Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำทางทรัพย์สินหรือความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของไทยจะเป็นที่เท่าไหร่ของโลกก็ตาม ข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้คือความเหลื่อมล้ำทั้งสองด้านนั้นมีอยู่จริงและอยู่ในระดับสูง การที่คนเพียง 1% ครอบครองทรัพย์สินเกือบหมดประเทศแล้วปล่อยให้คนอีก 99% แบ่งปันทรัพย์สินส่วนน้อยย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ ถือว่าสำคัญ ในประเทศไทยนอกจากรัฐบาลจะมีนโยบายลดความเหลื่อมล้ำแล้วก็ยังมีข้อเสนอในเรื่องนี้จากหน่วยงานอื่นด้วยเช่นทีดีอาร์ไออันเป็นหน่วยงานคลังสมองทางเศรษฐกิจที่ติดตามและให้ข้อเสนอแนะในเรื่องนี้บ่อยครั้ง นิพนธ์ พัวพงศกรอดีตประธานและนักวิชาการเกียรติคุณของทีดีอาร์ไอก็เป็นอนุกรรมาธิการการปฏิรูปด้านความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจในรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาด้วย 

เมื่อเปรียบเทียบกับมันสมองและงบประมาณที่ใช้จ่ายไปเพื่อการนี้คำถามคือทำไมความเหลื่อมล้ำจึงมีแนวโน้มที่แย่ลง 

ทีดีอาร์ไอเห็นว่าความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาสำคัญและได้เสนอแนะแนวทางลดความเหลื่อมล้ำแก่รัฐบาลและสังคมมาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2553 ที่เสนอให้รัฐบาลส่งเสริมนวัตกรรม ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีรายได้จัดทำระบบสวัสดิการ (สรุปจากงานสัมมนาเรื่อง “การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ” ปี 2553) ปี 2556 ดร. สมชัย จิตสุชนผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึงของทีดีอาร์ไอให้ความเห็นว่าการจะลดความเหลื่อมล้ำต้องมีการปฏิรูประบบภาษี ใช้งบประมาณอย่างถูกวิธีและถูกกลุ่มเป้าหมาย (ทีดีอาร์ไอแนะโมเดลใหม่พัฒนาประเทศ ปฏิรูปการศึกษา-การคลัง-ลดเหลื่อมล้ำ, TCJI, 19 พฤศจิกายน 2556) ต่อมาปี 2559 ดร. สมชัยให้ทัศนะต่อการบริหารประเทศของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ด้านการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำว่า “มีผลงานชัดเจน โดยเฉพาะการผลักดัน 3 นโยบายสำคัญคือ 1. กฏหมายภาษีมรดก 2. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 3. การให้เงินเลี้ยงดูบุตรแรกเกิด” และแนะแนวทางลดความเหลื่อมล้ำด้วยการไปที่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ การศึกษาและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน (ทีดีอาร์ไอชี้จุดเสี่ยง คสช. ลดเหลื่อมล้ำมาถูกทาง, ไทยโพสต์, 3 กรกฎาคม 2559)  ปี 2560 สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานทีดีอาร์ไอคนปัจจุบันได้เอ่ยถึงรากของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจว่ามาจากความเหลื่อมล้ำทางการเมืองคือผู้ที่เข้าถึงทางการเมืองก็จะมีโอกาสผลักดันนโยบายเศรษฐกิจที่ตนเองหรือกลุ่มของตนเองได้ประโยชน์ (คิดยกกำลังสอง: หายจน...ไม่หายเหลื่อมล้ำ, 25 ธันวาคม 2560) 

ในขณะที่นโยบายของรัฐบาลประยุทธ์ในเรื่องนี้คือนโยบายสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แรงงานมีโอกาสเข้าถึงการศึกษาและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน พัฒนาระบบสวัสดิการชุมชนให้มีประสิทธิภาพ เตรียมความพร้อมเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่ไม่ก่อภาระต่อสังคมในอนาคต แก้ปัญหาการไร้ที่ดินทำกินของเกษตรกรและการรุกล้ำเขตป่าสงวน (รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล, 2559, น. 108) 

แนวทางลดความเหลื่อมล้ำของไทยที่เสนอโดยคลังสมองเอกชนและรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ความสำคัญกับการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐ “ให้ถูกวิธี” การสร้างงาน การเพิ่มทักษะฝีมือแรงงาน การทำให้ประชาชนมีความสามารถในการดูแลตนเองไม่เป็นภาระงบประมาณ ส่วนการแก้ปัญหาที่ดินทำกินของเกษตรกรนั้นในภาคปฏิบัติคือการจัดหาที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ การรังวัดและจัดทำแผนที่เพื่อแสดงแนวเขตที่ดินของรัฐและการสำรวจพื้นที่เพื่อออกหนังสือแสดงสิทธิในที่ดิน (รายงานผลการดำเนินงานของรัฐบาล, 2559, น. 128, 138, 140) ซึ่งเท่ากับการสงเคราะห์ประชาชนบางกลุ่มและขีดเส้นเพื่อกันประชาชนออกจากแนวเขตที่ดินของรัฐเท่านั้นเอง

เสียงที่ต่างไปในเรื่องนี้คือ ดร. สมเกียรติที่พูดถึงการเมืองในฐานะต้นเหตุแห่งความเหลื่อมล้ำนั้น ในรายละเอียดตามที่ปรากฎในปาฐกถาเรื่องความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยปี 2553 ดร. สมเกียรติได้เสนอแนวทางในการสร้างระบบสวัสดิการและกระจายรายได้ของไทยไว้ 10 ประการ มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ในเรื่องสวัสดิการและการกระจายรายได้นั้น สังคมควรร่วมจ่าย เป็นสวัสดิการที่พอเพียงกับระดับการพัฒนาประเทศ ลดการอุดหนุนแก่ผู้ที่ไม่จำเป็น ผู้รับสวัสดิการต้องสร้างประโยชน์กลับคือสู่สังคม มีสัดส่วนเหมาะสมระหว่างการกระจายรายได้กับการลงทุนเพื่อสร้างความเจริญเติบโตในระยะยาว ลดสิทธิพิเศษทางภาษีของ BOI และให้ความสำคัญกับการลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งระบบแทน ขยายฐานภาษีไปยังผู้ที่มิได้เสียภาษีในปัจจุบัน ควบคุมการใช้จ่ายภาครัฐให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม แก้ปัญหาเรื่องทุจริต และสร้างกติกาทางการเมืองที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของประชาชน (สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์, ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจกับประชาธิปไตย, 2553) ซึ่งจากข้อมูลนี้ ดร. สมเกียรติไม่ได้พูดถึงการเมืองในความหมายที่กว้างกว่าระบบการเมืองเชิงสถาบันคือการเมืองในเรื่องของอำนาจที่ทำหน้าที่จัดสรรทรัพยากรส่วนรวมไปให้ชนชั้นนำอยู่ตลอดเวลาและถูกมองเป็นเรื่องปกติ

แนวทางการแก้ปัญหาของคลังสมองเศรษฐกิจกับรัฐบาลนั้นมีความสอดคล้องกันในแง่ที่ว่ามองปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาทางเทคนิคที่สามารถบริหารจัดการได้ด้วยการนำแบบปฏิบัติที่ดีหรือนำระบบที่ “ถูกต้อง” “เหมาะสม” มาปฏิบัติให้ได้จริงและเน้นไปที่การทำให้ประชาชนชั้นล่างที่มีความเหลื่อมล้ำมากลดความเหลื่อมล้ำด้วยการพัฒนาตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ดูแลตนเองให้ได้มากขึ้น ประเทศก็จะมีความเจริญก้าวหน้ามั่งคั่งมากขึ้น ซึ่งนโยบายเช่นนี้คลังสมองและรัฐบาลเผด็จการมักมีความเห็นว่าจะไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากประชาชนขาดความรู้ความเข้าใจผลประโยชน์ของตนเองในระยะยาวและมักจะสายตาสั้นเลือกนโยบาย “ประชานิยม” ที่ให้ผลประโยชน์เฉพาะหน้ามากกว่า

ข้อเสนอของทีดีอาร์ไอกับรัฐบาลนั้นหากกระทำได้จริงผลที่ได้คือประเทศไทยจะมีแรงงานมีทักษะฝีมือเพิ่มมากขึ้น มีประชากรที่ดูแลตนเองได้มากขึ้น รัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณของประเทศในเรื่องสวัสดิการประชาชนมากนักจึงสามารถนำงบประมาณดังกล่าวไปทุ่มให้กับการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์กับบริษัทและธุรกิจต่าง ๆ โดยตรงได้มากขึ้น การมีปริมาณแรงงานทักษะฝีมือจำนวนมากประกอบกับการควบคุมนโยบายการคลังของรัฐมิให้ใช้เพื่อเกลี่ย “ระยะห่าง” ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชนให้แคบลงในรูปแบบของสวัสดิการแบบไม่มีเงื่อนไขหรือสวัสดิการในฐานะที่เป็นสิทธิของคนงานมิใช่การสงเคราะห์จะทำให้สถานการณ์ของคนงานเลวร้ายลงเพราะด้านหนึ่งมีคนงานล้นตลาดอีกด้านหนึ่งคนงานไม่สามารถออกจากตลาดได้เพราะไม่มีโครงสร้างนอกตลาดรองรับ นอกจากเดินอย่างไร้ศักดิ์ศรีเข้าโรงงานแล้วคนงานก็ไม่มีทางเลือกอื่นมากนัก คนงานจึงหมดพลังทางการเมืองที่จะต่อสู้ต่อรองเพื่อเพิ่มสัดส่วนค่าตอบแทนของตนเองจากสัดส่วนผลกำไรของบริษัท 

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงเทคนิคนี้มุ่งทำให้ “ปริมาณเค้ก” ขยายตัวเป็นก้อนใหญ่มากขึ้นเพื่อที่จะได้นำส่วนที่ขยายเพิ่มขึ้นนั้นมาแบ่งให้แก่ประชาชนบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าทุกครั้งที่ประชาชนได้ผลประโยชน์เพิ่มขึ้นนั้น ชนชั้นนำจะได้เพิ่มขึ้นก่อนและในปริมาณที่มากกว่าเพราะชนชั้นนำอยู่ในโครงสร้างที่ได้เปรียบทางเศรษฐกิจและมีโอกาสกักตุนโอกาสทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 

ความมั่งคั่งของประเทศดังที่คลังสมองและรัฐบาลเผด็จการคาดหวังไว้นี้มิได้จึงส่งผลต่อการลดความเหลื่อมล้ำ แม้ว่าให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทยเพิ่มขึ้นแต่ทรัพย์สินจะกระจุกตัวอยู่ในมือคน 1% เช่นเดิม เพราะระยะห่างระหว่างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของชนชั้นนำกับประชาชนยังคงถ่างกว้างเท่าเดิมเป็นอย่างน้อย 

หัวใจของการลดความเหลื่อมล้ำจึงต้องอยู่ที่การลดระยะห่างของรายได้ระหว่างชนชั้นนำกับประชาชน การที่จะลดระยะห่างนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็จะต้องลดสัดส่วนการกักตุนกำไรของชนชั้นนำลง จัดสรรและกระจายสินค้าทุนโดยเฉพาะทรัพยากรที่มีจำกัดไม่สามารถผลิตเพิ่มได้เช่นที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติไปให้แก่ประชาชนให้มากขึ้น มีมาตรการทางภาษีที่ดึงส่วนเกินที่ชนชั้นนำได้ไปจากการใช้แรงงานและทรัพยากรของประเทศคืนกลับให้ประชาชนผู้ไม่อยู่บนโครงสร้างและอยู่ในตำแหน่งที่จะกักตุนโอกาสในการใช้ทรัพยากรเหล่านั้นได้ 

การจะลดระยะห่างดังกล่าวเป็นเรื่องของการต่อสู้ต่อรองเรื่องผลประโยชน์ระหว่างชนชั้นโดยตรง ปัญหานี้ถูกปกปิดด้วยการพูดถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงเทคนิคมากกว่าการเมือง ผลักไสประเด็นเรื่องการเอารัดเอาเปรียบของชนชั้นนำไปเป็นประเด็นความไม่สามารถของประชาชน การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่ได้ผลจึงต้องเริ่มจากการนำความเหลื่อมล้ำที่อยู่นอกพื้นที่การเมืองกลับเข้ามาในพื้นที่การเมืองเสียก่อน มิฉะนั้นแล้วสารพัดเทคนิควิธีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำที่ชนชั้นนำเสนอมาโดย “ปลอดการเมือง” หมายถึงการปลอดการต่อสู้ต่อรองจากประชาชนด้วย โดยเนื้อแท้แล้วจึงเป็นเพียงเครื่องมือสร้างความเหลื่อมล้ำในตัวมันเองเพราะเทคนิควิธีต่าง ๆ นั้นทำให้รัฐผันทรัพยากรสาธารณะไปใช้ในกิจกรรมเพื่อชนชั้นนำ ลดต้นทุนการแสวงหากำไรให้ชนชั้นนำในขณะที่เพิ่มและผลักภาระในการดำรงชีวิตมาที่ประชาชน นโยบายลดความเหลื่อมล้ำทางเทคนิคจึงเป็นวิธีลดความเหลื่อมล้ำที่ทำให้ชนชั้นนำได้ประโยชน์ก่อนและมากกว่าประชาชนเสมอ     

การเมืองในเรื่องความเหลื่อมล้ำจึงมิใช่การเมืองแบบตัวแทนในระบบเพียงเท่านั้น แต่ยังเป็นการเมืองที่เกี่ยวข้องกับอำนาจแฝงเร้นต่าง ๆ ที่มาพร้อมกับความรู้ที่จะช่วยกันปกปิดอำพรางการเอารัดเอาเปรียบชนชั้นล่างโดยชนชั้นนำ แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วการเอารัดเอาเปรียบนั้นมากเกินกว่าจะปิดได้หมดจดดังที่ได้เห็นจากรายงานเรื่องความเหลื่อมล้ำของฝรั่ง
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net