Skip to main content
sharethis

วันที่ 12 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้มีการจัดงานวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากลและงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ขึ้น และมีการเสวนาพิเศษในหัวข้อ “หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า งอกงามจากไทย ก้าวไกลสู่โลก” โดยมี กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เดียร์ดรา บอยด์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติ และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย และ  กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน เป็นวิทยากรร่วมอภิปรายในประเด็นความสำเร็จของระบบสุขภาพถ้วนหน้าของไทยซึ่งได้รับการยอมรับในเวทีโลก การผลักดันเพื่อเผยแพร่ระบบหลักประกันสุขภาพแก่ประเทศอื่นๆ ตลอดจนความท้าทายของระบบในอนาคต

กาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่าการทำงานเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในเวทีระหว่างประเทศได้มีการผลักดันมาตั้งแต่สมัยการประชุมสมัชชาอนามัยโลก จนมาถึงวันที่ 12 ธ.ค. 2560 ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชนได้กำหนดให้วันที่ 12 ธ.ค. ของทุกปีเป็นวันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสากล ทั้งนี้ วันเพียงวันเดียวไม่มีประโยชน์อะไร แต่ประโยชน์ที่แท้จริงคือเพื่อให้เกิดเจตนารมณ์ทางการเมืองในทุกประเทศในการส่งเสริมเรื่องหลักประกันสุขภาพและการทำให้ประชาชนในประเทศต่างๆเข้าถึงบริการสุขภาพได้ ซึ่งที่ผ่านมามีองค์กรระหว่างจำนวนมากที่ให้ความสำคัญกับตัวอย่างบทเรียนระบบหลักประกันสุขภาพในไทย เพราะไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวยแต่สามารถทำได้ ดังนั้นถ้าประเทศไทยทำได้ประเทศอื่นก็ต้องทำได้เช่นกัน

"ในเดือน ก.ย. 2562 จะมีการประชุมสมัชชาสหประชาชาติซึ่งมีประเด็นการประชุมในเรื่องหลักประกันสุขภาพด้วย เราคาดหวังว่าท่านทูตของเราที่นิวยอร์กน่าจะได้เป็นหนึ่งในประธานร่วมในการเจรจาเอกสารผลลัพธ์การประชุม เรื่องนี้มีความสำคัญมากเพราะถือเป็นการวางรากฐานสำคัญให้แก่โลก การสร้างระบบหลักประกันสุขภาพไม่ใช่เรื่องง่าย ถ้าเราได้มีผลลัพธ์การประชุมระดับโลกแล้ว มันจะแสดงถึงเจตนารมณ์ทางการเมืองของผู้นำต่างๆที่จะนำไปปรับใช้ในประเทศตัวเอง" กาญจนา กล่าว

กาญจนา กล่าวอีกว่า การลงทุนหลักประกันสุขภาพคือการลงทุนในทุนมนุษย์ คือการป้องกันมากกว่ารักษา รวมทั้งการจัดให้มีระบบสุขภาพพื้นฐานที่ดีจะช่วยป้องกันโรคต่างๆได้ การทำงานในเรื่องเหล่านี้ต้องทำอย่างมีองค์รวมเพราะงานสาธารณสุขแทรกอยู่ในการพัฒนาอย่างยั่งยืนทุกด้าน แนวทางการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประเทศไทยในเวทีโลก คงเน้นที่การทำเป็นตัวอย่างให้ดู รวมทั้งจะมีความร่วมมือระหว่างประเทศในการจัดอบรม จัดคณะดูงานในไทยแก่ประเทศที่สนใจ

สำหรับความท้าทายของระบบหลักประกันสุขภาพในอนาคต นางกาญจนามองว่ายังมีอีกหลายเรื่อง ทั้งทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารจัดการ ความท้าทายเรื่องสังคมสูงอายุ การดูแลเสริมสร้างสุขภาพทุกช่วงวัย สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยการบูรณาการอย่างมาก และที่ฝากไว้คือ 99.9% ของคนไทยได้รับการดูแลแล้ว แต่ยังมีคนชายขอบ แรงงานอพยพ ซึ่งต้องการการดูแล เช่น ถ้าโรคติดต่อเกิดขึ้นกับคนๆหนึ่ง ก็สามารถติดต่อไปยังคนอื่นได้หมดไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือไม่ใช่คนไทยก็ตาม ดังนั้นเราต้องคำนึงว่าเรื่องสุขภาพต้องเกิดกับทุกคนแล้วจึงจะเกิดสุขภาวะไปทั้งสังคม

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ผลสำเร็จของระบบฯในปัจจุบันเป็นผลจากอดีต ในอดีตประเทศไทยมีการลงทุนอยู่ 3 ประเด็นคือ 1.การลงทุนทางด้านวิชาการก่อนจะมีระบบหลักประกันสุขภาพในปี 2545 เสียอีก มีการสั่งสมองค์ความรู้ทางวิชาการจากการทำงานของภาคส่วนต่างๆ ทำให้รู้ความต้องการบริการของประชาชน มีการนำร่องดำเนินการรูปแบบการพัฒนาในเขตพื้นที่ต่างๆเพื่อสั่งสมองค์ความรู้

2.การลงทุนในเรื่องความเสียสละ คนสาธารณสุขเป็นคนที่เสียสละในการทำงาน ทำให้เกิดความเข้าใจในเรื่องความยากลำบากของประชาชน 3.การลงทุนเรื่องความกล้าหาญ นำไปสู่การปฏิบัติที่เป็นจริง คนหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงคือ นพ.สงวน นิตยารัมพงศ์ ที่นำเสนอนโยบายนี้เข้าสู่ระบบ ต่อมาคือ นพ.มงคล ณ สงขลา ที่ผลักดันทำให้นี้ระบบนี้เกิดความคงตัว รวมทั้งผู้ใหญ่ในอดีตที่กล้าหาญสร้างนวัตกรรมหลายๆอย่าง เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) แล้วพัฒนามาถึงงานสาธารณสุขมูลฐาน จนมาถึงจุดเปลี่ยนจากบัตรสังคมสงเคราะห์มาเป็นระบบหลักประกันสุขภาพ

ลักษณะการทำงานแบบนี้เป็นการสั่งสมการบูรณาการร่วมกัน รวมทั้งการขับเคลื่อนของภาคประชาชนที่เสนอกฎหมาย ทำให้เกิดความยั่งยืนของระบบหรือเมื่อเกิดระบบหลักประกันสุขภาพขึ้นตั้งแต่ปี 2545 การดำเนินงานต่อมาก็มีคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติซึ่งมีองค์ประกอบของภาคส่วนต่างๆ มาวางนโยบายในการกำหนดสิทธิประโยชน์ของประชาชนในขอบเขตต่างๆ

"ผมติดตามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขไปต่างประเทศ ท่านมีคีย์เวิร์ด 2-3 คำ คือ ประเทศไทยเราไม่ได้ร่ำรวย ประเทศเราจึงจำเป็นต้องมีระบบหลักประกัน เป็นคีย์เวิร์ดที่กลับจากสิ่งที่ธนาคารโลกบอกเราตอนปี2545 ว่าประเทศไทยไม่ใช่ประเทศร่ำรวยจึงไม่ควรมีระบบหลักประกันสุขภาพ เป็นวิธีคิดที่กลับกันและ 16 ปีผ่านไปก็สะท้อนว่าเราทำได้ อีกคีย์เวิร์ดคือเรื่องหลักประกันสุขภาพเป็นการลงทุนไม่ใช่ภาระ ถ้าลงทุนด้านสุขภาพจะทำให้ GDP เพิ่มขึ้นประมาณ 20% และอีกคีย์เวิร์ดคือเราไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง ตัวอย่างเช่น กลุ่มชนเผ่ามานิ และกลุ่มชายขอบอื่นๆ" นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย ยังกล่าวอีกว่า สิ่งที่คนไทยได้รับจากระบบหลักประกันสุขภาพตลอด 16 ปีที่ผ่านมานั้น อย่างแรกเลยคือได้สิทธิ เป็นการเปลี่ยนจากระบบสังคมสงเคราะห์มาเป็นการมีตัวตนมีจุดยืนบนประเทศ และเมื่อมีสิทธิก็นำไปสู่การมีชุดสิทธิประโยชน์ เช่น ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน ได้รับการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ ฯลฯ ประการต่อมาคือการได้รับบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ไม่ใช่บริการชั้น 2 มีมาตรฐาน รวมทั้งได้รับการคุ้มครอง เป็นการคุ้มครองใน 2 ประเด็นคือคุ้มครองไม่ให้ล้มละลายจากการรักษา สามารถนำเงินไปจ่ายในกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นได้ และคุ้มครองสิทธิของตัวเองกรณีเกิดความผิดพลาดในการรักษาเพื่อลดความขัดแย้งต่างๆ

เดียร์ดรา บอยด์ ผู้ประสานงานสหประชาชาติ และผู้แทนโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นเรื่องสำคัญ ปัจจุบันประชากรครึ่งหนึ่งของโลกยังเข้าไม่ถึงการบริการในลักษณะนี้ และไทยก็เป็นตัวอย่างที่ยอดเยี่ยมในการทำเรื่องนี้ แสดงให้เห็นแล้วว่าแม้เป็นประเทศรายได้ปานกลางแต่ก็สามารถดำเนินการได้

"อีกสิ่งที่ไทยสะท้อนให้เห็นคือเรื่องระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าไม่ใช่ประเด็นเรื่องระดับรายได้ของประเทศ แต่เป็นระดับของความมุ่งมั่น เป็นเรื่องความมุ่งมั่นในความพยายามทำงานอย่างยาวนานปีแล้วปีเล่า การไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง และความพร้อมรับความท้าทายใหม่ๆ นี่จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมไทยจึงเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีการประชุมระดับสูงของสมัชชาสหประชาชาติในเดือน ก.ย. 2562 ที่จะถึงนี้จะเป็นโอกาสสำคัญที่ไทยจะได้มาแบ่งปันประสบการณ์ในเรื่องนี้"น.ส.เดียร์ดรา กล่าว

สำหรับบทบาทของสหประชาชาติในการส่งเสริมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้น น.ส.เดียร์ดรา กล่าวว่า สิ่งที่ได้ขับเคลื่อนไปแล้วคือการผลักดันเรื่องหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) รวมทั้งใช้จัดการกับปัญหาความยากจน เราคงไม่สามารถกำจัดปัญหาความยากจนให้หมดไปจากโลกนี้ได้ แต่อย่างน้อยก็ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพโดยไม่กระทบต่อฐานะทางการเงิน นี่เป็นประเด็นสำคัญที่สหประชาชาติเรียนรู้จากไทยและสามารถนำบทเรียนไปเผยแพร่ต่อในประเทศอื่นๆได้ รวมทั้งความท้าทายในอนาคต เช่นเรื่องผู้อพยพข้ามประเทศ ทำอย่างไรทุกๆประเทศจะมีหลักประกันสุขภาพแก่ทุกคนที่อาศัยในประเทศของตัวเอง ซึ่งประเด็นนี้ก็คิดว่าประเทศไทยเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ประเด็นเรื่องเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะทำอย่างไรในการนำมาเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการเพื่อให้เข้าถึงทุกคน รวมทั้งประเด็นเรื่องเรื่องสังคมสูงอายุและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งประเทศไทยก็เริ่มเข้าสู่สังคมสูงอายุแล้ว ดังนั้นบทเรียนจากประเทศไทยก็จะเป็นตัวอย่างสำคัญในการทำงานเรื่องนี้ในเวทีโลกด้วยเช่นกัน

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สัดส่วนภาคประชาชน กล่าวว่า ตลอด 16 ปีของระบบหลักประกันสุขภาพทำให้เกิดภาพ 5 ประการคือ 1.เปลี่ยนจากความตายเป็นความเป็น ตนมีเพื่อนหลายคนโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ที่ร่วมเสนอร่างกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หลายคนหลังจากได้รับยาต้านไวรัสแล้วสามารถมีชีวิตอยู่ได้ 2.ทำให้ไม่ล้มละลาย ตัวเลข 10 กว่าปีที่ผ่านมาเห็นชัดเจนว่าเดิมมีคนที่ล้มละลายจากการรักษาพยาบาลประมาณ 6% แต่ปัจจุบันเหลือต่ำกว่า 2% แล้ว 3.ลดความเหลื่อมล้ำ ไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำในด้านการถือครองทรัพย์สินสูงมาก แต่ในมุมของรายได้ เมื่อมีระบบหลักประกันสุขภาพแล้ว ตัวเลขความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้ดีขึ้น 4.สร้างเศรษฐกิจ ทำให้คน 20% ของคนที่จนที่สุดในประเทศมีการใช้จ่ายเงินมากขึ้นเพราะไม่ต้องกังวลว่าต้องกันเงินไว้ส่วนหนึ่งเพื่อการรักษาพยาบาล  และ 5.ทำให้เห็นว่าประชาธิปไตยกินได้ สร้างได้ด้วยมือเราเอง ถ้าเลือกพรรคการเมืองจากนโยบายและเป็นนโยบายที่ยั่งยืนไม่ใช่ชั่วครั้งชั่วคราวก็จะเห็นว่าประโยชน์ตกกับประชาชนไปตลอด และสะท้อนว่าถ้าเรามีส่วนร่วม เราจะสามารถสร้างหลักประกันที่ดีสำหรับประชาชนได้

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนในการขับเคลื่อนระบบหลักประกันสุขภาพ  เป็นประเทศที่ 2 ของโลกต่อจากคิวบาในการป้องกันการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูกซึ่งปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งมาจากความเข้มแข็งของเครือข่ายผู้ติดเชื้อที่ทำงานค้นหาและให้คำปรึกษาแก่เพื่อนผู้ป่วย หรือกรณีโรคไต โรคมะเร็ง เครือข่ายเหล่านี้สร้างความเข้มแข็งจนสามารถผลักดันชุดสิทธิประโยชน์ได้

"แบบนี้ไม่ใช่แค่การมีส่วนร่วมที่แค่ฟังหรือให้ความเห็น แต่สามารถร่วมกำหนดนโยบายให้เป็นจริงได้ ซึ่งนี่ก็เป็นหนึ่งในประเด็นที่หลายๆ ประเทศมาเรียนรู้จากไทย" กรรณิการ์ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในส่วนของความท้าทายในอนาคต น.ส.กรรณิการ์ มองว่าเรื่องแรกคืองบประมาณ ผู้กำหนดนโยบายควรเรียงลำดับความสำคัญการใช้จ่ายงบประมาณและให้ความสำคัญกับการลงทุนทางสังคมมากกว่าแค่หว่านเงินเป็นช่วงๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้คือหน่วยบริการไม่มีเงินลงทุนก้อนใหญ่ๆมานานแล้ว และอาจจะไม่เพียงพอรองรับความต้องการบริการที่มากขึ้น ประเด็นต่อมาคือการสร้างความเข้าใจว่าสิทธิของประชาชนที่เพิ่มขึ้นหรือการรู้สิทธิมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าสิทธิของผู้ให้บริการหรือของผู้กำหนดนโยบายจะน้อยลงแต่สามารถเสริมกันได้

"ที่สำคัญที่สุดคือตอนนี้เราใช้ระบบภาษีแต่ก็มีการพูดถึงการร่วมจ่าย ซึ่งการร่วมจ่ายนี้ต้องไม่ใช้จ่าย ณ จุดบริการ เพราะนั่นเท่ากับเขี่ยคนที่ไม่มีความสามารถในการจ่ายออกไปเลย ต้องเป็นการร่วมจ่ายก่อนจะป่วยเพื่อให้คนป่วยเข้าถึงบริการได้เท่าเทียมกัน ตลอดจนการบริการงบประมาณของกองทุนสุขภาพต่างๆ เช่น สวัสดิการข้าราชการ ถ้าบริหารให้ดีๆ เผลอๆอาจจะมีเงินเหลือพอโดยที่ไม่ต้องมีการร่วมจ่ายเลยก็ได้"

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net