Skip to main content
sharethis

วันนี้ลุงเปย์อะไร? มติ ครม. เพิ่มค่าป่วยการ อสม.จาก 600 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน พร้อม เห็นชอบช่วยเหลือชาวสวนยาง-ปาล์มน้ำมัน วงเงินกว่า 2 หมื่นล้าน

5 ธ.ค.2561 วานนี้ (4 ธ.ค.61) การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธานการประชุมนั้น มีมติที่น่าสนใจดังนี้

เพิ่มค่าป่วยการ อสม.จาก 600 เป็น 1,000 บาทต่อเดือน

ครม. มีมติเห็นชอบให้เพิ่มค่าป่วยการอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจแก่ อสม. ในการปฏิบัติหน้าที่ จากเดิมอัตราเดือนละ 600 บาท/คน เป็นเดือนละ  1,000 บาท/คน ตามที่กระทรวงสาธารณสุข เสนอ

เห็นชอบช่วยเหลือชาวสวนยาง-ปาล์มน้ำมัน วงเงินกว่า 2 หมื่นล้าน

 

พล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน ภายหลังการเป็นประธานประชุม ครม.ด้วยว่า รัฐบาลใช้แนวทางทุกมาตรการเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อแก้ไขปัญหาปาล์ม ยางพารา ข้าว รวมทั้งการหารือกับต่างประเทศ เพราะประเทศต่างๆ ก็ประสบปัญหาจำนวนยางค้างสต๊อกและราคายางพาราตกต่ำเช่นกัน ซึ่งรัฐบาลได้ทำทุกมาตรการ ทั้งการปรับพืชปลูกทดแทน การลดพื้นที่ การปลูก สำหรับยางพารา ไทยผลิตยางพาราเพื่อการส่งออกประมาณ  4 – 5 ล้านตัน ในประเทศต่างๆ ก็มีการส่งออกยางพาราเป็นล้านตันเช่นกัน รวมทั้งมีอยู่ค้างในสต๊อกอีกด้วย  ประกอบกับราคาน้ำมัน ที่ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล ก็ส่งผลกระทบเช่นกัน เกิดการนำยางสังเคราะห์มาใช้แทนเพราะมีราคาที่ต่ำกว่า ขณะที่ต้นทุนการผลิตยางของไทยยังสูง เพราะคิดค่าแรงรวมคนกรีด ทั้งนี้ รัฐบาลได้ให้การดูแลทั้งเจ้าของสวนยางและผู้กรีดยาง ตามสัดส่วน รวมทั้ง ยังนำนวัตกรรมใหม่เข้ามาปรับใช้ อาทิ  การใช้ยางพาราส่วนหนึ่งในการสร้างถนน รวมทั้งเร่งพัฒนาระบบสหกรณ์เพื่อการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกรอีกด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ ยังกล่าวถึงราคาข้าวที่ขยับตัวสูงขึ้นว่า เนื่องจากบางประเทศประสบปัญหาจากภัยทางธรรมชาติทำให้ผลผลิตลดลง ทำให้ข้าวเป็นสินค้าที่มีความต้องการสูง ตามกลไกตลาดโลก

ขณะที่ ณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบการช่วยเหลือเสถียรภาพทั้งยางพาราและปาล์มน้ำมัน โดยยางพาราเห็นชอบโครงการรักษาเสถียรภาพยางพาราไม่ให้ต่ำกว่าราคาตลาด  โดยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้สถาบันเกษรกรสามารถรวบรวมยางพาราเพื่อส่งออกไปต่างประเทศได้ เป้าหมายสนับสนุนทั้งสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร วงเงิน 5,000 ล้านบาท ดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 ธ.ค. 2561-28 กุมภาพันธ์ 2563 โดยเสริมสร้างสถาบันเกษตรกรที่เป็นแม่ข่ายสามารถดำเนินธุรกิจ รวบรวมและหรือแปรรูปยางพารา หรือจำหน่ายตลาดต่างประเทศจำนวน 100,000 ตัน 

โดยใช้แหล่งเงินทุนของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) โดย ธ.ก.ส.จะคิดดอกเบี้ยจากโครงการร้อยละ 4 ต่อปี สถาบันเกษตรกรรับภาระดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี และรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ย ธ.ก.ส.ร้อยละ 3.99 ต่อปี รวม 199.50 ล้านบาท และจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการจ่ายชดเชยค่าบริหารจัดการให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ เพื่อให้สถาบันเกษตรกรเป็นค่าบริหารจัดการในการรวบรวมยางพาราให้สถาบันเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการตามภาระใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงในอัตรา 2 บาทต่อกิโลกรัม เป็นเงิน 200 ล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.ทำหน้าที่โอนเงินให้สถาบันเกษตรกรต่อไป 

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบโครงการช่วยเหลือสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน เริ่มดำเนินการธันวาคม 2561-ก.ย. 2562 โดยจะช่วยเหลือเกษตรกรที่มีสวนยางในพื้นที่เอกสารสิทธิ์เปิดกรีดแล้วและขึ้นทะเบียนกับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ก่อนวันที่ 14 พ.ย.2561 จำนวน 999,065 ราย และคนกรีดยาง 304,266 ราย รวมพื้นที่ 9.45 ล้านไร่ โดยให้ความช่วยหลือเกษตรกรตามพื้นที่เปิดกรีดจริงไร่ละ 1,800 บาท รายละไม่เกิน 15 ไร่ (แบ่งเป็นเจ้าของสวนยาง 1,100 บาทต่อไร่ และคนกรีดยาง 700 บาทต่อไร่) คาดใช้งบประมาณโครงการนี้ 17,000 ล้านบาท 

ส่วนการช่วยเหลือชาวสวนปาล์มราคาตกต่ำ ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชาวสวนปาล์ม โดยช่วยเหลือตามพื้นที่ปลูกจริงไร่ละ 1,500 บาท ครัวเรือนไม่เกิน 15 ไร่ โดยช่วยเหลือเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ในส่วนที่ปลูกปาล์มแล้วให้ผลผลิตอายุมากกว่า 3 ปี จำนวน 150,000 ราย พื้นที่ 2.25 ล้านไร่ ซึ่งเกษตรกรจะต้องแจ้งยืนยันขอรับสิทธิ์กับกรมส่งเสริมการเกษตรภยในเดือนธันวาคม 2561 โดยกรณีขึ้นทะเบียนก่อนปี 2561 ให้มาปรับปรุงให้เป็นปัจจุบันภายในเดือนธันวาคมนี้เช่นกัน ทั้งนี้ ทะเบียนบ้านที่นำมาขึ้นทะเบีนเกษตรกรจะต้องกำหนดบ้านเลขที่ และกรณีย้ายเข้าทะเบียนบ้านใหม่ต้องดำเนินการตามเงื่อนไขของกระทวงมหาดไทยก่อนวันที่ 29 พ.ย. 2561 และจะต้องเป็นชาวสวนปาล์มที่เปิดบัญชีเงินฝากไว้กับ ธ.ก.ส. โดยระยะดำเนินการจะเริ่มเดือนธันวาคม 2561- ก.ย.2562 โดยวงเงินรวมโครงการนี้ทั้งการช่วยเหลือเกษตรกรและบริหารจัดการประมาณ 3,458 ล้านบาท ทั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามมติคณะกรรมการปาล์มน้ำมันแห่งชาติเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 2561 ซึ่งยังมีทั้งการมอบหมายให้กระทรวงพลังงานโดยกรมธุรกิจพลังงานเริ่งรัดออกมาตรฐานคุณภาพบี 100 ใหม่ เพื่อให้สามารถรองรับการผสมบี 10 โดยเร็ว และมอบหมายให้กระทรวงพลังานโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เร่งรัดการดำเนินการรับซื้อปาล์มดิบผลิตกระแสไฟฟ้าโรงไฟฟ้าบางปะกง 160,000 ตันให้เสร็จโดยเร็ว

และ ครม.รับทราบโครงการของขวัญปีใหม่ของหน่วยงานต่าง ๆ เช่น กระทรวงมหาดไทยดำเนินการตามภายใต้แนวคิด 127 ปี มหาดไทยทุกหัวใจเราดูแล มีทั้งสิ้น 22 โครงการ เช่น แบบบ้านสานฝันของกรมโยธาธิการและผังเมือง โดยจัดทำแบบบ้าน 7 รูปแบบ นำเสนอต่อประชาชน เป็นต้น โครงการของกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีหลายโครงการ เช่น มอบบ้านมั่นคง 1096 หลัง บ้านปันสุขเพื่อผู้สูงอายุ 1 พันหลัง 76 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นต้น

 

ที่มา  สำนักข่าวไทย และเว็บไซต์ทำเนียบรัฐบาล

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net