ดูสื่อนอกทำข่าว 'ม็อบกั๊กเหลือง' พูดถึงอะไรกันบ้างนอกจากเรื่องความรุนแรง

รีวิวสื่อใหญ่ในต่างประเทศว่าพูดถึงอะไรในเหตุการณ์ "ม็อบกั๊กเหลือง" ที่ฝรั่งเศสกันบ้าง พบ แจกแจงสาเหตุ ที่มาผลกระทบทั้งปมเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ความคืบหน้าทั้งฝั่งม็อบและรัฐบาล ซีเอ็นเอ็นมีโยงถึงโดนัลด์ ทรัมป์ สื่ออังกฤษวิเคราะห์ความเคลื่อนไหวในฐานะความพิเศษที่ไม่เคยมีมาก่อน แต่มีเรื่องความรุนแรง ขวาจัด ชาตินิยมที่อาจเป็นปัญหากับยุโรปในอนาคต 

ป้ายข้อความ "ปฏิวัติ" ด้านหลังเสื้อกั๊กเหลืองของผู้ชุมนุม (ที่มา: Maxpixel)

7 ธ.ค. 2561 เป็นที่ทราบกันดีแล้วในหมู่ผู้ตามข่าวชาวไทยหากกล่าวถึงเหตุการณ์ในฝรั่งเศส เรื่องที่สำคัญและโดดเด่นชนิดที่ใช้เวลานึกไม่นาน ย่อมไม่พ้นเรื่อง “ม็อบเสื้อกั๊กเหลือง (gilet jaunes)” ผู้มาพร้อมการประท้วงที่ยกระดับไปสู่การใช้ความรุนแรงเป็นที่เรียบร้อย จนเป็นที่ลุ้นกันว่า รัฐบาล ผู้มีอำนาจ รวมถึงพลเมืองฝรั่งเศสจะจัดการอย่างไรต่อไปกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนี้

การประท้วงใหญ่ครั้งนี้ถูกสื่อใหญ่ต่างประเทศจับตามองทั่วโลก พร้อมทั้งนำเสนอและวิเคราะห์ออกมาจากมุมมองของสำนักตัวเอง ด้วยเหตุนั้น การรายงานข่าวย่อมกำหนดการรับรู้ของผู้อ่านต่อการเคลื่อนไหวที่มีความเป็นไปหลายหลาก ข่าวนี้จึงนำผู้อ่านเลาะเลี้ยวเที่ยวชมมุมมองของบรรดาสื่อใหญ่ที่มีต่อเหตุการณ์การประท้วงครั้งนี้และจะพูดถึงอย่างไร

สำหรับข้อมูลคร่าวๆ  เกี่ยวกับการประท้วงโดยม็อบเสื้อกั๊กเหลือง การประท้วงเกิดขึ้นที่กรุงปารีสและในที่อื่นอีกหลายแห่งทั่วฝรั่งเศส โดยชนวนเกิดจากการขึ้นภาษีไฮโดรคาร์บอนของรัฐบาลมาครงซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาน้ำมันและค่าครองชีพจนเกิดเป็นความไม่พอใจและลุกลามจนทำให้ชาวฝรั่งเศสราว 285,000 คนออกมาเดินขบวนทั่วประเทศเมื่อ 17 พ.ย. และต่อเนื่องเรื่อยมาถึงปัจจุบันแม้จำนวนคนจะลดลงแล้ว ด้านรัฐบาลเองแม้จะมีการเลื่อนการขึ้นภาษีแต่ก็ไม่อาจทำให้ผู้ชุมนุมหยุดประท้วงได้ เพราะประเด็นการเรียกร้องและความไม่พอใจสาธารณะได้ขยายจากเรื่องภาษีไปสู่เรื่องความไม่เท่าเทียมทางสังคม

การประท้วงที่ดำเนินไปมีทั้งส่วนที่เป็นไปอย่างสงบและใช้ความรุนแรง ร้านรวงต่างๆ บริเวณถนนฌองซ์เซลิเซ่ในกรุงปารีสถูกเผา ประตูชัย แลนด์มาร์กประจำกรุงปารีสถูกฉีดพ่นด้วยสีสเปรย์ ล่าสุด (7 ธ.ค. 2561) เอเอฟพี [1] [2] รายงานว่า ตำรวจจำนวน 89,000 นายจะเข้าประจำการทั่วประเทศเพื่อรับมือกับม็อบ เฉพาะในกรุงปารีสจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการประมาณ 8,000 คนพร้อมกับรถหุ้มเกราะ 12 คัน ที่ถูกใช้ประจำการในกรุงปารีสเป็นครั้งแรกในรอบ 13 ปี โดยยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนสามคน ถูกจับกุมไปแล้ว 412 คน 

ตามกฎหมาย ผู้ใช้ยานพาหนะในฝรั่งเศสทุกคนต้องพกเสื้อกั๊กสีเหลืองไว้ในรถของตนในฐานะหนึ่งในอุปกรณ์รักษาความปลอดภัยที่ต้องสวมเมื่อลงมาซ่อมรถหากรถเสีย นอกจากนี้ยังจะต้องมีกรวยสีแดงที่วางไว้หลังรถด้วย เพื่อให้เป็นที่มองเห็น หากไม่ใส่เสื้อกั๊กหลังรถเสียหรือเกิดอุบัติเหตุ อาจเสียค่าปรับเป็นเงิน 135 ยูโร (ประมาณ 5,064 บาท) ตามกฎหมายที่บังคับใช้เมื่อปี 2551

เดอะการ์เดียนทำความเข้าใจผ่านเลนส์เศรษฐกิจ-การเมือง แต่ระวังความ 'ขวา' ในม็อบ

สำหรับสื่ออังกฤษอย่างเดอะการ์เดียน ข่าว France’s ‘gilets jaunes’ leave Macron feeling decidedly off-colour ซึ่งเผยแพร่เกี่ยวกับช่วงแรกของการประท้วง ได้พูดถึงระดับความชอบธรรมของการชุมนุมในสายตาของสังคม โดยยกผลสำรวจเลอฟิกาโฮว่าร้อยละ 77  มองว่าการชุมนุมครั้งนี้มีความชอบธรรมและสะท้อนให้เห็นถึงความห่างเหินระหว่างผู้คนกับรัฐบาลซึ่งเกิดขึ้นแม้แต่ในหมู่ที่ไม่ได้ออกมาปิดถนน

ในข่าวดังกล่าวซึ่งเผยแพร่เมื่อ 23 พ.ย. 2561 มีคำสัมภาษณ์ของบรรดาผู้ชุมนุมที่ไม่พอใจต่อรัฐบาลของพวกเขา มารี หนึ่งในผู้ชุมนุมกล่าวว่า “ประชาชนกำลังคับข้องใจและเต็มไปด้วยความโกรธแค้น ภาษีขึ้นแต่เงินเดือนไม่ขึ้น เมื่อคุณทำงานอย่างหนัก จึงรู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเลย”

แต่การรายงานข่าวของเดอะการ์เดียนก็ไม่ได้ละเลยความจริงที่ว่ามีการใช้ความรุนแรงโดยกลุ่มผู้ประท้วงอยู่จริง ในข่าวถัดมาเกี่ยวกับกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองคือ Who are the gilets jaunes and what do they want? ได้มีการยกผลการสำรวจจากอีกสำนักหนึ่งคือ Harris Interactive แสดงว่าให้เห็นว่า แม้ร้อยละ 72 ของชาวฝรั่งเศสจะสนับสนุนการประท้วงครั้งนี้ แต่มีถึงร้อยละ 85 ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในการประท้วงที่ปารีส โดยในประเด็นของความรุนแรง เดอะการ์เดียนได้รายงานโดยอ้างข้อมูลจากฝ่ายรัฐว่ามีกลุ่มฝ่ายขวาและฝ่ายซ้ายที่เชี่ยวชาญด้านการก่อจลาจลเข้าร่วมการชุมนุมครั้งนี้

เนื้อหาใน Macron’s U-turn on eco-tax rise gives green lobby fuel for thought รายงานถึงการยอมอ่อนข้อให้ของภาครัฐ แต่สิ่งที่พ่วงมากับข่าวนี้คือบทวิเคราะห์ความล้มเหลวในการใช้นโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของฝรั่งเศส ซึ่งอยู่ที่ความผิดพลาดในการเลือกยุทธศาสตร์สำหรับลดการใช้พลังงานฟอสซิล และมีการกล่าวถึงกรณีศึกษาเปรียบเทียบว่าด้วยการปฏิรูปเรื่องสิ่งแวดล้อมที่สำเร็จในสหรัฐฯ  ส่วนข่าวที่สี่ซึ่งรายงานถึงการชุมนุมที่ยังดำเนินต่อไปของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง ซึ่งเป็นรายงานทั้งจากมุมของรัฐบาลที่ไม่ยอมรับการใช้ความรุนแรงของฝ่ายประท้วง และจากมุมของฝ่ายประท้วงที่ไม่ “ยอมรับเศษขนมปัง” จากรัฐบาล

ด้านบทวิเคราะห์ของเดอะการ์เดียนมีอยู่สามเรื่อง เนื้อหาโดยรวมเป็นการมองถึงประเด็นอุดมการณ์ทางการเมืองและเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองให้ประท้วงรัฐบาล ในทางหนึ่งดูเหมือนว่าเงื่อนไขทางเศรษฐกิจที่มาจากการปฎิรูปเศรษฐกิจยุคทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมาจะทำให้ความเหลื่อมล้ำสูงมากขึ้นจนเป็นความห่างเหินระหว่างชนชั้นจนนำมาสู่ความขัดแย้งครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเคลื่อนไหวดังกล่าวยังแฝงอุดมการณ์ฝ่ายขวาแบบฟาสซิสต์  ซึ่งมีลักษณะของความสุดโต่งคลั่งชาติและเชื่อในอำนาจความรุนแรง อย่างกรณีที่หนึ่งในโฆษกของผู้ชุมนุม คริสตอฟ ชาลองซอง ผู้มีแนวคิดต่อต้านมุสลิม และยังเรียกร้องให้มีรัฐบาลที่ทหารเป็นผู้จัดตั้ง สะท้อนว่าฝ่ายขวาเองก็พยายามจะสร้างพื้นที่กลับมาเช่นกัน ปรากฎการณ์เหล่านี้นับเป็นเรื่องที่สำคัญมากเพราะจะส่งผลกระทบต่อการเติบโตของกลุ่มฟาสซิสต์อื่นในยุโรปได้ ซึ่งอาจทำให้เป็นปัญหาในความร่วมมือในระดับภูมิภาค

แม้จะเห็นได้ว่าเดอะการ์เดียนดูมีแนวโน้มความสนใจต่อกลุ่มผู้ประท้วงมาก และมีท่าทีเชิงวิพากษ์วิจารณ์ต่อรัฐ แต่สำนักข่าวดังกล่าวก็มีการเผยแพร่บทวิเคราะห์ที่แสดงให้เห็นว่า ภายใต้กลุ่มเคลื่อนไหวที่มีความชอบธรรม ถูกกระทำจากความไม่เท่าเทียมที่ฝังรากมายาวนาน แต่ก็มีปัญหาในเชิงอุดมการณ์ที่ต้องระวังเช่นกัน

ซีเอ็นเอ็นตามมาตรการรัฐบาล ยกประเด็นทรัมป์แซะอียูเหตุข้อตกลงการค้าไม่แฟร์

ซีเอ็นเอ็น สื่อสหรัฐฯ ติดตามและนำเสนอความเคลื่อนไหวของการประท้วงกั๊กเหลืองมาตั้งแต่ช่วงแรกเริ่ม มีการรายงานถึงสถานการณ์ความรุนแรง มีการรายงานจำนวนผู้ที่ถูกจับ จำนวนผู้ที่เข้าร่วมการชุมนุม รวมทั้งสาเหตุของผู้ที่มาชุมนุม และในส่วนท้ายของข่าวก็มีการรายงานถึงท่าทีของมาครงที่แสดงความเห็นต่อการใช้ความรุนแรงของกลุ่มเสื้อกั๊กเหลืองในปารีสว่าไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง นอกจากนี้ยังมีการตั้งข้อสังเกตว่า มีตัวแปรอื่นของการขึ้นราคาน้ำมันแต่กลับมีเพียงมาครงที่ถูกโจมตีด้วยความโกรธเคืองจากประชาชน

ส่วนข่าวถัดๆ มาที่ลงต่อกันไม่นานนัก จะพูดถึงการรับมือของรัฐต่อการประท้วงและความรุนแรง มีการกล่าวถึงว่าภาครัฐจะมองหาทุกตัวเลือกเพื่อระงับการประท้วงที่ใช้ความรุนแรง ทั้งสองข่าวยังกล่าวถึงการประกาศภาวะฉุกเฉินซึ่งเป็นเรื่องที่ทางฝรั่งเศสเลือกที่จะเก็บไว้ก่อนและมองหาตัวเลือกอื่นที่จะใช้ได้  ข่าวทั้งสองยังได้รายงานท่าทีการเอาผิดกับผู้ประท้วง โดยทางมาครงกล่าวว่าจะไม่มีการละเว้นโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิด ส่วนทางอัยการกรุงปารีสก็กล่าวว่าจะดำเนินการลงโทษหนักต่อผู้ใช้ความรุนแรง

ซีเอ็นเอ็นนำเสนอข่าวนี้ พร้อมทั้งเผยแพร่ทวีตของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ใช้โอกาสการประท้วงนำเสนอประเด็นความเสียเปรียบของสหรัฐฯ ต่อข้อตกลงการค้าที่ทำกับสหภาพยุโรป เมื่อเทียบกับการคุ้มครองทางทหารอัน “ยิ่งใหญ่” ที่สหรัฐฯ มีให้

 

 

ในหัวข้อ France to suspend fuel price hike after 'yellow vest' protests มีการเสนอข้อมูลจากทางผู้ชุมนุมในส่วนของเหตุผลและมุมมองของผู้ชุมนุมที่ต่อต้านรัฐบาลมาครง โดยซีเอ็นเอ็นรายงานถึงมุมมองของผู้ชุมนุมว่าพวกเขาเล็งเห็นปัญหาความไม่เท่าเทียม และเมื่อตระหนักว่าพวกเขาสู้ได้ ความขุ่นเคืองที่อัดแน่นมานานก็ผลักดันให้พวกเขาออกมาปะทะกับรัฐบาลมาครงที่เขามองว่าเย่อหยิ่ง

ข้อสังเกตหนึ่งเกี่ยวกับมุมมองของซีเอ็นเอ็นต่อกลุ่มม็อบเสื้อกั๊กเหลืองและการประท้วงคือ เนื้อหาส่วนใหญ่มักรายงานปัญหาการชุมนุมในแง่ของ ความวุ่นวาย และความรุนแรง ซึ่งมีลักษณะของการรายงานภัยบางอย่างที่เกิดขึ้นโดยมีตัวละครที่มักกล่าวถึงคือภาครัฐคอยรับมือ เสียงของฝ่ายผู้ชุมนุมดูจะมีนัยสำคัญน้อยเมื่อสังเกตจากสัดส่วนในหน้าข่าว

บีบีซีวิเคราะห์ม็อบในฐานะการเคลื่อนไหวแบบใหม่ มีเอกลักษณ์เฉพาะ เรื่องปากท้องไม่มีขั้วการเมือง

สื่ออังกฤษอย่างบีบีซีเริ่มต้นรายงานเรื่องนี้เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 2561 โดยรายงานในเชิงรายละเอียดของการประท้วง สาเหตุจากรัฐบาลที่ส่งผลต่อเหตุการณ์นี้โดยเป็นการกล่าวถึงเรื่องที่มาครงเคยพูดไว้ว่าจะจัดการกับปัญหาเศรษฐกิจและลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล

ภาพการชุมนุมกั๊กเหลือง (ที่มา: Wikipedia)

ในส่วนของสถานการณ์ที่กำลังเป็นไป ทางบีบีซีสัมภาษณ์ทั้งจากทางฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ประท้วง ข้อมูลจากทางรัฐส่วนใหญ่เป็นเรื่องการรับมือกับสถานการณ์และมุมมองของรัฐต่อกลุ่มผู้ประท้วง เช่น คำพูดของรัฐมนตรีกระทรวงกิจการภายใน คริสตอฟ แกสตาแนร์ ที่กล่าวว่ามีการใช้ความรุนแรงรวมไปถึงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในหมู่ผู้ชุมนุม อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการรับมือ บีบีซีมีการกล่าวถึงประเด็นเรื่องสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงเล็กน้อย มาตรการของภาครัฐถูกเปิดเผยอย่างกระจ่างชัดในหน้าข่าว France protests: PM Philippe suspends fuel tax rises ซึ่งมีการนำเสนอข้อมูลจากทางนายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เอดัวร์ ฟิลิปป์ว่าจะเลื่อนการขึ้นภาษีคาร์บอนไปอีก 6 เดือนเพื่อเปิดให้มีการถกเถียงกันเพื่อคลี่คลายปัญหา

ด้านข้อมูลจากทางฝั่งผู้ประท้วง บีบีซีได้นำเสนอข้อมูลนี้ผ่านวิดีโอที่เป็นการสัมภาษณ์หญิงชาวฝรั่งเศสผู้เข้าร่วมการประท้วง วาเลรี่ แคซาโนวา ซึ่งเผยให้เห็นถึงปัจจัยที่ผลักดันให้เธอออกมาประท้วง “เราไม่มีตัวเลือก เราจำเป็นต้องใช้รถเดินทางในชนบท” ในสถานการณ์ดังกล่าวเธอได้เล่าเพิ่มเติมว่า เธอและครอบครัวกำลังพยายามอย่างเต็มที่เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายในครอบครัวให้มากที่สุดแล้ว นอกจากนี้วิดีโอดังกล่าวยังแสดงถึงมุมมองที่เธอมองขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองที่เธอสังกัด “ตรงที่เราปิดถนน เราจะไม่ถามกันถึงอาชีพหรือเรื่องที่เราเลือกใคร พวกเราแค่รู้ว่าเราเป็นกลุ่มเสื้อกั๊กเหลือง”

ในบทวิเคราะห์เรื่อง Are French riots a curse or a blessing for Macron? มีการนำเสนอมุมมองของนักวิชาการในเรื่องอัตลักษณ์ทางการเมืองของกลุ่มม็อบกั๊กเหลืองที่มีความเฉพาะตัวในฐานะการเคลื่อนไหวเรื่องปากท้อง ซึ่งก้าวข้ามอุดมการณ์การเมืองต่างๆ โดยเจโฆม แซงต์ มารี ผู้เขียนหนังสือเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางประชาธิปไตยของฝรั่งเศสมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อมาครงอย่างมาก ด้านมิเชล พิชเน็ต นักประวัติศาสตร์สังคมที่มหาวิทยาลัยในปารีสเห็นพ้องว่า การประท้วงครั้งนี้ไม่มีความเป็นซ้าย หรือความเป็นขวาที่ชัดเจน เนื่องจากการต่อต้านภาษีนั้นส่วนมากเป็นเรื่องของฝ่ายขวา ส่วนเรื่องค่าครองชีพนั้นเป็นเรื่องฝ่ายซ้าย แต่ก็อยู่ในขบวนเดียวกัน การเคลื่อนไหวเช่นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่และเป็นคำถามทางการเมืองที่สำคัญ

อย่างไรก็ตาม เมื่อความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นในการเคลื่อนไหวก็มีการนำเสนอมุมมองต่อความรุนแรงของคนในม็อบที่มองว่าบางครั้งความรุนแรงก็มีความชอบธรรมพอที่จะเกิดขึ้นได้ กระนั้นจากเนื้อหาบางส่วน ยังคงเห็นได้ว่าบีบีซีมีการแยกแยะระหว่างกลุ่มหัวรุนแรงกับกลุ่มประท้วงอย่างสงบ

เอเอฟพีขยายสาเหตุความโกรธแค้น การลดภาษีคนรวยคือตัวแปรหนุนการประท้วง

ส่วนสื่อฝรั่งเศสอย่างเอเอฟพีก็จับตาไปที่รัฐพร้อมๆ กันกับสถานการณ์ความรุนแรงในการประท้วงของม็อบเสื้อกั๊กเหลือง ด้านการรายงานก็ดูจะคล้ายกับซีเอ็นเอ็นที่มองท่าทีของรัฐว่าจะรับมืออย่างไรกับการประท้วง แต่จุดเด่นที่เอเอฟพีเน้นคือขยายความเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้กับผู้มีรายได้สูงและนักลงทุนในรูปของการลดภาษี ซึ่งก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่งสร้างความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้ประท้วงที่มาจากผู้มีรายได้ต่ำ และยังคอยรายงานการตอบสนองต่อแนวทางของผู้ประท้วงต่อมาตรการผ่อนปรนต่างๆ ของรัฐอีกด้วย

จากที่เห็นมุมมองของแต่ละสื่อ แม้จะมีการหยิบยกข้อมูลว่ามีการใช้ความรุนแรงและการสร้างความเสียหายจากกลุ่มผู้ประท้วง แต่ประเด็นดังกล่าวก็ไม่ได้ทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่ประชาชนฝรั่งเศสต้องเผชิญหมดความสำคัญลงไป สื่อต่างๆ ก็ยังคงนำเสนอต้นตอของปัญหาที่ดำรงอยู่ในสังคมและยังธำรงความเหลื่อมล้ำจนนำไปสู่การระเบิดความโกรธแค้นครั้งนี้ มากกว่าโฟกัสที่การทำลายข้าวของ เผาบ้านเผาเมืองที่เกิดขึ้นเพียงอย่างเดียว

กาญจนพงศ์ รินสินธุ์ เป็นนักศึกษาหลักสูตรอาเซียนศึกษา จากสำนักศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ปัจจุบันกำลังฝึกงานที่ประชาไท

แปลและเรียบเรียงจาก

France fuel protests: 'Yellow vests' pull out of PM meeting, BBC, Dec. 4, 2018

France protests: PM Philippe suspends fuel tax rises, BBC, Dec. 4, 2018

France fuel protests: Ball in Macron's court after violence, BBC, Dec. 3, 2018

France fuel protests: Who are the people in the yellow vests?, BBC, Dec. 1, 2018

Are French riots a curse or a blessing for Macron?, BBC, Nov. 21, 2018Yellow vests:

Hundreds injured as France fuel protests continue, BBC, Nov. 18, 2018

France to suspend fuel price hike after 'yellow vest' protests, CNN, Dec. 5, 2018

Paris protests: Macron seeks way to defuse 'yellow vest' demonstrations, CNN, Dec. 4, 2018

France considers 'all options' to quell violent protests, CNN, Dec. 3, 2018

Hundreds arrested in third weekend of Paris protests against rising fuel prices, CNN, Dec. 2, 2018

Macron slams protesters after violence breaks out in French demonstrations, CNN,  Nov. 25, 2018

Macron’s U-turn on eco-tax rise gives green lobby fuel for thought, The Guardian, Dec. 4, 2018

Gilets jaunes protests in France to continue despite fuel tax U-turn, The Guardian, Dec. 4, 2018

Macron’s crisis in France is a danger to all of Europe, The Guardian, Dec. 4, 2018

Never before have I seen blind anger like this on the streets of Paris, The Guardian, Dec. 3, 2018

France is deeply fractured. Gilets jaunes are just a symptom, The Guardian, Dec. 2, 2018

France’s ‘gilets jaunes’ leave Macron feeling decidedly off-colour, The Guardian, Nov. 23, 2018

Macron retreats on fuel tax hikes in bid to calm French protests, AFP, Dec. 5, 2018

Macron to halt fuel tax hikes in bid to calm fiery protests, AFP, Dec. 4, 2018

French PM to announce suspension of fuel tax hikes: government sources, AFP, Dec. 4, 2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท