Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สัปดาห์ก่อนได้เห็นทวิตเตอร์หนึ่งที่มีคนรีทวิตและแชร์กันเยอะมาก เกี่ยวกับความลำบากของพี่น้องชนชั้นกลาง ที่ต้องทำงานเสียภาษี และไม่ค่อยได้รับความช่วยเหลือโดยตรงจากรัฐบาลมากนัก มาจนถึงวันนี้ ศ.ธีรยุทธ บุญมี ก็ได้ใช้คำว่า รวยกระจุก จนกระจาย กลางกระจ้อน” (กระจ้อนแปลว่า แคระแกร็น ไม่โต)

จากโพสต์ดังกล่าว บวกคำว่า “กลางกระจ้อน” เป็นเหตุให้ผมอยากลองคำนวณเล่นๆ ว่าชีวิตของพี่น้องชนชั้นกลางที่เกี่ยวข้องกับการคลังสาธารณะนั้นเป็นอย่างไรกันบ้าง (แต่มุมมองของผม อาจต่างจาก ศ. ธีรยุทธ)

แต่คำว่า ชนชั้นกลางนั้นกว้างมาก ดังนั้น เพื่อให้แบบฝึกหัดของผมดำเนินต่อไปได้ ผมจะสมมติว่า ครัวเรือนชนชั้นกลาง ครัวเรือนนี้ (ย้ำอีกรอบว่า สมมติ) มีคนหารายได้กัน 2 คน รายได้เดือนละ 25,000 บาท/คน และมีรถยนต์ส่วนบุคคล 1 คัน มีเงินเหลือเก็บนิดหน่อยเดือนละ 5,000 บาท

ลำดับแรก ภาษีน้ำมัน ถ้าครัวเรือนนี้เติมน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 กันเดือนละ 120 ลิตร รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิต ภาษีเทศบาล เงินกองทุนน้ำมัน และเงินกองทุนอนุรักษ์พลังงาน 9.16 บาท/ลิตร เพราะฉะนั้น แต่ละเดือน ครัวเรือนนี้ต้องเสียภาษี/เงินกองทุนต่างๆ เดือนละประมาณ 1,100 บาท/เดือน

แน่นอนว่า ถ้าครัวเรือนนี้ เปลี่ยนมาใช้น้ำมันดีเซล และแก๊สโซฮอล์ อี20 ภาระภาษีและกองทุนจะลดลงเป็น 7.38 และ 5.54 บาท/ลิตร ตามลำดับ ทำให้ค่าใช้จ่ายของครัวเรือนนี้ลดลงเป็น 665 และ 885 บาท/เดือน ตามลำดับ

ลำดับที่สอง ภาษีมูลค่าเพิ่ม (ทุกรายการ) ผมขอสมมติให้ครัวเรือนนี้ ใช้จ่ายเงินเดือนละ 45,000 บาท แต่ในจำนวนนี้ประมาณ 70% เป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ดังนั้น ในแต่ละเดือนครัวเรือนนี้จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มประมาณ 2,060 บาท/เดือน

ลำดับที่สาม เงินสมทบประกันสังคม คนละ 750 บาท/คน/เดือน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาล และเพื่อการชราภาพ (ได้ข่าวว่าจะขยายเพดานเงินสมทบเป็น 1,000 บาท/คน แต่ขอใช้ตัวเลขเดิมไปก่อน) ดังนั้น ในแต่ละเดือนครัวเรือนนี้สมทบประกันสังคมเดือนละ 1,500 บาท

ลำดับที่สี่ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตรงนี้คำนวณยากครับ เพราะรายละเอียดแตกต่างกันไปในแต่ละครัวเรือน ผมเลยใช้ข้อมูลค่าเฉลี่ยจากงานวิจัยของ อ.ผาสุกและคณะ โดยให้ครัวเรือนนี้มีเงินได้พึงประเมินประมาณ 600,000 บาท/ปี จากนั้นก็หักค่าใช้จ่าย หักค่าลดหย่อน และเงินบริจาคต่างๆ แล้ว ก็จะมีเงินได้พึงประเมินประมาณ 270,000 บาท/ปี และเมื่อคำนวณเป็นภาษีแล้ว ก็จะเสียภาษีเงินได้โดยเฉลี่ยประมาณ 12,000 บาท/ปี หรือ 1,000 บาท/เดือน

รวมทั้งหมด ครัวเรือนนี้จะจ่ายเงินให้รัฐประมาณ 5,200-5,700 บาท/เดือน ในกรณีผมขอคิดที่สัก 5,500 บาท/เดือนก็แล้วกันนะครับ โดยส่วนใหญ่เป็นภาษีทางอ้อม ทั้งนี้ ยังไม่รวมภาษีเครื่องดื่ม ภาษีบุหรี่ และอื่นๆ (เช่น ค่าต่อทะเบียนรถยนต์ส่วนบุคคล) รวมเบ็ดเสร็จแล้วครัวเรือนสมมตินี้ จะเสียภาษีและกองทุนต่างๆให้รัฐ ประมาณ 66,000 บาท/ปี หรือเท่ากับ 11% ของรายได้ทั้งหมดของครัวเรือน ซึ่งนับว่าเยอะมากทีเดียว

แล้วครัวเรือนนี้จะได้อะไรตอบแทนจากรัฐบาลบ้าง?

คำถามนี้น่าจะตอบยากมากๆ เพราะรัฐบาลก็จะนำมาลงทุนเช่น การทำถนนหาทาง การป้องกันประเทศ การทำสาธารณูปโภค (ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นค่าบริการจากผู้ใช้)การสร้างสวนสาธารณะ และอื่นๆ

แต่ถ้าจะลองคิดกันแบบเน้นๆ อาจจะขอเริ่มจากค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาและการรักษาพยาบาลแล้วกัน

ถ้าสมมติว่าครัวเรือนนี้มีลูก 1 คน (เพื่อให้ง่ายต่อความเข้าใจ) ลำดับแรกครัวเรือนนี้จะไม่ได้เงินอุดหนุนเด็กเล็ก (อายุ 0-3 ปี) 600 บาท/เดือน เพราะว่า ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ครัวเรือนที่มีรายได้น้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน

แต่เมื่อลูกของเขาเข้าสู่ระดับอนุบาลและประถม เขาก็จะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลคิดเป็นประมาณ 2,000-4,000 บาท/ปี (ข้อมูลจากบัญชีกระแสการโอนประชาชาติของสภาพัฒน์ฯ ปี 2556) สาเหตุที่ครัวเรือนชนชั้นส่วนกลางส่วนใหญ่ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลน้อยในระดับอนุบาลและประถมศึกษา เพราะชนชั้นกลางส่วนใหญ่มักพาลูกเข้าศึกษาในโรงเรียนเอกชน แต่ถ้าชนชั้นกลางพาลูกเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐ เงินประมาณการสนับสนุนของรัฐบาลจะเพิ่มขึ้นเป็น 10,000-12,000 บาท/คน/ปี

แต่เมื่อเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษา ชนชั้นกลางจะพาลูกเข้าศึกษาในโรงเรียนของรัฐบาลมากขึ้น ทำให้งบประมาณการสนับสนุนของรัฐเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 5,000-6,000 บาท/คน/ปี และเมื่อลูกของเขาเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย เงินสนับสนุนของรัฐบาลก็จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 8,000-10,000 บาท/คน/ปี

กล่าวโดยย่อในเรื่องการศึกษา ชนชั้นกลางจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลมากขึ้น หากให้ลูกเข้าเรียนในโรงเรียนของรัฐ โดยจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลประมาณ 10,000 บาท/ปี แต่ชนชั้นกลางจำนวนไม่น้อย ก็อาจจะกังวลในคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนของรัฐ โดยเฉพาะในระดับประถมศึกษา

ในส่วนของระบบสุขภาพ ค่าใช้จ่ายภาครัฐในด้านสุขภาพโดยเฉลี่ย (หมายถึง ทั้งป่วยเบา ป่วยหนัก และไม่ป่วย) สำหรับคนวัย 40-50 ปี จะอยู่ที่ประมาณ 10,000 บาท/คน และสำหรับลูกของเขาอีกอีกหนึ่งคน ประมาณ 4,000-5,000 บาท/คน (ตัวเลขน้อยกว่า เพราะเด็กๆ ป่วยน้อยกว่าและป่วยในอาการที่ไม่ซับซ้อนและค่าใช้จ่ายไม่ได้แพงนัก) แปลว่า โดยทั่วๆ ไป รัฐบาลก็จะดูแลครัวเรือนนี้ในด้านสุขภาพประมาณ 25,000 บาท/ปี

แต่ถ้าครัวเรือนนี้ ไปใช้บริการของสถานพยาบาลเอกชน ไม่ว่าจะด้วยเหตุที่โรงพยาบาลของรัฐต้องรอนาน หรือด้วยเหตุอันใดก็ตาม ผลประโยชน์ที่ครัวเรือนนี้จะได้จากภาครัฐ ย่อมลดน้อยลงไปด้วย

เพราะฉะนั้น เมื่อรวมกันแล้ว ก่อนการเกษียณอายุ ครัวเรือนนี้ น่าจะได้รับประโยชน์ทางตรงจากรัฐประมาณ 35,000 บาท/ปี

ส่วนในยามเกษียณอายุการทำงาน ครัวเรือนนี้ หากสมทบเงินบำนาญชราภาพมาครบ 20 ปี ก็จะได้รับเงินบำนาญคนละ 4,125 บาท/คน/เดือน (ถ้ารวม 2 คนก็ 8,250 บาท/เดือน) ซึ่งดูแล้วก็ไม่น้อย แต่จะต้องรอไปจนกว่าจะเกษียณอายุจึงจะได้รับผลตอบแทนดังกล่าว (และก็น่าจะไม่ได้รับผลตอบแทนส่วนการศึกษาและการรักษาพยาบาลของบุตรแล้ว เพราะบุตรน่าจะมีอายุเกิน หรือแยกครัวเรือนไปแล้วครับ)

กล่าวโดยสรุป การได้รับประโยชน์จากการคลังสาธารณะของชนชั้นกลางจึงขึ้นอยู่กับการเข้าใช้บริการของรัฐ แต่หากครัวเรือนชนชั้นกลางกังวลใจในคุณภาพและความสะดวกของบริการของรัฐ แล้วหันไปใช้บริการของเอกชน ย่อมจะทำให้โอกาสในการได้รับประโยชน์จากภาษีที่ตนจ่ายไปน้อยลงไปด้วย แถมยังต้องเกิดภาระทางเศรษฐกิจกับครอบครัวนี้เพิ่มเติมขึ้นอีกด้วย เช่น ค่าเทอมโรงเรียนเอกชน ปีละหมื่นหรือหลายหมื่นบาท หรือค่ารักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเอกชนครั้งละเป็นพันหรือหลายพันบาท (ในกรณีที่ป่วยปกติ ไม่ใช่เจ็บป่วยรุนแรง ส่วนในกรณีที่เจ็บป่วยรุนแรงคงไม่ต้องพูดถึง)

คำว่า “กลางกระจ้อน” ในมุมมองของผม (ซึ่งอาจจะต่างจาก ศ. ธีรยุทธ) จึงหมายถึง ภาวะที่ชนชั้นต้องแบกรับ “ภาระการคลังสาธารณะ” อย่างเต็มที่ (โดยไม่ได้ลดหย่อนได้มากมายเหมือนชนชั้นสูง เพราะร้อยละ 70 ของการลดหย่อนภาษีจะมาจากกลุ่มคนที่รวยที่สุด) แต่กลับรู้สึกไม่มั่นใจในคุณภาพของบริการสวัสดิการของรัฐ จนกลายเป็น “ภาระการเงิน” ของตนเองอีกทอดหนึ่ง

เรียกง่ายว่า ต้องรับภาระทั้งการคลังสาธารณะและการเงินของตนเอง

ทางแก้เรื่อง กลางกระจ้อน จึงอยู่ที่การพัฒนาระบบสวัสดิการของรัฐ ให้เป็นระบบที่ทั้งครอบคลุมถ้วนหน้า และมีคุณภาพบริการที่ดีพอ ทั้งในแง่ของผลลัพธ์ (เช่น การศึกษา) และความสะดวกรวดเร็ว ซึ่งนั่นแปลว่า รัฐบาลจะต้องลงทุนในบริการเหล่านี้ให้ดีขึ้น หรือทำให้การบริการเหล่านี้มีประสิทธิผลที่ดีขึ้น เช่น ในกรณีของการศึกษา

อย่างไรก็ดี เมื่อรัฐบาล คสช. มีแนวโน้มจะเน้นระบบสวัสดิการสงเคราะห์สำหรับผู้มีบัตรคนจน แทนที่จะลงทุนในระบบสวัสดิการถ้วนหน้าให้มากขึ้น แน่นอนว่า การโฟกัสไปที่คนจนย่อมกระทบต่อคุณภาพของบริการสาธารณะทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งนั่นก็จะย่อมเป็นการบีบบังคับให้ชนชั้นกลางต้องไปพึ่งระบบเอกชนมากขึ้น และทำให้โอกาสที่ชนชั้นกลางจะได้รับประโยชน์จากระบบการคลังสาธารณะลดลงไปด้วย

แล้วการลงทุนในระบบสวัสดิการแบบถ้วนหน้า (ไม่ว่าจนรวยได้รับสิทธิทั้งหมด) จะทำให้คนจนเสียประโยชน์หรือไม่?

ผมคิดว่า ไม่ครับ เพราะหากรัฐบาลปรับปรุงคุณภาพให้ดีพอ (แบบทั่วถึง) คนจนย่อมได้รับประโยชน์ไปด้วยแน่ และที่สำคัญ ระบบการคัดกรองคนจน ก็มักจะทำให้คนจนส่วนหนึ่งตกหล่นไม่ได้รับสิทธิไปด้วย เช่น คนจนที่ดันมีที่ดินการเกษตรมากกว่า 10 ไร่ก็จะไม่ได้รับบัตรคนจน หรือในกรณีเงินอุดหนุนเด็กเล็ก ก็มีครัวเรือนยากจน (รายได้น้อยกว่า 3,000 บาท/เดือน) ตกหล่น ไม่ได้รับการสนับสนุนถึง 30% เลยทีเดียว

สำหรับผม การแก้ปัญหากลางกระจ้อน จึงน่าจะเริ่มจากการพัฒนาระบบสวัสดิการ ส่วนอีกด้านหนึ่งที่ต้องดำเนินการ แต่คงไม่ได้พูดถึงในโพสต์นี้คือ การลดการผูกขาดของนายทุนรายใหญ่ ครับ

ชนชั้นกลางต้องเรียกร้องรัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้า และเท่าเทียมในด้านคุณภาพครับ

 

เผยแพร่ครั้งแรกใน: Facebook Decharut Sukkumnoed

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net