Skip to main content
sharethis

กกต. ระบุการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของ กกต. ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นการทำงาน ออกแบบไว้ 2 รูปแบบ ทั้งมีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ ชื่อ โลโก้พรรคการเมือง และแบบที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร รอเคาะต้นสัปดาห์หน้า 'สมชัย' แนะออก 'พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง' เร็วขึ้นแก้ปัญหาบัตร 'พุทธิพงษ์' ยันรัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง ปมบัตรเลือกตั้ง

10 ธ.ค. 2561 นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้งของ กกต. ว่าขณะนี้อยู่ในขั้นการทำงานของสำนักงาน โดยออกแบบไว้ 2 รูปแบบ โดยรูปแบบแรก มีข้อมูลครบถ้วน ทั้งเบอร์ ชื่อ และโลโก้พรรคการเมือง รูปแบบนี้ออกแบบเสร็จไปในระดับหนึ่งแล้ว และได้มีการทาบทามบริษัทที่มีศักยภาพในการผลิตแล้วจำนวนหนึ่ง โดยจากการประสานยืนยันว่าทุกบริษัทสามารถพิมพ์บัตรรูปแบบดังกล่าวแยกเป็นรายเขตได้ครบทั้ง 350 เขต ระบบป้องกันการปลอมแปลงบัตรมีมาตรฐานไม่ต่างจากที่ผ่านมา และจัดส่งได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดทีโออาร์ก่อนประกวดราคา แต่ต้องรอการตัดสินใจเลือกรูปแบบบัตรของ กกต.ก่อน

รูปแบบที่ 2 คือบัตรที่มีเพียงหมายเลขผู้สมัคร ซึ่งรูปแบบนี้เกิดจากเมื่อได้รูปแบบบัตรที่มีข้อมูลสมบูรณ์แล้ว และมีการไปประชุมกับหน่วยงานสนับสนุนระบุว่า การขนส่งบัตรไปยังผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ซึ่งจะต้องเป็นบัตรของเขตเลือกตั้งที่ผู้นั้นมีสิทธิอยู่ในรอบแรกไม่มีปัญหา แต่หากเกิดปัญหาบัตรที่ส่งพลัดหลง หรือส่งไม่ถึงมือ การจะส่งบัตรสำรอง ต้องส่งคนตรงเขต ไปให้อาจมีปัญหา จึงมีข้อเสนอว่าให้พิมพ์บัตรโหล เพราะถ้าเกิดปัญหาบัตรที่ส่งพลัดหลงก็สามารถนำบัตรจากที่อื่นทดแทนได้ ซึ่งถ้า กกต.จำเป็นจะต้องพิมพ์บัตรลักษณะนี้ สำนักงานฯ ก็จะอุดช่องว่าง โดยจะมีการส่งข้อมูลผู้สมัคพรรคการเมืองของเขตที่ผู้ลงทะเบียนฯ มีสิทธิไปให้ทราบด้วย และได้มีการผลิตเครื่องสมาร์ทโหวตเพื่อบริการข้อมูลผู้สมัครพรรคการเมืองผ่านทางอินเตอร์เน็ต เพียงผู้มีสิทธิกรอกข้อมูลเลขข้อมูลเลข ประจำตัว 13 หลัก ในมือถือก็จะขึ้นข้อมูล ผู้สมัครในเขตเลือกตั้งที่ตนเองมีสิทธิให้ทราบ รวมทั้งมีการผลิตโปสเตอร์ขนาดเล็ก ที่มีรายชื่อของผู้สมัครทุกพรรคติดไว้ยังสถานที่ลงคะแนน

"ทั้งหมดยังเป็นเพียงข้อมูล ที่สำนักงานจะเสนอเพื่อประกอบการตัดสินใจของ กกต.ไม่ได้หมายความว่า กกต.ตัดสินใจแล้ว เรากำลังจะประชุมเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด ในกรณีบัตรเลือกตั้งต่างประเทศพลัดหลง ถ้าเรายืนยันจะผลิตบัตรเฉพาะเขตที่มีข้อมูลครบถ้วนหากเกิดปัญหาเราจะส่งบัตรสำรองไปได้ทันหรือไม่ ซึ่งวันอังคารที่ 11 ธ.ค.สำนักงานฯ จะมีการคุยกับหน่วยงานสนับสนุนเพื่อหาข้อสรุปและเสนอ กกต.แล้ว เพราะจำเป็นต้องทำทีโออาร์ส่งหาผู้รับจ้างแล้ว ดังนั้น คาดว่าไม่เกินต้นสัปดาห์หน้าจะได้ข้อสรุปทั้งหมด"

รองเลขา กกต.กล่าวอีกว่า เรื่องรูปแบบของบัตรเลือกตั้งไม่คิดว่ามีประเด็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะทั้งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายเลือกตั้งก็ไม่ได้เขียน ระบุเพียงลักษณะรูปแบบของบัตรให้เป็นไปตามที่ กกต.กำหนด และมองว่าแม้เป็นบัตรที่มีหมายเลขอย่างเดียวก็ไม่ได้ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย เพราะ กกต.ก็พยายามนำเสนอข้อมูลผู้สมัครและพรรคการเมืองให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทุกช่องทาง จนถึงที่หน้าหน่วยเลือกตั้งครบถ้วนอยู่แล้ว แต่สำนักงานฯ ก็จะพยายามทำรูปแบบที่สมบูรณ์และบริหารจัดการแก้ปัญหาที่มีอยู่ให้ได้

ทั้งนี้ จะหารือกับกระทรวงต่างประเทศว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะกำหนดให้มีประเทศที่เป็นเซนเตอร์ของกลุ่มประเทศนั้นๆ แล้วทำหน้าที่เก็บรักษาสต๊อกบัตรเลือกตั้ง 350 เขต ไว้จำนวนหนึ่ง ถ้าหากเกิดกรณีฉุกเฉิน ก็ให้บินเอาบัตรของเขตนั้นๆ ไปส่ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องลงทุน มองแล้วอาจไม่คุ้ม แต่เมื่อรัฐธรรมนูญให้คนในต่างประเทศได้ใช้สิทธิด้วย ก็ต้องมองข้ามเรื่องของงบประมาณ และมองว่าทำอย่างไรเขาถึงจะได้ใช้สิทธิ

อย่างไรก็ตาม ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว มีประมาณ 2 แสนคน แต่ครั้งนี้ด้วยระบบการสื่อสารที่พัฒนาขึ้น พรรคการเมืองมีการสื่อสารกับผู้มีสิทธิในต่างประเทศได้สะดวกมากขึ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่นต่างๆ และการลงทะเบียนขอใช้สิทธิทำได้ง่ายผ่านทางมือถือ จึงคาดว่าจะมีผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเพิ่มมากขึ้น

'สมชัย' แนะออก 'พ.ร.ฎ.เลือกตั้ง' เร็วขึ้นแก้ปัญหาบัตร

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์และอดีตกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โพสต์ภาพบัตรเลือกตั้งของประเทศต่าง ๆ และข้อความบนเฟสบุ๊คส่วนตัวระบุว่ารูปแบบบัตรเลือกตั้งจากหลากหลายประเทศมีสิ่งอำนวยความสะดวกและช่วยให้ประชาชนใช้สิทธิได้อย่างถูกต้อง โดยมีทั้งหมายเลขผู้สมัคร ชื่อพรรคการเมือง โลโก้พรรค บางประเทศมีรูปผู้สมัครด้วย เพื่อไม่ให้กาผิดฝาผิดตัว

นายสมชัย กล่าวว่าส่วนประเทศไทยกำลังจะเหลือเพียงแค่หมายเลข ด้วยเหตุผลคือหากใส่ชื่อพรรคและโลโก้จะต้องจัดพิมพ์ถึง 350 แบบ และเวลาที่มีอยู่หากรัฐบาลประกาศพระกฤษฎีกาเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) วันที่ 2 ม.ค. 2562 และเวลาที่เหลือจนถึงวันเลือกตั้ง 24 ก.พ. 2562 นั้นมีเวลาจำกัด ทำให้พิมพ์และจัดส่งบัตรไม่ทัน ทั้งนี้ พระราชกฤษฎีกาสามารถประกาศได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 ไม่จำเป็นต้องรอถึง 2 ม.ค. 2562 กกต. ต้องไม่ปากหนัก ต้องกล้าบอกรัฐบาลถึงข้อจำกัดทางธุรการ และขอให้รัฐบาลเลื่อนการออกพระราชกฤษฎีกาให้เร็วขึ้น ไม่ต้องห่วงว่าพรรคการเมืองจะทำไพรมารีโหวตไม่ทัน เพราะเขามีผู้สมัครครบกันหมด ขนาดเปิดตัวต่อประชาชนได้แล้ว ไพรมารีจึงเป็นแค่พิธีกรรม ทำให้ครบขั้นตอนตามกฎหมายเท่านั้น

“หรือจะดันทุรังพิมพ์บัตรโหลที่มีเลขผู้สมัครอย่างเดียว ให้สุ่มเสี่ยงกับการถูกฟ้องว่าเป็นการออกแบบบัตรเลือกตั้งที่ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กกต.มีครบ 7 คนแล้วก็คิดให้รอบคอบ คิดเอง ตัดสินใจเอง กฎหมายให้อำนาจท่านในการตัดสินใจ  และต้องพร้อมรับผิดชอบต่อการตัดสินใจเพราะสำนักงานเขาแค่เสนอท่านเป็นคนตัดสินใจความถูกความผิดอยู่ที่ท่านเรื่องกลับคูหาและเรื่องทำงานช้าจนเป็นเหตุให้เลือกตั้งเป็นโมฆะ และ กกต.ชุดที่ 2 ติดคุกตอนแก่ ผมไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่คนไหนติดคุกนะ” นายสมชัยกล่าว

'พุทธิพงษ์' ยันรัฐบาลไม่เกี่ยวข้อง ปมบัตรเลือกตั้ง

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุถึงกรณีปมบัตรเลือกตั้งว่าส่วนตัวเข้าใจว่าเป็นเรื่องนี้เป็นแนวทางของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งได้กำหนดไว้ในเบื้องต้น ลักษณะที่รองเลขาธิการ กกต. ก็ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีพรรคการเมือง 2 พรรคการเมืองใดสอบถามว่าบัตรเลือกตั้งมีโลโก้ของพรรคการเมืองหรือไม่

โดยทางกกต. ก็ได้ชี้แจงว่า ได้อ้างอิงจากการเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ การเลือกตั้งครั้งนี้ในแต่ละเขต จะมีเบอร์ที่สมัคร ไม่เหมือนกันเลยทั้ง 350 เขต ซึ่งหากมีการเลือกตั้งล่วงหน้าในต่างประเทศ แล้วในบัตรเลือกตั้งหากมีทั้งชื่อผู้สมัครและโลโก้พรรค ก็อาจจะทำให้เป็นปัญหาได้ ในการส่งบัตรเลือกตั้งไปยังประเทศนั้นๆ รวมไปถึงค่าใช้จ่ายในการจัดทำบัตรเลือกตั้ง หากมีบัตรขี้ไม่เหมือนกันทั้ง 350 เขตก็ต้องออกแบบทั้ง 350 แบบ ยืนยันไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องใดๆกับรัฐบาลและในส่วนของนายกรัฐมนตรี ก็ไม่ได้มีการเสนอเรื่องบัตรเลือกตั้งดังกล่าวต่อที่ประชุมแต่เป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่มีการสอบถามขึ้นมา โดยทาง กกต. ก็พร้อมจะนำทุกความเห็นไปพิจารณาถึงความเหมาะสมอีกครั้ง

เมื่อถามถึงกระแสว่าเป็นการเอื้อต่อ พรรคพลังประชารัฐที่เป็นพรรคใหม่หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้จะไม่ได้เอื้อประโยชน์ให้กับใคร เพราะการที่พี่น้องประชาชนจะเข้าไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่มีการไตร่ตรองอย่างดีแล้ว ดังนั้นอย่าเพิ่งไปคิดแทนประชาชน ว่าประชาชนจะจำไม่ได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีสิทธิ์เต็มที่ในการจัดการเลือกตั้ง การกำหนดรูปแบบต่างๆ และทางรัฐบาลก็ไม่ได้มีเจตนา ที่จะเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของ การเลือกตั้ง ในครั้งนี้เลย ส่วนเรื่องการปลดล็อกนั้นจะได้ความชัดเจนหลังการประชุมคสช.ในเร็วๆนี้แต่คาดว่าน่าจะอยู่ในช่วงปีใหม่อย่างแน่นอน

ที่มาข่าวเรียบเรียงจาก แนวหน้า สำนักข่าวไทย Nation TV

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net