สุรพศ ทวีศักดิ์: ทำไมคนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนเผด็จการ

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

นอกจากมีคนจำนวนไม่น้อยสนับสนุนรัฐประหาร 2549 และ 2557 อย่างออกหน้าแล้ว เมื่อมีกระแสวิจารณ์ดารา นักร้องที่ประชาสัมพันธ์ผลงานให้รัฐบาลทหาร ประวิตร วงศ์สุวรรณ (ป้อม) ก็ออกมาแย้งกระแสนั้นว่า จะไป “จำกัดสิทธิ” เขาเหล่านั้นได้ไง ขณะที่ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ตู่) ก็ให้กำลังใจดารา นักร้องเหล่านั้นว่า “อย่าไปยอมแพ้คนไม่ดี คนไม่มีคุณธรรม ศีลธรรม” แปลว่าการสนับสนุนเผด็จการในบ้านเรา อิงทั้งข้ออ้างเรื่อง “สิทธิ” และข้ออ้างเรื่อง “คุณธรรม ศีลธรรม” ด้วยอย่างมีนัยสำคัญ

ถามว่าทำไมคนไทยจำนวนไม่น้อยสนับสนุนเผด็จการ? ถ้าตอบในทางการเมือง ก็อาจจะตอบว่า เพราะการเมืองในระบบเลือกตั้งทำลายความชอบธรรม/ความน่าเชื่อถือของตัวเอง ดังข้อกล่าวหาเรื่องคอร์รัปชัน การใช้อำนาจอย่างไม่เคารพสิทธิมนุษยชน กรณีสงครามยาเสพติด กรือเซะ ตากใบ จนมาถึงปัญหานโยบายจำนำข้าว และการผ่านร่างกฎหมาย “เหมาเข่ง” อันเป็นที่มาของการสร้างวาทกรรม “ระบอบทักษิณ” และ “เผด็จการรัฐสภา” เป็นต้น

แน่นอนว่า ข้อกล่าวหาเหล่านั้นเป็น “ข้อกล่าวหาทางการเมือง” แต่ถ้าเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีมูลเอาเสียเลยก็คงไม่สามารถ “จุดติด” ให้คนจำนวนมากออกมาชุมนุมได้ ทว่าถ้าเป็นข้อกล่าวหาที่ “มีมูล” ก็ควรที่จะแก้ไขกันไปตามกระบวนการประชาธิปไตยและตามกระบวนการยุติธรรมบนหลักนิติรัฐ แต่ความเป็นจริงของการเมืองไทย ก็ไม่เคยเป็นไปตามวิถีที่ “ควร” จะเป็น เนื่องจากมันไม่ได้มีเฉพาะ “การเมืองในระบบ” เท่านั้น หากยังมี “การเมืองนอกระบบ” ทับซ้อนกันอยู่ ดังนั้นการแก้ปัญหาการเมืองในระบบด้วย “วิธีนอกระบบ” จึงกลายเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยมองว่าเป็น “ทางเลือก” ที่จำเป็นอีกทางหนึ่ง

ทำไมคนจำนวนไม่น้อยถึงเชื่อว่า “อำนาจนอกระบบ” พึ่งได้ และวิธีการนอกระบบเป็นทางเลือก ก็เพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าการเมืองในระบบจะแก้ปัญหาของตัวมันเองได้ (และมักจะมีตัวอย่างให้เห็นว่า นักการเมืองที่ถูกสังคมตัดสินว่าทำอะไรผิด มักเอาผิดทางกฎหมายไม่ได้) แม้แต่การแก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น สังคมเราก็แทบจะไม่เคยเชื่อหรือ “ให้ความไว้วางใจ” ว่านักการเมืองจะทำได้ ดังนั้นจึงต้องหา “คนกลาง” มาเขียนรัฐธรรมนูญให้เสมอ จะเป็นคนกลางแบบ “สภาสนามม้า” แบบยุคร่าง รธน.2540, รธน.2550 หรือแบบปัจจุบัน ก็เรียกว่า “คนกลาง” ได้ทั้งนั้น เพราะคนกลางหมายถึงคนที่ไม่ใช่นักการเมืองในระบบเท่านั้นเอง

ภายใต้มายาคติของ “คนกลาง” ควรเป็นผู้เขียนกติกาดังกล่าว นักการเมืองจึงกลายเป็นผู้เล่มตามกติกาที่ถูกเขียนให้เล่น ดังนั้นพรรคการเมืองแต่ละพรรคจึงแข่งกัน “ขาย” นโยบายเศรษฐกิจ ประชานิยม สวัสดิการต่างๆ เท่านั้น ซึ่งที่จริงแล้วการแข่งนโยบายก็เป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่หายไปอย่างน่าตกใจก็คือ นโยบายของแต่ละพรรคการเมืองแทบจะไม่ได้สะท้อน “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” และแนวทางพัฒนาประชาธิปไตยที่ชัดเจนเลย

เช่น พรรคการเมืองไม่มีนโยบายชัดเจนว่า จะปฏิรูปสถานบันต่างๆ ทางการเมืองให้อยู่ภายใต้การวิจารณ์ตรวจสอบตามหลักการและกติกาประชาธิปไตยอย่างไร จะทำให้กองทัพ ระบบราชการโดยรวมเป็นกลไกที่มีประสิทธิภาพของรัฐบาลประชาธิปไตยอย่างไร โดยเฉพาะจะทำอย่างไรให้กองทัพถูกรัฐบาลประชาธิปไตยคุมได้มากกว่าที่จะให้กองทัพเป็นฝ่ายคุมรัฐบาล หรือจะทำอย่างไรจะให้ระบบการศึกษาสร้างการเรียนรู้สนับสนุนอุดมการณ์และจิตสำนึกประชาธิปไตยมากว่าสำนึกในบุญคุณชนชั้นนำจารีต ทำอย่างไรจะทำให้ระบบตุลาการหรือกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบ และองค์กรอิสระต่างๆ เป็นอิสระและเป็นกลาง มากกว่าจะเป็นเครื่องมือของฝ่ายอำนาจจารีต เป็นต้น

ในขณะที่พรรคการเมือง นักการเมืองแทบจะไม่ได้ทำอะไรที่เป็นการแก้ปัญหาเชิงระบบโครงสร้างให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ทุกครั้งที่ฝ่ายเผด็จการทำรัฐประหาร พวกเขาก็ทำทุกอย่างเพื่อปรับโครงสร้างอำนาจรัฐ เพื่อกระชับอำนาจ หรือเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายตัวเองมั่นคงมากขึ้นๆ โดยทำให้ทุกองคาพยพของกลไกรัฐตอบสนองต่อการครอง “อำนาจนำทางการเมือง” (political hegemony) ของพวกเขามากขึ้น รวมทั้งใช้ระบบการศึกษาและสถาบันศาสนา สื่อมวลชน กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมเป็นเครื่องมือสนับสนุน “อำนาจนำทางวัฒนธรรม” (cultural hegemony) ของพวกเขามากขึ้น

สุดท้ายแล้ว นักการเมืองก็ไม่สามารถครองอำนาจนำทางการเมืองได้จริงเลย ส่วนอำนาจนำทางวัฒนธรรมนั้นพรรคการเมือง นักการเมือง “ติดลบ” เสมอมาอยู่แล้ว เห็นได้จากวัฒนธรรมรณรงค์ให้เลือก “คนดี” เข้าสภาที่มีมานานนั้น สะท้อนว่าสำนึกของผู้คนในประเทศนี้รู้สึกถึงการ “ขาดแคลน” นักการเมืองที่เป็น “คนดี” เพราะเชื่อกันว่าเมื่อขึ้นชื่อว่านักการเมืองแล้ว ย่อมเป็นพวกเห็นแก่ตัวกู ของกู มุ่งแสวงหาอำนาจและผลประโยชน์เข้าตัวเองและพวกเท่านั้น

ภายใต้ความจริงทางการเมืองดังกล่าว ปัญหา “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยจึงไม่ใช่สิ่งสำคัญสูงสุด ผู้คนไม่ได้ต้านคอร์รัปชัน หรือสิ่งที่พวกเขาเรียกว่า “เผด็จการรัฐสภา” หรือ “เหมาเข่ง” เป็นต้น เพราะเห็นว่ามันทำลายความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ถ้าหากพวกเขาต่อต้านสิ่งเหล่านั้นจากจิตสำนึกปกป้องความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย พวกเขาก็ย่อมไม่เรียกร้องอำนาจนอกระบบทำรัฐประหาร

เมื่อความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตยไม่ใช่ปัญหาใหญ่อะไรเลย เผด็จการที่ครองอำนาจจากรัฐประหาร จึงแทบจะไม่มีภาระมากนักในการอธิบาย “ความชอบธรรม” ของฝ่ายตน และบรรดาอธิการบดีของมหาวิทยาลัยชั้นนำ ดร.,ศ.ดร.ที่ส่วนมากแล้วร่ำเรียนมาจากยุโรป อเมริกา สื่อมวลชน และกลุ่มชนชั้นกลางที่ครองอำนาจการสื่อสาร หรือ “เสียงดังกว่า” ก็ยินดีสนับสนุนเผด็จการ โดยไม่สนใจปัญหาความชอบธรรมอยู่แล้ว 

อาวุธที่เผด็จการใช้ได้ผลมากกว่าปืน จึงได้แก่ธรรมะ ศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีที่ยกขึ้นมาอ้างเปรียบเทียบให้เห็นความเป็น “คนไม่ดี” ของนักการเมืองเพราะขาดธรรมะ ศีลธรรม ความดี ดังนั้นคำพูดที่ว่า “อย่าไปยอมแพ้คนไม่ดี คนไม่มีคุณธรรม ศีลธรรม” พวกเขาจึงใช้มันทั้งอย่างเป็นทางการและอย่างพร่ำเพรื่อยังไงก็ได้ เพราะมันทำให้คนจำนวนไม่น้อยรู้สึก “ฟิน” ได้เสมอ

เมื่อธรรมะ ศีลธรรม ความดี ความเป็นคนดีกลายเป็นฐานที่มั่งคงแห่งอำนาจนำทางวัฒนธรรมของฝ่ายเผด็จการมายาวนาน ผ่านการปลูกฝังโดยสถาบันศาสนา ระบบการศึกษา สื่อมวลชน กิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมต่างๆ เผด็จการจึงไม่ได้น่าเกลียดน่ากลัวหรือน่ารังเกียจนักสำหรับคนจำนวนไม่น้อย นอกจากไม่น่ารังเกียจแล้วยังอาจจะดูน่ารัก น่าศรัทธาเลื่อมใสมากกว่านักการเมืองที่ติดลบในด้านการครองอำนาจนำทางวัฒนธรรมอีกต่างหาก

จึงไม่แปลกที่เผด็จการผู้ไร้ภาระรับผิดชอบอธิบายปัญหาความชอบธรรมของฝ่ายตนเอง จะสร้างกติกาที่ขัดกับความชอบธรรมออกมาเป็นกติกาที่ฝ่ายตนได้เปรียบอย่างจะแจ้งโดยไม่ต้องอายฟ้าดินก็ย่อมได้ ภาระของพวกเขามีเพียงการมุ่งสร้าง “คะแนนนิยม” แข่งนักการเมืองในทุกวิถีทาง โดยทำอะไรๆ ไม่ต่างจากพรรคการเมือง นักการเมือง ไม่ว่าประชานิยม สวัสดิการกลวงๆ ลดแลก แจกแถม กระทั่ง “ดูด” นักการเมืองมาเป็น “สมุนรับใช้” พวกเขาก็ทำได้อย่างสะดวกดาย

ต่างจากพรรคการเมือง นักการเมืองที่นอกจากจะแข่งกันเรื่องนโยบาย ผลงานต่างๆ แล้ว ยังต้องมีภาระหนักในการอธิบาย “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยของฝ่ายตน และยังต้องอธิบายเรื่องผิด ไม่ผิดตามกติกาที่เผด็จการเขียนให้เดินตาม รวมยังมีภาระอธิบายเรื่องความเป็นคนดี คนเลวตามมาตรฐานศีลธรรมไทยๆ ซึ่งแสนจะ “คลุมเครือ” ลื่นไหล และกลบเกลื่อนความหมายคุณค่าของสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาคตามหลักสากล 

เมื่อเทียบกับนักการเมืองแล้ว เผด็จการไทยๆ (ที่บอกว่าพวกตน “ไม่ยุ่งการเมือง”) ควรสำนึกบุญคุณของบรรพบุรุษที่ฟื้นฟูการตีความพุทธศาสนาสนับสนุนอำนาจนำทางวัฒนธรรมของพวกเขา ตั้งแต่ทศวรรษ 2490 เป็นต้นมา 

ควรขอบคุณปราชญ์พุทธศาสนาที่เสนอความคิด “เผด็จการโดยธรรม” หรือ “เผด็จการโดยคนดี” ว่าเป็นการปกครองที่เหมาะกับสังคมไทย คนไทยและ “ความเป็นไทย” ควรขอบคุณปัญญาชนที่ช่วยอธิบายว่า “เผด็จการที่ดีก็มี ที่เลวก็มี ถ้าเป็นเผด็จการโดยธรรมก็เป็นเผด็จการที่ดี” ควรขอบคุณราษฎรอาวุโส พระสงฆ์ นักศีลธรรม กวีรัตนโกสินทร์ บรรดานักเขียน กวีซีไรท์ที่ป่าวประกาศ “ธรรมคืออำนาจ” ที่ทำให้ “ธรรม” เหนือกว่า “ความชอบธรรม” ตามระบอบประชาธิปไตยเสมอมา

เพราะทั้งหลายทั้งปวงนั้นมีผลอย่างลึกซึ้งต่อสำนึกของผู้คนในสังคมนี้ ที่ทำให้พวกเขาเชื่อว่าเผด็จการไม่น่ารังเกียจอะไรเลย แถมน่ารัก น่าศรัทธา บางคนอาจพูดได้เต็มปากว่า “เรารักเผด็จการ” เลยด้วยซ้ำ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท