Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อย่างที่ทราบกันดี ในอีกไม่กี่วันจะเริ่มการคัดเลือก "ส.ว. กลุ่มอาชีพ" จาก 10 กลุ่มอาชีพ (เฉพาะ 5 ปีแรก ) และจะใช้การคัดเลือกกันเองภายในกลุ่มอาชีพแต่ละกลุ่มและแต่ละวิธีการสมัครมาคัดเลือกกันให้เหลือ 200 คน แล้ว คสช. จะมาหยิบไปใช้สัก 50 คน

เหตุผลของการที่ ส.ว. ต้องมาจากกลุ่มอาชีพ กรธ. หรือคนร่างรัฐธรรมนูญอ้างว่า เพื่อให้วุฒิสภาเป็นสภาพลเมืองที่มีความเป็น "ตัวแทนกลุ่มอาชีพ" ในสังคมเข้าไปทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมายในสภา

แต่จากระบบการคัดเลือกของ ส.ว. กลุ่มอาชีพ ผมมองเห็นปัญหาอย่างน้อย 3 ข้อ ดังนี้

1) การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนมีความสามารถอาจตกรอบก่อน

ระบบการคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ ถูกแบ่งออกเป็นการคัดเลือก 3 ระดับ ไล่ตั้งแต่อำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ 

ปัญหาแรกที่เกิดคือ คุณภาพของผู้สมัครของแต่ละอำเภออาจจะไม่เท่ากัน บางอำเภอผู้สมัครทุกคนอาจมีความสามารถมากกว่าผู้สมัครทุกคนในอำเภออื่น แต่ต้องถูกคัดออกจากการแข่งขัน 

เท่านั้นยังไม่พอ เหตุการณ์แบบเดียวกันก็จะเกิดขึ้นอีกในระดับจังหวัด ผู้ได้รับคัดเลือกในระดับจังหวัดหนึ่งอาจเก่งกว่า ผู้ได้รับคัดเลือกของจังหวัดอื่นทั้งจังหวัด แต่ต้องถูกคัดออกจากการแข่งขันเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ว. ในระดับประเทศ จึงไม่ใช่ตัวเลือกของ 'คนที่มีความสามารถที่สุด' จริง เพราะมีผู้สมัครที่ดีกว่าถูกคัดออกไปแล้วในการแข่งขันระดับอำเภอและจังหวัด

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ เป็นระบบที่ไม่มีประสิทธิภาพ

2) การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ เป็นระบบที่ไม่มีความโปร่งใส

แม้ว่า พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว. จะกำหนดโทษของคนที่ 'ฮั้วโหวต' ไว้สูง แต่การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ โดยระบบแล้ว สามารถที่จะ 'โกง' ได้ไม่ยากและแนบเนียนอีกด้วย

พูดให้เห็นภาพก็คือ หากผมต้องการได้รับเลือกเป็น ส.ว. ขั้นแรกก็คือ ให้คนที่สนับสนุนตัวเองสมัครเป็นคัดเลือกเป็นตัวแทนในระดับอำเภอจำนวนมากๆ เพราะการคัดเลือกใช้ระบบลงคะแนนที่เป็นเชิงปริมาณ หากหาคนของตัวเองไปสมัครในแต่ละอำเภอมีมาก โอกาสชนะโหวตในระดับจังหวัดก็มีสูงขึ้น เพราะหมายความ ผู้ที่ได้รับคัดเลือกในระดับอำเภอจะเป็นคนที่เราล็อกไว้แล้วว่าให้เลือกเรา

ในขณะเดียวกัน หากทำแบบเดียวกันในสเกลระดับจังหวัด คือ หาคนของตัวเองไปสมัครในระดับอำเภอของจังหวัดอื่น ก็หมายความว่า ในผู้ได้รับเลือกของแต่ละจังหวัดก็จะมีคนของเรา ดังนั้น การได้รับเลือกเป็นตัวแทนระดับประเทศก็มีโอกาสสูงขึ้นไปอีก

ประเทศไทยมี 878 อำเภอ หากอย่างเพิ่มโอกาสในการได้รับเลือกเป็น ส.ว. ก็ใช้คนจากทั่วประเทศประมาณ 4,500 คน สำหรับคนทั่วไป การหาคนจำนวนนี้ยาก แต่สำหรับคนที่มีทั้งทุนการเงินและทุนทางสังคม ก็เพียงพอจะใช้ 'ซื้อตำแหน่ง' ให้ตัวเองได้โดยระบบ

นี่คือเหตุผลว่า ทำไมการคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ เป็นระบบที่ไม่มีความโปร่งใส

3) การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ เป็นระบบที่ไม่ใช่ตัวแทนของประชาชน

แม้ว่าเหตุผลของผู้ร่างรัฐธรรมนูญจะต้องการให้ ส.ว. มีลักษณะของความเป็นกลุ่มอาชีพ แต่ผู้สมัครของแต่ละกลุ่มอาชีพไม่มีที่มาจากความเป็นสถาบันและค่อนข้างกระจัดกระจาย หรือหมายความว่า ผู้ที่สมัครคัดเลือกเป็น ส.ว. อาจจะมีคุณสมบัติเพียงพอต่อการสมัครเป็น ส.ว. ของกลุ่มอาชีพ แต่ไม่ใช่ตัวแทนของกลุ่มอาชีพโดยแท้จริง

กล่าวคือ ในสังคมมีกลุ่มอาชีพที่เป็นสถาบันอยู่แล้ว เช่น สภาวิชาชีพต่างๆ เช่น ทนายความ บัญชี หรือ กลุ่มสมาคมผู้ประกอบการ ฯลฯ แต่กลุ่มอาชีพดังกล่าว แต่ระบบการคัดเลือกไม่ได้ให้ความสำคัญกับสถาบันกลุ่มอาชีพ และยังเปิดให้มีการสมัครเป็นกลุ่มอาชีพโดยอิสระ ทำให้ผลร้ายที่เกิดขึ้น ก็คือ ได้ตัวแทนที่ไม่เป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพจริงๆ แม้ในช่วง 5 ปีแรก จะให้ ผู้ สมัคร ส.ว. จากองค์กรวิชาชีพ แต่กลับไม่มีเรื่องการทำให้องค์กรที่เสนอชื่อมีความเป็นสถาบันที่เปิดกว้างต่อกลุ่มอาชีพทั่วประเทศ 

สุดท้ายแล้ว การคัดเลือก ส.ว. กลุ่มอาชีพ จึงเต็มไปด้วยปัญหา เมื่อนำมาเปรียบเทียบกับ ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง ก็อาจจะพูดได้เต็มปากกว่า ว่าอย่างน้อยที่สุด ส.ว. เลือกตั้ง ก็มีความเป็นตัวแทนของประชาชนและเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาแข่งขันทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสกว่า

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net