แรงงาน-นักศึกษาฮังการี ร่วมประท้วงต่อต้านรัฐบาล จากกฎหมายแรงงานเอื้อนายจ้างเพิ่ม ชม.โอทีลูกจ้าง

ประชาชนชาวฮังการีหลายพันคนออกมาชุมนุมตามท้องถนนในกรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. ที่ผ่านมา เพื่อแสดงการต่อต้านกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่จะบีบให้พวกเขาต้องทำงานล่วงเวลา อย่างน้อย 250 ชั่วโมงต่อปี ไปจนถึงมากที่สุด 400 ชั่วโมงต่อปี โดยพวกเขาเรียกกฎหมายใหม่นี้ว่าเป็น "กฎหมายทาส" นอกจากนี้ยังมีนักศึกษาร่วมชุมนุมแสดงความเป็นหนึ่งเดียวกับแรงงานไปพร้อมๆ กับการเรียกร้องเสรีภาพ-แสดงการต่อต้านรัฐบาลฝ่ายขวาด้วย


ที่มาภาพ: Al Jazeera

กลุ่มสหภาพแรงงานหลายกลุ่มในฮังการีรวมถึงผู้สนับสนุนพวกเขาชุมนุมต่อต้านร่างกฎหมายแรงงานฉบับใหม่ที่นายกรัฐมนตรีฝ่ายขวา วิคเตอร์ ออร์บาน เป็นผู้เสนอ ซึ่งมีการวิจารณ์ว่าเป็น "กฎหมายทาส" โดยสื่ออัลจาซีรารายงานว่าพวกเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการประท้วงใหญ่ "เสื้อกั๊กเหลือง" ในฝรั่งเศส ทำให้มีประชาชนบางส่วนสวมชุดในลักษณะเดียวกันเดินขบวนไปที่จัตุรัสคอสสูธ ลาจอส ซึ่งเป็นที่ตั้งของรัฐสภาฮังการี

ร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวระบุให้นายจ้งาจะได้รับการการันตีว่าคนทำงานหนึ่งคนของพวกเขาจะต้องทำงานล่วงเวลาอย่างน้อย 250 ชั่วโมงในหนึ่งปี นอกเหนือจากนั้นจะเป็นไปตามข้อตกลงที่นายจ้างทำกับลูกจ้าง โดยนายจ้างสามารถเรียกร้องให้ลูกจ้างทำงานล่วงเวลาได้สูงสุด 400 ชั่วโมงต่อปี หมายความว่าลูกจ้างอาจจะต้องทำงานเพิ่มอีกสัปดาห์ละ 8 ชั่วโมงโดยเฉลี่ย

ในการประท้วงครั้งนี้ยังมีกลุ่มนักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยในบูดาเปสต์เข้าร่วมชุมนุมด้วยรวมถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเซ็นทรัลยูโรเปียน (CEU) ที่ได้รับทุนสนับสนุจากจอร์จ โซรอส ซึ่งถูกบีบให้ปิดตัว นักศึกษาเหล่านี้เดินขบวนเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการและต่อต้านความเป็นทาสไปพร้อมๆ กันโดยที่พวกเขามีจุดร่วมกันคือการต่อต้านนายกรัฐมนตรีฝ่ายขวาออร์บาน

ผู้เดินขบวนทั้งแรงงานและนักศึกษาแสดงการผนึกกำลังด้วยการตะโกนประกาศคำขวัญร่วมกันว่า "พวกเราจะไม่เป็นทาส" และ "มหาวิทยาลัยเสรี ประเทศเสรี" ในการแสดงออกต่อต้านรัฐบาลออร์บาน

กลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเหล่านี้ไม่พอใจที่รัฐบาลฝ่ายขวาพยายามสร้างระบอบการเมืองที่ "ไม่เสรี" รวมถึงการแสดงออกในเชิงเหยียดเชื้อชาติ, เกลียดกลัวคนนอก และต่อต้านชาวยิว

ในการประท้วงดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจปิดพื้นที่ลานหลักหน้ารัฐสภาซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายเดิมของผู้ชุมนุมทำให้ผู้ประท้วงต้องเดินขบวนไปรอบๆ เขตใจกลางบูดาเปสต์ อย่างไรก็ตามหลังการปราศรัยจบลงก็มีเหตุปะทะกันเล็กน้อยเนื่องจากผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งพยายามทลายเขตกั้นของตำรวจ การปะทะเป็นเหตุทำให้นักการเมืองพรรคสังคมนิยมฮังการีรายหนึ่งได้รับบาดเจ็บ จนกระทั่งในภายหลังตำรวจก็อนุญาตให้ผู้ชุมนุมหลายร้อยคนผ่านเข้าไปที่รัฐสภาได้

โซลตาน ลาสซ์โล รองประธานสหภาพแรงงานเหล็กวาซาสกล่าวว่าพวกเขาไม่พอใจอย่างจริงจังกับสิ่งที่เกิดขึ้นประเทศนี้ ที่มีรัฐบาลออกกฎหมายต่างๆ โดยแทบจะไม่ได้ปรึกษากับคนที่จะได้รับผลกระทบจากกฎหมายเหล่านี้เลย ลาสซ์โลบอกอีกว่าสุขภาพของคนงานก็ย่ำแย่อยู่แล้ว คนที่ออกกฎหมายแบบนี้มาเป็นกลุ่มคนที่เบียดเบียนสังคม พวกเขาจะแสดงให้เห็นว่าพวกเขาจะจัดการเองอย่างไรและพวกเขาพร้อมที่จะเกรี้ยวกราดมากขึ้น

สื่อรอยเตอร์ระบุว้าออร์บานพยายามสร้างระบบในแบบที่นักวิจารณ์มองว่าเป็นเผด็จการ โดยมีการก่อกวนยุโรป ใช้อำนาจบีบบังคับทั้งระบบธุรกิจ วิชาการ ศาล และสื่อ แต่การพยายามปรับแก้กฎหมายแรงงานในครั้งนี้ถือเป็นไม่กี่ครั้งที่เขาทำให้เกิดความไม่พอใจต่อกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งขนาดใหญ่พร้อมๆ กัน ก่อนหน้านี้เขาเคยทำให้ฝูงชนจำนวนมากไม่พอใจจากกรณีเรื่องภาษีและการจำกัดเส้นทางเข้าถึงข้อมูลอินเทอร์เน็ต ทำให้มีการยกเลิกแผนการเหล่านี้หลังจากมีผู้ประท้วงหลายหมื่นคนในปี 2557 การแก้กฎหมายแรงงานล่าสุดก็ทำให้เกิดความไม่พอใจอย่างหนักเช่นเดียวกัน

ทางการฮังการีเคยเสนอปรับเพดานโอทีก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือน พ.ย. ที่ผ่านมา แต่หลังจากที่แรงงานแสดงความไม่พอใจก็มีการปรับแก้โดยกำหนดให้ชั่วโมงทำงานโอทีเป็นแบบเลือกทำได้ แต่นักวิจารณ์ก็มองว่าร่างกฎหมายนี้มีข้อตำหนิตรงที่มันข้ามขั้นตอนการเจรจากับสหภาพแรงงาน ทำให้นายจ้างทำข้อตกลงเองได้โดยตรงในระดับบุคคล

อัลจาซีราระบุว่าเรื่องนี้รวมถึงเรื่องค่าแรงต่ำเป็นปัญหาแรงงานในฮังการีซึ่งอาศัยค่าแรงต่ำเป็นจุดขายในการให้บรรษัทยานยนต์เยอรมนีเข้าไปเปิดกิจการ เรื่องนี้ทำให้นักวิจารณ์ตั้งข้อสงสยัว่าบรรษัทยานยนต์ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนีล็อบบีให้รัฐบาลออกกฎหมายเพิ่มเวลาการทำงานล่วงเวลาเพราะฮังการีเริ่มเกิดภาวะขาดแคลนแรงงานมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ปัญหาการขาดแคลนแรงงานเองก็เป็นผลมาจากค่าแรงต่ำ บีบให้คนรุ่นใหม่พากันอพยพออกนอกประเทศเพื่อไปทำงานในประเทศที่ได้ค่าแรงสูงกว่า องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) เคยประเมินตัวเลขไว้เมื่อเดือน มิ.ย. ปีนี้ ว่ามีชาวฮังการีราว 600,000 ราย ทำงานอยู่นอกประเทศตัวเอง

เรียบเรียงจาก

Hungarian workers protest over 'slavery law', students join in, Aljazeera, 09-12-2018
https://www.aljazeera.com/news/2018/12/hungarian-workers-protest-slavery-law-students-join-181208182345982.html

Hungarians protest against 'slave law' overtime rules, Reuter, 09-12-2018
https://www.reuters.com/article/us-hungary-protest/hungarians-protest-against-slave-law-overtime-rules-idUSKBN1O70FM

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท