“นายกรัฐมนตรีคนนอก” คือ นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

ตามหลักการระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา นายกรัฐมนตรีคนนอก คือ ผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกรัฐสภา (non-Member of Parliament)

หลักการที่นายกรัฐมนตรีควรมาจากการเลือกตั้ง เนื่องจาก “การเลือกตัวแทน” เป็นจุดเริ่มต้นในการให้สัญญาระหว่างเจ้าของอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ ดังนั้น กระบวนการสรรหาและการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจึงเป็นมาตรการที่ควบคุมสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับตัวแทน ทั้งก่อนเข้ารับตำแหน่ง (ex ante) และ ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง (ex post) ผ่านกลไกการตรวจสอบเชิงสถาบัน ผนวกกับช่องทางตรวจสอบโดยประชาชน เพื่อให้ตัวแทนต้องแสดงความรับผิดชอบ (accountable to) ต่อประชาชนที่เลือกเข้ามา

เพื่อสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับตัวแทนก่อนเข้ารับตำแหน่ง กระบวนการเลือกตั้งที่เอื้อให้ประชาชนสะท้อนความต้องการที่แท้จริงจึงสำคัญมาก เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้รับมอบอำนาจมีการกระทำอันซ่อนเร้น (hidden action) ที่ผิดแผกไปจากเจตนารมณ์ของเจ้าของอำนาจ

ปัญหาของระบบเลือกตั้งในรัฐธรรมนูญ 2560 คือ ถึงแม้ประชาชนจะได้เห็นรายชื่อ “ว่าที่” นายกรัฐมนตรีก่อน เป็นนัยว่าได้ผ่านการกลั่นกรองจากประชาชน แต่สายโซ่ของการให้ความเห็นชอบไม่ได้เป็นเส้นตรง

เส้นทางเดินระหว่างผู้เลือกตั้งและผู้มาเป็นนายกรัฐมนตรี ถูกทำให้เจือจางใน 3 ขั้นตอน คือ

1. จะมั่นใจได้อย่างไรว่า กากบาทบนบัตรใบเดียว คือการให้ความเห็นชอบนายกรัฐมนตรี เพราะแท้จริงอาจเป็นการเลือก ส.ส.เขต ที่ทำงานในพื้นที่ถูกใจประชาชน แม้จะไม่ชอบพรรคการเมือง หรือรายชื่อนายกรัฐมนตรีที่พรรคนำเสนอก็ตาม

2. ในกรณีที่ผู้ออกเสียงเลือกตั้งตัดสินใจด้วยเหตุผลต้องการสนับสนุนว่าที่นายกรัฐมนตรี จะรู้ได้อย่างไรว่า ในที่สุดแล้วคะแนนเสียงของตนจะจบลงที่การสนับสนุนรายชื่อใด ใน 3 รายชื่อที่พรรคการเมืองมีสิทธิเสนอ ตัวอย่างเช่น ระหว่างหาเสียง พรรค ก.ไก่ ชู นายแข็งแรง เป็นผู้ชิงนายกรัฐมนตรี แต่หลังเลือกตั้ง พรรคอาจเปลี่ยนไปเสนอชื่อนางสาวอ่อนน้อม เข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเป็นลำดับแรก

3. เมื่อผนวกกับข้อกำหนดที่ให้ สว. 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. (ในช่วง 5 ปี แรก) ร่วมลงคะแนนเลือกนายกรัฐมนตรี ตามรายชื่อที่พรรคเสนอ ยิ่งลดทอนความยึดโยงระหว่างประชาชนและนายกรัฐมนตรี ทวีคูณขึ้นไปอีก

หาก สว. 250 คน ลงคะแนนเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อโดยพรรคการเมืองไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด ผู้จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องการอีกเพียง 126 เสียงจาก ส.ส. ที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้น ซึ่งคิดแบบประมาณการ จะเท่ากับเพียง 9.5 ล้านเสียง จากผู้มีสิทธิเลือกตั้งประมาณ 50 ล้าน คน

ด้วยเหตุผลดังกล่าว ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้พรรคการเมืองเสนอ 3 รายชื่อ ให้ประชาชนได้เห็น “ว่าที่” นายกรัฐมนตรีก่อน ไม่ได้ทำให้ผู้ได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีมีความชอบธรรม หากไม่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชนเป็น ส.ส. เขต หรือ ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคใดพรรคหนึ่ง

อย่าตกหลุมพรางที่ว่า "รายชื่อนายกรัฐมนตรีได้ผ่านตาประชาชนแล้ว"

ขอทิ้งท้ายด้วยการย้อนอดีตสักนิด ประเทศไทยเริ่มกำหนดให้นายกรัฐมนตรี ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งแรกในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 และอีกครั้งเมื่อมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2534 ในวันที่ 12 กันยายน 2535 และเป็นเช่นนั้นเรื่อยมาจนถึงวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 เมื่อมีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 และกำหนดใหม่ในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากสภาผู้แทนราษฎร

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Siripan Nogsuan Sawasdee

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท