‘วิญญัติ’ ซัดอัยการดองคดีคนตายสลายชุมนุมปี 53–ดีเอสไอยันสำนวนส่งกลับ ก.ค.

ทนายวิญญัติขู่ฟ้องอัยการคดีพิเศษละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ม.157 ดองคดี 99 ศพจากเหตุสลายการชุมนุมปี 2553 ยาวนานผ่านมาแล้ว 8 ปี คดีมีอายุความ 20 ปี ด้านดีเอสไอยืนยันไม่ใช่ต้นเหตุทำสำนวนล่าช้า เคยส่ง อสส.ไปแล้วโดนตีกลับให้สอบเพิ่มและแยกสำนวนคนเจ็บคนตาย เพิ่งได้รับสำนวนเมื่อ ก.ค.ที่ผ่านมา ต้องเริ่มสอบใหม่ใช้เวลา

5 ธ.ค.2561 เว็บไซต์ข่าวสด รายงานว่า จากกรณีที่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) กับ นางพะเยาว์ อัคฮาด มารดา น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ศพ จากการสลายการชุมนุมกลุ่มนปช. ที่วัดปทุมวนารามปี 53 จนมีผู้เสียชีวิต 99 ศพ ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นผอ.ศอฉ. เดินทางไปยังสำนักงานอัยการ เพื่อทวงถามความคืบหน้าคดี 99 ศพ ที่ล่าช้ากว่า 8 ปี

ขณะที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ชี้แจงว่าคดี 99 ศพ มีทั้งสิ้น 371 คดี แบ่งเป็น 4 กลุ่มคือ

กลุ่มที่ 1 คดีเกี่ยวกับการก่อการร้าย กลุ่มที่ 2 คดีเกี่ยวกับการขู่บังคับให้รัฐบาลกระทำการใดๆ กลุ่มที่ 3 คดีเกี่ยวกับการทำร้ายประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐ สอบสวนเสร็จ 154 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 15 คดี กลุ่มที่ 4 คดีเกี่ยวกับการกระทำต่ออาวุธ

ด้านอัยการสูงสุด ชี้แจงข้อมูลไม่ตรงกับดีเอสไอ ระบุว่า ในคดีที่ศาลมีคำสั่งว่าการกระทำให้เสียชีวิตเกิดจากฝั่งเจ้าหน้าที่ รวมสำนวน 6 ศพ วัดปทุมฯ ซึ่งสำนวนดังกล่าวยังอยู่ที่ดีเอสไอ ยังดำเนินการอยู่ เเละยังไม่ได้ส่งกลับมาอัยการในรูปเเบบไหน ไม่ว่าจะสำนวนมุมดำหรือรูปเเบบปกติ

วันเดียวกัน (5 ธ.ค.) นายวิญญัติ ชาติมนตรี เลขาธิการสมาพันธ์นักกฏหมายเพื่อสิทธิเสรีภาพ (สกสส.) เผยว่า ตามข้อกฎหมาย คดี 99 ศพทั้งหมดที่อยู่กับดีเอสไอเป็นคดีพิเศษ ฟ้องเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ โดยนำสำนวนพยานหลักฐานมาจากตำรวจนครบาล ซึ่งดีเอสไอสรุปสำนวนหลักฐานไปยังสำนักคดีพิเศษของสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) พร้อมด้วยผลการไต่สวนการตาย และผลการไต่สวนพลิกศพของผู้ชุมนุมว่ามาจากอาวุธของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัตการตามคำสั่งศาลตั้งนานแล้ว ข้อมูลจากอัยการสูงสุด กับดีเอสไอนั้นจึงไม่ตรงกัน จึงถามว่า แท้จริงแล้วอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนมาแล้วรอบหนึ่ง ก่อนส่งกลับไปยังดีเอสไอ ใช่หรือไม่ ?

นายวิญญัติ กล่าวต่อว่า ตนมีข้อมูลว่า ดีเอสไอได้ส่งสำนวนคดีพิเศษไปยัง อสส. แล้วหลายคดี โดยเฉพาะคดีที่ศาลชี้ผลการตายและชันสูตรศพไปแล้ว 21 จาก 99 ศพเกิดจากกระสุนของจนท. แต่อสส.ส่งกลับมายังดีเอสไอ คำชี้แจงอสส.ระบุว่า ยังไม่ได้รับสำนวนปกติหรือมุมดำนั้น จึงไม่อาจทราบข้อเท็จจริงได้เลยว่า แท้จริงแล้วเป็นอย่างไร กลายเป็นสำนวนมุมดำไปแล้วกี่สำนวน สำนวนมุมดำเปรียบเสมือนเส้นชัย ตามกฎหมาย ถ้าไม่พบข้อมูลหลักฐานเพียงพอชี้ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำความผิด จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่ทหารระดับปฏิบัติการที่สลายการชุมนุม และผู้สั่งการสลายการชุมนุม หลุดจากคดีทันที แต่คดีการเสียชีวิตของ น.ส.กมนเกด อัคฮาด พยาบาลอาสา 1 ใน 6 ศพ ที่วัดปทุมฯ ถือว่าชัดเจนสุด มีทั้งสำนวนพยานหลักฐานของตำรวจ สำนวนผลการไต่สวนการตาย การชันสูตรพลิกศพจากศาล ว่า เสียชีวิตจากกระสุนของเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ ซึ่งมีรายชื่อเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ครบ 8 คน อย่างชัดเจน

นายวิญญัติ กล่าวว่า ตามขั้นตอน เมื่อสำนักงานอัยการพิเศษ ได้รับสำนวนคดีพิเศษจากดีเอสไอแล้ว ก็จะต้องส่งให้ อสส. นำสำนวนสั่งฟ้องต่อศาลต่อไป ความล่าช้าของคดี 99 ศพนี้ จึงอยู่ในชั้นของ สำนักงานคดีพิเศษ สำนวนทั้งหมดยังไม่ถูกส่งต่อให้ อสส. เพื่อนำส่งฟ้องศาล ตามที่นางพะเยา หรือแม่น้องเกด จึงไปทวงถามความล่าช้าที่เกิดขึ้น เมื่อสำนวนทุกอย่างอยู่บนโต๊ะของ อธิบดีสำนักคดีพิเศษของอัยการสูงสุดมาหลายปีแล้ว แต่ไม่ยอมดำเนินการตามขั้นตอน ก็อาจเข้าข่ายการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ด้วย ดังนั้นก็ย่อมเป็นหน้าที่ของสำนักงานคดีพิเศษ ในการส่งสำนวนให้อสส.สั่งฟ้องต่อศาลเพื่อหาข้อเท็จจริงตามกระบวนการต่อไป ไม่ใช่ทำให้กลายเป็นสำนวนมุมดำเพื่อยุติคดี โดยคดีนี้มีอายุความ 20 ปี ตอนนี้ผ่านไปแล้ว 8 ปี

เว็บไซต์มติชน รายงานในวันเดียวกันว่า พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวยืนยันว่าไม่ได้มีการดึงเรื่องหรือสำนวนคดีดังกล่าวตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แต่ทุกอย่างมีขั้นตอนกระบวนการสอบสวน และสำนวนคดีดังกล่าวดีเอสไอก็มีพนักงานอัยการมาร่วมเป็นพนักงานสอบสวนตามกฎหมายการสอบสวนคดีพิเศษ บางสำนวนเมื่อส่งไปยังอัยการแล้วมีการสั่งให้พนักงานสอบสวนสอบเพิ่มเติม ดีเอสไอก็ต้องทำตาม นอกจากนี้ยังมีการเสนอให้แยกสำนวนคนเจ็บ คนตาย เป็นรายสำนวน ดีเอสไอก็ต้องทำ ดังนั้น การสอบพยานบุคคลในแต่ละสำนวนก็ต้องเริ่มใหม่ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นไปตามขั้นตอน กรอบอำนาจหน้าที่ของแต่ละหน่วย ทั้งนี้ ดีเอสไอได้รับสำนวนจากอัยการที่สิ่งมาให้สอบเพิ่มเติมในช่วงวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา พอได้รับมาพนักงานสอบสวนแต่ละชุดก็ดำเนินการตามขั้นตอน

เมื่อถามว่าต้องสอบปากคำเพิ่มเติมในส่วนของเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการในวันเวลาดังกล่าวอีกหรือไม่ หากมีการแยกสำนวน คนเจ็บคนตาย พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวว่า สำนวนเดิมการสอบปากคำเจ้าหน้าที่ระดับหัวหน้าหน่วยไปแล้ว แต่เมื่อต้องการให้ดีเอสไอสอบลึกลงไปในรายละเอียดตัวบุคคลก็คงต้องใช้เวลา เพราะเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในช่วงเวลานั้น บางรายก็ปลดประจำการ ไปทำงานต่างประเทศ หรือบางรายก็ไม่ได้อยู่ในภูมิลำเนาเดิม ซึ่งดีเอสไอพยายามทำ ไม่ใช่ไม่ทำอะไรเลย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท