‘10 Years Thailand’ หนังฉายอดีต-ปจบ.-อนาคตสังคมไทย คนทำหนังต้องท้าทายทั้งเซ็นเซอร์และผู้ชม

10 Years Thailand หนังสะท้อนอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าของไทยในมุมมองของ 4 ผู้กำกับ รอบเปิดตัวคนดังหลายวงการแห่ร่วมชม พูดคุยกับผู้กำกับหลังหนังจบ จุฬญานนท์หนึ่งในผู้กำกับสะท้อนว่าอนาคตอาจย้อนรอยไปสู่อดีตก็ได้ และทั้งนี้คนทำงานศิลปะต้องขยายขอบเขตความเป็นไปได้ที่ถูกจำกัดให้ไปได้ไกลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้

จากซ้ายไปขวา ผู้ดำเนินรายการ, จุฬญาณนนท์ ศิริผล, วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง, อาทิตย์ อัสสรัตน์

13 ธ.ค. 2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. ที่ผ่านมา ภาพยนตร์ 10 Years Thailand จัดฉายรอบสื่อที่โรงภาพยนตร์สกาล่า โดยภายในงานมีเหล่าคนในวงการสื่อและภาพยนตร์ นักร้อง นักวิชาการ นักเขียน นักการเมืองชื่อดังเข้าร่วมมากมาย เช่น ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา, สุลักษณ์ ศิวรักษ์, ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ชัชชาติ สิทธิพันธุ์, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, สมบัติ บุญงามอนงค์, วัฒนา เมืองสุข, กฤษดา สุโกศล แคลปป์ หรือ ‘น้อย วงพรู’ เป็นต้น

โดยภาพยนตร์เรื่องนี้แบ่งเป็นหนังสั้น 4 เรื่อง ของผู้กำกับ 4 คน ได้แก่ 'Sunset' โดย อาทิตย์ อัสสรัตน์, 'Catopia' โดย วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง, 'The Planetarium' โดย จุฬญาณนนท์ ศิริผล และ 'Song of the City' โดยอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ที่เล่าถึงอนาคตประเทศไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าในมุมมองของแต่ละคน

หลังฉายภาพยนตร์จบมีกิจกรรมถาม-ตอบกับผู้กำกับ 3 คน คือ  อาทิตย์ อัสสรัตน์ จุฬญานนท์ ศิริผล วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง

อาทิตย์ อัสสรัตน์ กล่าวถึง 'Sunset' ว่า ทำมาจากเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นปีที่แล้ว ตอนเห็นข่าวและเห็นภาพประกอบข่าวคือทหารที่อยู่ในแกลอรี่ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเห็นมาก่อน รู้สึกว่ามันมีพลัง หนังพูดถึงการเซ็นเซอร์ แต่ไม่ได้อยากบอกว่ามันผิดหรือถูก เพราะเราเปลี่ยนความคิดคนไม่ได้ แต่อยากบอกว่าการเซ็นเซอร์ทำร้ายศิลปิน และทำร้ายทหารเองด้วย เราอยากแสดงมิติของตัวละครรวมทั้งทหารด้วย ส่วนการเซ็นเซอร์ตัวเองนั้น คิดว่าตอนทำหนังทุกคนรู้อยู่แล้วว่านี่คือประเทศไทย และลิมิตควรจะอยู่ตรงไหน เรื่องไหนที่พูดไม่ได้

วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง กล่าวถึง 'Catopia' ว่าเป็นโปรเจคที่คิดว่าอยากทำเป็นหนังยาว จึงทดลองทำเป็นหนังสั้นในเรื่องนี้ก่อน ส่วนเรื่องการเซ็นเซอร์ ตนเป็นคนทำหนังในระบบ ถึงไม่เซ็นเซอร์ตัวเอง นายทุนก็เซ็นเซอร์เแทน บางเรื่องก็รู้ว่าเสนอไปเขาก็ไม่ให้ผ่าน

จุฬญาณนนท์ ศิริผล เล่าให้ฟังว่า ไปร่วมงานเทศกาลที่ปูซานและสิงคโปร์ พบว่าฟีดแบ็คคนในเอเชียเชื่อมโยงกับหนังได้มากกว่า อย่างที่เทศกาลคานส์ก็จะมีคนเข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง แต่ทั้งนี้ผู้ชมต่างประเทศเองก็สนใจสถานการณ์ทางการเมืองในไทย

จุฬญาณนนท์ กล่าวถึงหนัง 'The Planetarium' ว่า ภาพที่ปรากฏในหนังมีความเป็นไซไฟ เป็นโลกสมมติ แต่มันคือการเปรียบเทียบเปรียบเปรย ซึ่งเป็นวิธีที่ตนถนัด และหนังก็สร้างประสบการณ์ตอนที่เป็นเด็กในโรงเรียน แต่อีกมุมก็เหมือนโลกสมมติ เปรียบเทียบไปถึงสถานการณ์การเมืองของไทยได้ด้วยอย่างไม่ตรงไปตรงมา เปิดกว้างให้คนดูตีความตามประสบการณ์

 “ถ้าพูดถึงอนาคตแล้วเราไม่อ้างอิงอดีตเลย เราคิดว่ามันจะหลุดไปจากความทรงจำร่วมของคนในสังคม เราเลยมีการอ้างอิงสิ่งที่เคยเกิดขึ้น เพื่อจะพูดถึงอนาคต อย่างในหนัง เราคิดว่าอนาคตอาจย้อนรอยไปสู่อดีตก็ได้” จุฬญาณนนท์ กล่าว

ต่อความเห็นเรื่องเซ็นเซอร์ จุฬญาณนนท์ ศิริผลมองว่า คนทำงานรู้ว่าควรมีลิมิตแค่ไหน แต่ในฐานะคนทำงานศิลปะบางทีต้องขยายขอบเขตความเป็นไปได้ที่ถูกจำกัดให้ไปได้ไกลมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ งานที่ทำก็ตั้งคำถามว่าขอบเขตอยู่ตรงไหน มันจะไปได้ไกลกว่านั้นไหม และความท้าทายไม่ใช่แค่กับตัวระบบ หรือการเซ็นเซอร์ แต่ท้าทายกับผู้ชมด้วยว่าจะไปได้ไกลแค่ไหน

ประชาไทได้สัมภาษณ์ความเห็นของผู้ชมหลังจากดูภาพยนตร์จบ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์ ให้ความเห็นว่า “ผมค่อนข้างแปลกใจว่าทำไมผ่านเซ็นเซอร์มาได้ ทั้งสามเรื่องแรกแรงมาก เรื่องที่สี่ของอภิชาติพงศ์ ยากในการตีความ แต่ทั้งสี่เรื่องบอกเรื่องราวของปัจจุบันที่ใช้อดีตมาเป็นตัวช่วย ถ้าถามว่าอีกสิบปีจะเกิดอะไร คนดูอาจไม่ได้คำตอบจากสี่เรื่อง คนดูอาจนั่งคิดว่า สี่เรื่องเสนออะไรแล้วเราจะเอาไงต่อ คนดูอาจจะต้องทำการบ้านต่อ แลวตอบตัวเองว่าอยากได้อนาคตแบบไหน”

กฤษดา สุโกศล หรือ ‘น้อย วงพรู’ ให้ความเห็นว่า ผู้กำกับแต่ละคนมีมุมมองที่แตกต่างและชัดเจน ซึ่งออกมาเป็นหนังที่ดี ทั้ง 4 เรื่องมีหลายประเด็น และขึ้นอยู่กับคนดูว่าจะเลือกเข้าใจแบบไหน แต่แน่นอนว่าสุดท้ายทุกเรื่องก็หวังว่าในอนาคตแม้จะยากแค่ไหนก็หวังว่าจะมีเสรีภาพสำหรับทุกคน

อนึ่ง 10 Years Thailand คือภาพยนตร์ว่าด้วยเรื่องราวในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้าของประเทศไทยในมุมมองของผู้กำกับแต่ละคนที่สะท้อนถึงปัญหาทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ได้รับเลือกให้ฉายในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ในสาย section Speacial Screening เป็นภาพยนตร์ขนาดยาวรวม 4 เรื่องสั้นจาก 4 ผู้กำกับดังกล่าว

คุยกับ โปรดิวเซอร์, ผู้กำกับ, นักแสดงนำ ‘10 Years Thailand’ หนังไทยไปคานส์เรื่องล่าสุด
‘10 Years Thailand’ ผ่านเซ็นเซอร์ โปรดิวเซอร์ชี้ ควรเป็นเรื่องปกติที่ผ่าน ไม่ใช่เรื่องที่ต้องลุ้น

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท