สนช.ผ่านร่าง กม.เก็บภาษีขายของออนไลน์ โอนเกิน 3 พันครั้งต่อปี ถูกสรรพากรสอบ

สนช. ผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอน และฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้ง รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบ และนำไปสู่การเก็บภาษี

ที่มาภาพ Wikipedia

5 พ.ย.2561 เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา ข่าวสดออนไลน์ รายงานว่า วันดังกล่าว ที่รัฐสภา การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้พิจารณา ร่างพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่….) พ.ศ….. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมประเด็นว่าด้วยการชำระเงินภาษีผ่านทางช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ และการแจ้งรายละเอียดของบุคคล และนิติบุคคล ที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีรับโอน และฝากเงินเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากหรือรับโอนเงิน 200 ครั้ง รวมมูลค่า 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี เพื่อให้กรมสรรพากรตรวจสอบ และนำไปสู่การเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในวาระ 2 และวาระ 3

หลังการอภิปราย ที่ประชุมได้ลงมติในวาระ 3 ผลปรากฏว่า ที่ประชุมสนช. ที่มีผู้แสดงตนต่อที่ประชุม 146 คน ลงมติเห็นชอบ 139 เสียง และงดออกเสียง 7 เสียง ทั้งนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นด้วยกับข้อสังเกตของ กมธ. ที่ระบุให้ผู้มีหน้าที่รายงานข้อมูล ได้แก่ สถาบันการเงินของเอกชน และของรัฐ รวมถึงผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ต้องส่งรายละเอียดให้กรมสรรพากร เพื่อใช้ประมวลร่วมกับข้อมูลอื่นๆ เพื่อคัดเลือกรายบุคคลที่มีความเสี่ยต่อการปฏิบัติหน้าที่ทางภาษีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งกรมสรรพากรต้องพัฒนาระบบการทำงาน เพื่อไม่ทำให้เจ้าหน้าที่ใช้ดุลยพินิจแบบเลือกปฏิบัติ และเพื่อให้ประชาชนเสียภาษีได้ถูกต้องและได้รับผลกระทบน้อยที่สุด

สำหรับการอภิปรานั้น เริ่มจาก วิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รมช.คลัง ในฐานะประธาน กมธ. ยืนยันว่า ไม่ใช่การบังคับจนเกินไป แต่เพื่อให้การเก็บภาษีเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ระบุให้กรมสรรพากรพิจารณาการจัดเก็บภาษีที่ยั่งยืน และไม่สร้างภาระทางภาษีในอนาคต รวมถึงต้องการยกระดับธุรกิจแบบเอสเอ็มอีด้วย

“ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้เจาะจงเก็บภาษีเฉพาะผู้ค้าออนไลน์เท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ เพราะจากตัวเลขของกลุ่มที่ใช้แรงงาน อายุ 30 – 39 ปี ที่มี 10.7 ล้านคน พบว่าเป็นผู้มีเงินเดือนประจำ 8.2 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 5.2 แสนราย และไม่มีระบบเงินเดือน 2.5 ล้านคน ยื่นเสียภาษี 3.1 แสนคน ขณะที่ส่วนนิติบุคคลที่เสียภาษี มี 6.4 แสนราย และยื่นแบบเสียภาษีเพียง 4.2 แสนราย ทำให้สร้างภาระทางการคลัง ดังนั้น ผมยืนยันว่าร่างกฎหมายนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อการใช้เงินสดของประชาชน อีกทั้งผลดีของร่างกฎหมายคือช่วยตรวจสอบ และป้องปรามกลุ่มธุรกิจสีเทาได้ด้วย” นายวิสุทธิ์กล่าว

ข่าวสดออนไลน์ รายงานด้วยว่า ในการประชุมดังกล่าว สนช. ได้แสดงความเห็นคัดค้าน และขอให้แก้ไขสาระเพิ่มเติม เนื่องจากการรับฟังความเห็นประชาชนไม่ทั่วถึง และเนื้อหาสร้างภาระเกินความจำเป็น รวมถึงขาดหลักเกณฑ์รายละเอียดที่ชัดเจน ทำให้อาจกระทบกับ สนช. ที่ได้รับเงินโอนจากค่าเบี้ยประชุม หรือรายได้อื่น เช่น เงินทำบุญทอดกฐิน ก็ได้รับผลกระทบไปด้วย โดยมีพักการประชุมนาน 45 นาที เพื่อให้ กมธ. และสนช. ที่ยังติดใจหารือนอกรอบ และผลการหารือนอกรอบดังกล่าวทำให้ กมธ. ยอมแก้ไข มาตรา 3 วรรคสอง (2) ว่าด้วยการรายงานข้อมูลการฝาก หรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้ง เป็น 400 ครั้ง ขณะที่ยอดรวมของธุรกรรมดังกล่าวยังคงเดิม คือ ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป จนลงมติและได้มติในเวลาต่อมาดังกล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท