Skip to main content
sharethis

ทันตแพทยสภารุก 'คุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม' เวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 ถกบรรจุเป็นนโยบายสาธารณะ แก้ปัญหาคนไทยเข้าไม่ถึงบริการทันตกรรม หลังพบข้อมูลคนไทยเข้าถึงบริการทันตกรรม 8% เท่านั้น ร่วมจัดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมพื้นฐานมุ่งลดความเหลื่อมล้ำ 3 กองทุน พร้อมแก้ปัญหาจัดฟันแฟชั่น ทำฟันเถื่อน 

14 ธ.ค.2561 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ ในงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 11 “รู้เท่าทันสุขภาพ ร่วมสร้างสังคมสุขภาวะ” ได้มีวาระการรับฟังความเห็น “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรม” ข้อเสนอจากทันตแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค วิทยาลัยคุ้มครองผู้บริโภค และสภาเภสัชกรรม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพาณิชย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม (สปส.) รวมทั้งกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและคุ้มครองประชาชนด้านบริการทันตกรรม ทั้งการเข้าถึงบริการทันตกรรมที่มีคุณภาพและมาตรฐาน การสร้างความเท่าเทียมในสิทธิประโยชน์ทันตกรรม 3 กองทุนสุขภาพภาครัฐ และการคุ้มครองความปลอดภัยจากปัญหาทำฟันเถื่อน 

ทพ.ธงชัย วชิรโรจนไพศาล อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2 กล่าวว่า ข้อเสนอเชิงนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรมนี้ เป็นการดำเนินการร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยทันตแพทยสภามองว่าคนไทยควรได้รับบริการทันตกรรมที่ปลอดภัย มีคุณภาพมาตรฐานและเท่าเทียมกัน จึงผลักดันเข้าเป็นวาระในสมัชชาสุขภาพเป็นครั้งแรก โดยมี 2 ประเด็นหลัก คือ

ประเด็นแรก “การเข้าถึงบริการทันตกรรม” จากข้อมูลด้านทันตกรรมพบว่า มีคนไทยจำนวนมากที่เป็นโรคในช่องปาก เฉพาะภาวะอักเสบในช่องปากและหินปูนถึงร้อยละ 70-80 ส่วนเด็กมีฟันผุถึงร้อยละ 50 แต่อัตราการเข้ารับบริการทันตกรรมมีแค่ร้อยละ 8 เท่านั้น สาเหตุหลักเป็นเพราะระบบบริการทันตกรรมที่ไม่เอื้อให้เข้าถึงบริการ ทั้ง 3 กองทุนสุขภาพหลักยังมีเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการ อาทิ กองทุนประกันสังคมจำกัดการจ่ายค่าบริการ 900 บาท/ปี ถือว่าน้อยมาก แต่มีข้อดีคือสามารถใช้บริการในคลินิกทันตกรรมเอกชนได้ ส่วนกองทุนสวัสดิการข้าราชการและกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแม้ว่าสิทธิประโยชน์ดีกว่า แต่จำกัดการเข้ารับบริการเฉพาะที่โรงพยาบาลของรัฐที่คิวการรักษานั้นยาวมากและเป็นอุปสรรค ดังนั้นการแก้ไขปัญหาจึงต้องมองและทำในเชิงระบบ  

นอกจากการพัฒนาสิทธิประโยชน์ทันตกรรมของ 3 กองทุนให้เท่าเทียมกัน โดยมีชุดสิทธิประโยชน์หลักทางทันตกรรมชุดเดียวกันแล้ว ด้วยทันตแพทย์ทั่วประเทศมีประมาณ 15,000 คน ในจำนวนนี้ครึ่งหนึ่งอยู่ในระบบภาครัฐและอีกครึ่งหนึ่งอยู่ภาคเอกชน ทั้งคลินิกทันตกรรมเอกชนทั่วประเทศมีประมาณ 5,000 แห่ง ทำอย่างไรจึงจะดึงทรัพยากรด้านทันตกรรมในส่วนภาคเอกชนมาร่วมจัดบริการเพื่อดูแลผู้มีสิทธิทั้ง 3 กองทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ไม่ใช่จำกัดเฉพาะหน่วยบริการภาครัฐ เป็นการใช้ทรัพยากรด้านทันตกรรมที่มีอยู่ในประเทศอย่างเต็มที่ อาทิ การปรับอัตราการจ่ายชดเชยเพื่อให้คลินิกทันตกรรมสามารถร่วมให้บริการได้ เป็นต้น

“อัตราการจ่ายชดเชยบริการทันตกรรมทั้งในกองทุนสวัสดิการข้าราชการและบัตรทองเข้ารับบริการได้แค่ที่หน่วยบริการภาครัฐเท่านั้น หากจะเพิ่มการเข้าถึงบริการทันตกรรมให้กับประชาชน จะต้องปรับอัตราการจ่ายชดเชยที่ภาคเอกชนรับได้ด้วย โดยรัฐไม่ต้องขยายการลงทุนเพื่อเพิ่มการจัดบริการ เชื่อว่ามีคลินิกทันตแพทย์เอกชนที่อยากร่วมบริการเพื่อร่วมดูแลประชาชน พร้อมขยายสิทธิประโยชน์ทันตกรรมในส่วนประกันสังคมที่จำกัดสิทธิเพียง 900 บาท/ปี ทำให้เกิดความเท่าเทียมกันของทุกกองทุน” อุปนายกทันตแพทยสภาคนที่ 2

ทพ.ธงชัย กล่าวต่อว่า ในการขับเคลื่อนการพัฒนาบริการทันตกรรมของทั้ง 3 กองทุน ยังเสนอให้มีการวิจัยเพื่อจัดตั้ง “กองทุนทันตกรรม” เพื่อจะสามารถทำให้เห็นเป็นรูปธรรมในการขับเคลื่อนการพัฒนา รวมถึงการกำหนดสิทธิประโยชน์ทันตกรรมหลักร่วมกัน ซึ่งปัจจุบันทั้ง 3 กองทุนยังไม่มีกองทุนทันตกรรมนี้ โดยกองทุนบัตรทองรวมงบบริการทันตกรรมไว้ในงบเหมาจ่ายรายหัว ขณะที่กองทุนประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการเป็นการจ่ายชดเชยตามรายการ

ทพ.ธงชัย กล่าวว่า ส่วนอีกประเด็นคือ “การแก้ปัญหาการจัดฟันแฟชั่นและการให้บริการทันตกรรมเถื่อน” ที่ผ่านมาแม้ว่าทันตแพทยสภาจะร่วมกับ บก.ปคบ.ในการไล่จับกุม โดยเรามีการเปิดเพจมือปราบหมอฟันเถื่อนเพื่อรับแจ้งเบาะแสในการทำความผิด ซึ่งประชาชนแจ้งเข้ามาเยอะมาก ในกรณีต่างจังหวัดทันตแพทยสภาจะประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เพื่อดำเนินการ แต่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ทันตแพทยสภาจะร่วมกับ บก.ปคบ.ดำเนินการจับกุม แต่หลังจากจับกุมแล้วก็จะมีการเปิดเพจใหม่ขึ้นอีก จึงได้หารือกับ อย.ในการแก้ไขปัญหาที่ต้นทาง โดยควบคุมการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ด้านทันตกรรม และทำให้ประชาชนรู้เท่าทันต่อการโฆษณาหลอกลวง และอันตรายจากการจัดฟันแฟชั่นและการทำฟันเถื่อนที่ไม่ได้มาตรฐาน

สำหรับทั้ง 2 ประเด็นนี้ ทันตแพทยสภาเพียงหน่วยงานเดียวทำไม่ได้ ต้องอาศัยการทำงานร่วมกันของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สมัชชาสุขภาพแห่งชาติเป็นช่องทางที่ดีในการผลักดันและก่อให้เกิดความร่วมมือในการทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเมื่อเรื่องนี้ได้การรับรองเป็นมติสมัชชาสุขภาพ จะถูกนำเสนอต่อ ครม.เพื่อรับทราบและแจ้งไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการต่อไป ซึ่งจะทำให้การทำงานนั้นง่ายขึ้น ทั้งนี้การผลักดันประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้านบริการทันตกรรมเข้าเป็นหนึ่งในวาระสมัชชาสุขภาพ ครั้งที่ 11 นั้นเราทำงานกันมาเยอะมาก เป็นเรื่องไม่ง่ายนัก แต่เมื่อได้การรับรองมติและประกาศเป็นนโยบายสาธารณะ ผลที่ได้นับว่าคุ้มค่า โดยเฉพาะประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนและประเทศในอนาคต

ทพ.ธงชัย กล่าวว่า การเข้าถึงบริการทันตกรรมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อสุขภาพประชาชน หากเคี้ยวอาหารไม่ได้หรือช่องปากมีปัญหา ร่างกายก็จะมีสุขภาพอื่นตามมา ซึ่งในเด็กหากฟันผุก็จะเคี้ยวได้ลำบาก กระทบต่อด้านโภชนาการที่มีผลในการเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็ก รวมทั้งผู้ใหญ่เองก็จะกระทบต่อสุขภาพร่างกายเช่นกัน เรื่องนี้จึงสำคัญมาก ดังนั้นทันตแพทยสภาจึงกำหนดการขับเคลื่อนการเข้าถึงบริการทันตกรรมของประชาชนนโยบายเป็นเรื่องสำคัญ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net