Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

แม้เราจะคาดหวังการสร้างประชาธิปไตย จากพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืน “อุดมการณ์ประชาธิปไตย” อย่าง “พรรคอนาคตใหม่” ก็ไม่ใช่เรื่องที่เราไม่ควรตั้งคำถามและวิจารณ์ความชัดเจนในอุดมการณ์และนโยบายว่า อนาคตใหม่มีข้อเสนออะไรบ้างที่จะสามารถเปลี่ยนระบบโครงสร้างของสถานะและอำนาจนำทางการเมืองและอำนาจนำทางวัฒนธรรมของชนชั้นนำจารีตให้อยู่ภายใต้หลักการประชาธิปไตยเหมือนสังคมอารยะ 

และแม้ว่าเราจะเอาใจช่วย “พรรคเพื่อไทย” และพรรคสาขา หรือพรรคอื่นๆ ที่ไม่หนุนเผด็จการในการต่อสู้ให้ได้เสียงข้างมากเอาชนะฝ่ายเผด็จการ เราก็ย่อมยืนยันคำถามแบบที่ถามอนาคตใหม่ต่อพรรคเพื่อไทยและพรรคเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ถ้าหากเรายังอยากเห็นวัฒนธรรมทางการเมืองในบ้านเราเปลี่ยนไปจากแบบเดิมๆ

สำหรับ “พรรคประชาธิปัตย์” ที่แสดงออกว่ามีความเป็น “สถาบันพรรคการเมือง” เก่าแก่กว่าพรรคอื่นๆ นั้น แม้เราจะไม่เชื่อว่าพรรคนี้จะเป็นความหวังในการสร้างประชาธิปไตย แต่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า เราปฏิเสธความจริงทางการเมืองไม่ได้ว่า ประชาธิปัตย์คือ “ตัวแปรสำคัญ” ในการสืบทอดอำนาจของเผด็จการ ดังนั้นจึงจำเป็นที่เราต้องตั้งคำถามและวิจารณ์ประชาธิปัตย์ให้มากขึ้น ไม่ใช่เพื่อคาดหวังให้ประชาธิปัตย์เปลี่ยนจุดยืน (ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก) แต่เพื่อโยนคำถามและคำวิจารณ์ประชาธิปัตย์จากจุดยืนการสร้างประชาธิปไตยให้สังคมถกเถียงอย่างกว้างขวางมากขึ้น

เพราะเราไม่ควรหลงประเด็นว่า การตรวจสอบพรรคการเมือง คือการตรวจสอบเรื่อง “ทุจริตคอร์รัปชัน” ดังที่สร้างกระแสกันมานานเท่านั้น แท้จริงแล้วการตรวจสอบประเด็นการยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตย, การปกป้องกระบวนการประชาธิปไตย และหลักนิติรัฐของพรรคการเมืองต่างๆ มีความสำคัญมากกว่าการตรวจสอบอย่างแรกเสียอีก

เมื่อมองจากความเป็นจริงที่ว่า สังคมไทยมีการเมือง 2 ระบบทับซ้อนกันอยู่ คือ “การเมืองในระบบเลือกตั้ง” กับ “การเมืองนอกระบบเลือกตั้ง” การเมืองแบบหลังคือการเมืองของเครือข่ายอำนาจจารีต ซึ่งเป็นฝ่ายที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พวกเขาไม่ยุ่งเกี่ยวการเมือง หรือที่พวกเขาเองนิยามตนเองว่า “ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” หรือ “อยู่เหนือการเมือง” แต่แท้จริงแล้ววลี “อยู่เหนือการเมือง” ย่อมหมายถึง “การเมืองที่อยู่เหนือการเมืองในระบบ” อีกชั้นหนึ่ง

นิยามของ “การเมืองเหนือการเมือง” ในระบบ ย่อมเป็นไปตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจเหนือระบอบประชาธิปไตย เมื่อพวกเขาทำรัฐประหารก็มักจะอ้างว่า การเมืองในระบบทำให้ประเทศชาติเสียหาย ส่วนพวกเขาไม่ใช่นักการเมืองและการทำรัฐประหารก็ไม่ใช่การเมือง แต่เป็นการเข้ามาแก้ปัญหาการเมืองที่การเมืองในระบบสร้างไว้

ถามว่าประชาธิปัตย์อยู่ตรงไหนในการเมืองในระบบกับการเมืองนอกระบบ (หรือการเมืองเหนือการเมือง) ดังกล่าว ถ้าดูจากประวัติศาสตร์กรณีประชาธิปัตย์เกี่ยวข้องกับเสียงตระโกนในโรงหนังว่า “ปรีดีฆ่าในหลวง” และกรณีอื่นๆ 

เช่น การมีส่วนร่วมรณรงค์ให้เห็นว่า การเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ 2500 เป็น “การเลือกตั้งสกปรก” และเป็นเหตุให้สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร การสนับสนุนเปรม ติณสูลานนท์ให้ครองอำนาจยาวนานในระบบ “ประชาธิปไตยครึ่งใบ” การเสนอมาตรา 7 แก้ปัญหาการเมืองแทนการเดินตามกระบวนการประชาธิปไตย และการ “บอยคอตเลือก”  2 ครั้งล่าสุด ที่นำมาสู่รัฐประหาร 2549 และรัฐประหาร 2557 ที่ทำให้เผด็จการทหารอยู่ยาว พร้อมกับกำหนดกติกาการเลือกตั้งที่กรรมการส่งคนลงแข่งเองและมีเสียง สว.สนับสนุนตัวเองอยู่แล้ว 250 เสียง ซึ่งเป็นกติกาการเลือกตั้งที่ “ไม่เสรีและเป็นธรรม” มากกว่าการเลือกตั้งที่ประชาธิปัตย์เคยบอยคอตมาแล้วหลายเท่า แต่ประชาธิปัตย์ก็กระตือรือร้นที่จะลงเลือกตั้งภายใต้กติกาแบบนี้มากกว่า ย่อมจะเห็นความจริงว่า พรรคการเมืองเก่าแก่อย่างประชาธิปัตย์ก็คือพรรคการเมืองในเครือข่ายอำนาจฝ่ายอนุรักษ์นิยม และเก่งในเกมการเมืองสองระบบที่ทับซ้อนกัน

ความเก่ง หรือ “ความเก๋า” ในเกมการเมืองสองระบบที่ทับซ้อนกันอยู่ ย่อมเป็นไปในทางสนับสนุนเผด็จการมากกว่าการพัฒนาประชาธิปไตย การขาย “ความซื่อสัตย์” แบบชวน หลีกภัย และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ไม่ใช่ความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย หากเป็นความซื่อสัตย์ในแบบเดียวกับเปรมเท่านั้นเอง 

เพราะแม้ชวนจะอ้างว่าตนไม่ได้สนับสนุนรัฐประหาร จะแสดงออกว่า “ยึดหลักการ” แต่เขาก็เลือกที่จะวิจารณ์ “การพาประชาชน(ที่ชุมนุมทางการเมือง)ไปตาย” มากกว่าที่จะวิจารณ์อำนาจที่สั่งฆ่าประชาชน 

แน่นอนว่า ไม่มีนักการเมืองหรือพรรคการเมืองไหนในโลกนี้ ที่ยืนยันความซื่อสัตย์ต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตยและยึดมั่นหลักการต่อสู้ตามพระบวนการประชาธิปไตยจะไปวางแผนตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และ “ฉก” นักการเมืองจากพรรคตรงข้ามมาสนับสนุนตัวเองเป็นรัฐบาล 

โดยเฉพาะสำหรับรัฐบาลพลเรือนที่ยึดมั่นในการปกป้องสิทธิและเสรีภาพของประชาชนแล้ว ย่อมไม่มีทางทีจะใช้กองกำลังทหาร ตำรวจจำนวนมหาศาล และประกาศ “ใช้กระสุนจริง” สลายการชุมนุมของประชาชนที่เรียกร้องการเลือกตั้ง แม้จะอ้างว่าฝ่ายผู้ชุมนุมมีการใช้ความรุนแรงก็ตาม เพราะนั่นเป็นปัญหาที่รัฐบาลประชาธิปไตยจะต้องหาวิธีจัดการตามกฎหมายกับเฉพาะกลุ่มที่ใช้ความรุนแรงเท่านั้น แต่มาตรการควบคุมการชุมนุมโดยรวมจะต้องทำตามหลักสากล และหลีกเลี่ยงการทำให้ประชาชนสูญเสียชีวิตอย่างถึงที่สุด

แต่การสลายการชุมนุมด้วยกระสุนจริง ภายใต้รัฐบาลประชาธิปัตย์ที่นำโดยอภิสิทธิ์ ในเหตุการณ์เมษา-พฤษภา 2553 ที่มีคุณตาย 99 คน บาดเจ็บกว่า 2,000 คน โดยที่ผู้มีอำนาจสั่งสลายการชุมนุมและเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ ทางกฎหมาย ย่อมทำให้ประชาธิปัตย์เดินมาไกล นั่นคือจากการเป็นพรรคการเมืองที่มีภาพสร้างเงื่อนไขไปสู่รัฐประหาร (ด้วยการบอยคอตเลือกตั้งเป็นต้น) กลายเป็นพรรคการเมืองที่เดินตามรอยเผด็จการในการสลายการชุมนุมแบบที่ทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายจำนวนมาก ดังที่เผด็จการทำมาแล้วหลายๆ ครั้ง โดยไม่ต้องรับผิดใดๆ ในทางกฎหมายในประวัติศาสตร์บาดแผลที่ผ่านๆ มา

ประวัติศาสตร์สลายการชุมนุมเกือบร้อยศพของประชาธิปัตย์ จึงเป็น “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ที่พรรคการเมืองทำกับประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนระดับชาวบ้านธรรมดา ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องการเลือกตั้ง คนตายและบาดเจ็บไม่มีอาวุธอยู่ข้างกาย แต่คนที่รัฐบาลเวลานั้นอ้างว่ามีอาวุธก็จับกุมไม่ได้แม้แต่คนเดียว และยังมีคนระดับชาวบ้านอีกจำนวนมากที่ติดคุกเสมือนเป็น “แพะ” บูชายัญการบริหารอำนาจของของชนชั้นนำ ดังนั้นประวัติศาสตร์บาดแผลของประชาธิปัตย์ จึงเป็นประวัติศาสตร์ที่ลบไม่ออกจากความทรงจำของประชาชนฝ่ายผู้ถูกกระทำ 

ยิ่งเราได้เห็นประชาธิปัตย์บอยคอตเลือกตั้งครั้งล่าสุด เห็นบรรดาแกนนำคนสำคัญของประชาธิปัตย์ออกมาสวมบทบาท “แกนนำ กปปส.” (แม้กระทั่ง “ชวน” และ “อภิสิทธิ์” ก็ออกมาคาบนกหวีดกับเขาด้วย ดังหาดูภาพหลักฐานใน google ได้ตลอดเวลา) ชุมนุมสร้างเงื่อนไขให้การเลือกตั้งล่มและเป็นข้ออ้างทำรัฐหระหาร 2557 แล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ประกาศ “คืนความสุข” แก่ประชาชนแบบเดียวกับที่อภิสิทธิ์เคยประกาศ “กระชับพื้นที่เพื่อคืนความสุขแก่คนกรุงเทพฯ” ยิ่งชี้ให้เห็นว่า ประชาธิปัตย์แนบแน่นกับเผด็จการทั้งในทางความคิดและการกระทำอย่างไรบ้าง

ดังนั้นที่อภิสิทธิ์ประกาศ “ต้านเผด็จการทุกรูปแบบ” จึงยากมากที่จะมีใครเชื่อ ยิ่งเมื่อประกาศยืนยันอุดมการณ์ “เสรีนิยมประชาธิปไตย” ก็ยิ่งกลวงมาก เพราะประชาธิปัตย์ไม่เคยมีนโยบายที่ชัดเจนอะไรเลยในการกสร้างระบอบเสรีนิยมประชาธิปไตยที่ “ทุกสถาบันอำนาจ” ต้องถูกวิจารณ์ตรวจสอบได้เหมือนสังคมอารยะที่เป็นเสรีนิยมประชาธิปไตย

ความเก๋าของประชาธิปัตย์คือ เวลาที่อธิบาย “หลักการประชาธิปไตย” “หลักกฎหมาย” หรือ “หลักนิติรัฐ” ในการจัดการกับนักการเมืองฝ่ายตรงข้าม พวกเขาพยายามแสดงออกถึงการ “แยกแยะ” ว่า แม้จะอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการ แต่กฎหมายที่ใช้จัดการกับนักการเมืองก็เป็นกฎหมายที่มีมาก่อนการยึดอำนาจ โดยไม่ยอมพูดถึงปัญหาความไม่ชอบธรรมของการยึดอำนาจและการใช้อำนาจเผด็จการในลักษณะต่างๆ ที่ทำให้กระบวนการยุติธรรมที่เอาผิดนักการเมืองไม่เป็นอิสระและเป็นกลาง หรือไม่ได้เป็นไปตามหลักนิติรัฐอย่างแท้จริง

เช่นเดียวกัน เมื่อพวกเขาประกาศ “บอยคอตเลือกตั้ง” พวกเขาก็เลือกที่จะพุ่งเป้าไปที่ปัญหาของพรรคการเมืองฝ่ายตรงข้าม โดยปฏิเสธความจริงว่าการบอยคอตการเลือกตั้ง มันคือการที่พรรคการเมืองเก่าแก่ไม่ยืนหยัดปกป้องกระบวนการประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด เพราะพรรคการเมืองเก๋าเกมย่อมคาดการณ์ได้อยู่แล้วว่า การบอยคอตเลือกตั้งมันคือเงื่อนไขสำคัญให้รัฐประหารเกิดได้ง่ายหรือสะดวกมากขึ้น และการที่พรรคการเมืองใดก็ตามกระทำการใดๆ ที่เอื้อต่อการเกิดรัฐประหารหรือเป็นพันธมิตรกับเผด็จการทั้งโดยตรงและโดยปริยาย ย่อมเป็นการทศยศต่อประชาชนและอาชีพนักการเมืองของตนเองอย่างตรงไปตรงมา

คำถามสำคัญคือ ถึงวันนี้พรรคประชาธิปัตย์กล้าประกาศเป็น “สัญญาประชาคม” กับประชาชนทั้งประเทศหรือไม่ว่า จะต้านเผด็จการทุกรูปแบบ และจะ “ไม่สนับสนุนฝ่ายเผด็จการเป็นนายกฯ” หลังเลือกตั้ง 

ถ้าไม่กล้าประกาศจุดยืนต้านเผด็จการที่ชัดเจนเป็น “สัญญาประชาคม” ต่อประชาชน ก็ย่อมแปลว่าประชาธิปัตย์เดินมาไกลเกินไป คือไกลจากการเคารพสิทธิ เสรีภาพและอำนาจของประชาชน ไกลเสียจนเป็นเนื้อเดียวกับเผด็จการแบบกู่ไม่กลับ และนั่นคือการไปไม่กลับ หลับไม่ตื่นของประชาธิปัตย์จากวิถีการสร้างประชาธิปไตยในสังคมไทยตลอดกาล
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net