201 แรงงานข้ามชาติสนุกการ์เมนท์ อ.แม่สอด รับค่าชดเชยเลิกจ้าง 9.9 ล้าน

แรงงานข้ามชาติ จำนวน 201 คน ได้รับเงินค่าจ้างและค่าชดเชยจากการถูกเลิกจ้างจำนวน 9.99 ล้านหลังการเข้าสู่กลไกการคุ้มครองสิทธิแรงงาน ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ร้องไทยจำเป็นต้องเร่งการให้สัตยาบันอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ทบทวนกระบวนการจ้างงานในพื้นที่ชายแดน 

 

ภาพจากเพจ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดตาก

7 ธ.ค.2561 มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา รายงานว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา แรงงานข้ามชาติ จำนวน 201 คน อดีตลูกจ้าง โรงงานสนุกการ์เมนท์ อ.แม่สอด จังหวัดตาก ได้เดินทางไปยังสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.ตาก สาขาอำเภอแม่สอด เพื่อรับเงินค่าจ้างและค่าชดเชยกรณีนายจ้างประกาศปิดกิจการ โดยแยกเป็น ค่าจ้างค้างจ่าย ตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ระยะเวลา 45 วัน เป็นเงินจำนวน 2,775,538 บาท และค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง เป็นเงินจำนวน 7,216,422 บาท  รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 9,991,960 บาท (ประมาณ 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ)  ทั้งนี้ สืบเนื่องจาก

1. วันที่ 17 ก.ย.2561 แรงงานข้ามชาติ จำนวน 166 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างในกิจการตัดเย็บเสื้อผ้าของโรงงานสนุกการ์เมนท์ ได้ยื่นข้อเรียกร้องตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ 2518 เพื่อให้นายจ้างเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงาน ให้จ่ายค่าล่วงเวลา ค่าจ้างตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน โดยนายจ้างและลูกจ้างได้มีการเจรจา จำนวน 2 ครั้ง แต่ตกลงกันไม่ได้ ลูกจ้างจึงได้แจ้งข้อพิพาททางแรงงานกับพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงาน

2. วันที่ 26 ก.ย. 2561 เจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้นัดเจรจาข้อพิพาททำให้นายจ้างและลูกจ้างสามารถตกลงกันได้และทำบันทึกข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตามที่แรงงานทั้ง 166 คน เรียกร้อง ลงวันที่ 1 ต.ค.2561

3. วันที่ 27 ต.ค.2561 นายจ้างประกาศปิดกิจการและเลิกจ้างแรงงาน จำนวน 201 คน โดยนายจ้างได้แจ้งกับทางเจ้าหน้าที่สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ว่าจะปิดกิจการในวันที่ 31 ต.ค.2561 นายจ้างเสนอจ่ายค่าชดเชย และค่าบอกกล่าวล่วงหน้า ตามกฎหมาย และเงินประกันทำงาน 15 วัน ลูกจ้างทั้งหมดรับข้อเสนอจากนายจ้าง และได้เดินทางมารับค่าจ้างและค่าชดเชย ตามที่นายจ้างได้นำเงินมาวางไว้แล้ว เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2561 ณ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน

4. ในการจ่ายค่าชดเชยตามกฎหมายพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 นั้น เป็นการยอมรับและไกล่เกลี่ยของแรงงานข้ามชาติทั้ง 201 คน ตามข้อเสนอจากนายจ้าง เพื่อไม่ติดใจเรียกร้องเงินค่าจ้าง ค่าล่วงเวลา ค่าทำงานในวันหยุด ที่ลูกจ้างมีสิทธิเรียกคืนจากนายจ้างได้ย้อนหลังสองปี โดยอาศัยอายุความแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และสิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541  ที่ลูกจ้างมีสิทธิที่จะเรียกได้เป็นเงินจำนวน สี่สิบล้านบาท

สำหรับการจ้างงานในพื้นที่อำเภอแม่สอด ซึ่งปัจจุบันได้ถูกประกาศให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษนั้น มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุว่า มีการสนับสนุนให้มีการจ้างแรงงานข้ามชาติในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ตามมาตรา 64แห่งพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 ทำให้แรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่ถูกผลักจากแรงงานที่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐบาลไทยและต้องเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ เพื่อให้แรงงานมีสถานะที่ถูกกฎหมายและได้ประโยชน์จากสิทธิของกฎหมายคุ้มครองแรงงานและการคุ้มครองทางสังคม กลายเป็นแรงงานที่ต้องขึ้นทะเบียนใหม่ในลักษณะไป-กลับ หรือตามฤดูกาล ที่มีลักษณะการจ้างงานแบบชั่วคราว 3 เดือน ในกิจการที่พบว่าส่วนใหญ่การจ้างงานกลุ่มดังกล่าวนี้อยู่ในกิจการที่เป็นลักษณะงานประจำ และการคุ้มครองสิทธิของแรงงานได้ถูกลดทอนลงไปเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสิทธิประโยชน์ทางสังคมภายใต้พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 และเงินทดแทน ภายใต้พระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537 และปัญหาของแรงงานที่ยังไม่เข้าถึงอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งสิทธิในการรวมกลุ่มที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ แม้ว่าไทยจะได้เป็นสมาชิกและเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์การด้านแรงงานระหว่างประเทศมาเกือบครบวาระ 100 ปี แล้วก็ตาม

"จึงเป็นความจำเป็นอย่างเร่งด่วน ที่รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งการให้สัตยาบันอนุสัญญาด้านแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่ 87 และ 98 ทบทวนกระบวนการจ้างงานในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะที่มีการประกาศให้เป็นพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐได้สนับสนุนการลงทุน เพื่อให้เกิดการสมดุลด้านความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการคุ้มครองแรงงาน ตามหลักการธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่ไทยได้ให้คำมั่นต่อสหประชาชาติในการออกแผนปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการคุ้มครอง เคารพ และการเยียวยาได้อย่างแท้จริง" มูลนิธิเพื่อสิทธิมนุษยชนและการพัฒนา ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท