Skip to main content
sharethis

นักเขียนผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองระหว่างประเทศยุโรปเขียนกรณีประท้วง "เสื้อกั๊กเหลือง" ต้านประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ในฝรั่งเศสหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาว่าการประท้วงนี้เกิดจากความไม่พอใจรัฐบาลที่เอื้อประโยชน์ต่อคนรวยมานาน ขณะที่มาครงออกมาประกาศล่าสุดในทำนองยอมรับความผิดพลาดส่วนหนึ่งและสัญญาว่าจะขึ้นค่าแรงขั้นต่ำให้ชาวฝรั่งเศสในปีหน้า

ป้ายข้อความ "ปฏิวัติ" ด้านหลังเสื้อกั๊กเหลืองของผู้ชุมนุม (ที่มา: Maxpixel)

เมื่อ 11 ธ.ค. 2561 ประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศสออกมาพูดถึงเรื่องกรณีการประท้วง "เสื้อกั๊กเหลือง" ที่มาจากกลุ่มประชาชนผู้ไม่พอใจการขึ้นภาษีน้ำมัน ปัญหาค่าครองชีพสูง และประเด็นอื่นๆ โดยมาครงกล่าวประณามการใช้ความรุนแรง แต่ก็พูดในทำนองเข้าใจความโกรธเคืองที่ฝังรากลึกของผู้ประท้วงและบอกว่าความไม่พอใจเหล่านี้ "มีความชอบธรรมในหลายๆ ด้าน"

มาครงให้สัญญาว่าจะบวกค่าแรงขั้นต่ำในฝรั่งเศสเพิ่มขึ้นอีก 100 ยูโรต่อเดือน (ราว 3,700 บาท) ในปี 2562 นอกจากนี้ยังบอกว่าจะยกเลิกการขึ้นภาษีผู้รับสวัสดิการรายได้น้อย ยกเลิกแผนการเก็บภาษีจากค่าจ้างล่วงเวลาและจากเงินโบนัส อย่างไรก็ตามมาครงก็ไม่ยอมกลับมามีมาตรการเก็บมาษีคนรวยอีกครั้งโดยอ้างว่า "พวกเขาต้องทำให้เกิดการสร้างงาน"

ความไม่พอใจที่แท้จริงของกลุ่ม "เสื้อกั๊กเหลือง" คือความไม่พอใจของประชาชนฝรั่งเศสที่ถูกกดขี่ทางเศรษฐกิจ

สำหรับการประท้วง "เสื้อกั๊กเหลือง" ที่เกิดขึ้นนั้นมีการนำเสนอในหลายๆ แง่ ไดอานา จอห์นสโตน นักเขียนเรื่องการเมืองโลกตะวันตกผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเมืองระหว่างประเทศยุโรปเขียนถึงในเรื่องนี้โดยระบุว่า ถึงแม้ประเด็นการขึ้นภาษีน้ำมันจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายจุดชนวนให้ประชาชนออกมาประท้วง แต่พวกเขาก็มีความไม่พอใจจากเรื่องอื่นๆ จำนวนมากโดยเฉพาะการออกมาตรการของรัฐที่เอื้อต่อคนรวยและเบียดเบียนคนส่วนใหญ่ของประเทศมานานแล้ว ด้วยเหตุนี้เองทำให้ขบวนการเสื้อกั๊กเหลือได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากโดยแทบจะทันที

เสื้อกั๊กเหลืองของผู้ประท้วงเหล่านี้ยังเป็นสัญลักษณ์ตรงที่ว่าในฝรั่งเศสนั้น ผู้ขับขี่ยานยนต์จะต้องมีเสื้อกั๊กเหลืองนิรภัยนี้ไว้เผื่อเกิดอุบัติเหตุหรือยานยนต์เสียกลางถนนทำให้ผู้มีเสื้อกั๊กนี้นำมาสวมไว้ได้เพื่อให้ผู้คนได้มองเห็นว่าพวกเขาและไม่ขับรถชนพวกเขา จอห์นสโตนมองว่าสัญลักษณ์จากการเลือกเสื้อกั๊กนี้มีความหมายโดยตรงที่แสดงให้เห็นถึงเรื่องภาวะฉุกเฉินของเรื่องเศรษฐกิจสังคม

บทความของจอห์นสโตนตั้งข้อสังเกตอีกว่ากลุ่มผู้ประท้วงในครั้งนี้ไม่ได้มีลักษณะการจัดตั้งแบบกลุ่มสหภาพแรงงานอย่างเป็นขบวนแต่อย่างใด แต่เป็นคนทั่วไปที่ไม่พอใจและพยายามแสดงออกถึงความโกรธเคืองของตัวเองให้คนที่พร้อมจะเข้าใจพวกเขาได้รับทราบ อย่างเรื่องที่รายได้ของพวกเขาลดลงเรื่อยๆ ขณะที่ค่าครองชีพสูงขึ้น พวกเขาอยากให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลง แต่ที่ผ่านมารัฐบาลก็เอาแต่ใช้กำลังปราบปรามพวกเขาเพื่อสกัดกั้นให้ผู้ประท้วงออกห่างทำเนียบประธานาธิบดีขณะที่ประธานาธิบดีมาครงทำตัวอยู่เหนือทุกสิ่งทุกอย่าง

ผู้ประท้วงทั้งหลายเหล่านี้ยังมีที่มาจากในเมืองเล็กหรือชนบทที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ มีผู้หญิงอายุไม่มากต้องทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ทั้งยังเเผชิญความสิ้นหวังจากการไม่มีเงินพอเลี้ยงลูกหรือซื้อเสื้อผ้าให้ลูก ขณะที่การตัดสินใจของมาครงจากการขึ้นภาษีน้ำมันส่งผลแม้กระทั่งต่อคนที่ไม่ได้ขับรถเพราะทำให้ค่าครองชีพสูงขึ้น ผู้ประท้วงทที่เป็นผู้สูงอายุก็ไม่พอใจเรื่องการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อเงินบำนาญของพวกเขาด้วย

จอห์นสโตนยังเขียนถึงเรื่องความไม่พอใจเกี่ยวกับการที่รัฐบาลพยายามทำลายระบบสวัสดิการสุขภาพในนามของผลกำไร ทั้งที่ฝรั่งเศสมีระบบสวัสดิการสุขภาพที่ดีที่สุดในโลกเสมอมา แต่รัฐบาลฝรั่งเศสก็พยายามส่งเสริมให้ประชาชนซื้อประกันสุขภาพเอกชนสำหรับสิ่งที่ไม่ได้รับการรับรองในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า เช่น การเจ็บป่วยทั่วไปที่ไม่ใช่การเจ็บป่วยหนักหรือยาที่ถูกนำออกจากบัญชียาที่อยู่ในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการทำฟัน ถึงแม้ว่าจะพยายามสร้างภาพให้ดูเหมือนเป็นการทำให้ระบบ "เป็นสมัยใหม่มากขึ้น" แต่จริงๆ แล้วเป็นการพยายามแปรรูปให้ระบบประกันสุขภาพกลายเป็นเอกชนที่มีการแอบเปิดโอกาสให้สถาบันการเงินจากต่างชาติเข้ามาหาผลประโยชน์ ขณะที่ประชาชนต้องอยู่อย่างยากลำบาก

"ผู้คนที่เสียภาษีก็อยากจะได้อะไรจากภาษีที่พวกเขาเสียไป แต่ไม่ใช่การที่ทำให้สิ่งที่พวกเขาเคยมีอยู่ถูกช่วงชิงไป" จอห์นสโตนระบุในบทความ เธออธิบายต่อไปว่ากลุ่มผู้เลี่ยงภาษีจริงๆ คือกลุ่มคนรวยมหาศาลและบรรษัทยักษ์ใหญ่ รวมถึงบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ที่มีนักกฎหมายของตัวเองคอยค้ำหัวและการถ่ายโอนสินทรัพย์ไว้ในที่ปลอดภัย ขณะที่ประชาชนผู้เสียภาษีอย่างมีระเบียบแค่อยากได้ระบบการจัดการต่างๆ ที่ดีสำหรับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นสวัสดิการสุขภาพ การขนส่งมวลชน การขนส่งไปรษณีย์ที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงการศึกษาระดบอุดมศึกษาฟรี แต่สิ่งเหล่านี้กำลังถูกทำลายลงจากอำนายทุนในระบอบแบบ "เสรีนิยมใหม่" (neo-liberalism)

"ในพื้นที่ชนบท(ของฝรั่งเศส) มีสถานทำการไปรษณีย์ โรงเรียน และโรงพยาบาล ปิดตัวลงเรื่อยๆ รวมถึงระบบรถไฟที่ไม่ทำกำไรก็ยกเลิกเดินรถ เพราะแนวทางที่สหภาพยุโรปเสนอที่เรียกว่า 'การแข่งขันโดยเสรี' " จอหน์สโตนระบุในบทความ

ทั้งนี้ยังมีเรื่องภาษีน้ำมันส่งผลให้น้ำมันขึ้นราคาที่ประชาชนชาวฝรั่งเศสไม่พอใจ โดยทางการฝรั่งเศสอ้างว่าทำไปเพื่อทำให้เกิด "เศรษฐกิจสีเขียว" ที่ส่งเสริมให้ประชาชนซื้อรถพลังงานไฟฟ้ามาใช้แทนยานพาหนะแบบเก่า แต่จอห์นสโตนก็ชี้ว่าการบริหารจัดการสังคมแบบเทคโนแครตที่มองจากที่สูงแบบไม่เห็นปัญหาระดับล่างก็กลับจะส่งผลตรงข้ามเพราะผู้คนจำนวนมากไม่มีทุนทรัพย์มากพอจะซื้อรถพลังงานไฟฟ้า และการพยายามดำเนิน "เศรษฐกิจสีเขียว" ตามคำกล่าวอ้างของรัฐบาลก็จะทำให้มีการปิดโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์แล้วพวกเขาจะเอาไฟฟ้าที่ไหนมาเป็นพลังงานให้รถ

 

อีกทั้งในระดับปฏิบัติเอง ฝรั่งเศสก็เพิ่งจะปิดตัวโครงการพลังงานทางเลือกไปเพราะบอกว่ามันไม่ได้กำไรและไม่มีลูกค้า โดยจอห์นสโตนระบุว่าเรื่องนี้เป็นปัญหาการบริหารจัดการอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลมาครง เพราะโดยปกติแล้วโครงการใหญ่ใหม่ๆ แนวนี้จะไม่ทำกำไรในช่วงต้นถึงจำเป็นต้องอาศัยทุนช่วยเหลือจากรัฐบาลให้ดำเนินต่อไปโดยมีวิสัยทัศน์สู่อนาคต แต่รัฐบาลมาครงกลับไม่มีการลงทุนเพื่ออนาคตเช่นนี้ ทำให้การอ้างเก็บภาษีน้ำมันไปเพื่อเป็นภาษีสำหรับสิ่งแวดล้อมเป็นข้ออ้างที่มือถือสากปากถือศีล และกลายเป็นเพียง "นโยบายรัฐเข็ดขัด" อีกแบบหนึ่งเท่านั้น เพราะรัฐบาลทำไปเพื่อเอาไปโปะหนี้ของตัวเองแล้วตัดบริการสาธารณะจากประชาชน

จากความไม่พอใจเหล่านี้ทำให้ถึงแม้ว่ากลุ่มผู้ประท้วงจะมีภาพลักษณ์รุนแรงและทำลายข้าวของ แต่พวกเขาก็ได้รับการสนับสนุนร้อยละ 70 จากการสำรวจความนิยม ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลมาครงก็ยังคงแสดงท่าทีไม่ยอมรับว่าตัวเองเป็นฝ่ายผิด อีกประเด็นหนึ่งที่จอห์นสโตนเน้นย้ำคือกลุ่มผู้ประท้วงเหล่านี้ไม่มีใครเลยที่เป็นฝ่าย "ขวาจัด" หรือเป็น "ฟาสซิสม์" พวกเขาไม่ได้เน้นเรื่องอุดมการณ์แต่กำลังประท้วงเรื่องที่เป็นประเด็นกระทบต่อชีวิตพวกเขาในเชิงปฏิบัติ และถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีการโบกธงและร้องเพลงชาติฝรั่งเศสแต่พวกเขาก็ไม่ได้เป็นฝ่ายขวาออันตรายในทางตรงกันข้าม ในประวัติศาสตร์ของฝรั่งเศสฝ่ายซ้ายเป็นกลุ่มผู้รักชาติที่ปฏิวัติต่อต้านขุนนางหรือต่อต้านการยึดครองของนาซีทั้งสิ้น ขบวนการเสื้อกั๊กเหลืองล่าสุดนี้จึงไม่ได้เป็นกลุ่มชาตินิยมที่เอาไปโจมตีคนอื่นแต่เป็นการเคลื่อนไหวในบ้านตัวเอง

บทความของจอห์นสโตนวิจารณ์ปัญหาหลักๆ ของมาครงว่าเขาเป็นเสมือนผลิตภัณฑ์ที่ขายแต่ภาพลักษณ์ปลอมๆ ที่อาศัยสื่อและสปอนเซอร์ในการหลักตัวเองเข้ามาอยู่ในตำแหน่งได้ และเขาก็พยายามทำตามสปอนเซอร์ผู้สนับสนุนเขาโดยพยายามออกมาตรการในทำนองลดสวัสดิการของประชาชนที่เรียกว่านโยบายรัดเข็มขัดเพื่อเอาใจสหภาพยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี แต่สิ่งที่เขาทำก็ไม่สามารถเอาใจเยอรมนีได้และกลับทำให้ประชาชนออกมาประท้วงตามท้องถนน

สภาพการเมืองของมาครงกำลังตกที่นั่งลำบากเพราะเขากำลังสูญเสียการสนับสนุนทั้งจากประชาชนทั่วไปและจากคณาธิปไตยที่ส่งเสริมเขา มีกลุ่ม "ภาคประชาสังคม" ที่เขาเคยแต่งตั้งให้รับตำแหน่งกระทรวงสิ่งแวดล้อมขอลาออกเพราะความไม่พอใจเมื่อเดือน ส.ค. นักสังคมนิยมที่อยู่ในตำแหน่งรัฐบาลก็ขอลาออกเช่นกัน ด้วยเหตุนี้เองจอห์นสโตนจึงเสนอให้มาครงอย่าปราบปรามประชาชนแต่ควรจะหันมารับฟังความเจ็บปวดของพวกเขา การเคลื่อนไหวในครั้งนี้ไม่ใช่การเคลื่อนไหวเพราะพยายามยึดกุมอำนาจทางการเมืองแต่เป็นการพยายามเรียกร้องให้ชดเชยแก้ไขจากการที่รัฐบาลก่อปัญหาความทุกข์ยากต่อพวกเขา

จากท่าทีล่าสุดของมาครงก็ออกมายอมประชาชนบ้างบางส่วนแล้ว ซึ่งนักข่าวบีบีซี ฮิวจ์ สโกฟิลด์ วิเคราะห์ว่ามาครงไม่มีทางเลือกอื่นจริงๆ เพราะประชาชนผู้ประท้วงไม่ได้ต้องการสัญญาแต่ต้องการมาตรการที่จะทำให้พวกเขาหลุดจากความยากจน และรัฐบาลก็ตอบสนองข้อเรียกร้องหลายข้อจนอาจจะพูดได้ว่ากลุ่มผู้ประท้วง "เสื้อกั๊กเหลือง" เหล่านี้เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ประท้วงที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในยุคสมัยใหม่ หลังจากที่เคลื่อนไหวมาตลอด 4 สัปดาห์

เรียบเรียงจาก

Yellow Vests Rise Against Neo-Liberal ‘King’ Macron, Consortium News, 05-12-2018

France yellow vest protests: Macron promises wage rise, BBC, 11-12-2018

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net