สืบพยานโจทก์วันแรกคดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร"

ศาลแขวงเชียงใหม่เริ่มสืบพยานโจทก์คดีทหารฟ้อง 5 จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 เหตุชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" โต้ทหารนอกเครื่องแบบสอดแนมเวทีวิชาการ "ไทยศึกษา 2017" โดยแบ่งสืบพยานโจทก์ 6-7 ธ.ค. และพยานจำเลย 12-14 ธ.ค. รวม 15 ปาก

6 ธ.ค. 2561 วันนี้ที่ศาลแขวงเชียงใหม่มีนัดหมายสืบพยานวันแรกคดีชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยจำเลย 5 รายถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากกรณีการชูป้ายดังกล่าว ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อที่ 18 กรกฎาคม 2560

การชูป้ายดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างงาน โดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน และยังมีการส่งเสียงดังรบกวนภายในงานประชุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ผู้ตกเป็นจำเลยทั้งห้าคนในคดีนี้ มีทั้งนักวิชาการ นักศึกษา และนักแปล ซึ่งมีบทบาทในภาคประชาสังคมแตกต่างกันไป แต่ละคนยังมีสถานะในงานประชุมไทยศึกษา ทั้งเป็นกรรมการจัดงานประชุม วิทยากรในการบรรยาย ผู้นำเสนอบทความ และนักศึกษาช่วยงานในระหว่างการประชุม แต่ต้องตกเป็นจำเลยร่วมกัน

โดยจำเลยประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน พร้อมกับตำแหน่งหัวหน้าศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว

ภัควดี วีระภาสพงษ์ เป็นนักแปลอิสระ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจากสาขาปรัชญา จากคณะศิลปศาสตร์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  และปริญญาโทจากภาควิชาปรัชญา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผลงานแปลที่สำคัญอาทิ สมัญญาแห่งดอกกุหลาบ นวนิยายแนวประวัติศาสตร์และรหัสคดีของ อุมแบร์โต เอโก ชุดนวนิยายของปราโมทยา อนันตา ตูร์ นักเขียนและนักต่อสู้คนสำคัญของอินโดนีเซีย และผลงานแปลทางวรรณกรรมและวิชาการอื่นๆ

นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีชั้นปีที่ 4 วิชาเอกการละคร คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกสาขาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ธีรมล บัวงาม บรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม นักศึกษาปริญญาโท สาขาการสื่อสารศึกษา คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยการสืบพยานแบ่งเป็นสองช่วง คือวันที่ 6-7 ธันวาคม เป็นการสืบพยานฝ่ายโจทก์ รวมทั้งหมด 11 ปาก ที่มีทั้งเจ้าหน้าที่ทหาร เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ศูนย์ประชุมนานาชาติฯ พนักงานสอบสวน และพยานนักวิชาการ ก่อนที่ในวันที่ 12-14 ธันวาคม เป็นการสืบพยานจำเลย รวมทั้งหมด 15 ปาก ทั้งตัวจำเลยทั้ง 5 คน และพยานนักวิชาการสาขาต่างๆ

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานด้วยว่า พยานฝ่ายโจทก์ที่ขึ้นเบิกความเสร็จสิ้นในวันนี้ มีจำนวน 2 ปาก ได้แก่ พ.อ.สุรศักดิ์ สุขแสง หัวหน้ากองข่าวของมณฑลทหารบกที่ 33 และ พ.ท.พิษณุพงษ์ ใจพุทธ รองหัวหน้ากองยุทธการของมณฑลทหารบกที่ 33 และยังช่วยราชการเป็นรองหัวหน้ากองข่าวอีกด้วย

พยานทหารทั้งสองปากขึ้นเบิกความกล่าวหาจำเลยทั้ง 5 คน ว่าได้ร่วมกันมั่วสุมชุมนุมทางการเมืองจากการชูป้ายและติดแผ่นป้ายข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” รวมทั้งจำเลยบางคนได้มีการแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วถ่ายรูปกับป้ายข้อความ ซึ่งการกระทำดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารเห็นว่าเป็นการทำให้บุคคลและนักวิชาการนานาชาติที่เข้าร่วมการประชุมวิชาการเข้าใจไปในเชิงลบว่าทหารได้คุกคามการจัดงานวิชาการ และทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลคสช.

การสืบพยานในวันนี้เสร็จสิ้นในเวลาราว 17.30 น. และในวันพรุ่งนี้ (7 ธ.ค.) ศาลยังมีการนัดสืบพยานโจทก์คดีนี้ต่อไป โดยฝ่ายโจทก์ยังเหลือพยานอีก 9 ปากที่จะขึ้นเบิกความ ทั้งผู้ช่วยอัยการศาลทหารซึ่งรับมอบอำนาจผู้บังคับบัญชามาแจ้งความร้องทุกข์ เจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ซึ่งเป็นสถานที่จัดงานประชุมวิชาการไทยศึกษา นักวิชาการที่จะมาให้ความเห็นต่อป้ายข้อความและกิจกรรมตามข้อกล่าวหา เจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน และพนักงานสอบสวนในคดี

เบิก 3 นักวิชาการให้การเป็นพยานโจทก์ ไม่ได้ร่วมเวที "ไทยศึกษา" แต่เห็นว่าการชูป้ายทำไม่ได้เพราะไม่ใช่ภาวะปกติ

ส่วนการสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2 (7 ธ.ค.) ในวันนี้ยังมีผู้สนใจทยอยเข้าฟังการพิจารณาทั้งในช่วงเช้าและบ่าย ประมาณ 20 คน

ในรายงานของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พยานฝ่ายโจทก์ที่ขึ้นเบิกความในวันนี้เสร็จสิ้นมีจำนวน 4 ปาก ได้แก่ ร.อ.เอกภณ แก้วศิริ อัยการศาลมณฑลทหารบกที่ 33 ผู้แจ้งความดำเนินคดีนี้, พ.อ.รุ่งคุณ มหาปัญญาวงค์ ผู้บังคับการส่วนแยกของกองบัญชาการช่วยรบที่ 3 กองทัพภาคที่ 3 จังหวัดพิษณุโลก และเป็นอาจารย์พิเศษสาขาสังคมศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยนเรศวร มาให้การในฐานะนักวิชาการ, นายปราชญ์ ปรัชญาพันธ์ อาจารย์จากสาขาวิชานิติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ และนายศิริโรจน์ นามเสนา อาจารย์สาขาวิชาพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตสงฆ์นครสวรรค์

สำหรับพยานปาก ร.อ.เอกภณ ผู้แจ้งความนั้นได้เข้าเบิกความถึงการรับมอบอำนาจจากผู้บังคับบัญชา คือรองผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 ให้มาแจ้งความดำเนินคดีนี้ โดยข้อมูลการดำเนินคดีนี้และการตัดสินใจดำเนินคดีต่อบุคคลใด พยานได้รับข้อมูลและคำสั่งมาจากฝ่ายกองข่าวของมณฑลทหารบกที่ 33

ส่วนพยานนักวิชาการอีก 3 ราย ได้ขึ้นเบิกความในฐานะพยานความเห็น ซึ่งไม่ได้เข้าร่วมการประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ทั้งสามคนมีความเห็นคล้ายคลึงกันว่าการติดป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” และที่จำเลยบางคนได้มีการแสดงสัญลักษณ์ชูสามนิ้วถ่ายรูปกับป้ายข้อความ ไม่เป็นการแสดงออกทางวิชาการที่สามารถกระทำได้ ในบริบทการปกครองของ คสช. ซี่งไม่ใช่ภาวะปกติ และข้อความในป้ายจะทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจไปว่าทหารที่เข้ามาปกครองประเทศอยู่ ได้ปิดกั้นการแสดงออกและจำกัดสิทธิเสรีภาพในการประชุมทางวิชาการ

ก่อนการสืบพยานจะเสร็จสิ้นเวลาประมาณ 16.35 น. ทางอัยการยังได้แถลงต่อศาลว่าฝ่ายทหารผู้กล่าวหาได้ขอให้มีการตัดพยานปาก จ.ส.อ.ณัฐพล จันทร์อุธร เจ้าหน้าที่ทหารฝ่ายกองข่าวของมณฑลทหารบกที่ 33 ออก ทำให้จะยังคงเหลือพยานโจทก์ที่ยังไม่ได้ขึ้นเบิกความอีกจำนวน 4 ปาก ศาลจึงมีคำสั่งให้เลื่อนการสืบพยานโจทก์ต่อให้แล้วเสร็จในวันที่ 12 ธ.ค. 61 เวลา 9.00 น. ซึ่งเดิมกำหนดเป็นวันนัดสืบพยานของฝ่ายจำเลย และให้สืบพยานจำเลยต่อจากนั้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท