This page is intentionally left blank, 2561: ช่องว่างที่ไม่ได้จงใจให้ลางเลือน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ศิลปิน ปรัชญา พิณทอง
 

คิวเรเตอร์ ธนาวิ โชติประดิษฐ

งานศิลปะของปรัชญา พิณทอง คิวเรตโดยธนาวิ โชติประดิษฐ ครั้งนี้ชวนให้ดิฉันผลักประเด็นความคิด ความเข้าใจเรื่อง “ชายขอบ” (marginal) มากขึ้น เมื่อชายขอบไม่ได้ดำรงอยู่อย่างห่างไกลออกจากศูนย์กลาง หรือถูกกีดกันออกไปจากกลุ่มพวกใดพวกหนึ่ง หรือการที่ต้องดำรงอยู่ท่ามกลางความเป็นปรปักษ์ระหว่างสองวัฒนธรรมขึ้นไป ตลอดจนมีอำนาจต่อรองที่น้อยกว่าตัวแสดงอื่น ๆภายในโครงข่ายความสัมพันธ์เท่านั้น[1] หากแต่การเป็นชายขอบสามารถจะดำรงอยู่อย่างแนบสนิทหรือกระทั่งเป็นเนื้อเดียวกันกับสิ่งที่เรามองเห็น เพื่อการมองไม่เห็นของสิ่งเหล่านี้จะได้ขับเน้น ขับเคลื่อนให้สิ่งที่ต้องการเลือก ได้รับการจัดวาง ตบแต่ง และเฉลิมฉลองเพื่อจะถูกปรากฏให้เห็นขึ้น มิพักยังไม่ต้องพูดถึงว่าอะไรทำให้เราบอดใบ้กับสิ่งที่ตั้งอยู่ตรงหน้า หรือต่อสิ่งที่วางอยู่เคียงกันและเป็นเนื้อเป็นหนังเดียวกันกับสิ่งที่ถูกเห็น เมื่อสิ่งที่มักจะไม่ถูกเห็นมันจะมีขึ้นเพื่อจะรักษาความว่างเปล่า ความจำเจ ความซ้ำเดิมในตัวของมันเองซึ่งดูเหมือนจะเป็นความชอบธรรมเดียวที่สิ่งเหล่านี้จะยังคงดำรงอยู่ต่อไปซึ่งก็เพื่อเชื่อมร้อยและรักษาสิ่งที่ถูกเลือก หรือสิ่งที่ควรจะเข้าใจและมองเห็นเอาไว้เพื่อดำรงสถานภาพระบบในปัจจุบัน (status quo) แต่ในขณะเดียวกันสิ่งว่างเปล่าเหล่านี้ก็กลับกลายเป็นพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ใหม่ๆเช่นกันดังจะเห็นได้จากการท้าทายและหยอกล้อในงานศิลปะครั้งนี้ที่หยิบยกเอาพื้นที่ว่างมานำเสนอได้อย่างน่าสนใจ

ชื่องาน “This page is intentionally left blank.” ไม่ได้ถูกตั้งขึ้นอย่างไม่จงใจเหมือนกับประโยคบนกระดาษขาวในหนังสือที่มักจะถูกแทรกเมื่อบทแรกของหนังสือเริ่มด้วยหน้าเลขคู่ หรืออยู่ในตำแหน่ง verso[2] โดยหน้ากระดาษที่ตั้งใจให้เว้นว่างนี้ มีหน้าที่สอดแทรกเพื่อรักษาแบบแผนของการจัดพิมพ์และเย็บหนังสือให้หน้ากระดาษทั้งหมดอยู่ในตำแหน่งที่ “เหมาะสม” และ “สะดวก” กับอุตสาหกรรมการผลิตหนังสือที่ต้องตัด พับ กระดาษจำนวนมากให้เข้าคู่กับการทำหนังสืออย่างไม่บกพร่อง ฉะนั้นการสอดแทรกหน้ากระดาษเช่นนี้ในหนังสือจึงเป็นความจงใจโดยเจตนาจะรักษาระบบทั้งหมดให้สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่กลับกระทำผ่านการประกาศว่าสิ่งที่ค้ำจุนระบบไว้เป็นเพียงหน้ากระดาษอันว่างเปล่าที่เราต่างคุ้นเคยที่มักจะละเลยและมองข้ามมันไป ไม่ต่างกันกับวัสดุทั้งสามชิ้นที่ถูกจัดแสดง โดยแต่ละชิ้นมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปในแต่ละบริบทภายในแกลลอรี่บางกอก ซิตี้ซิตี้ โดยวัสดุทั้งสามชิ้นอยู่ในชื่อ สีขาว 4SEASONS A1000 ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต และ เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจำวันจำนวน 67 ชุด โดยมี flash cards เล็กๆร้อยห่วงที่มีคำอธิบายกรอบคิดต่าง ๆ ในทางศิลปะบริเวณขอบหน้าต่างทางเข้าภายในแกลลอรี่เป็นตัวชี้นำความเข้าใจและมุมมองที่ไม่ยัดเยียดจนเกินไปวางแอบอยู่

สีขาว 4SEASONS A1000 ดูเหมือนจะเป็นชิ้นที่กินพื้นที่และการมองเห็นได้กว้างขวางที่สุด ใหญ่โตที่สุดแต่ก็กลับกลืนหายไปกับกลุ่มคนและสายตาของเราได้ง่ายที่สุดเช่นกัน เมื่อสีขาวที่ถูกทาบนผนังในแกลลอรี่นั้น จากที่เคยเป็นแค่พื้นหลังของสถาบันทางศิลปะที่สถาปนาให้เป็นเพียงพื้นที่แห่งการขับเน้นความเอิกเกริกของตัวงานศิลปะโดยทั่วไป ครั้งนี้มันกลับถูกจัดแสดงออกมาภายใต้แสงไฟบนเพดานที่สาดส่องอย่างสม่ำเสมอเพื่อแสดงตัวมันเท่าที่มันจะเรียกร้องได้อย่างเงียบเชียบภายในห้องแสดงงาน เมื่อความว่างเปล่าของผนังสีขาวไม่ได้เป็นเพียงพื้นที่อันเบาบาง หากแต่เป็นสิ่งที่ยืดหยุ่นและมีพลังในการสะท้อนแสดงสิ่งอื่นๆที่เหลือและเป็นสิ่งที่ยื้อยุดกันระหว่างตัวแสดงในโครงข่ายทางอำนาจที่จะครอบครองความยืนหยุ่นของสีขาวนี้เพื่อสถาปนาอำนาจของตัวเอง

ไม่ต่างกันกับ ตัวกั้นที่จอดรถจากคอนกรีต (จากลานจอดรถ 123 ปาร์กกิ้งซึ่งเป็นที่ตั้งของบางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลลอรี่) จำนวน 8 แท่งแต่ละแท่งขนาด 245 x7 x7 ซม. น้ำหนัก 29 กก.ที่แม้ว่าตัวกั้นจอดรถจะเป็นเพียงสิ่งที่ทึบตัน แต่มันก็สามารถจะสร้างพื้นที่และช่องไฟให้กับสิ่งอื่นๆที่สำคัญกว่ามันอย่างเช่น รถ ให้ปรากฏได้ และการจัดการพื้นที่ย่อมทำให้เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการมองเห็นการสถาปนาอำนาจแห่งการบังคับใช้บนพื้นที่และระนาบของการมีชีวิตอยู่ร่วมกันของเราได้ นอกจากนี้ความแน่นิ่งของตัวกั้นจอดรถเองก็เป็นไปเพื่อรักษาให้สิ่งที่เคลื่อนไหวได้อย่างรถให้คงสภาพการเคลื่อนที่ได้ต่อไป ซึ่งศิลปินได้หยอกล้อกับคำว่า  car stopper และสถานภาพอันลักลั่นของวัตถุดังกล่าวโดยการขยับเปลี่ยนตำแหน่งการจัดแสดงของตัวกั้นจอดรถในแต่ละวันให้มีรูปแบบที่แตกต่างออกไปตลอดระยะการจัดแสดงผลงานในครั้งนี้ เพราะสิ่งที่ทึบตันและหยุดนิ่งอย่างที่เราเชื่อและเรียกว่า car stopper นี้มิได้หมายถึงการดำรงอยู่อย่างตายตัว มันสามารถขยับเขยื้อนและเป็นวัตถุอื่นๆโดยมีช่องว่างให้เปลี่ยนแปลงได้แม้ว่าจะเป็นแท่งคอนกรีตทึบตันก็ตาม

ชิ้นสุดท้าย เอกสารบันทึกเหตุการณ์ประจำวันจำนวน 67 ชุด และ กล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุจำนวน 7 ใบ ซึ่งหยิบยืมมาจัดแสดงจากพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติหอศิลป์ ดูจะเป็นงานที่ตรงไปตรงมาที่สุดในบรรดาการนำเสนอสิ่งซึ่งมักจะไม่ปรากฏในพื้นที่ทางศิลปะ โดยภายในสมุดบันทึกเหตุการณ์ประจำวันในกล่องเก็บเอกสารจดหมายเหตุเหล่านี้คือ การดำรงอยู่ของเหล่าผู้รักษาความปลอดภัยที่เฝ้าตรวจตราความมั่นคงให้กับหอศิลป์อยู่ทุกเมื่อเชื่อวันที่คอยจดบันทึกเหตุการณ์ในแต่ละวันโดยมีช่วงเวลาเดิมๆกำกับอยู่

หลักฐานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของสิ่งที่เราละเลยที่จะมองเห็น ความจำเจ ความซ้ำซากของการบันทึกเวลาและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหอศิลป์ของผู้รักษาความปลอดภัยคือเป้าประสงค์ของการรักษาพื้นที่ เพราะยิ่งสถานการณ์เหมือนเดิม ราบเรียบในแต่ละวัน ยิ่งหมายถึงความเป็นปกติสุขของหอศิลป์และงานศิลปะในหอศิลป์  ผู้ที่ทำงานเหล่านี้จึงไม่อาจหลีกหนีหน้าที่รักษาความซ้ำซากอย่างเคร่งครัด เป็นความจำเจที่ต้องมีอยู่เพื่อให้เกิดความแปลกใหม่ของงานศิลปะขึ้น ในพื้นที่เดียวกัน ในการเก็บบันทึกเดียวกัน ในเนื้อหนังเดียวกันของพื้นที่นั้นๆยังมีสิ่งเหล่านี้สอดแทรกอยู่เสมอที่ไม่ได้อยู่ชายขอบ หากแต่อยู่ร่วมกันในช่องว่างของพวกเขา

อย่างไรก็ตามหลักฐานเชิงประจักษ์อย่างสมุดบันทึกสถานการณ์ประจำวันเหล่านี้ก็มิได้เป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้เสียทีเดียว เพราะหากทุกอย่างมีช่องว่างที่พร้อมอนุญาตให้อะไรปรากฏหรือถูกเลือกได้แล้ว การบันทึกเองย่อมไม่แตกต่างมันล้วนผ่านกันคัดกรองจากการเขียนและไม่เขียนลงไปได้ เช่นเดียวกันกับกระบวนการได้มาของสมุดบันทึกเหล่านี้ที่ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปร่วมฟังการสนทนากลุ่มสั้นๆในงานวันเปิดที่ศิลปินต้องอาศัยคนอื่น ต้นทุนทางการติดต่อ ตลอดจนตัวแสดงอื่น ๆเพื่อจะเข้าถึงและได้มาซึ่งวัตถุเหล่านี้  ที่ศิลปินเองได้ตระหนักเห็นว่ากระบวนการได้มา กลายเป็น และเผยแสดงของวัตถุนั้นอาศัยอย่างน้อยที่สุดก็เกี่ยวข้อง พึ่งพิงบุคคลอื่นอีกมากมายเพื่อให้เกิดเป็นวัตถุแห่งศิลปะในสถาบันศิลปะ

งานศิลปะ This page is intentionally left blank, 2561 ของปรัชญา พิณทองจึงเชิญชวนให้ดิฉันได้มองเห็นสิ่งที่มักจะมองไม่เห็น ได้สัมผัสพื้นหลัง ช่องว่าง ตัวสร้างที่ว่าง อันสามัญธรรมดาในชีวิตประจำวันที่มีขึ้นเพื่อให้อำนาจบางอย่างคว้าจับมาสร้างความพิเศษตื่นตาตื่นใจแก่วัตถุหรือสิ่งที่อาจจะไม่ได้ดำรงในรูปวัตถุแก่สถาบันตนเองอย่างมีนัยยะทางการเมือง ในขณะเดียวกันความราบเรียบ และว่างเปล่าขาวสะอาด ดาดดื่นของวัตถุเหล่านี้ก็ยืดหยุ่นและไม่ได้ตีบตัน แน่นทึบไปด้วยกฎเกณฑ์ กติกาทางอำนาจที่ทำให้ขยับเขยื้อนไม่ได้ หากแต่มันสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้และพร้อมจะเชื่อมโยง เชื่อมร้อยสิ่งที่ปรากฏให้ก่อรูปใหม่ๆขึ้น และอย่างน้อยที่สุดงานศิลปะชิ้นนี้ก็ทำให้ดิฉันอิ่มเอมใจกับการมองท้องฟ้าและการทำความเข้าใจช่องว่างของความเงียบระหว่างโน้ตในเพลงของ Arvo Pärt Fur Alina 1976  ได้อย่างน่าประหลาด

 

เชิงอรรถ

 

[1] Golovensky, D. I. "The Marginal Man Concept: An Analysis and Critique." Social Forces 30, no. 3 (1952): 333-39. doi:10.2307/2571600.

[2] "Intentionally Blank Page." Wikipedia. August 01, 2018. Accessed December 03, 2018. https://en.wikipedia.org/wiki/Intentionally_blank_page.

 

หมายเหตุ: เอื้อเฟื้อภาพโดย ศิลปิน และ บางกอก ซิตี้ซิตี้ แกลเลอรี่ ภาพถ่ายโดย นนทวัฒน์ นำเบญจพล 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท