Skip to main content
sharethis

กกต.ตัดสิทธิ 158 ผู้สมัคร ส.ว. ชี้ร้องศาลฎีกาขอคืนสิทธิได้ภายใน 8 ธ.ค. รองเลขาฯ เผยมี 52 อำเภอใน 28 จังหวัดไม่ต้องดำเนินการเลือก ส.ว.เหตุไม่มีผู้สมัคร กกต.ร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย ส่งบัตรเลือก ส.ว.ระดับอำเภอ-จังหวัดทั่วประเทศแล้ว มั่นใจระบบขนส่งปลอดภัย ตรวจสอบได้ตลอดเส้นทาง


ที่มาภาพ: สำนักข่าวไทย

เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมานายณัฎฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์ถึงการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้สมัครเป็นสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ว่า จากการตรวจสอบระบบมีการตกหล่นของยอดผู้สมัครทั่วประเทศ โดยสรุปยอดผู้สมัครทั่วประเทศอย่างเป็นทางการมีทั้งสิ้น 7,215 คน แบ่งเป็นสมัครด้วยตนเอง 6,706 คน และองค์กรเสนอชื่อ 509 คน ซึ่งหลังปิดการรับสมัคร ได้มีการตรวจสอบคุณสมบัติและลักษณะต้องห้าม ซึ่งผู้อำนวยการเลือกตั้งได้ตัดสิทธิไม่ประกาศรายชื่อให้เป็นผู้สมัคร จำนวน 158 คน โดยพบว่าส่วนใหญ่มีปัญหาตัดถูกสิทธิเพราะเป็นสมาชิกพรรคการเมือง หรือเป็นเครือญาติกัน

นายณัฏฐ์ กล่าวอีกว่า ผู้ที่ไม่ได้รับการประกาศชื่อให้เป็นผู้สมัครทั้งหมด สามารถใช้สิทธิยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาได้ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2561 แม้จะเป็นวันเสาร์ แต่ทางศาลฎีกาก็อำนวยความสะดวกเปิดรับคำร้องและพยานหลักฐาน โดยยื่นผ่านทางศาลจังหวัด ซึ่งการเลือกระดับอำเภอจะมีขึ้นในวันที่ 16 ธันวาคม แต่จากการประสานงาน ทางศาลฎีกาจะเร่งในการพิจารณาวินิจฉัย คาดว่าอย่างช้าจะเสร็จภายในวันที่ 14 ธันวาคม หรืออย่างเร็วอาจจะเสร็จทันภายในวันที่ 12 ธันวาคมที่ กกต.จะจัดพิมพ์และแจกเอกสารการแนะนำของผู้สมัครแต่ละคนให้กับผู้สมัครทุกคน อย่างไรก็ตาม การตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัคร  ส.ว. เป็นอำนาจของผู้อำนวยการเลือกที่จะตรวจสอบได้โดยตลอด หากพบว่าขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้าม ก็จะลบรายชื่อผู้สมัครรายนั้นออกได้ทันที หรือแม้แต่เมื่อได้รับการเลือกเป็น ส.ว.แล้ว หาก กกต.พบว่าขาดคุณสมบัติ ก็สามารถทำความเห็นเสนอต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นสภาพการเป็น ส.ว.ได้

“ขณะนี้ถือว่า กกต.มีความพร้อมในการบริหารจัดการเลือก ส.ว.ระดับอำเภอเต็มที่แล้ว โดยจะมีการลงคะแนนเลือกทั้ง 2 สาย ใน 197 อำเภอ ใน 52 จังหวัด ขณะที่ 52 อำเภอ ใน 28 จังหวัด จะไม่มีการดำเนินการเลือก เพราะไม่มีผู้สมัคร ส่วนอำเภอที่เหลือจะไปรายงานตัวอย่างเดียว เพราะมีผู้สมัครไม่เกิน 3 คน ก็จะผ่านไปคัดเลือกระดับจังหวัดได้เลย ซึ่งเมื่อผู้สมัครน้อยลง ทาง กกต.ก็ได้มีมติแจ้งไปสำนักงาน กกต.จังหวัดว่าในอำเภอของจังหวัดนั้นหากไม่ต้องมีการเลือก ก็ไม่ต้องมีการจัดประชุม ซึ่งก็จะทำให้สามารถประหยัดงบประมาณไปได้ระดับหนึ่ง” นายณัฎฐ์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับอำเภอทั่วประเทศมีทั้งหมด 928 อำเภอ ดังนั้นจะมีอำเภอที่ไม่ต้องมีการลงคะแนนเลือก ส.ว. เนื่องจากมีผู้สมัครไม่ถึงเกณฑ์ 3 คน โดยทั้งหมดจะถือเป็นผู้ผ่านไปคัดเลือกในระดับจังหวัด รวม 679 อำเภอ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า 4 จังหวัด คือ พังงา ระนอง ชุมพร และสุมทรสาคร ที่อาจไม่ต้องลงคะแนนเลือกระดับจังหวัด เพราะมีผู้สมัครไม่เกิน 4 คน ซึ่งทั้งหมดจะถือเป็นผู้ผ่านไปคัดเลือกในระดับประเทศเลย

กกต.ร่วมกับไปรษณีย์ไทยส่งบัตรเลือก ส.ว.ทั่วประเทศแล้ว

นอกจากนี้นายณัฎฐ์ ยังได้ตรวจเยี่ยมศูนย์บริหารการขนส่งบัตรเลือกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่ศูนย์ไปรษณีย์หลักสี่ เพื่อติดตามการจัดส่งบัตรเลือก ส.ว.ระดับอำเภอและระดับจังหวัด ที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด โดยมีนายมานพ ศรวิบูลย์ศักดิ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการนครหลวงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ให้การต้อนรับ

นายณัฎฐ์ กล่าวว่าการจัดส่งบัตรเลือก ส.ว.ในครั้งนี้เป็นรอบสุดท้าย จากที่ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดส่งไปยังภาคใต้ ภาคอีสาน และภาคเหนือมาก่อนแล้ว โดยในวันนี้ (7 ธ.ค.) จะจัดส่งในพื้นที่ภาคกลาง กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยบัตรเลือก ส.ว.ครั้งนี้ กกต.ได้จัดพิมพ์ประมาณ 80,000 ฉบับ ซึ่งเป็นจำนวนที่คาดการณ์ว่าจะมีผู้สมัครแต่ละอำเภอของทั้งประเทศก่อนการปิดการรับสมัคร และบริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ จะจัดส่งตรงไปยังสำนักงาน กกต.จังหวัดทั้ง 77 จังหวัดพร้อมกับสายรัด และแนวกั้น ซึ่งจะมีคณะกรรมการตรวจรับในทุกขั้นตอน

“เมื่อได้รับแล้ว สำนักงาน กกต.จังหวัด ก็จะกระจายบัตรไปยังอำเภอ โดยคณะกรรมการเลือกระดับอำเภอจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย เมื่อมีการลงคะแนนเสร็จสิ้นในแต่ละขั้นตอนของการเลือกแต่ละระดับแล้ว บัตรเลือก ส.ว.เหลือที่ไม่ได้ถูกใช้จะถูกเจาะทำลายทิ้ง ส่วนบัตรเลือกที่ใช้ลงคะแนนแล้วจะเก็บไว้ในที่ปลอดภัย จนกว่าการเลือกจะเสร็จสิ้น ก็จะมีการทำลายในภายหลัง ทั้งนี้ระบบการจัดส่งของบริษัท ไปรษณีย์ไทย มีการกำหนดขั้นตอนต่าง ๆ เพื่อรักษาความปลอดภัยไว้อย่างเข้มข้น ทำให้ กกต.มีความมั่นใจ สบายใจว่าจะไม่เกิดปัญหาเรื่องของการจัดส่ง” นายณัฏฐ์ กล่าว

ด้านนายมานพกล่าวว่า บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ ได้จัดเส้นทางการขนส่งทั้งหมด 27 เส้นทาง ใช้รถยนต์ขนส่ง โดยมีรถนำรถตำรวจทางหลวง ตำรวจท่องเที่ยวคอยคุ้มกันนำทางส่งถึงที่สำนักงาน กกต.จังหวัดทั่วประเทศ และตลอดการเดินทาง ทางศูนย์บริหารการขนส่งฯ สามารถติดตามและตรวจสอบได้ผ่านระบบจีพีเอส โดยเริ่มจัดส่งตั้งแต่วันที่ 5-8 ธ.ค. 2561 และขณะนี้จัดส่งเสร็จแล้ว คิดเป็นร้อยละ 36 เชื่อว่าระบบที่บริษัท ไปรษณีย์ไทยฯ เตรียมไว้ จะทำให้การขนส่งเกิดความปลอดภัย และมั่นใจในความโปร่งใสในทุกขั้นตอน


ที่มาข่าวเรียบเรียงจากสำนักข่าวไทย [1] [2]
 


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net