุมเกาะ ตําบลในเมือง ตําบลคลองยาง และตําบลนาทุ่ง) ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งคือ มนู ทุกประเสริฐ พรรคภูมิใจไทย ชนะด้วยคะแนนเสียง 25,934 ทิ้งห่างจากผู้สมัครพรรคชาติไทยพัฒนา คือ อารยะ ชุมดวง 4,340 เสียง

ต่อมาเมื่อมีการดำเนินการแบ่งเขตใหม่ สำหรับการเลือกตั้งในปี 2562 กกต. จังหวัดสุโขทัยได้ออกแบบเขตเลือกตั้งใหม่ทั้งหมด 3 รูปแบบเพื่อเปิดให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

ร่างการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. จังหวัดสุโขทัย 3 แบบ สำหรับรับฟังความคิดเห็นของ กกต.

รูปแบบที่ 1 แบ่งเขต 3 เขตดังนี้ เขตที่ 1 อำเภอศรีสำโรง อำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอเมืองสุโขทัย (เฉพาะตำบลธานี ตำบลเมืองเก่า ตำบลบ้านกล้วย ตำบลปากแคว ตำบลยางซ้าย ตำบลวังทองแดง) มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้น 194,914 คน ซึ่งถือว่าตำกว่าค่าเฉลี่ยจำนวนประชากรต่อ ส.ส. 1 คน เพียง 4,859 คน เขตที่ 2  อำเภอกงไกรลาศ อำเภอคีรีมาศ อำเภอบ้านด่านลานหอย และอำเภอเมืองสุโขทัย (เฉพาะตําบลตาลเตี้ย ตําบลบ้านสวน ตําบลบ้านหลุม และตําบลปากพระ) มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้น 200,491 คนซึ่งกว่าค่าเฉลี่ย 718 คน เขตที่ 3 อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก และอำเภอศรีนคร มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้น 203,914 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4,141 คน

รูปแบบที่ 2 แบ่งเขต 3 เขตดังนี้ เขตที่ 1 อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกลาศ มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 226,281 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 26,508 คน เขตที่ 2 อำเภอศรีสำโรง อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอทุ่งเสลี่ยม มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 169,124 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 30,649 คน เขตที่ 3 อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีนคร มีประชาการรวมกันทั้งสิ้น 203,914 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4,141 คน

รูปแบบที่ 3 แบ่งเขต 3 เขตดังนี้ เขตที่ 1 อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกลาศ มีประชากรรวมกันทั้งสิ้น 226,281 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 26,508 คน เขตที่ 2 อำเภอสวรรคโลก อำเภอศรีสำโรง อำเภอบ้านด่านลานหอย มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้น 203,823 คน สูงกว่าค่าเฉลี่ย 4,050 คน เขตที่ 3 อำเภอศรีชนาลัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอศรีนคร มีจำนวนประชากรรวมกันทั้งสิ้น 169,215 คน ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 30,558 คน

หมายเหตุ ค่าเฉลี่ยประชากรจังหวัดสุโขทัยต่อ ส.ส. 1 คน คือ ประชากร 199,773 คน ต่อ ส.ส. 1 คน

โดยทั้งสามรูปแบบนี้ได้ประกาศเพื่อเปิดให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะตั้งแต่วันที่ 21-25 พ.ย. แต่ผลปรากฎว่าในวันที่ 29 พ.ย. 2561 ประกาศ กกต. เรื่องการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ได้กำหนดให้พื้นที่เขตเลือกตั้งมีรูปแบบดังนี้

เขตที่ 1 อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอศรีสำโรง อำเภอกงไกรลาศ (เฉพาะตำบลไกรกลาง ตำบลไกรใน ตำบลกกแรต และตำบลบ้านใหม่สุขเกษม)

เขตที่ 2 อำเภอทุ่งเสลี่ยม  อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกรลาศ (เฉพาะตำบลกง ตำบลบ้านกร่าง ตำบลไกรนอก ตำบลดงเดือย ตำบลป่าแฝก ตำบลท่าฉนวน ตำบลหนองตูม)

เขตที่ 3 อำเภอศรีสัชนาลัย อำเภอศรีนคร อำเภอสวรรคโลก

ทั้งนี้เมื่อวิเคราะห์ รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งของจังหวัดสุโขทัย พบว่าการแบ่งเขตล่าสุดที่ออกมาพร้อมกับประกาศของ กกต. นั้นมีลักษณะคล้ายกับการแบ่งเขตการเลือกตั้งปี 2554

เขตเลือกตั้งที่ 1 ฐานเดิมพื้นที่ประชาธิปัตย์

เขตเลือกตั้งที่ 1 ในปี 2562 เมื่อดูจากรูปร่างแล้วยังคงยึดกับฐานเดิมในการแบ่งเขตเลือกตั้งปี 2554 แต่ได้มีการเพิ่มเติมพื้นที่เขตในอำเภอกงไกรลาศ (เฉพาะตำบลไกรกลาง ตำบลไกรใน ตำบลกกแรต และตำบลบ้านใหม่สุขเกษม) เข้ามาเพิ่ม เขตเลือกตั้งนี้เป็นการทับซ้อนของเขตเลือกตั้งที่ 1 และ 2 ในการเลือกตั้งปี 2554 ซึ่งทั้งสองเขตนี้ได้ผู้ชนะการเลือกตั้งในปี 2554 จากพรรคประชาธิปัตย์ทั้งสองเขต

ศึกเลือกตั้งเขต 2 สุโขทัย จับพลังประชารัฐชนประชาธิปัตย์

เขตเลือกตั้งที่ 2 ในปี 2562 ซึ่งยังใช้ฐานจากอำเภอทุ่งเสลี่ยม และอำเภอบ้านด่านลานหอย ไว้เช่นเดิมใกล้เคียงกับเขตเลือกตั้งที่ 3 ในปี 2554 แต่ได้ตัดพื้นที่ในอำเภอสวรรคโลกออก และเพิ่มพื้นที่ อำเภอคีรีมาศ อำเภอกงไกรลาศ (เฉพาะตำบลกง ตำบลบ้านกร่าง ตำบลไกรนอก ตำบลดงเดือย ตำบลป่าแฝก ตำบลท่าฉนวน ตำบลหนองตูมเข้ามาแทน การเลือกตั้งครั้งจึงเป็นการทับซ้อนกันระหว่างเขตพื้นที่ซึ่ง จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส. พรรคภูมิใจไทย (ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ) ซึ่งเคยเป็นผู้ชนะในเขตที่ 3 ในการเลือกตั้งปี 2554 (ทิ้งห่างจากคู่แข่ง 70 เสียง) กับ สัมพันธ์ ตั้งเบญจผล อดีต ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งเคยเป็นผู้ชนะในเขตที่ 2 ในการเลือกตั้งปี 2554 (ทิ้งห่างจากคู่แข่ง 10,075 เสียง)

เขตเลือกตั้งที่ ฐานเสียงยังเป็นของพรรคภูมิใจไทย

เขตเลือกตั้งที่ 3 ในปี 2562 ยังคงยืนฐานพื้นที่เดิมจากเขตเลือกตั้งในปี 2554 เขตที่ 4 แต่เพื่มพื้นที่อําเภอสวรรคโลก (เฉพาะตำบลเมืองสวรรคโลก ตำบลคลองกระจง ตำบลวังพิณพาทย์ ตำบลไม้ขอน ตำบลย่านยาว ตำบลท่าทอง ตำบลปากน้ำ ตำบลเมืองขลัง และตำบลหนองกลับ) เข้าไปซึ่งในปี 2554 เป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่ในเขตเลือกตั้ง 3 ปี 2554 ฉะนั้นเขตนี้จึงเป็นพื้นที่ทับซ้อนกันระหว่างพื้นที่ซึ่ง มนู ทุกประเสริฐ พรรคภูมิใจไทย เคยเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งในปี 2554 กับพื้นที่ซึ่ง จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส. พรรคภูมิใจไทย (ที่ย้ายไปสังกัดพรรคพลังประชารัฐ) ซึ่งเคยชนะการเลือกตั้งในปี 2554 เช่นกัน

สำหรับ จักรวาล ชัยวิรัตน์นุกูล อดีต ส.ส. พรรคภูมิใจไทย ได้ตัดสินใจร่วมกับกลุ่มสามมิตร ที่มีสมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นแกนนำ และได้เข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเมื่อวันที่ 18 พ.ย. ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งปี 2554 กกต. ได้พิจารณาให้ใบเหลืองแก่ จักรวาล เนื่องจากมีผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ ร้องเรียนว่า จักรวาล ซึ่งได้คะแนนเลือกตั้งเป็นลำดับที่ 1 ให้เงินแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 20 คน คนละ 100 บาท ที่วัดหนองหมื่นชัย หมู่ 5 ต.ไทยชนะศึก อ.ทุ่งเสลี่ยม จ.สุโขทัย เพื่อจูงใจให้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้แก่ตนเอง แต่จักรวาล อ้างว่าเป็นการให้เงินเบี้ยเลี้ยงช่วยหาเสียง ขณะที่ผลการสอบสวนของ กกต. พบว่าไม่ได้เป็นไปตามที่กล่าวอ้าง จึงมีการพิจารณาให้ใบแดง 3 เสียง ใบเหลือง 1 เสียง และยกคำร้อง 1 เสียง ซึ่งตามข้อกฎหมายการให้ใบแดง ต้องได้เสียง 4 ใน 5 หรือ กกต. 4 คน จาก 5 คน ผลสรุปจึงมีมติให้เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) พร้อมให้ดำเนินคดีอาญาแก่ผู้ที่ให้เงิน คือ มงคล ศรีอ่อน ปัจจุบันเป็นประธาน อบจ.สุโขทัย

ต่อมาในการเลือกตั้งซ่อมเขต 3 จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่  31 ก.ค. 2554 จักรวาล ได้รับการเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. เขตอีกครั้ง โดยได้คะแนนสูงสุดถึง 34,232 คะแนน ทิ้งห่างจากคู่แข่งผู้สมัครพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดินเพียง คือ สมเจตน์ ลิมปะพันธ์ มากถึง 11,350 คะแนน(อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net