6 พรรคเปิดแพ็คเกจปฏิรูปเศรษฐกิจ แก้เหลื่อมล้ำ ชูกระจายรายได้-สลายผูกขาด

เวที 'การปฏิรูปและนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลเลือกตั้ง' ที่ ม.รังสิต 6 พรรคเสนอแนวนโยบาย 'อนาคตใหม่' ย้ำกระจายอำนาจ-ทำลายผูกขาดอภิสิทธิ์ชน 'ภูมิใจไทย' เสนอ 3 แชริงแก้ความเหลื่อมล้ำ 'ประชาธิปัตย์' มุ่งเพิ่มตัวชี้วัดด้านการกระจายรายได้ 'เพื่อไทย' แนะรัฐบาลต้องช่วยเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข 'ไทยรักษาชาติ' เสนอฟื้นความเชื่อมั่น จัดงบฯใหม่ ขณะที่ 'เสรีรวมไทย' ชี้แนวทางล้วนเหมือนกัน ต่างตรงที่ “ความดุเดือดและความเข้มข้น”

ที่มาภาพเพจ Rangsit University

8 ธ.ค. 2561 ที่อาคารรัตนคุณากร มหาวิทยาลัยรังสิต มีการจัดโครงการสัมมนาทางวิชาการประจำปีคณะเศรษฐศาสตร์ ครั้งที่ 12 เรื่อง "การปฏิรูปและนโยบายเศรษฐกิจ ภายใต้รัฐบาลเลือกตั้ง" เมื่อวันที่ 6 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์ RSU Wisdom TV หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สถานีโทรทัศน์ TNN24 สถานีวิทยุ FM96.5 MHz คลื่นความคิด มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ มูลนิธีวีรชนประชาธิปไตย หนังสือพิมพ์มติชน สถานีวิทยุ FM 101 หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ สำนักข่าวประชาไท และกลุ่มนักศึกษาวิชา ECO499 

การสัมมนาครั้งนี้เชิญตัวแทนพรรคการเมืองจาก 6 พรรคได้แก่ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย พรรคไทยรักษาชาติ พรรคเสรีรวมไทย พรรคภูมิใจไทย และพรรคอนาคตใหม่ โดยมี ผศ.ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นผู้ดำเนินการสัมนา ในช่วงเปิดการสัมมนา อนุสรณ์ กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ว่า คือการทำให้การเลือกตั้งที่น่าจะมีขึ้นในปี 62 มีความหมายด้วยการให้บรรดาพรรคการเมืองมาเสนอแนวคิดเกี่ยวกับปัญหาใหญ่ของประเทศไทยอย่างการปฏิรูปเศรษฐกิจ เขายังได้กล่าวถึงการเลือกตั้งที่กำลังจัดขึ้นว่า หากการเลือกตั้งมีความเป็นธรรม ไทยจะสามารถก้าวออกจากระบอบรัฐประหารสู่ระบอบกึ่งประชาธิปไตย แล้วจึงค่อยก้าวไปสู่ประชาธิปไตย แต่หากขาดความเป็นธรรมในการเลือกตั้ง การเมืองไทยก็จะถดถอย

'เสรีรวมไทย' ชี้วิธีคล้ายกัน ต่างกันที่ความเข้มข้น

สมพงษ์ สระกวี จากพรรคเสรีรวมไทย เกริ่นเรื่องนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจว่า ตนเห็นด้วยกับคำกล่าวที่ว่านโยบายที่มาเสนอกันในงานนี้ก็คงไม่แตกต่างกันมากนัก แต่พรรคเสรีรวมไทยจะต่างตรงที่ “ความดุเดือดและความเข้มข้น” พรรคเสรีรวมไทยกล่าวว่า สถานการณ์ที่เป็นปัญหาอยู่คือ ตัวเลข GDP สูงขึ้นแต่ราคาสินค้าการเกษตรกลับลดลง และปัญหาราคาสินค้าการเกษตรก็ค้างคาเป็นเวลานาน จึงเสนอนโยบายปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจการเกษตรเร่ด่วน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะคือ  ระยะต้นซึ่งเป็นการเพิ่มราคาสินค้าการเกษตรให้อยู่ในระดับที่ผู้ผลิตพออยู่ได้ ซึ่งเป็นการหาวิธีที่จะทำอย่างไรให้สินค้าการเกษตรเหล่านี้ขายได้ สิ่งที่จำเป็นต่อนโยบายระยะต้นคือ สมรรถนะของรัฐบาลที่จะช่วยขายของให้กับผู้ผลิตในภาคการเกษตร

การปฏิรูประยะต่อไป คือการเพิ่มศักยภาพการผลิตให้กับภาคการเกษตร เมื่อสินค้าในระดับวัตถุดิบสามารถขายได้ในราคาที่พออยู่ได้แล้ว สิ่งที่นโยบายจำดำเนินการต่อไปคือ การแปรรูปวัตถุดิบทางการเกษตรให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตัวแปรสำคัญสำหรับนโยบายนี้คือเรื่องการศึกษา โดยสมพงษ์เสนอว่า ควรมีการสนับสนุนการศึกษาในด้านการเกษตรอย่างวิทยาศาสตร์การยางเพื่อนำความรู้มาพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางในไทย

“เราขายยางอีกซัก 2-3 ปี เพื่อช่วยเกษตกรก่อน ต่อจากนั้นก็ต้องพัฒนายางดิบให้เป็นผลิตภัณฑ์ยาง จะไม่มัวมาภูมิใจกับการเป็นแชมป์ส่งออกยางดิบ” สมพงษ์ กล่าว พร้อมย้ำว่าการมุ่งมั่นเป็นแชมป์ส่งออกผลิตภัณฑ์ยางนั้นคือความดุเดือด

ที่มาภาพเพจ Rangsit University

'ไทยรักษาชาติ' เสนอฟื้นความเชื่อมั่น จัดงบฯใหม่

โจทย์สำคัญที่ จาตุรนต์ ฉายแสง จากพรรคไทยรักษาชาติกล่าวถึงคือรัฐบาลประชาธิปไตยจะแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างไรให้ดีกว่ารัฐบาลเผด็จการ เรื่องสำคัญที่เขาหยิบยกมากล่าวในการสัมมนานี้คือการฟื้นความเชื่อมั่นเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งจากฝั่งนักลงทุนและผู้บริโภค พร้อมทั้งจัดการปัญหาการใช้เงินของรัฐบาล

จาตุรนต์ กล่าวว่า ในการสร้างความเชื่อมั่น พรรคการเมืองต้องร่วมกันสร้างเสถียรภาพทางการเมือง ต้องแก้ปัญหาความไม่แน่นอนของรัฐและการแทรกแซงของรัฐที่จะให้คุณให้โทษกับเอกชน ด้านการท่องเที่ยว ต้องรีบเจรจาในเรื่องการค้าต่างประเทศเพื่อพัฒนาการส่งออก ในแง่ความเชื่อมั่นจากนักท่องเที่ยวก็ควรมีการใส่ใจในเรื่องความสะดวกและความปลอดภัยที่จะอำนวยแก่นักท่องเที่ยว ส่วนการเตรียมความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยวก็จะมีผลต่อการจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้ามาด้วย

ในเรื่องการจัดงบประมาณก็ต้องมาพิจารณาว่าสิ่งใดมีความจำเป็นต้องซื้อและสิ่งใดไม่จำเป็น แต่ไม่ควรไปยกเลิกสัญญากับต่างประเทศง่ายๆ เพราะอาจกลับมาส่งผลเสียต่อความน่าเชื่อถือได้ ในแง่ของการรับมือกับสงครามการค้า รัฐบาลก็ต้องดูว่าจะสร้างประโยชน์และดึงดูดความรู้เทคโนโลยีเข้าสู่ประเทศได้อย่างไรในสถานการณ์อย่างนั้น ในแง่ของกฎหมายก็ยังมีปัญหาที่ว่า กฎหมายไม่ควรสร้างความยากลำบากแก่ผู้ประกอบการและไม่ควรทำลายความเป็นส่วนตัวในการค้า และเรื่องสุดท้ายที่จาตุรนต์กล่าวถึงคือ ต้องมีการดูแลเรื่องความเหลื่อมล้ำ

“ในการกระจายรายได้ ผมไม่เห็นด้วยกับการเอาเงินมาแจกๆ ไปอย่างนี้ แต่ผมคิดว่าทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนมีรายได้” จาตุรนต์ กล่าว

ที่มาภาพเพจ Rangsit University

'อนาคตใหม่' ย้ำกระจายอำนาจ-ทำลายผูกขาดอภิสิทธิ์ชน

สำหรับแนวคิดการปฏิรูปเศรษฐกิจจากพรรคอนาคตใหม่ ธนาธร จึงรุ่งเรื่องกิจ เสนอแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจคลื่นลูกที่สี่ โดยขั้นแรกเขาเสนอว่าให้มีการปลดล็อคการผูกขาดทางเศรษฐกิจในภาคอุตสาหกรรม เพราะการผูกขาดทางเศรษฐกิจโดยกลุ่มทุนใหญ่ๆ จะเป็นการปิดกั้นโอกาสด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน กลุ่มทุนใหญ่ที่ผูกขาดเศรษฐกิจยังเป็นปฏิปักษ์ต่อประชาธิปไตยในแง่ที่ฝ่ายสนับสนุนทหาร ธนาธรเสนอการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจด้วยการยกเลิกการผูกขาดธนาคารไว้ที่ศูนย์กลาง สนับสนุนการเกิดขึ้นของธนาคารท้องถิ่น เพื่อสร้างแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยเหมาะสมต่อคนส่วนใหญ่ในประเทศ

ในภาคการเกษตร ธนาธร คัดค้านการที่รัฐนำเงินมาซื้อปุ๋ยจากผู้ค้าปุ๋ยรายใหญ่แล้วแจกเกษตรกร และในส่วนของสุรานั้น ธนาธร เห็นว่าถ้ายังผูกขาดการผลิตสุราก็จะนำไปสู่การสูญเสียภูมิปัญญาท้องถิ่นด้านนี้ในที่สุด ขั้นที่สองที่ ธนาธร เสนอคือ สร้างอุตสาหกรรมในเมืองไทย โดยคนไทย เพื่อคนไทย เพื่อยกระดับรายได้และสร้างงานที่มีคุณภาพให้กับคนไทย โดยต้องเป็นอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีฐานการผลิตในไทย สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาของประเทศ เป็นอุตสาหกรรมที่ไทยมีศักยภาพ และเป็นอุตสาหกรรมที่มีความต้องการในประเทศไทย ซึ่งสุดท้ายทั้งการยกระดับเทคโนโลยีในประเทศ ยกระดับคุณภาพการจัดการทรัพยากร และเพิ่มการจ้างงานไปในตัว

 “เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ถ้าเราไม่กระจายอำนาจ จำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะปลดปล่อยศักยภาพของประเทศไทย” ธนาธร กล่าวย้ำถึงความสำคัญการกระจายอำนาจเพื่อผลักดันประชาชนมีอำนาจในการจัดการปัญหาท้องถิ่นของตัวเอง

'ภูมิใจไทย' เสนอ 3 แชริงแก้ความเหลื่อมล้ำ

สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ จากพรรคภูมิใจไทย เสนอวิธีการกระจายผลประโยชน์และโอกาสด้วยแผนการต่างๆ อันดับแรกที่เขาเสนอคือ โพรฟิตแชริง ซึ่งเป็นการกระจายกำไรในกระบวนการผลิตและขายข้าว โดยสิริพงษ์เริ่มจากข้อสังเกตที่ว่าราคาข้าวเปลือกนั้นต่ำกว่าราคาข้าวสาร ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ผู้ผลิตข้าวได้ได้รับผลกำไรน้อย เขาเสนอว่าให้จับทุกกระบวนการในระบบมาขึ้นทะเบียน และเมื่อค้าขายได้กำไรก็นำมาแบ่งกันในแต่ละฝ่าย กำไรร้อยละ 70 ให้กับชาวนา ร้อยละ 15 ให้กับโรงสี และอีกร้อยละ 15 ให้กับผู้บรรจุถุง ซึ่งจากการเวิร์กช็อปพบว่าสามารถเพิ่มรายได้ให้กับชาวนาได้ถึง 3 เท่า และร้อยละ 20 แก่โรงสี ในขณะที่ผู้ส่งออกและผู้บรรจุมีรายได้ลดลง

ส่วนการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษา สิริพงษ์ เสนอแนวคิด ไทยแลนด์แชริ่งยูนิเวอร์ซิตี้ เพื่อเป็นการตอบโจทย์การศึกษาที่ให้ความสำคัญกับลักษณะเฉพาะของแต่ละคน โดยให้เรียนผ่านโทรศัพท์มือถือตามรายวิชาที่ใช่และอาจารย์ที่ชอบ เพราะคนที่หลากหลายไม่สามารถได้เต็มที่ด้วยการศึกษาแบบเดียว อีกแนวคิดคือ แชริ่งเอคโคโนมี “แนวคิดของภูมิใจไทยคือ ทุกคนต้องสามารถหารายได้ได้ในขณะที่ใช้ชีวิตประจำวัน” หน้าที่ของพรรคคือการมองหาโอกาสด้านเศรษฐกิจให้กับประชาชนพร้อมทั้งจัดการกับกำแพงที่ปิดกั้นประชาชน ซึ่งในแนวคิดนี้ ทางภูมิใจไทยเห็นว่ากฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากินของประชาธิปไตยจะต้องได้รับการแก้ไข

ที่มาภาพเพจ Rangsit University

'ประชาธิปัตย์' มุ่งเพิ่มตัวชี้วัดด้านการกระจายรายได้

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงปัญหาที่แม้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) จะโตแต่รายได้ของคนกลับยังต่ำ จึงจำเป็นต้องสร้างตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจใหม่ซึ่งก็ตัวชี้วัดด้านการกระจายรายได้ซึ่งในแต่ละโครงการของรัฐก็ต้องมีการประเมินว่าจะมีผลกระทบอย่างไรต่อการกระจายรายได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการให้อำนาจกับประชาชน ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเปิดพื้นที่ให้ประชาชนเข้าถึงทรัพยากร ในแง่ของข้อกฎหมายที่จะต้องปรับเพื่อให้เศรษฐกิจไทยทันเทคโนโลยีได้ อะไรที่กฎหมายไม่ห้ามก็ควรถือว่าทำได้ เพราะถ้ารอกฎหมายรับรองจะไม่ทัน ประเด็นการประกันรายได้ก็ยังถือว่าจำเป็นอยู่ ส่วนการผูกขาดก็แก้ด้วยการกำหนดกติกาให้ชัดเจนเรื่องการใช้ทรัพยากร

ในการสนับสนุนประชาชนยังทำได้ด้วยการเปิดให้ประชาชนเข้าใช้ข้อมูลต่างๆ ที่ภาครัฐถืออยู่เพื่อเพิ่มอำนาจแก่ประชาชน “วันนี้เราจะไปอีกขั้น ระบบการบริหารในเมืองแบบมหานคร การเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดจะต้องเกิดขึ้น” และในบางปัญหาอย่างการต่อสู้กับทุนข้ามชาติหรือการจัดเก็บภาษีออนไลน์ก็จะต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องการศึกษาก็จะมีการยกระดับจากการให้ความรู้เป็นการให้ทักษะ โดยเขาทิ้งท้ายไว้ว่าเรื่องสำคัญที่จะต้องจัดการหากไม่แก้ปัญหาเรื่องทุจริต ทุกอย่างที่กล่าวมาจะทำไม่ได้

'เพื่อไทย' แนะรัฐบาลต้องช่วยเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข

“สังคมจะอยู่ร่วมกันได้ ถ้าผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าใจภารกิจของรัฐในกรดูแลเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข” กิตติรัตน์ ณ ระนอง เสนอแนวคิดเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในแง่ของการแก้ปัญหาเมื่อราคาผลผลิตทางการเกษตรตก โดยเขายกตัวอย่าง ตอนที่ราคายางดิบตก ซึ่งในขณะเดียวกัน ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันที่ใช้กันบนท้องถนนก็ตกไปด้วย แต่แทนที่จะประชาชนจะได้สุขใจกับราคาน้ำมันที่ลดลง กลับต้องทุกข์ใจอีกระดับจากการที่ราคาน้ำมันไม่ลดเพราะภาษีน้ำมันในกรณีของดีเซล กิตติรัตน์เสนอว่าการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุขในกรณีนี้คือ การเก็บภาษีดีเซลในลักษณะที่พอประมาณ ไม่ถึงกับสร้างความลำบากต่อผู้ใช้รถและในขณะเดียวกันก็นำภาษีดังกล่าวนี้ไปช่วยผู้ที่กำลังประสบปัญหาอยู่ ณ สถานการณ์ดังกล่าว คือผู้ผลิตยาง

ในส่วนของการบริหารภาครัฐและภาคเอกชน กิตติรัตน์ เสนอให้มีการสร้างบรรยากาศของทำงานร่วมกันเพื่อบูรณาการทั้งสองส่วนเข้าด้วยกัน ในส่วนที่เป็นหน่วยงานรัฐเองก็ควรมีการทบทวนโครงสร้าง เขายกตัวอย่างการพัฒนาการท่องเที่ยวที่ควรจะมีการตั้งสภาของผู้ประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องให้มาประชุมกันแทนที่จะผูกกับกระทรวงหนึ่งซึ่งมีเรื่องอื่นๆ เข้ามาแทรก และนอกจากนี้ในแง่ของบทบาทต่อกลุ่มเอกชน รัฐควรรักษาท่าทีไม่ควรก้าวก่ายสร้างความลำบาก อย่างเช่น เรื่องใบอนุญาตที่เกินความจำเป็น รัฐควรทำเพียงแค่รักษากติกาเช่น การควบคุมไม่ให้เกิดการผูกขาดเป็นต้น

สำหรับ กาญจนพงค์ รินสินธุ์ ผู้รายงานฉบับนี้ ปัจจุบันฝึกงานกับประชาไท เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จากหลักสูตรอาเซียนศึกษา สำนักวิชาศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท