Skip to main content
sharethis

คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม.รังสิต ชี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์สินอาจย่ำแย่กว่าที่ระบุไว้ในรายงาน Global Wealth Report ที่ให้ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งสูงที่สุดในโลก ส่วนความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ดีขึ้นมากนักแม้นการกระจายรายได้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยอันเป็นผลจากการทำงานอย่างต่อเนื่องของหลายรัฐบาล ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและต้องใช้เวลาในการแก้ไข สถานการณ์ในอนาคตอาจดีขึ้นเมื่อเริ่มมีการบังคับใช้ภาษีมรดกและภาษีที่ดิน รวมทั้งการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น   

9 ธ.ค. 2561 ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวถึงกรณีที่ CS Global Wealth Report 2018 โดยธนาคารเครดิตสวิส ระบุว่าความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์สินสูงที่สุดในโลกและการถกเถียงว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไรแน่ในกรณีดังกล่าวว่าความเหลื่อมล้ำนั้นสามารถวัดกันได้หลายมิติ ความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่ง (Wealth) และการถือครองทรัพย์สิน ความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ ความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาส หรือการวัดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยภาพรวมความเหลื่อมล้ำทางด้านสิทธิ ความเหลื่อมล้ำทางด้านอำนาจและความเหลื่อมล้ำด้านศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และความเสมอภาคทางสังคม 

การกล่าวว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์สินสูงที่สุดในโลกไม่น่าจะผิดและเป็นข้อมูลล่าสุดเนื่องจากข้อมูลได้ถูกรวบรวมเรียบเรียงจากหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจของไทยแล้วนำไปวิเคราะห์และวิจัยและปรากฎในรายงาน CS Global Wealth Report 2018 พบว่า คนไทยเพียง 1% ถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่ง 66.9% และยังมีการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงสองปีที่ผ่านมาอีก สถาบันการเงินเครดิตสวิส ได้เคยออกรายงานความมั่งคั่งของโลก ระบุว่าไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำเป็นอันดับ 3 ของโลกโดยคนรวย ที่มีสัดส่วน 1% ของประชากร ครอบครองความมั่งคั่งสูงถึง 58% ของระบบเศรษฐกิจ 

นอกจากนี้ข้อมูลของโครงสร้างเงินฝากในระบบสถาบันการเงินยังพบว่าคนรวย 0.1% หรือ 65,000 คน จากประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน มีเงินฝากเท่ากับ 49% ของเงินฝากทั้งระบบ กลุ่ม 10% แรกของประชากร เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 79% ของประเทศ มหาเศรษฐี 50 อันดับแรกของไทยมีสัดส่วนทรัพย์สินเทียบกับจีดีพีของประเทศเพิ่มขึ้นจาก 26% ในปี พ.ศ. 2557 เป็น 30% (มีทรัพย์สินทั้งหมด 4.32 ล้านล้านบาท) ในปี พ.ศ. 2560 ภายใต้รัฐบาล คสช หมายความว่า มีคนเพียง 50 คนที่ถือครองทรัพย์สินมากกว่าหนึ่งในสี่ของจีดีพี  

ข้อมูลของ CS Global Wealth Report ของธนาคารเครดิตสวิสซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับโลกนี้มีความน่าเชื่อถือเนื่องจากได้ดำเนินการทำรายงานเผยแพร่ต่อเนื่องมาทุกปีแต่อาจจะไม่ครบถ้วนทั้งหมด ข้อมูลความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินที่ถือครองที่ใช้เป็นทรัพย์สินที่จดทะเบียนอย่างเป็นทางการ เช่น เงินฝาก ที่ดินอสังหาริมทรัพย์ ทรัพย์สินที่มีค่าอื่นๆ เช่น อัญมณีเครื่องประดับ ของสะสมที่มีมูลค่าสูง (ภาพเขียน ศิลปะต่างๆ แสตมป์ พระเครื่อง) นาฬิกาหรู กระเป๋าหรู รถหรู เป็นต้น ไม่ได้นับรวม หากนับรวม คน 1% อาจถือครองความมั่งคั่งและทรัพย์สินมากกว่า 70% ของทรัพย์สินและความมั่งคั่งของประเทศ 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ระบุว่าตนเชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและทรัพย์สินนี้น่าจะรุนแรงกว่าตัวเลขที่ปรากฎเผยแพร่เนื่องจากเราไม่สามารถสำรวจข้อมูลและเข้าถึงข้อมูลการถือครองทรัพย์สินของกลุ่มประชากรที่มีรายได้และถือครองทรัพย์สินสูงสุด 5-10% ได้อย่างครบถ้วน ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์นี้จะนำมาสู่ความยุ่งยากในการจัดเก็บภาษีทรัพย์สินในอนาคต ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและการถือครองทรัพย์เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้างที่สะสมมานานและต้องใช้เวลาในการแก้ไข สถานการณ์ในอนาคตอาจดีขึ้นเมื่อเริ่มมีการบังคับใช้ภาษีมรดกและภาษีที่ดิน รวมทั้งการกลับคืนสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น   

ทั้งนี้ปัญหาความเหลื่อมล้ำของการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งยังคงรุนแรงขึ้นในไทยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่หรือการให้สัมปทานกับทุนขนาดใหญ่และการปรับตัวเพิ่มขึ้นของที่ดินตามแนวการก่อสร้างระบบขนส่งคมนาคมทำให้เกิดการเพิ่มขึ้นทางด้านมูลค่าทรัพย์สินและความมั่งคั่งในอัตราก้าวหน้า จึงเป็นโจทย์และความท้าทายว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ความมั่งคั่งและการเพิ่มขึ้นของมูลค่าทรัพย์สินเหล่านี้กระจายตัวให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลประโยชน์ร่วมด้วย ซึ่งต้องมีการศึกษาเพื่อนำระบบภาษีเพิ่มมูลค่า (Betterment Tax) หรือภาษีลาภลอย (Windfall Tax) มาบังคับใช้ จะนำรายได้ภาษีส่วนหนึ่งไปพัฒนาพื้นที่อื่นๆไม่ให้เกิดการกระจุกตัว นอกจาก การมีการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Economic Rent) จำนวนมากภายใต้การเมือระบบปิด และ การดำเนินนโยบายเสรีนิยมสุดโต่ง ปล่อยให้กลไกตลาดทำงานโดยไม่ใช้กลไกรัฐในการแทรกแซงเพื่อสร้างความเป็นธรรมล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งย่ำแย่ลง 

ผศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวอีกว่าแม้นนโยบาย EEC จะมีประโยชน์และควรเดินหน้าต่อแต่ต้องปรับเปลี่ยนให้มีความสมดุลมากขึ้นโดยเฉพาะผลกระทบที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ผลกระทบจากนโยบาย EEC ที่ทำให้ชาวบ้านสูญเสียที่ทำกินและมีการเก็งกำไรที่ดินในพื้นที่ EEC อย่างรุนแรงจนประชาชนหรือกลุ่มธุรกิจขนาดกลางขนาดเล็กไม่สามารถเข้าถึงทรัพยากรที่ดินได้เหมือนเดิม มีงานวิจัยจำนวนไม่น้อยบ่งชี้ว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหา “การตะครุบที่ดิน (land grabbing) โดยทุนขนาดใหญ่ต่างชาติโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้งหลายและจังหวัดที่เป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ระบบข้อมูลการถือครองที่ดินที่ไม่ชัดเจนจะทำให้ปัญหาการตะครุบที่ดินรุนแรงมากขึ้นในอนาคต แม้นที่ดินจะเป็นอสังหาริมทรัพย์ที่ไม่สามารถเคลื่อนย้ายออกนอกประเทศได้ แต่การเป็นเจ้าของที่ดินอาจส่งผลต่อการใช้ทรัพยากรที่ดินซึ่งรัฐอาจมีปัญหาในการควบคุมการใช้ได้ ปัญหาการตะครุบที่ดินเกิดขึ้นในหลายประเทศในละตินอเมริกาและแอฟริกา และ สร้างความไม่สมดุลและเพิ่มความเหลื่อมล้ำอย่างรุนแรงในประเทศเหล่านี้ 

อย่างไรก็ตามปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจโดยรวมไม่ได้แย่ลงแต่ไม่ดีขึ้นมากนักแม้นการกระจายรายได้ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยจากงานวิจัยของ ศ.ดร.ดิเรก ปัทมสิริวัฒน์ และคณะ พบว่าความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ดีขึ้นเล็กน้อยโดยวัดจากดัชนีจินี โดยค่าดัชนีจินีเท่ากับ 0.45 ในปี พ.ศ. 2558 (ข้อมูลล่าสุดที่มีการคำนวณ) จากที่เคยอยู่ที่ระดับ 0.51 ในปี พ.ศ. 2549 (ดัชนีจีนีเข้าใกล้ 1 แสดงว่าความเหลื่อมล้ำมากขึ้น เข้าใกล้ 0 ความเหลื่อมล้ำลดลง สะท้อนการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น การที่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น ตนเห็นว่าเป็นผลมาจากนโยบายและมาตรการต่างๆของหลายรัฐบาลที่ผ่านมาโดยเฉพาะนโยบาย “เอื้อคนจน” (Pro-poor policy) ไม่ว่า จะเป็นการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำแบบก้าวกระโดด นโยบายแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรทั้งมาตรการรับจำนำข้าว มาตรการประกันราคา การเข้าถึงสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ บทบาทของกองทุนหมู่บ้าน นโยบายหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สวัสดิการทางด้านการศึกษา หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้นของผู้ประกันจากกองทุนประกันสังคม เงินอุดหนุนแม่และเด็ก เป็นต้น ส่วนโครงสร้างความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ในภาคธุรกิจยังคงไม่ดีขึ้นมากนักโดย บริษัทขนาดใหญ่ 20% แรกของประเทศจะมีสัดส่วนรายได้คิดเป็น 90% ของรายได้ของบริษัททั้งหมดในประเทศ

ผศ.ดร.อนุสรณ์ ในฐานะอดีตกรรมการนโยบายและกำกับบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง กล่าวถึงมาตรการต่างๆในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจว่ากระทรวงการคลังจะมีบทบาทในการแก้ไขปัญหานี้ได้โดยตรงผ่านการบังคับกฎหมายที่เกี่ยวกับภาษีทรัพย์สิน (ภาษีมรดก ภาษีที่ดิน ภาษีเงินฝาก) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ กล่าวว่า ความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจนี้เป็นเรื่องที่ต้องแก้ไขโดยเร่งด่วน แม้นเป็นเรื่องที่แก้ไขยากและต้องใช้เวลา สภาวะความเหลื่อมล้ำอย่างมากได้ทำลายศักยภาพของประเทศและคนไทยส่วนใหญ่ ทำให้ขาดโอกาส ขาดสิทธิ ขาดรายได้และไร้ซึ่งทรัพย์สินและการเข้าถึงปัจจัยการผลิต ทำให้ระบอบประชาธิปไตยอ่อนแอลง ตกอยู่ในวังวนของ ธนาธิปไตย และ ระบอบรัฐประหาร รัฐธรรมนูญปี 2560 ไม่ได้ปรับความสัมพันธ์เชิงอำนาจโดยเพิ่มอำนาจต่อรองให้ผู้ด้อยโอกาสและคนยากจน ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะลดลงภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีเนื้อหาเป็นประชาธิปไตยและหลักการกระจายอำนาจ จึงขอเสนอมาตรการเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านความมั่งคั่งและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ดังนี้ 

มาตรการที่ 1 ปฏิรูปการถือครองทรัพย์สินและความมั่งคั่งให้เกิดความเป็นธรรมและใช้กลไกภาษีทรัพย์สินให้เกิดการกระจายตัวของทรัพย์สินและความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น ปรับปรุงภาษีต่างๆให้มีอัตราก้าวหน้ามากขึ้น 

มาตรการที่ 2 จำเป็นต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อลดอำนาจผูกขาดและเพิ่มการแข่งขัน บังคับใช้หลักเกณฑ์การเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด ภายใต้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง 

มาตรการที่ 3 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ 

มาตรการที่ 4 เพิ่มสวัสดิการพื้นฐาน เช่น ระบบสาธารณสุขและการรักษาพยาบาล ระบบการศึกษาและการฝึกอบรมให้กับผู้มีรายได้น้อยแบบยั่งยืนและเป็นระบบ พัฒนาระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (หรือ 30 บาทรักษาทุกโรคเดิม) ให้มีความยั่งยืนทางการเงินและคุณภาพในการให้บริการดีขึ้น พัฒนาระบบทุนการศึกษายกเลิกนโยบายเอาเงินแจก 

มาตรการที่ 5 พัฒนาระบบนิติรัฐ ระบบความยุติธรรมและประชาธิปไตยทางการเมืองและเศรษฐกิจให้เกิดขึ้น ความอยุติธรรมหรือการถูกเลือกปฏิบัติจากโครงสร้างอำนาจทางเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำย่ำแย่ลง ต้องใช้วิธีลดอำนาจรัฐส่วนกลาง กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพิ่มอำนาจประชาชน เพิ่มโอกาส เพิ่มสิทธิให้ประชนชน 

มาตรการที่ 6 การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐต้องคำนึงถึงการกระจายโอกาสและการกระจายผลประโยชน์ไปยังประชาชนส่วนใหญ่ด้วย และ ควรศึกษาการเก็บภาษีลาภลอยเพื่อนำผลประโยชน์ส่วนเกินที่ได้จากการลงทุนจากงบประมาณของรัฐไปพัฒนาพื้นที่อื่นๆของประเทศด้วย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในเชิงพื้นที่ลง
 
มาตรการที่ 7 ส่งเสริมบทบาทของภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชนในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม 

มาตรการที่ 8 ลดการทุจริตคอร์รัปชันโดยเฉพาะการทุจริตในเชิงนโยบายในการผ่องถ่ายผลประโยชน์และอำนาจผูกขาดโดยรัฐไปยังกลุ่มทุนผูกขาดรายใหญ่ การปฏิรูป การลดภาระทางการคลัง การเพิ่มประสิทธิภาพใดๆของรัฐวิสาหกิจต้องอยู่บนพื้นฐานของทำให้เกิดการปรับโครงสร้างตลาดให้มีการแข่งขันเพิ่มขึ้นในกิจการนั้น  

มาตรการที่ 9 เพิ่มค่าจ้างและผลิตภาพแรงงาน ควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำให้เป็นไปตามคำนิยามของอนุสัญญาว่าด้วยการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำฉบับที่ 131 ขององค์กรแรงงานระหว่งประเทศ (ILO) พยุงราคาสินค้าเกษตรไม่ให้ตกต่ำและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net