Skip to main content
sharethis

ระงับสืบพยานชั่วคราวคดีกองทัพฟ้อง 5 จำเลยชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" ในเวทีไทยศึกษา เช้านี้อัยการยื่นศาลวินิจฉัยข้อกฎหมาย หลังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 ปลดล็อกการเมือง และมีผลยกเลิกคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 ห้ามชุมนุมเกิน 5 คน โดยศาลนัดฟังคำสั่งว่าจะสืบพยานต่อหรือไม่ 25 ธ.ค. นี้ ขณะที่ 5 จำเลยขอแถลงด้วยวาจาต่อศาล ยืนยันไม่ผิดตามที่ถูกกล่าวหา

5 จำเลยคดี "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" และทีมทนายความภายหลังการพิจารณาคดีที่ศาลแขวงเชียงใหม่ เมื่อ 12 ธ.ค. 2561 (ที่มา: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน)

ในความคืบหน้าคดีชูป้าย “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา ซึ่งมีจำเลย 5 คน ถูกกองทัพฟ้องในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ร่วมกันชุมนุมมั่วสุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไปนั้น

ล่าสุดวันนี้ (12 ธ.ค.) ที่ศาลแขวงเชียงใหม่ ในช่วงเช้ายังคงเป็นการนัดหมายสืบพยานโจกท์ หลังจากสอบพยานโจทก์ไปแล้ว 2 วันแรกในวันที่ 6-7 ธ.ค. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามยังสืบพยานโจทก์ไม่ครบอีก 4 ปาก จึงขยายมาเป็นวันที่ 12 ธ.ค. อีกครึ่งวัน ซึ่งตามกำหนดเดิมวันที่ 12-14 ธ.ค. จะเป็นการสอบพยานจำเลย (อ่านข่าวก่อนหน้านี้)

อย่างไรก็ตามอัยการของคดีได้แถลงต่อศาลว่า เมื่อวานนี้ (11 ธ.ค.) มีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 "เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง" โดยในข้อ 1 (7) ของคำสั่งดังกล่าว ได้สั่งให้ยกเลิกข้อ 12 ของ คำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 3/2558 ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาในคดีนี้ จึงขอให้ศาลวินิจฉัยข้อกฎหมายในเรื่องนี้ ศาลจึงมีคำสั่งให้งดการสืบพยานที่กำหนดไว้ตลอดอาทิตย์นี้ (12-14 ธ.ค.) เพื่อวินิจฉัยในข้อกฎหมายนี้ก่อน และนัดให้คู่ความมาฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 25 ธ.ค. 61 เวลา 9.00 น.

ทางทนายจำเลยได้แถลงต่อศาลด้วยว่าเนื่องจากฝ่ายโจทก์ได้นำสืบข้อเท็จจริงไปเกือบหมดแล้ว แต่ฝ่ายจำเลยยังไม่ได้นำสืบพยานแต่ละอย่างใด จึงประสงค์จะยังนำข้อเท็จจริงมานำสืบต่อศาล เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองอยู่ และขอให้ศาลบันทึกความประสงค์นี้ไว้ในรายงานกระบวนพิจารณาด้วย

ทางทนายจำเลยยังได้แถลงขอให้จำเลยแต่ละคนได้แถลงด้วยวาจาต่อศาลในวันนี้ และจะจัดทำคำแถลงเป็นลายลักษณ์อักษรมายื่นต่อศาล เพื่อพิจารณาประกอบการทำคำวินิจฉัยของศาลภายใน 10 วัน นับจากวันนี้ ศาลได้อนุญาตตามคำขอดังกล่าว

จำเลยทั้ง 5 คนในคดีนี้ จึงได้ขึ้นแถลงด้วยวาจาต่อศาลทีละคน โดยเน้นแถลงประเด็นที่จำเลยอยากให้ศาลรับทราบตามที่ถูกกล่าวหา แต่ไม่ใช่การเบิกความในฐานะพยาน

โดยในเว็บไซต์ของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เผยแพร่คำแถลงด้วยวาจาของจำเลยในคดี มีรายละเอียดดังนี้

ชยันต์ วรรธนะภูติ ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา และได้รับผลกระทบหลังทหารดำเนินคดี

ดร.ชยันต์ วรรธนะภูติ จำเลยที่ 1 แถลงว่าจากเอกสารข้อกล่าวหาของฝ่ายโจทก์ ได้กล่าวหาว่าตนกระทำความผิดเรื่องการร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคน และยังอ้างว่าตนเป็นแกนนำ NGOs ภาคเหนือ ซึ่งตนยืนยันปฏิเสธในเรื่องดังกล่าวทั้งหมด

ชยันต์ระบุว่าตนได้รับการแต่งตั้งจากอธิการบดีของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็นประธานฝ่ายวิชาการในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษาครั้งที่ 13 โดยก่อนการประชุมตนได้กล่าวรับรองกับนักวิชาการจากต่างประเทศว่าที่ประชุมจะมีเสรีภาพทางวิชาการในการนำเสนอบทความ และยังได้เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประสานเรื่องการดูแลความปลอดภัยและการจราจรด้วย ทั้งในการจัดงาน ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ทำสัญญาตกลงขอใช้ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติอย่างชัดเจน

ชยันต์แถลงว่าในเหตุการณ์ตามข้อกล่าวหาของโจทก์ ตนในฐานะประธานฝ่ายวิชาการของการจัดงาน ได้รับแจ้งจากฝ่ายผู้จัดซึ่งรับทราบมาจากเจ้าหน้าที่ของศูนย์ประชุมฯ อีกทีว่าได้มีการติดป้ายข้อความโจมตีทหาร ตนจึงได้ไปดูหน้าห้องประชุมย่อย ก็พบป้ายข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” ตนเห็นว่าข้อความดังกล่าวไม่ได้โจมตีทหารหรือรัฐบาลแต่อย่างใด เป็นแค่ข้อความบอกเล่าธรรมดา และตนเห็นว่าสามารถติดในบริเวณดังกล่าวได้

ชยันต์แถลงว่าทางเจ้าหน้าที่ศูนย์ประชุมฯ ยังแจ้งมาถึงตนว่าจะมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาพบ ตนจึงได้นั่งรออยู่หน้าห้องประชุม เพื่อรอชี้แจงกับเจ้าหน้าที่ แต่ก็ไม่ได้มีเจ้าหน้าที่ทหารมาพบ ตนยังต้องไปทำหน้าที่ปิดการประชุมหลังจากนั้นด้วย จึงออกไปยังห้องประชุมใหญ่ และไม่ได้ร่วมแสดงสัญลักษณ์ใดๆ ตามข้อกล่าวหา

“หลังจากถูกแจ้งข้อกล่าวหา ตลอดเวลาที่กลายเป็นผู้ต้องหา ผมก็ได้รับความเดือดร้อน ต้องไปรายงานตัวที่อัยการทุกเดือน และมาขึ้นศาล และยังถูกมองว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนคำสั่งคสช. ทำให้ผู้บริหารในมหาวิทยาลัยมีความเข้าใจผิดต่อตัวผม นักวิชาการต่างประเทศที่เคยเข้าร่วมงาน ก็เกิดความสงสัยว่ามหาวิทยาลัยและที่ประชุมวิชาการในประเทศไทยมีเสรีภาพทางวิชาการอยู่หรือไม่ จึงเป็นผลกระทบต่อวงวิชาการไทยด้วย” ชยันต์แถลง

ภัควดี วีระภาสพงษ์ ทหารแทรกแซงชีวิตพลเรือนมากเกินไป

ภัควดี วีระภาสพงษ์ จำเลยที่ 2 ได้แถลงต่อศาลว่าตนมาเกี่ยวข้องกับงานประชุมไทยศึกษา ในฐานะวิทยากรที่ถูกเชิญเข้าร่วมในวงเสวนาอย่างเป็นทางการ ระหว่างงาน ตนยังได้เข้าร่วมฟังการประชุมในห้องเสวนาต่างๆ ตั้งแต่วันแรก ตนก็ได้พบเห็นเจ้าหน้าที่ทหารนอกเครื่องแบบจำนวนมากในงาน มีการปฏิบัติการถ่ายรูปของผู้ร่วมงาน ถ่ายรูปวิทยากร และเข้าฟังตามห้องประชุม สร้างความรู้สึกไม่สบายใจอย่างมาก

ภัควดีระบุว่าก่อนหน้านี้ก็พบเห็นเจ้าหน้าที่เหล่านี้ในงานเสวนาวิชาการต่างๆ แต่ในงานประชุมไทยศึกษานี้เป็นการประชุมนานาชาติ ใช้ภาษาอังกฤษ เจ้าหน้าที่กลับปฏิบัติตัวเช่นเดิม สร้างความรู้สึกอึดอัดไม่สบายใจให้ผู้ร่วมงาน เมื่อถึงวันสุดท้ายของงาน ตนจึงได้เห็นด้วยกับการยกป้ายข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” เพื่อแสดงออกให้เจ้าหน้าที่ได้เห็น โดยการกระทำดังกล่าวไม่ได้มีการวางแผนกันมาก่อน และไม่ได้เข้าข่ายเป็นการชุมนุมทางการเมือง แต่เป็นเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นว่าเวทีวิชาการย่อมไม่ใช่ค่ายทหาร

ภัควดีแถลงว่าการถูกดำเนินคดีนี้ ทำให้ตนได้รับผลกระทบ ทั้งการถูกให้พิมพ์ลายนิ้วมือเหมือนเป็นผู้ต้องหา เสียเวลาเรื่องการไปรายงานตัว และทราบจากเอกสารการฟ้องว่าตนตกเป็นเป้าหมายของหน่วยงานความมั่นคงของรัฐ ซึ่งมีข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงหลายประการ

“ข้าพเจ้าคิดว่าผลกระทบของการรัฐประหารครั้งนี้ คือการทำให้ทหารมาแทรกแซงในชีวิตของพลเรือนมากเกินไป และมีการทำให้เสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนกลายเป็นความผิดทางอาญาไป นอกจากนี้ชีวิตพลเรือนของนักวิชาการที่ต้องมีการสัมมนากันเป็นเรื่องปกติ กลับกลายไปเป็นความผิด และถูกทางเจ้าหน้าที่รัฐเข้ามารบกวนแทรกแซงตลอดเวลา” ภัควดีแถลงต่อศาล

นลธวัช มะชัย ประชาชนมีสิทธิปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ

นลธวัช มะชัย จำเลยที่ 3 แถลงต่อศาลว่าตนในฐานะนักศึกษาคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเคนทำงานเป็นสมาชิกสภานักศึกษา มักได้รับมอบหมายให้ช่วยกิจกรรมของมหาวิทยาลัยเสมอ ทั้งงานถ่ายภาพและงานพิธีกร ในงานประชุมนานาชาติไทยศึกษา ตนได้รับมอบหมายจากอาจารย์ของคณะ ให้ถ่ายภาพ และดูแลพิธีเปิดและพิธีปิดของการประชุม ตนจึงได้เข้าออกห้องประชุมย่อยทุกห้อง ได้พบเห็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบมีพฤติกรรมการถ่ายภาพวิทยากร ผู้เข้าร่วม และมีการไปนำหูฟังสำหรับแปลภาษาของผู้เข้าร่วม ในงานยังเห็นกลุ่มบุคคลมีพฤติกรรมแตกต่างจากผู้เข้าร่วม ทั้งผมสั้นเกรียน แยกตัวเองอยู่หลังห้อง ไม่คุยกับใคร และคอยถ่ายภาพผู้อื่น

นลธวัชแถลงว่าในวันสุดท้ายของการประชุม ได้พบจำเลยที่ 4 ระหว่างกินกาแฟ เห็นว่ามีป้ายข้อความ “เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร” รวม 3 แผ่น จึงได้ร่วมถือแผ่นป้ายดังกล่าว ซึ่งเข้าใจว่าเป็นการสื่อสารให้ทหารในงานได้ทราบถึงความไม่พอใจของผู้จัดงาน โดยเป็นการแสดงออกอย่างสันติและสื่อสารอย่างนุ่มนวลที่สุด ทั้งพื้นที่การประชุมนั้นก็ไม่ใช่ค่ายทหารจริงๆ

นลธวัชระบุว่าหลังถูกดำเนินคดี ตนก็ได้เกิดผลกระทบต่อการเรียน ต้องลาเรียนบ่อยครั้ง ตลอด 2 เทอม ไม่ได้กลับบ้าน เพราะต้องเข้ารายงานตัวทุกเดือน และยังมีเจ้าหน้าที่ทหาร-ตำรวจไปติดตามตัวที่คณะ เหมือนกับเป็นผู้กระทำผิด ทั้งตนยังไม่ยินยอมไปเซ็นข้อตกลง MOU เพื่อให้คดีสิ้นสุด เนื่องจากเห็นว่าตนไม่ได้กระทำความผิด และไม่ทราบว่าการเซ็นจะมีผลอย่างไรต่ออนาคตบ้าง

“ผมไม่ใช่นักวิชาการ เป็นแค่นักศึกษาคนหนึ่ง และในฐานะประชาชนทั่วไป ผมเห็นว่าเราควรมีเสรีภาพทางวิชาการ และเราจำเป็นต้องยืนยันถึงเสรีภาพดังกล่าวด้วย ผมเชื่อว่าคนธรรมดาก็สามารถปกป้องเสรีภาพทางวิชาการได้ ทางใดทางหนึ่ง ซึ่งผมเลือกที่จะแสดงออกโดยการถือป้ายข้อความเวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร”

ชัยพงษ์ สำเนียง ปกป้องเสรีภาพทางวิชาการ คือการปกป้องเสรีภาพประชาชน

ชัยพงษ์ สำเนียง จำเลยที่ 4 แถลงต่อศาลว่าตนเข้าร่วมงานประชุมไทยศึกษาในฐานะผู้นำเสนอบทความ และผู้ดูแลห้องประชุมย่อย ในการประชุมนั้น ตนได้พบเห็นเหตุการณ์ที่ถือเป็นการคุกคามผู้เข้าร่วมประชุมวิชาการของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร ดังที่จำเลยคนอื่นๆ กล่าวถึงแล้ว โดยตนเห็นว่าการคุกคามเสรีภาพของประชาชน และเสรีภาพทางวิชาการ มีมาอย่างต่อเนื่องหลังการรัฐประหาร 2557 ภายใต้ข้ออ้างเรื่องสภาวะยกเว้น ทำให้เสรีภาพของประชาชนและนักวิชาการหดแคบลงอย่างเห็นได้ชัด

“ถ้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เป็นจุดยืนทางปัญญา และยังถูกแทรกแซงโดยทหารในหลายกรณี ถ้ามหาวิทยาลัยไม่สามารถรักษาเสรีภาพทางวิชาการได้ เท่ากับว่าเราไม่สามารถรักษาปัญญาของประเทศได้ ซึ่งมหาวิทยาลัยอยู่ในสถานะที่มีสิทธิ์กว่าสถานที่อื่นๆ ถ้ามหาวิทยาลัยไม่มีเสรีภาพก็เท่ากับประชาชนไม่มีเสรีภาพ ดังนั้นการรักษาเสรีภาพทางวิชาการของมหาวิทยาลัยจึงเป็นการรักษาเสรีภาพขององค์กรอื่นๆ ด้วย

“สังคมจะอยู่ได้ต้องมีเสรีภาพ และการรักษาเสรีภาพก็คือการรักษาความเป็นมนุษย์ของเรา ถ้าไม่มีเสรีภาพ ก็เท่ากับไม่ได้เป็นมนุษย์ แม้เราจะถูกดำเนินคดี แต่เราก็ยังยืนยันถึงการปกป้องเสรีภาพ และไม่สามารถยอมรับอำนาจอันไม่ปกติได้ ท้ายที่สุด การได้รับข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งคสช.นี้ ถือเป็นเกียรติประวัติของนักวิชาการและประชาชนในยุคนี้” ชัยพงษ์แถลงต่อศาล

ธีรมล บัวงาม พฤติกรรมสอดส่องของเจ้าหน้าที่เป็นสิ่งไม่เหมาะสม

ธีรมล บัวงาม จำเลยที่ 5 แถลงศาลว่าตนเข้าร่วมนำเสนอบทความในงานประชุมวิชาการไทยศึกษา ในวันที่ 18 ก.ค. 60 โดยหลังนำเสนอบทความตนเองเสร็จ ตนได้ไปยังห้องประชุมย่อยเรื่องทรัพยากร เพื่อฟังเพื่อนนำเสนอบทความ ระหว่างฟังการบรรยาย ก็ได้เห็นเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ไม่ทราบว่าฝ่ายไหน ถ่ายภาพผู้เข้าร่วมประชุม และสไลด์ที่เกี่ยวข้องกับคสช.หรือทหาร ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ค่อนข้างเสียมารยาทในการประชุม  ในห้องดังกล่าว ยังมีชาวบ้านมาร่วมฟังการบรรยายด้วย โดยมีการเตรียมหูฟังแปลภาษามา เจ้าหน้าที่ได้ไปยืนใกล้กับผู้แปล และทำการใช้มือถือพูดคุย เหมือนเป็นการสรุปเนื้อหาภายในห้อง และเป็นการส่งเสียงดังรบกวนจากหลังห้อง

ธีรมลระบุว่าจากนั้น ตนได้ไปยังห้องประชุมย่อยที่เกิดเหตุ แต่ห้องประชุมย่อยเต็ม จึงเข้าฟังไม่ได้ ก่อนมาเห็นป้าย “เวทีวิชาการ ไม่ใช่ค่ายทหาร” ที่ถูกติดอยู่ก่อนแล้ว จึงถ่ายรูปไว้เป็นที่ระลึกกันเล่นๆ  ถ้อยคำดังกล่าว ตนเห็นว่าไม่ได้ทำให้เกิดภาพลบต่อคสช. ตามที่ถูกกล่าวหา แต่เข้าใจว่าเป็นข้อความเชิงบอกเล่า มีความหมายแคบเฉพาะเวทีไทยศึกษา ในส่วนการชูสามนิ้วก็หมายถึง “เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ” ซึ่งทั้งสามสิ่งเป็นวัฒนธรรม ค่านิยมที่ประชาคมวิชาการยึดถือกันอยู่ ทุกคนมีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็นโดยเสมอภาคกัน

ธีรมลแถลงว่าการตีความภาพและข้อความตามฟ้องคดีนี้ ต้องเข้าใจบริบทในพื้นที่นั้นๆ การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่ไม่เหมาะสมจึงเป็นบริบทที่เกิดขึ้นในขณะนั้น โดยตนเห็นว่าทหารสามารถร่วมนำเสนอบทความ เสนองานวิชาการในเวทีวิชาการได้ แต่การเข้าไปสอดส่อง ตรวจตรางานวิชาการ ถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในเวทีวิชาการ

ธีรมลระบุว่าตนเห็นด้วยกับจำเลยที่ 4 ว่าคดีนี้เป็นความภาคภูมิใจอย่างหนึ่ง ซึ่งไม่เคยเห็นว่าสิ่งที่ตนกระทำเป็นความผิด และยินดีเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความบริสุทธิ์

“ในห้วงยามที่ประเทศเรามีวิกฤติทางการเมือง เราต้องการข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ ความคิดเห็นที่หลากหลาย เพื่อนำพาสังคมไทยไปสู่อนาคต ซึ่งหัวใจก็คือเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเสรีภาพทางวิชาการ ซึ่งทั้งหมดถูกรับรองอยู่ในรัฐธรรมนูญ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้ารัฐเองเข้าไปสอดส่อง ปิดกั้น ควบคุม คุกคามสิ่งเหล่านี้ รวมถึงการดำเนินคดีนี้ด้วย สิ่งเหล่านี้ต่างหากที่เป็นการทำลายภาพลักษณ์และชื่อเสียงของ รัฐบาลคสช.”

ม.44 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. 22/2561 ปลดล็อกการเมือง

สำหรับคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง นั้นมีผลยกเลิกบางส่วนของคำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 9 ฉบับ "เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ในช่วงที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย" โดยมีผลยกเลิกบางส่วนของคำสั่ง คสช. ประกาศ คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. รวม 9 ฉบับ รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. 3/2558 ข้อ 12 ชุมนุมเกิน 5 คน

อย่างไรก็ตามในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ยังคงระบุว่าการยกเลิกดังกล่าว "ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้" (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

รวมข่าว/สถานการณ์ "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร"

สำหรับคดีชูป้าย "เวทีวิชาการไม่ใช่ค่ายทหาร" โดยจำเลย 5 รายถูกเจ้าหน้าที่ทหารกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คน ขึ้นไป จากกรณีการชูป้ายในงานประชุมวิชาการนานาชาติไทยศึกษา (The International Conference on Thai Studies) ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อที่ 18 กรกฎาคม 2560

การชูป้ายดังกล่าวถูกระบุว่าเป็นปฏิกิริยาต่อการที่เจ้าหน้าที่รัฐนอกเครื่องแบบเข้ามาบันทึกกิจกรรมต่างๆ ในระหว่างงาน โดยไม่มีการลงทะเบียนเข้าร่วมงาน ไม่ได้ขออนุญาตผู้จัดงาน และยังมีการส่งเสียงดังรบกวนภายในงานประชุม

จำเลยทั้ง 5 ราย ประกอบด้วย ชยันต์ วรรธนะภูติ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคศึกษาด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ภัควดี วีระภาสพงษ์ นักแปลและนักเขียนอิสระ นลธวัช มะชัย นักศึกษาปริญญาตรีคณะการสื่อสารมวลชน  มช. ชัยพงษ์ สำเนียง นักศึกษาปริญญาเอกคณะสังคมศาสตร์ มช. และธีรมล บัวงาม นักศึกษาปริญญาโทคณะการสื่อสารมวลชน มช. และบรรณาธิการสำนักข่าวประชาธรรม

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net