นิธิ เอียวศรีวงศ์: วัฒนธรรมกองทัพกับข้าวแดงแกงร้อน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“ข้าวแดงแกงร้อน” ไหลจากบนลงล่างทางเดียวเสมอ ข้างบนสุดราดลงมา แล้วก็ราดต่อๆ กันจนถึงล่างสุด โดยไม่อาจราดย้อนกลับขึ้นไปได้

แต่มีหรือที่ความสัมพันธ์ของมนุษย์จะมีแต่ทางเดียว นอกจากในค่ายกักกันทรมานเท่านั้น

หากนายทหารใหญ่ที่ลำเลิกบุญคุณกับนายทหารอีกคนหนึ่ง คิดว่ากองทัพคือเจ้าของข้าวแดงแกงร้อน นายทหารที่ถูกลำเลิกก็ได้ราดข้าวแดงแกงร้อนคืนแก่กองทัพแล้ว ด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่าง “ดี” พอที่จะได้รับการเลื่อนขั้นจนรับตำแหน่งระดับสูงขนาดนั้นได้ หากนายทหารใหญ่คิดว่าตนเองคือเจ้าของข้าวแดงแกงร้อน นายทหารที่ถูกลำเลิกก็ได้ราดคืนให้แล้วเหมือนกัน ด้วยการพร้อมใจเป็นสมัครพรรคพวก สนับสนุนนายทหารใหญ่คนนั้น จนในที่สุดก็ได้ดำรงตำแหน่งสูงสุดในกองทัพ

ก็อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ การไต่เต้าไปสู่ยศและตำแหน่งที่สูงในกองทัพนั้น ต้องคุมกำลังความภักดีของนายทหารไว้เป็นกลุ่มก้อนพอสมควร ปราศจากกำลังจากข้างล่าง ก็ไม่มี “นาย” คนไหนกล้าดึงนายทหารหัวเดียวกระเทียมลีบขึ้นสู่ตำแหน่งบังคับบัญชาระดับสูงได้

ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ไม่ว่าในรูปแบบอะไร ก็ล้วนเป็นการแลกเปลี่ยนทั้งนั้น ผู้อุปถัมภ์ไม่เคยราดข้าวแดงแกงร้อนให้ใครฟรีๆ หรอกครับ ต่างก็หวังจะได้รับอะไรตอบแทนเสมอ โดยเฉพาะความภักดีซึ่งเป็นสิ่งแลกเปลี่ยนที่ราคาแพงมาก

ผมไม่แปลกใจนักที่ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ยังมีบทบาทสำคัญในกองทัพไทย เพราะในสมัยหนึ่งมันเคยมีบทบาทสำคัญในทุกกองทัพเลยก็ว่าได้ แต่ลดความสำคัญลงในภายหลัง เพราะมีสิ่งอื่นมาแทน ทั้งนี้เพราะปัญหาสำคัญของกองทัพไม่ว่าจะเป็นสมัยก่อนหรือปัจจุบันต้องเผชิญและหาทางป้องกันระงับยับยั้งเสมอมาก็คือ จะให้ไพร่พลเชื่อฟังคำสั่งตลอดจนไม่ก่อการกบฏได้อย่างไร

ปัญหาทหารกบฏเป็นปัญหาของกองทัพที่ต้องเผชิญศึกมาทุกยุคทุกสมัย ไม่จำเป็นต้องกบฏด้วยการยึดอำนาจในกองทัพเสียเลยอย่างเดียวนะครับ แม้ว่านั่นก็มีประวัติว่าเกิดขึ้นมาแล้วในหลายกองทัพ แต่ทหารอาจหนีไปอ่อนน้อมต่อข้าศึก ดังหลักฐานพม่าและฝรั่งกล่าวตรงกันว่า เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายก่อนจะเสียกรุงศรีอยุธยา อาจใช้วิธีลักลอบเป็นใจด้วยข้าศึก ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งหลายหนในประวัติของกองทัพต่างๆ รวมทั้งในเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระยาจักรีในกองทัพของกรุงศรีอยุธยาด้วย

กองทัพที่ได้กำลังพลจากการเกณฑ์ชาวนาจะมีความเปราะบางในเรื่องนี้มาก เพราะเมื่อครอบครัวขาดแรงงาน การผลิตอาหารอาจไม่พอกินจนถึงอดอยากได้ ฉะนั้น หนีกลับไปช่วยเมียทำนาจึงมีความสำคัญแก่ไพร่พลมากกว่าแพ้หรือชนะข้าศึก

กองทัพทั้งในยุโรปและเอเชีย (ยกเว้นจีน) แก้ปัญหานี้ด้วยสองวิธี

วิธีแรกก็คือ กองทัพใหญ่นั้นประกอบด้วยกองทหารที่รวบรวมขึ้นจากกำลังพลของแต่ละหัวเมือง โดยมีเจ้าเมืองหรือเจ้าศักดินา (ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินซึ่งชาวนาอาศัยอยู่) เป็นผู้ควบคุมคนของตัว ไพร่พลกลัวเกรงอำนาจที่อยู่ใกล้ชิดกับตน และครอบครัวต้องพึ่งพาอาศัยอำนาจนั้นโดยตรง ดังนั้น การหนีกลับบ้านจึงไม่ช่วยให้ปลอดภัยจริง จำเป็นต้องรบก็รบๆ ไปเท่าที่จะไม่ให้นายลงโทษและไม่ถูกข้าศึกฆ่า หากกองทัพเกิดเพลี่ยงพล้ำในการรบ ก็แตกทัพไว้ก่อนจะปลอดภัยกว่า อย่าลืมว่าการแตกทัพคือการกระทำหมู่ ย่อมปลอดภัยกว่าการหนีทัพซึ่งเป็นการกระทำคนเดียว

วิธีที่สอง ซึ่งมักทำควบคู่กันไปกับวิธีแรกคือ ประชุมทหารองครักษ์ และทหารที่ชำนาญการรบ ไว้กับแม่ทัพใหญ่ กองทหารเหล่านี้คือทหารประจำการในกองทัพชาวนา ซึ่งแม้มีจำนวนน้อย แต่มีกำลังความสามารถมาก เช่น ในญี่ปุ่นคือพวกซามูไร ซึ่งนอกจากรบเก่งแล้วยังขี่ม้าคล่องแคล่ว หากชาวนาวิ่งหนีในระหว่างการรบ ซามูไรเพียงไม่กี่คนก็อาจขี่ม้าไปฟันทิ้งเสียต่อหน้าต่อตาชาวนาอื่น ไม่กี่ศพชาวนาก็ย่อมจะเปลี่ยนใจ (ก่อนโตกุงาวา ญี่ปุ่นยังปล่อยให้ชาวนาถืออาวุธได้และเกณฑ์มาใช้ในการสงคราม) ในกองทัพของกรุงศรีอยุธยา กองทหารฝรั่งแม่นปืน หรือกองอาทมาต ก็อาจฆ่าไพร่พลที่ก่อกบฏทิ้งเสียได้ในพริบตาเช่นกัน

อันที่จริงยังมีวิธีที่สาม ซึ่งทำในบางสังคม เช่น สมัยกลางในยุโรป, ญี่ปุ่นภายใต้ตระกูลโตกุงาวา, สังคมทาสของคนผิวขาวในสหรัฐ คือสร้างชนชั้นนักรบขึ้นต่างหากออกไป นั่นคือไม่ให้ชาวนาจับอาวุธ โดยเฉพาะอาวุธซึ่งต้องฝึกปรือ (ซึ่งถึงไม่ห้าม ชีวิตชาวนาก็ไม่อนุญาตให้มีเวลาร่ำเรียนได้อยู่แล้ว) คนผิวดำในรัฐทางใต้ก่อนสงครามกลางเมือง ไม่มีสิทธิ์แตะต้องอาวุธปืนเลย

วิธีที่สามนี้ก็แทรกอยู่ในวิธีอื่นๆ ด้วย เช่น กองทัพกรุงศรีอยุธยาไม่ได้แจกจ่ายอาวุธให้แก่ชาวนา ต้องนำมาเองจากบ้าน และเข้าไม่ถึงอาวุธปืนไฟอย่างแน่นอน ไพร่พลที่จะก่อการกบฏจึงต้องเผชิญกับอาวุธที่เหนือกว่าเสมอ

อันที่จริงทั้งสองหรือสามวิธีนี้ไม่ช่วยป้องกันมิให้ไพร่พลกบฏหรือแข็งข้อ แต่ทำให้กบฏเมื่อไรก็จะแพ้นายทุกทีไป แม้ว่าตัวนายจะมีจำนวนน้อยกว่ามากก็ตาม

ปัญหาของกองทัพ, กองโจร, หรือกองกำลังอะไรก็ตามที่มีคนหมู่มากเป็นไพร่พล และมีคนหมู่น้อยเป็นนายก็เรื่องนี้แหละครับ คือจะควบคุมให้ไพร่พลยอมเชื่อฟังคำสั่งได้อย่างไร

ยิ่งก้าวเข้าสู่ความเป็นรัฐสมัยใหม่ ซึ่งสามารถมีกองทัพประจำการขนาดใหญ่ได้ เพราะการรวมศูนย์อำนาจทำให้มีพลังทางการคลังมากอย่างที่รัฐโบราณไม่รู้จัก ปัญหาเรื่องจะคุมไพร่พล (รวมถึงผู้บังคับหมู่, หมวด, กองพัน, กองพล, กองทัพ)ให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ “อาญาสิทธิ์” ได้อย่างไร กลายเป็นปัญหาที่กองทัพส่วนใหญ่แก้ไม่ตก

ไม่ใช่ทุกรัฐในโลกปัจจุบันจะสามารถแก้ปัญหานี้ในกองทัพของตนได้ สักครึ่งหรือเกือบๆ ครึ่งโลกไม่สามารถสถาปนา “อาญาสิทธิ์” อันเป็นที่ยอมรับแก่กองทัพได้ “อาญาสิทธิ์” ตามกฎหมายนั้นมี แต่กองทัพไม่ได้ยอมรับจริงในจิตใจ จึงก่อกบฏ หรือยึดอำนาจและล้มล้างอาญาสิทธิ์ตามกฎหมาย สถาปนาตนเองขึ้นเป็นอาญาสิทธิ์เอง บางครั้งอย่างไม่เอาเสื้อคลุมกฎหมายมาสวมทับด้วย

ในรัฐเหล่านั้น มีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพกับ “อาญาสิทธิ์” ตามกฎหมายสูงมาก เป็นผลให้การดำเนินงานด้านอื่นๆ ของรัฐถูกขัดขวางบั่นรอนจากความตึงเครียดนี้ แต่ความตึงเครียดไม่ได้จำกัดอยู่เพียงระหว่างกองทัพและอาญาสิทธิ์ตามกฎหมายเท่านั้น ยังมีความตึงเครียดในความสัมพันธ์ภายในของกองทัพเองอย่างสูงด้วย

ในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ของไทย “กบฏ” (หรือการรัฐประหารที่ล้มเหลว เกิดจากบางส่วนของกองทัพทุกครั้ง ทั้งไม่ใช่การแข็งข้อกับรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้งด้วย แต่เป็นการแข็งข้อกับอีกส่วนหนึ่งของกองทัพซึ่งครองอำนาจอยู่ มีหลักฐานและเค้าที่พอเชื่อได้ว่า การรัฐประหารใน พ.ศ.2500 เป็นการช่วงชิงตัดหน้าการยึดอำนาจของทหารส่วนหนึ่ง ก่อนที่ทหารและตำรวจอีกส่วนหนึ่งเตรียมจะยึดอำนาจไว้แล้ว การรัฐประหารในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ก็เช่นเดียวกัน อย่างน้อยทหารกลุ่มที่ยึดอำนาจได้ในตอนเย็นก็ไม่ใช่กลุ่มเดียวกับที่เตรียมจะยึดอำนาจในตอนเช้า

แม้ตัวต้นเหตุของการลำเลิกบุญคุณข้าวแดงแกงร้อนในครั้งนี้ก็เกิดขึ้นจากนายทหารเกษียณคนหนึ่งให้สัมภาษณ์โจมตีทหารกลุ่มที่ยึดอำนาจไปแล้ว ฉะนั้น ภาพที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวของกองทัพที่คนนอกเห็นอยู่ อาจไม่ใช่ความจริง อย่างน้อยก็ในใจของทหารอีกจำนวนหนึ่งในกองทัพ

ความตึงเครียดอย่างนี้ ไม่มีในกองทัพอเมริกัน, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, ญี่ปุ่น ฯลฯ ไม่ใช่แต่เท่านั้น ยังไม่มีในกองทัพเวียดนามด้วย

ไม่ใช่ทหารฝรั่งและเวียดนามบรรลุธรรมขั้นสูง จนไม่มีความอิจฉาริษยาอยากเป็นใหญ่เป็นโตนะครับ แต่เพราะพวกเขายอมรับอาญาสิทธิ์ตามกฎหมายต่างหาก ทหารฝรั่งยอมรับอาญาสิทธิ์ที่มาจากการเลือกตั้ง ทหารเวียดนามยอมรับอาญาสิทธิ์ของพรรคปฏิวัติ ฉะนั้น หากจะแย่งอำนาจเลื่อยขาเก้าอี้กัน ก็ต้องไปวิ่งเต้นเอาเองในเวทีแห่งอำนาจตามกฎหมาย เช่น นักการเมืองที่มีอิทธิพลสูงในสภา หรือนักการเมืองที่มีอิทธิพลสูงในโปลิตบูโร

แม้ยอมรับอาญาสิทธิ์ตามกฎหมายแล้ว ก็ใช่ว่าจะไม่มีการกบฏหรือแข็งข้อในกองทัพเหล่านั้นเสียเลย โดยเฉพาะในหมู่ทหารชั้นผู้น้อย แต่รัฐสมัยใหม่สามารถควบคุมประชาชนลงไปได้ถึงระดับบุคคล และทุกหย่อมหญ้า จึงยากมากที่ทหารจะหนีทัพกลับไปช่วยเมียทำนา, แยกตัวออกไปเป็นกองโจรอิสระ, หรือยกพวกไปสวามิภักดิ์กับข้าศึก หากจะเกิดขึ้นก็เป็นกบฏรายเล็กรายน้อยที่กองทัพสมัยใหม่จัดการได้ไม่ยาก ที่เป็นปัญหาน่ากลัวกว่าก็คือนายทหารนำกำลังของตัวสู้กันเอง หรือแยกตัวออกเป็น “ขุนศึก” ในแคว้นใดแคว้นหนึ่งของรัฐ แต่ก็ดังที่กล่าวแล้วว่า เหตุการณ์อย่างนี้ไม่เกิดในกองทัพที่ยอมรับอาญาสิทธิ์ตามกฎหมาย เช่น กองทัพฝรั่งและเวียดนาม

ส่วนในรัฐที่กองทัพไม่ยอมรับอาญาสิทธิ์ตามกฎหมาย จะคุมให้ทหารยอมเชื่อฟังคำสั่งตามลำดับชั้นได้อย่างไร?

วิธีที่ใช้กันมากในหลายกองทัพคือใช้ความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ ระหว่างทหารด้วยกันเองหรือระหว่างทหารกับนักการเมืองที่ทรงอำนาจก็ตาม

ฟังดูเหมือนง่าย เพราะความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ใช้กันมาแต่โบรมโบราณในเกือบทุกสังคม แต่ไม่ง่ายเลยเมื่อนำมาใช้กับกองทัพประจำการขนาดใหญ่ของรัฐสมัยใหม่ปัจจุบัน เช่น หากทำให้การอุปถัมภ์เป็นสถาบัน (เช่น การเป็นสมาชิกของกองทัพจะได้อภิสิทธิ์บางอย่างเหนือคนทั่วไป อย่างเช่นกองทัพพม่า) ความภักดีก็จะไปอยู่ที่กองทัพ นายทหารไม่สามารถเอาความภักดีนั้นไปใช้เพื่อส่วนตัวได้ แต่หากรักษาการอุปถัมภ์ไว้เป็นของบุคคลเช่นนายพล โอกาสที่กลุ่มอุปถัมภ์จะแย่งทรัพยากรกันจนต้องปะทะกันเองก็เกิดขึ้นได้ง่าย และอาจทำให้กองทัพอ่อนแอลง จำเป็นต้องจำกัดกลุ่มผู้อุปถัมภ์ให้เหลือแคบลง เช่น เป็นสมัครพรรคพวกของแม่ทัพ (รุ่นเดียวกัน เคยสังกัดหน่วยรบเดียวกัน ฯลฯ) เพื่อกระจายทรัพยากรอุปถัมภ์ไปยังลูกน้องที่ไว้วางใจได้เท่านั้น

วิธีนี้ทำให้กลุ่มทหารที่อยู่นอกความสัมพันธ์เชิงอุปถัมภ์ไม่มีกำลังพอจะแข็งข้อได้ อย่างเก่งก็เพียงก่นด่าหรือนินทาเท่านั้น

อีกวิธีหนึ่งที่มักทำควบคู่กันไปกับการใช้ระบบอุปถัมภ์ก็คือ การปลุกเร้าทางอุดมการณ์ ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องยากที่จะเกิดผลในทางปฏิบัติเหมือนกัน แต่เป็นเรื่องใหญ่เกินกว่าจะพูดถึงในที่นี้ด้วย

 

ที่มา: มติชนสุดสัปดาห์ www.matichonweekly.com/column/article_152993

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท